วันนี้ (6 พฤษภาคม) ที่อาคารรัฐสภา วันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานรัฐสภา และประธานสภาผู้แทนราษฎร กล่าวถึงกรณีที่มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์เรื่องของบประมาณในการปรับปรุงรัฐสภา ทั้งที่เพิ่งเปิดการใช้งานเพียง 5 ปี โดยระบุว่า สิ่งที่เป็นข่าว จากที่ส่วนตัวติดตามดูนั้น เป็นการเติมสิ่งที่มีอยู่แล้วให้สมบูรณ์ เช่น ห้องประชุมชั้น B2 ซึ่งสร้างเสร็จแล้วสามารถรองรับได้ 1,500 คน แต่ไม่มีโต๊ะ เก้าอี้ เวทีการประชุม จอ เครื่องเสียง ไฟก็ไม่สว่าง คณะกรรมาธิการกิจการสภา ตลอดจนผู้บริหารของสภาเห็นว่าควรจะทำให้สมบูรณ์ เพื่อใช้ประโยชน์เต็มที่ เราทำงานมา 5-6 ปี แต่ไม่มีใครกล้าไปทำเพราะยังไม่ได้รับมอบ นอกจากนั้นยังมีห้องประชุมชั้น B1 ลักษณะเช่นเดียวกัน เราจึงต้องทำให้สมบูรณ์
วันมูหะมัดนอร์กล่าวว่า ส่วนศาลาแก้วที่มีการพูดถึงกัน ขณะนี้ก็ยังไม่สามารถใช้การได้ จึงอยากทำให้สมบูรณ์ ซึ่งขั้นตอนของการของบประมาณ เป็นการเสนอไปสู่สำนักงบประมาณ ซึ่งทางสำนักงบฯ ต้องตัดทอนออกไปอีก หลายอย่างอาจไม่ได้เลยก็ได้ ถ้าไม่มีความจำเป็น บางอย่างจำเป็นแต่ราคาไม่ตรง กับที่ทางสำนักงบฯมีมาตรฐานเรื่องราคาอยู่ เขาก็ต้องตัดออก และเมื่อผ่านสำนักงบฯ แล้ว รัฐบาลก็ต้องส่งมาให้ กมธ.งบฯ ก็สามารถตัดได้อีกรอบหนึ่ง ซึ่งในทุกขั้นตอนนั้น ส่วนตัวเห็นว่าเป็นการดีที่มีการตรวจสอบ
วันมูหะมัดนอร์ย้ำว่า ส่วนตัวอยากให้งบประมาณของสภามีความโปร่งใสมากที่สุด เพราะเราเป็นหน่วยงานของนิติบัญญัติในการที่ควบคุมดูแลทุกฝ่าย รวมทั้งฝ่ายบริหารด้วย ฉะนั้น การที่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไม่ว่าจะเป็นพรรคฝ่ายค้านหรือรัฐบาลช่วยตรวจสอบให้เกิดความโปร่งใส ส่วนตัวคิดว่าเป็นเรื่องที่ดี และในขั้นตอนของการใช้งบประมาณเมื่อได้รับงบประมาณแล้ว ถ้าต้องดำเนินการ เช่น ต้องประมูล ประกวดราคา ไม่โปร่งใส ส่วนตัวก็อยากให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรมีการตรวจสอบ รวมทั้งเมื่อใช้แล้วมีประโยชน์อย่างไร
วันมูหะมัดนอร์ระบุว่า ขณะนี้ยังอยู่ในขั้นคำของบประมาณ ซึ่งส่วนตัวได้เชิญเลขาธิการสภามาคุยแล้ว บางอย่างเขาแจ้งมาว่าไม่ได้ เช่น งบประมาณออกแบบที่จอดรถไม่ได้ทั้งหมด เขาบอกว่ายังจำเป็นน้อย ส่วนบางอย่างที่มีความจำเป็น เขาก็ให้ไปบางส่วน แต่ส่วนตัวเชื่อว่าเมื่อเข้ากรรมาธิการงบฯ ก็ต้องมีการตัดออกอีก และ สส.ไม่ว่าจะเป็นพรรคฝ่ายค้านหรือรัฐบาลก็สามารถจะสงวนคำแปรญัตติเพื่อมาอภิปรายตัดงบในสภาได้อีกรอบหนึ่ง
