วานนี้ (22 เมษายน) พญ.วันทนีย์ วัฒนะ รองปลัดกรุงเทพมหานคร กล่าวถึงสถานการณ์โควิดในกรุงเทพมหานครว่า สถิติของผู้ป่วยโควิดในกรุงเทพฯ เพิ่มขึ้น จากเดิมก่อนสงกรานต์ที่วันละ 300-400 ราย ขณะนี้หลังสงกรานต์มีรายงานล่าสุดอยู่ที่ประมาณกว่า 700 ราย และยังมีที่ไม่ได้อยู่ในระบบรายงานอีก แต่ทั้งนี้ไม่อยากให้ประชาชนตื่นตระหนกมาก เพราะคาดว่ายังเป็นโควิดสายพันธุ์เดิม ส่วนสายพันธุ์ใหม่ที่กังวลกันว่าจะทำให้เกิดการระบาดมากขึ้นยังพบไม่มาก
อย่างไรก็ตาม ต้องขอความร่วมมือประชาชนนำมาตรการเดิมมาใช้ ได้แก่ สวมหน้ากากอนามัย เว้นระยะห่างระหว่างบุคคล และล้างมือบ่อยๆ ส่วนกลุ่มเสี่ยงยังต้องใช้มาตรการในการป้องกันเป็น Universal Prevention เหมือนเดิม ได้แก่ ออกจากบ้านเมื่อจำเป็น โดยให้ออกนอกบ้านน้อยที่สุดและใช้ระยะเวลาสั้นที่สุด เว้นระยะห่างระหว่างบุคคล 1-2 เมตร สวมหน้ากากอนามัยและทับด้วยหน้ากากผ้าตลอดเวลา ล้างมือบ่อยๆ อย่าใช้มือสัมผัสหน้ากาก รวมทั้งใบหน้า ตา จมูก ปาก ทำความสะอาดและฆ่าเชื้อพื้นผิวที่ถูกสัมผัสบ่อยๆ แยกของใช้ส่วนตัวทุกชนิด ไม่ใช้ร่วมกับผู้อื่น กินอาหารปรุงสุกใหม่ แยกสำรับ ใช้ช้อนกลางส่วนตัว และหากสงสัยว่าตนเองเสี่ยง ตรวจด้วย ATK บ่อยๆ เพื่อยืนยันว่าติดเชื้อหรือไม่
พญ.วันทนีย์กล่าวต่อไปว่า กลุ่มที่มีความเสี่ยงหรือกลุ่มเปราะบาง ทั้งผู้สูงอายุที่มีอายุมากกว่า 60 ปี หรือคนที่มีโรคประจำตัว เรื่องของวัคซีนเป็นตัวสำคัญที่จะทำให้ปลอดภัย โดย กทม. ยังมีวัคซีนทั้ง Pfizer, Moderna, AstraZeneca และยังให้บริการภูมิคุ้มกันสำเร็จรูป LAAB ในกลุ่มที่มีภูมิไม่ดี คนที่เป็นโรคไต คนที่เป็น HIV หรือได้รับยากดภูมิต่างๆ
เพราะฉะนั้นสำหรับคนที่ยังไม่ได้รับวัคซีนในช่วง 4-6 เดือนที่ผ่านมา ตอนนี้ศูนย์บริการสาธารณสุขทั้ง 69 แห่ง มีให้บริการทุกวันศุกร์ในช่วงบ่าย ถ้าไม่แน่ใจสามารถโทรศัพท์ไปสอบถามก่อน หรือจองผ่านแอปพลิเคชัน QueQ นอกจากนี้ยังมีให้บริการที่โรงพยาบาลในสังกัดสำนักการแพทย์ 11 แห่ง และโรงพยาบาลวชิรพยาบาล โดยวัคซีนเหล่านี้ยังให้บริการฟรี และขอให้ความมั่นใจว่าวัคซีนมีเพียงพอ