เชื่อว่าหลายคนย่อมรู้จัก ‘ซิลิคอนแวลลีย์’ เมืองที่ตั้งอยู่ในพื้นที่อ่าวซานฟรานซิสโก รัฐแคลิฟอร์เนียตอนเหนือ สหรัฐอเมริกา ซึ่งวันนี้ได้ถูกพัฒนาให้เป็นศูนย์กลางการพัฒนาเทคโนโลยีไฮเทคและนวัตกรรมของโลก และยังเป็นที่ตั้งของสำนักงานใหญ่ของบริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่มากมาย
และรู้หรือไม่ว่า เมืองไทยของเราก็กำลังจะมี ‘เมืองแห่งนวัตกรรม’ เช่นเดียวกับที่เกิดขึ้นในซิลิคอนแวลลีย์ โดยเมืองแห่งนี้มีชื่อว่า ‘วังจันทร์วัลเลย์’ ซึ่งเรากำลังจะชวนไปรู้จักเมืองที่เป็นดั่งอนาคตที่สำคัญสำหรับประเทศ
Smart Natural Innovation Platform
ตัว ‘วังจันทร์วัลเลย์’ ตั้งอยู่บนทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 344 (บ้านบึง-แกลง) กิโลเมตรที่ 66 ตำบลป่ายุบใน อำเภอวังจันทร์ จังหวัดระยอง บนพื้นที่ 3,454 ไร่ ในพื้นที่ของบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน)
ดังนั้น ปตท. จึงรับหน้าที่ในการพัฒนาวังจันทร์วัลเลย์ ซึ่งเป็นฐานที่ตั้งสำคัญของ ‘เขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก’ (Eastern Economic Corridor of Innovation หรือ EECi) โดยจะมุ่งเน้นให้เกิดการวิจัยและพัฒนาด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรม อันจะช่วยผลักดันให้เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกของไทยเป็นศูนย์กลางการค้าการลงทุนของประเทศและภูมิภาค
เนื่องจากการพัฒนากลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมายจำเป็นต้องอาศัยองค์ความรู้ควบคู่กับความเชี่ยวชาญทางด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมขั้นสูง เพื่อปรับเปลี่ยนภาคอุตสาหกรรมไปสู่ไทยแลนด์ 4.0
ปตท. ในบทบาทผู้พัฒนาพื้นที่ มีเป้าหมายในการพัฒนาพื้นที่วังจันทร์วัลเลย์ให้เป็นเมืองวิจัยนวัตกรรมของประเทศในรูปแบบ Smart Natural Innovation Platform โดยใช้องค์ประกอบของ Smart City 7 ด้านในการออกแบบระบบสาธารณูปโภคที่มีคุณภาพ ได้มาตรฐาน และมีความน่าเชื่อถือ พร้อมระบบสำรองในการใช้งาน ประกอบด้วย
- Smart Environment มีพื้นที่สีเขียวและพื้นที่เปิดโล่งประมาณ 60% ของพื้นที่ทั้งหมด ติดตั้งเซ็นเซอร์ตามจุดสำคัญต่างๆ ภายในพื้นที่ เพื่อวัดและแสดงข้อมูลด้านสิ่งแวดล้อมแบบเรียลไทม์ มีระบบจัดการของเสียแบบครบวงจร (Waste Management) เป็นต้น
- Smart Energy ใช้พลังงานทดแทนเพื่อเป็นแหล่งพลังงานทางเลือกสำหรับใช้ในงานระบบสาธารณูปโภคต่างๆ ตลอดจนใช้หลักการอาคารเขียว (Green Building) ในการออกแบบอาคารปฏิบัติการอัจฉริยะ
- Smart Governance ใช้อาคารปฏิบัติการอัจฉริยะ (Intelligent Operation Center) สำหรับควบคุมและสั่งการระบบสาธารณูปโภค ระบบรักษาความปลอดภัย และระบบโครงสร้างพื้นฐานทั้งหมดภายในพื้นที่ รวมถึงมีศูนย์ประสานงานในการให้บริการด้านต่างๆ
- Smart Mobility ใช้รถโดยสารสาธารณะ EV Shuttle Bus ในการขนส่งมวลชนภายในพื้นที่ และจัดให้มีจักรยานบริการสำหรับใช้งานภายในพื้นที่ (Bike Sharing)
- Smart Living ออกแบบโครงสร้างพื้นฐานและอาคารต่างๆ ตามหลัก Universal Design เพื่อความสะดวกและปลอดภัยของผู้ใช้งานทุกกลุ่ม อาทิ จัดให้มีทางจักรยานและทางคนเดินแยกออกมาจากถนน บริการ WiFi ทั่วพื้นที่ส่วนกลาง ติดตั้งระบบสาธารณูปโภคต่างๆ ให้อยู่ใต้ดิน ติดตั้ง Analytic CCTVs ในพื้นที่ส่วนกลาง เป็นต้น
