×

ชวนรู้จัก ‘วังจันทร์วัลเลย์’ เมืองแห่งนวัตกรรมที่ถูกขนานนามว่าเป็น ‘ซิลิคอนแวลลีย์เมืองไทย’

โดย THE STANDARD TEAM
05.12.2020
  • LOADING...
ชวนรู้จัก ‘วังจันทร์วัลเลย์’ เมืองแห่งนวัตกรรมที่ถูกขนานนามว่าเป็น ‘ซิลิคอนแวลลีย์เมืองไทย’

HIGHLIGHTS

5 mins read
  • เมืองไทยของเราก็กำลังจะมี ‘เมืองแห่งนวัตกรรม’ เช่นเดียวกับที่เกิดขึ้นใน ‘ซิลิคอนแวลลีย์’ โดยเมืองแห่งนี้มีชื่อว่า ‘วังจันทร์วัลเลย์’ ซึ่งเรากำลังจะชวนไปรู้จักเมืองที่เป็นดั่งอนาคตที่สำคัญสำหรับประเทศ
  • ด้วยความที่อยู่ในพื้นที่ของบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ดังนั้น ปตท. จึงรับหน้าที่ในการพัฒนาวังจันทร์วัลเลย์ ซึ่งเป็นฐานที่ตั้งสำคัญของ ‘เขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก’ โดยจะมุ่งเน้นให้เกิดการวิจัยและพัฒนาด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรม อันจะช่วยผลักดันให้เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกของไทยเป็นศูนย์กลางการค้าการลงทุนของประเทศและภูมิภาค
  • ภายใน ‘วังจันทร์วัลเลย์’ ประกอบไปด้วย 3 พื้นที่หลักๆ คือ พื้นที่เพื่อการศึกษาและการเรียนรู้ โดยเป็นที่ตั้งของสถาบันวิทยสิริเมธี (VISTEC) โรงเรียนกำเนิดวิทย์ (KVIS) ศูนย์เรียนรู้ป่าวังจันทร์ ซึ่งเปิดดำเนินการไปแล้ว และศูนย์เรียนรู้เกษตรนวัต สถาบันเทคโนโลยีจิตรลดา, พื้นที่เพื่อการวิจัยและพัฒนานวัตกรรม โดยมีพื้นที่สำคัญคือ ‘อาคารศูนย์ปฏิบัติการอัจฉริยะ’ และกลุ่มอาคารนวัตกรรม EECi และสุดท้าย พื้นที่เพื่อพักอาศัยและสันทนา

เชื่อว่าหลายคนย่อมรู้จัก ‘ซิลิคอนแวลลีย์’ เมืองที่ตั้งอยู่ในพื้นที่อ่าวซานฟรานซิสโก รัฐแคลิฟอร์เนียตอนเหนือ สหรัฐอเมริกา ซึ่งวันนี้ได้ถูกพัฒนาให้เป็นศูนย์กลางการพัฒนาเทคโนโลยีไฮเทคและนวัตกรรมของโลก และยังเป็นที่ตั้งของสำนักงานใหญ่ของบริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่มากมาย

 

และรู้หรือไม่ว่า เมืองไทยของเราก็กำลังจะมี ‘เมืองแห่งนวัตกรรม’ เช่นเดียวกับที่เกิดขึ้นในซิลิคอนแวลลีย์ โดยเมืองแห่งนี้มีชื่อว่า ‘วังจันทร์วัลเลย์’ ซึ่งเรากำลังจะชวนไปรู้จักเมืองที่เป็นดั่งอนาคตที่สำคัญสำหรับประเทศ

 

Smart Natural Innovation Platform 

ตัว ‘วังจันทร์วัลเลย์’ ตั้งอยู่บนทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 344 (บ้านบึง-แกลง) กิโลเมตรที่ 66 ตำบลป่ายุบใน อำเภอวังจันทร์ จังหวัดระยอง บนพื้นที่ 3,454 ไร่ ในพื้นที่ของบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน)

 

ดังนั้น ปตท. จึงรับหน้าที่ในการพัฒนาวังจันทร์วัลเลย์ ซึ่งเป็นฐานที่ตั้งสำคัญของ ‘เขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก’ (Eastern Economic Corridor of Innovation หรือ EECi) โดยจะมุ่งเน้นให้เกิดการวิจัยและพัฒนาด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรม อันจะช่วยผลักดันให้เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกของไทยเป็นศูนย์กลางการค้าการลงทุนของประเทศและภูมิภาค

 

