×

พี่สาววันเฉลิมยื่นหนังสือผู้แทน UN หลังเปิดประชุมรอบทบทวนสถานการณ์ การบังคับบุคคลสูญหายในกัมพูชา

โดย THE STANDARD TEAM
04.04.2022
  • LOADING...
พี่สาววันเฉลิมยื่นหนังสือผู้แทน UN หลังเปิดประชุมรอบทบทวนสถานการณ์ การบังคับบุคคลสูญหายในกัมพูชา

วันนี้ (4 เมษายน) สิตานัน สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ พี่สาวของวันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ นักเคลื่อนไหวทางการเมืองที่ถูกบังคับให้สูญหายขณะที่อยู่ในกรุงพนมเปญ ประเทศกัมพูชาเมื่อกลางปี 2563 ได้เข้ายื่นหนังสือต่อผู้แทนองค์การสหประชาชาติ (UN) เนื่องในโอกาสที่คณะกรรมการตามอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการคุ้มครองบุคคลทุกคนจากการหายสาบสูญโดยถูกบังคับ (CED) องค์การสหประชาชาติ เตรียมประชุมทบทวนสถานการณ์เบื้องต้นเกี่ยวกับการบังคับบุคคลให้สูญหายในประเทศกัมพูชาในวันที่ 5 เมษายน 2565 แถลงการณ์ดังกล่าว LICADHO องค์กรภาคประชาสังคมซึ่งทำงานด้านสิทธิมนุษยชนในกัมพูชา ได้ร่วมกับองค์กรสิทธิมนุษยชนต่างๆ ในประเทศไทย ประณามความล้มเหลวของประเทศกัมพูชาในการดำเนินการสืบสวนสอบสวนการบังคับวันเฉลิมที่ลี้ภัยอยู่ในกรุงพนมเปญให้สูญหายไปเมื่อกลางปี 2563 โดยในแถลงการณ์ได้เรียกร้องให้คณะกรรมการเน้นย้ำประเด็นดังกล่าวต่อทางการกัมพูชาในรอบการประชุมทบทวนสถานการณ์ครั้งนี้

 

“ความล้มเหลวในการสืบสวนสอบสวนกรณีการบังคับสูญหายเป็นความเสียหายร้ายแรงต่อพันธกรณีที่ประเทศกัมพูชามีต่ออนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการคุ้มครองบุคคลทุกคนจากการหายสาบสูญโดยถูกบังคับ (ICPPED) ซึ่งกัมพูชาได้เข้าเป็นภาคีตั้งแต่ปี 2556 โดยเฉพาะการที่ประเทศกัมพูชาละเมิดต่อหน้าที่ที่จะต้องสืบสวนสอบสวนอย่างถี่ถ้วนและเที่ยงธรรมโดยไม่ชักช้า ดำเนินมาตรการที่จำเป็นในการทำให้ผู้ที่เกี่ยวข้องต้องรับผิดในทางอาญา และประกันสิทธิของผู้ที่มีผลประโยชน์เกี่ยวข้องโดยชอบธรรมในการเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร ยิ่งไปกว่านั้นความล่าช้าที่เกิดขึ้นโดยปราศจากเหตุผลอันสมควรในการค้นหาผู้สูญหาย ถือว่าไม่สอดคล้องกับหลักการค้นหา (Guiding Principles) ผู้สูญหาย รวมทั้งหลักที่ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าผู้สูญหายยังมีชีวิตอยู่ การเคารพศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ การต้องเริ่มต้นอย่างเร่งด่วนในการสืบสวนสอบสวน การใช้ข้อมูลอย่างเหมาะสม และพันธกรณีที่จะต้องค้นหาผู้สูญหายต่อไปอย่างต่อเนื่องจนกว่าชะตากรรมของผู้สูญหายจะเป็นที่ปรากฏ” แถลงการณ์ระบุ

 