“ฉะนั้น สำหรับสภาไม่มีปัญหา และอยากให้ทุกฝ่ายได้ตรวจสอบให้ได้ประโยชน์อย่างเต็มที่ แต่เนื่องจากสภาเป็นสถาบันของชาติ ส่วนตัวอยากให้เห็นว่าทำอะไรด้วยความโปร่งใส มีความถูกต้องและขณะเดียวกันมีความสมบูรณ์ มีศักดิ์ศรี เมื่อประชาชนเข้ามาจะได้เห็นว่านี่คือสถาบันของเขา สภาของเขาดูแล้วสง่างาม และสภานี้ไม่ใช่ใช้เฉพาะสมาชิกเท่านั้น ประชาชนก็มาใช้ได้ เมื่อเปิดสมัยประชุมจะเห็นว่ามีคนเข้ามาใช้บริการทั้งคนไทยและคนต่างประเทศ จึงอยากทำให้เป็นเกณฑ์มาตรฐานเกิดความภาคภูมิใจในตัวของสถาบันนิติบัญญัติของชาติ ไม่ใช่ทำอะไรพอเสร็จๆ เท่านั้น” วันมูหะมัดนอร์กล่าว
ส่วนจะเป็นการของบประมาณเผื่อตัดหรือไม่นั้น วันมูหะมัดนอร์กล่าวว่า ทุกอย่างเมื่อของบ เขามีมาตรฐานแต่สำนักงบฯ เขาจะดูความจำเป็น และดูว่างบฯ ก้อนใหญ่มีเท่าไร ฝ่ายรัฐบาลบริหาร กระทรวง เอาไปเท่าไร ฝ่ายตุลาการเท่าไร ฝ่ายสภาขอเท่าไร เขาไม่ได้ให้ทุกอย่าง เขาให้ตามความจำเป็น และสมมติว่าราคาจะถูกจะแพง ก็อยู่ที่การกำหนดของราคากลาง โดยมีกฎระเบียบอยู่แล้ว ซึ่งของสภา ส่วนตัวได้ถามเลขาธิการสภาแล้ว เขาระบุว่ามีการประชุมกรรมการ โดยเฉพาะมีสำนักนายกรัฐมนตรีที่ดูแลเรื่องการจัดซื้อจัดจ้าง กรมบัญชีกลาง กรมโยธาธิการ และบางอย่างซึ่งเป็นเรื่องต่อเนื่องกับศิลปวัฒนธรรมไทย ก็ต้องให้กรมศิลปากรมาช่วยกำหนด บางอย่างส่วนตัวดูแล้วก็ไม่เข้าใจว่าทำไมแพงเกินไป แต่เมื่อเขามาอธิบายแล้ว ก็ต้องเห็นด้วยในหลักวิชาการ แต่ทุกอย่างต้องโปร่งใส และเห็นด้วยที่สมาชิกมีการตรวจสอบ เพราะเราตรวจสอบคนอื่น ดังนั้น ตัวเราต้องได้รับการตรวจสอบให้โปร่งใสด้วย และไม่จำเป็นต้องได้ทุกอย่าง
สำหรับกรณีศาลาแก้วที่มีคนวิจารณ์ว่ายังไม่ได้ใช้งานแต่กลับของบมาปรับปรุง วันมูหะมัดนอร์กล่าวว่า ศาลาแก้ว ยังไม่ได้ใช้งาน ก็ยังไม่ทราบว่าตอนที่สร้าง สร้างไว้ทำไม เพราะดูอาคารรัฐสภากับศาลาแก้วไม่รู้ว่าสัมพันธ์กันอย่างไร ส่วนตัวไม่ทราบ แต่เมื่อสร้างเสร็จและตรงนั้นก็เป็นลานสำหรับที่ประดิษฐานพระบรมราชานุสาวรีย์รัชกาลที่ 7 ส่วนศาลาแก้วอาจจะเป็นส่วนหนึ่งที่อยู่ 2 ข้าง เมื่อมีพิธีต่างๆ อาจต้องใช้ศาลาแก้ว ฉะนั้น ที่มีงบเข้าไปเป็นการปรับปรุงให้ใช้งานได้
“ทำแล้วไม่ได้ใช้งาน กลายเป็นอนุสาวรีย์เปล่าๆ อย่างนั้นก็ไม่ได้ประโยชน์ และสภาในยุคที่ผมและเลขาธิการสภาเข้ามาบริหาร เราไม่ได้เป็นคนจัดสร้าง แต่เราจะเอาสิ่งที่มีอยู่แล้ว มาทำให้ครบถ้วนสมบูรณ์ ไม่ใช่ใช้ประโยชน์กับเจ้าหน้าที่ของสภาและรัฐสภา แต่จะใช้กับประชาชนด้วย” วันมูหะมัดนอร์กล่าว