เนื่องจากการพัฒนากลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมายจำเป็นต้องอาศัยองค์ความรู้ควบคู่กับความเชี่ยวชาญทางด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมขั้นสูง เพื่อปรับเปลี่ยนภาคอุตสาหกรรมไปสู่ไทยแลนด์ 4.0

 

 

ปตท. ในบทบาทผู้พัฒนาพื้นที่ มีเป้าหมายในการพัฒนาพื้นที่วังจันทร์วัลเลย์ให้เป็นเมืองวิจัยนวัตกรรมของประเทศในรูปแบบ Smart Natural Innovation Platform  โดยใช้องค์ประกอบของ Smart City 7 ด้านในการออกแบบระบบสาธารณูปโภคที่มีคุณภาพ ได้มาตรฐาน และมีความน่าเชื่อถือ พร้อมระบบสำรองในการใช้งาน ประกอบด้วย

 

  1. Smart Environment มีพื้นที่สีเขียวและพื้นที่เปิดโล่งประมาณ 60% ของพื้นที่ทั้งหมด ติดตั้งเซ็นเซอร์ตามจุดสำคัญต่างๆ ภายในพื้นที่ เพื่อวัดและแสดงข้อมูลด้านสิ่งแวดล้อมแบบเรียลไทม์ มีระบบจัดการของเสียแบบครบวงจร (Waste Management) เป็นต้น

 

  1. Smart Energy ใช้พลังงานทดแทนเพื่อเป็นแหล่งพลังงานทางเลือกสำหรับใช้ในงานระบบสาธารณูปโภคต่างๆ ตลอดจนใช้หลักการอาคารเขียว (Green Building) ในการออกแบบอาคารปฏิบัติการอัจฉริยะ

 

  1. Smart Governance ใช้อาคารปฏิบัติการอัจฉริยะ (Intelligent Operation Center) สำหรับควบคุมและสั่งการระบบสาธารณูปโภค ระบบรักษาความปลอดภัย และระบบโครงสร้างพื้นฐานทั้งหมดภายในพื้นที่ รวมถึงมีศูนย์ประสานงานในการให้บริการด้านต่างๆ 

 

  1. Smart Mobility ใช้รถโดยสารสาธารณะ EV Shuttle Bus ในการขนส่งมวลชนภายในพื้นที่ และจัดให้มีจักรยานบริการสำหรับใช้งานภายในพื้นที่ (Bike Sharing)

 

  1. Smart Living ออกแบบโครงสร้างพื้นฐานและอาคารต่างๆ ตามหลัก Universal Design เพื่อความสะดวกและปลอดภัยของผู้ใช้งานทุกกลุ่ม อาทิ จัดให้มีทางจักรยานและทางคนเดินแยกออกมาจากถนน บริการ WiFi ทั่วพื้นที่ส่วนกลาง ติดตั้งระบบสาธารณูปโภคต่างๆ ให้อยู่ใต้ดิน ติดตั้ง Analytic CCTVs ในพื้นที่ส่วนกลาง เป็นต้น

 

  1. Smart Economy มี Mobile Application สำหรับใช้ในการจองพื้นที่จอดรถล่วงหน้า ตรวจสอบตำแหน่งปัจจุบันและเวลาที่รถ Shuttle Bus จะมาถึงแต่ละสถานี แจ้งเหตุฉุกเฉิน ตรวจสอบข้อมูลภูมิอากาศ แจ้งซ่อมระบบสาธารณูปโภค แสดงปริมาณการใช้สาธารณูปโภคแบบเรียลไทม์ เป็นต้น

 

  1. Smart People สร้างบุคลากรที่มีศักยภาพ แนวคิด องค์ความรู้ และนวัตกรรมต่างๆ เพื่อนำไปสู่การขับเคลื่อนประเทศให้ก้าวหน้าอย่างยั่งยืน

 

โดยภายใน ‘วังจันทร์วัลเลย์’ ทาง ปตท. ได้แบ่งโซนการพัฒนาพื้นที่ออกเป็น 3 โซนหลัก ได้แก่

 

พื้นที่เพื่อการศึกษา (Education Zone)

สำหรับโซนนี้ถูกพัฒนาเป็นพื้นที่เพื่อการศึกษาและการเรียนรู้ เสริมสร้างความเข้มแข็งให้การวิจัย การสร้างนวัตกรรม การสร้างความร่วมมือทางด้านงานวิจัยในพื้นที่ โดยมีเป้าหมายเพื่อพัฒนากำลังคนที่จะเป็นรากฐานสำหรับพัฒนานวัตกรรมของประเทศ ดังนั้นในโซนนี้จึงประกอบไปด้วยสถาบันการศึกษาถึง 2 แห่ง ได้แก่