สำหรับกรณีการสูญหายของวันเฉลิมเมื่อวันที่ 18 ธันวาคม 2564 สิตานัน พี่สาวได้เคยส่งหนังสือทางไปรษณีย์สอบถามความคืบหน้าไปยัง 3 หน่วยงานของรัฐไทย ได้แก่ อัยการสูงสุด กรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) และกองคุ้มครองและดูแลผลประโยชน์คนไทยในต่างประเทศ กรมการกงสุล กระทรวงการต่างประเทศ แต่ล่าสุดสิตานันได้รับเพียงหนังสือตอบกลับจากกรมสอบสวนคดีพิเศษลงวันที่ 1 มีนาคม 2565 แจ้งว่าขณะนี้อยู่ระหว่างรอหนังสือแจ้งข้อมูลจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเท่านั้น ทั้งไม่มีความคืบหน้าใดๆ 

 

ส่วนทางฝั่งกัมพูชา มนทนา ดวงประภา ทนายความของสิตานัน กล่าวว่า “ทราบแต่เพียงว่าคดียังอยู่ในขั้นตอนการสืบสวนสอบสวนของศาลแห่งกรุงพนมเปญ ยังไม่มีการแจ้งผลมาทั้งที่ได้สอบถามไปหลายครั้ง”  

 

นอกจากไม่มีความคืบหน้าในการสืบสวนสอบสวนคดีจากทั้งของทางการไทยและทางการกัมพูชาแล้ว สิตานันยังถูกทางการไทยแจ้งข้อกล่าวหาและดำเนินคดีอาญาถึงสองคดี จากการที่เธอขึ้นพูดในงานกิจกรรมเมื่อเดือนกันยายนและธันวาคม 2564 เพื่อถามหาความยุติธรรมกรณีการสูญหายของน้องชาย

 

“ดีใจนะที่องค์การระหว่างประเทศและทั่วโลกยังให้ความสนใจกับเรื่องนี้ ในขณะที่ทางการไทยและกัมพูชาไม่สนใจเลย แม้เราร้องเรียนหลายครั้งแล้ว แต่รัฐบาลไทยและกัมพูชาก็ล้มเหลวในการสืบสวนสอบสวนเรื่องนี้ เช่น ใน 2-3 วันแรกหลังการสูญหายของวันเฉลิม ก็เห็นได้ชัดว่าทางการไทยและกัมพูชาไม่มีความจริงใจในการสืบสวนสอบสวน กระทั่งเจ้าหน้าที่ระดับสูงของกัมพูชาออกมาบอกว่าเป็น Fake News ส่วนทางการไทยก็ปฏิเสธการรับรู้ เราก็ให้พยานหลักฐานสำคัญที่เราใช้ในการสืบสวนสอบสวนต่อกับทางศาลกัมพูชาและทางการไทยไปหมดแล้ว เมื่อเราพึ่งพารัฐบาลไม่ได้ เราจึงมีความจำเป็นต้องพึ่งพากลไกของสหประชาชาติเพื่อแสวงหาความเป็นธรรม” สิตานันกล่าว

 

ด้าน พรเพ็ญ คงขจรเกียรติ ผู้อำนวยการมูลนิธิผสานวัฒนธรรม กล่าวว่า การสืบสวนสอบสวนกรณีการหายไปของวันเฉลิมและกรณีผู้ลี้ภัยทางการเมืองของนักกิจกรรมไทยในประเทศเพื่อนบ้าน ทั้งที่ถูกอุ้มหาย และทั้งที่พบศพรวม 9 ราย เป็นไปอย่างล่าช้าและแทบจะไม่มีความจริงใจ ซึ่งปัจจุบันการทรมานและการอุ้มหายยังไม่เป็นความผิดทางอาญาในกฎหมายไทย จึงความจำเป็นที่ประเทศไทยต้องเร่งรัดในการตรา พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย ที่ขณะนี้ยังคงค้างอยู่ในการพิจารณาของวุฒิสภา

 

 

ภาพ: กฤตย์ ศิริสัจจาพิพัฒน์

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising
X
Close Advertising