- Smart Economy มี Mobile Application สำหรับใช้ในการจองพื้นที่จอดรถล่วงหน้า ตรวจสอบตำแหน่งปัจจุบันและเวลาที่รถ Shuttle Bus จะมาถึงแต่ละสถานี แจ้งเหตุฉุกเฉิน ตรวจสอบข้อมูลภูมิอากาศ แจ้งซ่อมระบบสาธารณูปโภค แสดงปริมาณการใช้สาธารณูปโภคแบบเรียลไทม์ เป็นต้น
- Smart People สร้างบุคลากรที่มีศักยภาพ แนวคิด องค์ความรู้ และนวัตกรรมต่างๆ เพื่อนำไปสู่การขับเคลื่อนประเทศให้ก้าวหน้าอย่างยั่งยืน
โดยภายใน ‘วังจันทร์วัลเลย์’ ทาง ปตท. ได้แบ่งโซนการพัฒนาพื้นที่ออกเป็น 3 โซนหลัก ได้แก่
พื้นที่เพื่อการศึกษา (Education Zone)
สำหรับโซนนี้ถูกพัฒนาเป็นพื้นที่เพื่อการศึกษาและการเรียนรู้ เสริมสร้างความเข้มแข็งให้การวิจัย การสร้างนวัตกรรม การสร้างความร่วมมือทางด้านงานวิจัยในพื้นที่ โดยมีเป้าหมายเพื่อพัฒนากำลังคนที่จะเป็นรากฐานสำหรับพัฒนานวัตกรรมของประเทศ ดังนั้นในโซนนี้จึงประกอบไปด้วยสถาบันการศึกษาถึง 2 แห่ง ได้แก่
สถาบันวิทยสิริเมธี (VISTEC) สถาบันการศึกษาทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ซึ่งก่อตั้งและสนับสนุนโดยกลุ่ม ปตท. รวมทั้งพันธมิตรร่วมอุดมการณ์ ด้วยจุดมุ่งหมายสำคัญในการสร้างองค์ความรู้ รวมถึงบุคลากรทางด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม ที่จะเป็นกำลังสำคัญต่อการพัฒนาชาติไทย ขับเคลื่อนการดำเนินงานด้วยการศึกษา วิจัย และสร้างความร่วมมือกับภาคอุตสาหกรรม ภาคธุรกิจ และภาคการศึกษา ทั้งในประเทศและต่างประเทศ
ความน่าสนใจคือ สถานศึกษาแห่งนี้เปิดสอนระดับปริญญาโทถึงปริญญาเอก หลักสูตรภาษาอังกฤษ ใน 4 สำนักวิชา ได้แก่ สำนักวิชาวิทยาการโมเลกุล, สำนักวิชาวิทยาการพลังงาน, สำนักวิชาวิทยาศาสตร์และวิศวกรรมชีวโมเลกุล (สนับสนุนการจัดตั้งโดยธนาคารกสิกรไทย) และสำนักวิชาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีสารสนเทศ (สนับสนุนการจัดตั้งโดยธนาคารไทยพาณิชย์)
แต่ที่น่าสนใจไปกว่านั้นคือ นิสิตทุกคนที่ VISTEC จะได้รับ ‘ทุนการศึกษาเต็มรูปแบบตลอดหลักสูตร รวมถึงทุนการทำวิจัยในต่างประเทศโดยไม่มีข้อผูกมัด’ อีกทั้งเหล่าคณาจารย์ที่เพียบพร้อมทั้งความรู้ ความสามารถ คอยสนับสนุนและให้คำปรึกษา ในสถานที่ซึ่งสมบูรณ์พร้อมด้วยเครื่องมือการทำวิจัยและห้องเรียนที่ทันสมัยทัดเทียมระดับสากล
อีกแห่งคือ โรงเรียนกำเนิดวิทย์ (KVIS) ซึ่งนักเรียนโรงเรียนกำเนิดวิทย์จะได้รับการส่งเสริมและพัฒนาอย่างเต็มศักยภาพ เพื่อเป็นนักวิจัย นักประดิษฐ์ และนวัตกรชั้นนำของประเทศในอนาคต โดยสามารถทำงานร่วมและแข่งขันกับนานาชาติได้ สามารถสร้างองค์ความรู้ ประดิษฐ์คิดค้น และพัฒนานวัตกรรมต่างๆ ให้กับสังคมไทยและประเทศชาติ
โดยสามารถสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลิตภัณฑ์ไทย ลดการพึ่งพาองค์ความรู้ เทคโนโลยี และนวัตกรรมจากต่างชาติ ช่วยพัฒนาประเทศชาติให้สามารถดำรงอยู่และแข่งขันได้ในประชาคมโลก เป็นสังคมผู้ผลิตที่มีมูลค่าเพิ่มมากขึ้น สังคมแห่งภูมิปัญญา สังคมแห่งการเรียนรู้ สังคมแห่งคุณภาพและแข่งขันได้ และสังคมที่ยั่งยืน พอเพียง และมีความสมานฉันท์เอื้ออาทรต่อกัน
ขณะเดียวกันถึงจะเน้นเรื่องนวัตกรรมและเทคโนโลยี แต่ ปตท. ก็ไม่ทิ้งเรื่องสิ่งแวดล้อม มีการต่อยอดด้วยการพลิกฟื้นพื้นที่บริเวณที่ต่อเนื่องกับเขาขุนอินทร์ให้เป็นพื้นที่สีเขียวอย่างยั่งยืน โดยการจัดตั้ง ‘ศูนย์เรียนรู้ป่าวังจันทร์’ ขึ้นอย่างถาวร เพื่อเป็นสถานที่ในการรวบรวมองค์ความรู้ การพัฒนางานวิจัยด้านการปลูก ฟื้นฟู และจัดการป่าไม้ที่ ปตท. ดำเนินการอย่างต่อเนื่องมากว่า 20 ปี เพื่อแสดงถึงรูปแบบการพัฒนาที่ดินและพื้นที่สีเขียวร่วมกันอย่างกลมกลืน ภายใต้พื้นที่ 351.35 ไร่ มีการจัดสรรพื้นที่ออกเป็น 3 ส่วน คือ
- พื้นที่อาคารเพื่อการเรียนรู้และเส้นทางศึกษาธรรมชาติ
- พื้นที่แหล่งน้ำและระบบบริหารจัดการน้ำเพื่อรักษาความชุ่มชื้นให้กับป่าในพื้นที่
- พื้นที่ปลูกป่าพัฒนาสู่งานวิจัย เพื่อการเรียนรู้
อีกทั้งได้จัดตั้ง ‘ศูนย์เรียนรู้เกษตรนวัต สถาบันเทคโนโลยีจิตรลดา’ เป็นศูนย์การเรียนรู้ในการพัฒนาพื้นที่เกษตร โดยใช้แนวคิดวนเกษตร เกษตรผสมผสาน ใช้พืชเศรษฐกิจที่สามารถสร้างรายได้ทั้งในระยะสั้น ปานกลาง และระยะยาว ที่จะยกระดับผลผลิตทางการเกษตรด้วยระบบ Smart Farming
พื้นที่เพื่อการวิจัยและพัฒนานวัตกรรม (Innovation Zone)
โซนที่ 2 ถูกพัฒนาเป็นศูนย์วิจัย พัฒนา และนวัตกรรม หรือ Smart Innovation Platform เพื่อยกระดับความสามารถด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมแบบก้าวกระโดด โดยออกแบบโครงสร้างพื้นฐานและบริการไว้อย่างครบวงจร
นอกจากมีศูนย์ข้อมูล (Data Center) ส่วนกลางแล้ว ความน่าสนใจคือที่นี่มี ‘อาคารปฏิบัติการอัจฉริยะ’ (Intelligent Operation Center: IOC) ซึ่งมีการวางโครงข่ายเชื่อมโยงกับระบบอัจฉริยะต่างๆ เพื่อบริหารจัดการเมืองอัจฉริยะได้อย่างมีประสิทธิภาพ และนำข้อมูลมาใช้วิเคราะห์ต่อยอดในเชิงธุรกิจ
นอกจากนี้ในโซนนี้จะเป็นที่ตั้งของกลุ่มอาคารนวัตกรรม EECi ของสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนา 4 เมืองนวัตกรรม ได้แก่ Biopolis, Aripolis, Space Innopolis และ Food Innopolis
รวมถึงหน่วยงานจากภาครัฐ (เช่น สถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน เป็นต้น) บริษัทใน กลุ่ม ปตท. และภาคเอกชนอื่นๆ ที่จะเข้าร่วมพัฒนาพื้นที่ นอกจากนี้ยังมีพื้นที่บางส่วนที่ยังรอการพัฒนาในอนาคตร่วมกับพันธมิตรอื่นๆ ที่สนใจดำเนินกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับด้านวิจัยและนวัตกรรมอีกด้วย
พื้นที่เพื่ออำนวยความสะดวก ที่พักอาศัย และสันทนาการ (Community Zone)
สำหรับโซนสุดท้ายถูกพัฒนาให้เป็นพื้นที่สำหรับที่อยู่อาศัยและสันทนาการ รองรับความเป็นอยู่ของนักวิจัยและครอบครัว นักเรียน นักศึกษา และผู้ประกอบการที่ทำงานในพื้นที่วังจันทร์วัลเลย์ ได้แก่ โรงเรียนนานาชาติ โรงแรมและที่พักอาศัย ศูนย์การค้าและนันทนาการ
อย่างไรก็ตาม ‘วังจันทร์วัลเลย์’ คาดว่าจะแล้วเสร็จภายในต้นปี 2564 เพื่อรองรับการเปิดให้บริการแก่พันธมิตรและผู้สนใจในช่วงไตรมาสที่ 3 ของปี 2564
โดยหลังจากพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานแล้วเสร็จ ปตท. จะเร่งสร้าง Ecosystem ด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่เกี่ยวกับ New S-Curve แสวงหาพันธมิตรเพิ่มเติม โดยจะทำหน้าที่เป็น Enabler สร้างความร่วมมือในทุกรูปแบบกับทุกภาคส่วน เพื่อร่วมกันพัฒนาให้เป็นพื้นที่ที่มีโครงสร้างพื้นฐานทางด้านวิทยาศาสตร์ที่เหมาะสมต่อการพัฒนานวัตกรรมต่อไป
พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า