 

 

สถาบันวิทยสิริเมธี (VISTEC) สถาบันการศึกษาทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ซึ่งก่อตั้งและสนับสนุนโดยกลุ่ม ปตท. รวมทั้งพันธมิตรร่วมอุดมการณ์ ด้วยจุดมุ่งหมายสำคัญในการสร้างองค์ความรู้ รวมถึงบุคลากรทางด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม ที่จะเป็นกำลังสำคัญต่อการพัฒนาชาติไทย ขับเคลื่อนการดำเนินงานด้วยการศึกษา วิจัย และสร้างความร่วมมือกับภาคอุตสาหกรรม ภาคธุรกิจ และภาคการศึกษา ทั้งในประเทศและต่างประเทศ

 

ความน่าสนใจคือ สถานศึกษาแห่งนี้เปิดสอนระดับปริญญาโทถึงปริญญาเอก หลักสูตรภาษาอังกฤษ ใน 4 สำนักวิชา ได้แก่ สำนักวิชาวิทยาการโมเลกุล, สำนักวิชาวิทยาการพลังงาน, สำนักวิชาวิทยาศาสตร์และวิศวกรรมชีวโมเลกุล (สนับสนุนการจัดตั้งโดยธนาคารกสิกรไทย) และสำนักวิชาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีสารสนเทศ (สนับสนุนการจัดตั้งโดยธนาคารไทยพาณิชย์)

 

แต่ที่น่าสนใจไปกว่านั้นคือ นิสิตทุกคนที่ VISTEC จะได้รับ ‘ทุนการศึกษาเต็มรูปแบบตลอดหลักสูตร รวมถึงทุนการทำวิจัยในต่างประเทศโดยไม่มีข้อผูกมัด’ อีกทั้งเหล่าคณาจารย์ที่เพียบพร้อมทั้งความรู้ ความสามารถ คอยสนับสนุนและให้คำปรึกษา ในสถานที่ซึ่งสมบูรณ์พร้อมด้วยเครื่องมือการทำวิจัยและห้องเรียนที่ทันสมัยทัดเทียมระดับสากล

 

 

อีกแห่งคือ โรงเรียนกำเนิดวิทย์ (KVIS) ซึ่งนักเรียนโรงเรียนกำเนิดวิทย์จะได้รับการส่งเสริมและพัฒนาอย่างเต็มศักยภาพ เพื่อเป็นนักวิจัย นักประดิษฐ์ และนวัตกรชั้นนำของประเทศในอนาคต โดยสามารถทำงานร่วมและแข่งขันกับนานาชาติได้ สามารถสร้างองค์ความรู้ ประดิษฐ์คิดค้น และพัฒนานวัตกรรมต่างๆ ให้กับสังคมไทยและประเทศชาติ

 

โดยสามารถสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลิตภัณฑ์ไทย ลดการพึ่งพาองค์ความรู้ เทคโนโลยี และนวัตกรรมจากต่างชาติ ช่วยพัฒนาประเทศชาติให้สามารถดำรงอยู่และแข่งขันได้ในประชาคมโลก เป็นสังคมผู้ผลิตที่มีมูลค่าเพิ่มมากขึ้น สังคมแห่งภูมิปัญญา สังคมแห่งการเรียนรู้ สังคมแห่งคุณภาพและแข่งขันได้ และสังคมที่ยั่งยืน พอเพียง และมีความสมานฉันท์เอื้ออาทรต่อกัน

 

ขณะเดียวกันถึงจะเน้นเรื่องนวัตกรรมและเทคโนโลยี แต่ ปตท. ก็ไม่ทิ้งเรื่องสิ่งแวดล้อม มีการต่อยอดด้วยการพลิกฟื้นพื้นที่บริเวณที่ต่อเนื่องกับเขาขุนอินทร์ให้เป็นพื้นที่สีเขียวอย่างยั่งยืน โดยการจัดตั้ง ‘ศูนย์เรียนรู้ป่าวังจันทร์’ ขึ้นอย่างถาวร เพื่อเป็นสถานที่ในการรวบรวมองค์ความรู้ การพัฒนางานวิจัยด้านการปลูก ฟื้นฟู และจัดการป่าไม้ที่ ปตท. ดำเนินการอย่างต่อเนื่องมากว่า 20 ปี เพื่อแสดงถึงรูปแบบการพัฒนาที่ดินและพื้นที่สีเขียวร่วมกันอย่างกลมกลืน ภายใต้พื้นที่ 351.35 ไร่ มีการจัดสรรพื้นที่ออกเป็น 3 ส่วน คือ

