“ไม่มีอะไรจะพูดมาก อยากได้รับคำตอบจากเจ้าหน้าที่รัฐที่มีส่วนเกี่ยวข้องทุกคน อยากได้รับความจริง”
เจน-สิตานัน สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ กล่าวในกิจกรรม #1ปีต้องมีความยุติธรรมให้วันเฉลิม บริเวณลานหน้าหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร แยกปทุมวัน ทวงถามความเป็นธรรมให้แก่น้องชายของเธอ ต้าร์-วันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ นักกิจกรรมผู้ถูกบังคับให้สูญหาย ซึ่งตรงกับวันที่ 4 มิถุนายน 2564 เป็นเวลาครบ 1 ปีเต็ม
เวลา 18.20 น. แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชันแนล ประเทศไทย นักกิจกรรมทางการเมือง และประชาชน ร่วมจัดกิจกรรมเพื่อรำลึกถึงเหตุการณ์การหายตัวไปของวันเฉลิม ซึ่งในปัจจุบันคดีการอุ้มหายครั้งนี้ยังไม่ได้เข้าสู่กระบวนการยุติธรรม
ภายในงานมีการปราศรัยจาก สิตานันท์ สัตย์ศักดิ์สิทธิ์, สมยศ พฤกษาเกษมสุข, เฌอเอม-ชญาธนุส ศรทัตต์, เทียน-ประกายดาว พฤกษาเกษมสุข นักกิจกรรมทางการเมือง เกี่ยวกับช่วงเวลา 1 ปีที่เหตุการณ์นี้ยังคงไม่คืบหน้า
“สังคมของเรายังไม่ปลอดภัย หากการอุ้มหายยังไม่เป็นคดีที่มีความผิดทางอาญา” เฌอเอม-ชญาธนุส ศรทัตต์ ได้กล่าวถึงความสำคัญของการผลักดันให้เกิด พ.ร.บ. ป้องกันซ้อมทรมาน อุ้มหาย ที่ขณะนี้กำลังอยู่ในขั้นตอนการพิจารณาผ่านสภา
สมยศ พฤกษาเกษมสุข กล่าวย้ำว่าการอุ้มหายคืออาชญากรรมของรัฐ และเป็นการฆาตกรรมทางการเมืองที่เกิดจากการกำจัดคู่ขัดแย้งทางการเมือง การเพิกเฉยของรัฐบาลชุดนี้จึงเป็นหลักฐานที่แสดงให้เห็นว่ารัฐเข่นฆ่าประชาชน
นอกจากนั้นมวลชนบางส่วนได้สวมหน้ากากใบหน้าของวันเฉลิม และชูป้ายข้อความ “1 ปี เราไม่ลืม วันเฉลิม” “คนก็หาย กฎหมายก็ไม่มี” “ความยุติธรรมที่ล่าล้า = ความอยุติธรรม”
ต่อมาเวลา 18.35 น. มวลชนได้มีการจุดเทียนเพื่อแสดงถึงการไม่ยอมจำนนต่อความอยุติธรรม คลอเสียงเพลง ‘วันเฉลิม’ ที่บรรเลงขับกล่อมผู้ชุมนุม ซึ่งมีเนื้อหาเกี่ยวกับการขอให้การอุ้มหายของวันเฉลิมครั้งนี้เกิดขึ้นเป็นครั้งสุดท้าย
แม้ว่าระหว่างการจัดกิจกรรมจะมีเจ้าหน้าที่ตำรวจเข้ามาเฝ้าดูความเรียบร้อยในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ตาม พ.ร.ก. ฉุกเฉินควบคุมการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 จนทำให้ผู้ชุมนุมบางส่วนส่งเสียงตะโกนแสดงความไม่พอใจ แต่การจัดกิจกรรมดำเนินไปด้วยความสงบเรียบร้อย จนกระทั่งกลุ่มผู้ชุมนุมแยกย้ายกันกลับในเวลา 19.00 น.
พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์