 

 

  • พื้นที่อาคารเพื่อการเรียนรู้และเส้นทางศึกษาธรรมชาติ
  • พื้นที่แหล่งน้ำและระบบบริหารจัดการน้ำเพื่อรักษาความชุ่มชื้นให้กับป่าในพื้นที่
  • พื้นที่ปลูกป่าพัฒนาสู่งานวิจัย เพื่อการเรียนรู้

 

อีกทั้งได้จัดตั้ง ‘ศูนย์เรียนรู้เกษตรนวัต สถาบันเทคโนโลยีจิตรลดา’ เป็นศูนย์การเรียนรู้ในการพัฒนาพื้นที่เกษตร โดยใช้แนวคิดวนเกษตร เกษตรผสมผสาน ใช้พืชเศรษฐกิจที่สามารถสร้างรายได้ทั้งในระยะสั้น ปานกลาง และระยะยาว ที่จะยกระดับผลผลิตทางการเกษตรด้วยระบบ Smart Farming

 

 

พื้นที่เพื่อการวิจัยและพัฒนานวัตกรรม (Innovation Zone)

โซนที่ 2 ถูกพัฒนาเป็นศูนย์วิจัย พัฒนา และนวัตกรรม หรือ Smart Innovation Platform เพื่อยกระดับความสามารถด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมแบบก้าวกระโดด โดยออกแบบโครงสร้างพื้นฐานและบริการไว้อย่างครบวงจร

 

นอกจากมีศูนย์ข้อมูล (Data Center) ส่วนกลางแล้ว ความน่าสนใจคือที่นี่มี ‘อาคารปฏิบัติการอัจฉริยะ’ (Intelligent Operation Center: IOC) ซึ่งมีการวางโครงข่ายเชื่อมโยงกับระบบอัจฉริยะต่างๆ เพื่อบริหารจัดการเมืองอัจฉริยะได้อย่างมีประสิทธิภาพ และนำข้อมูลมาใช้วิเคราะห์ต่อยอดในเชิงธุรกิจ

 

 

นอกจากนี้ในโซนนี้จะเป็นที่ตั้งของกลุ่มอาคารนวัตกรรม EECi ของสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนา 4 เมืองนวัตกรรม ได้แก่ Biopolis, Aripolis, Space Innopolis และ Food Innopolis

 

 

รวมถึงหน่วยงานจากภาครัฐ (เช่น สถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน เป็นต้น) บริษัทใน กลุ่ม ปตท. และภาคเอกชนอื่นๆ ที่จะเข้าร่วมพัฒนาพื้นที่ นอกจากนี้ยังมีพื้นที่บางส่วนที่ยังรอการพัฒนาในอนาคตร่วมกับพันธมิตรอื่นๆ ที่สนใจดำเนินกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับด้านวิจัยและนวัตกรรมอีกด้วย

 

พื้นที่เพื่ออำนวยความสะดวก ที่พักอาศัย และสันทนาการ (Community Zone) 

สำหรับโซนสุดท้ายถูกพัฒนาให้เป็นพื้นที่สำหรับที่อยู่อาศัยและสันทนาการ รองรับความเป็นอยู่ของนักวิจัยและครอบครัว นักเรียน นักศึกษา และผู้ประกอบการที่ทำงานในพื้นที่วังจันทร์วัลเลย์ ได้แก่ โรงเรียนนานาชาติ โรงแรมและที่พักอาศัย ศูนย์การค้าและนันทนาการ

 

 

อย่างไรก็ตาม ‘วังจันทร์วัลเลย์’ คาดว่าจะแล้วเสร็จภายในต้นปี 2564 เพื่อรองรับการเปิดให้บริการแก่พันธมิตรและผู้สนใจในช่วงไตรมาสที่ 3 ของปี 2564

 

โดยหลังจากพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานแล้วเสร็จ ปตท. จะเร่งสร้าง Ecosystem ด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่เกี่ยวกับ New S-Curve แสวงหาพันธมิตรเพิ่มเติม โดยจะทำหน้าที่เป็น Enabler สร้างความร่วมมือในทุกรูปแบบกับทุกภาคส่วน เพื่อร่วมกันพัฒนาให้เป็นพื้นที่ที่มีโครงสร้างพื้นฐานทางด้านวิทยาศาสตร์ที่เหมาะสมต่อการพัฒนานวัตกรรมต่อไป

 

พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising