เมื่อวานนี้ (23 กันยายน) ในการอภิปรายญัตติแก้ไขรัฐธรรมนูญของที่ประชุมร่วมรัฐสภา วันชัย สอนศิริ สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ได้ลุกอภิปรายแสดงความคิดเห็นว่า เมื่อพิจารณาภาพรวมแล้ว จึงตัดสินใจ ณ วันนี้ว่าเห็นด้วยต่อร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ มาตรา 256 ของพรรคร่วมรัฐบาลและพรรคร่วมฝ่ายค้าน และเห็นด้วยต่อร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญมาตรา 159 และ 272 ส่วนอีก 3 ร่างนั้นไม่ขอกล่าวถึง เพราะเป็นเพียงความต้องการของพรรคการเมืองบางส่วน ยังไม่มีความเห็นตรงกัน
วันชัยอธิบายอีกว่า รัฐธรรมนูญฉบับนี้ใช้มา 2-3 ปีก็เจอปัญหาทั้งในและนอกสภา องค์กรอิสระบางแห่งกลายเป็นศูนย์รวมของอดีตข้าราชการ ทำให้ยากต่อการที่บุคคลภายนอกจะเข้ามาดำรงตำแหน่ง ต้องยอมรับว่าองค์กรอิสระบางแห่ง ตั้งแต่ประกาศใช้รัฐธรรมนูญ 2560 จนถึงเวลานี้ยังไม่สามารถหาบุคคลไปดำรงตำแหน่งได้
วันชัยกล่าวอีกว่า ในส่วนของที่มา ส.ว. ตามมาตรา 107 แม้จะยังไม่ได้ใช้ เพียงจะทดลองใช้ ส่วนตัวก็มองเห็นปัญหาความยุ่งยากซับซ้อน และกระบวนการที่จะได้มาซึ่ง ส.ว. ในอนาคต หากต้องการ ส.ว. มาจากสาขาอาชีพ กระบวนการดังกล่าวควรต้องแก้ไข ส่วนเรื่องการปฏิรูปนั้น แม้มีบางมาตรากำหนดเร่งรัดไว้ ยกตัวอย่างประเด็นการศึกษา ปฏิรูปตำรวจ แต่การปฏิรูปหลายด้านเป็นปัญหาต่อการปฏิบัติและเป็นปัญหาต่อรัฐบาลที่ต้องรายงานต่อสภาฯ ทุก 3 เดือน แต่พบยังไม่คืบหน้า ซึ่งต้องปรับปรุงแก้ไข
วันชัยกล่าวว่า การแก้รัฐธรรมนูญต้องเป็นมติของประชาชนหรือประชามติ ซึ่งกระบวนการแก้รัฐธรรมนูญที่ดีที่สุดคือสภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.) มาจากการเลือกตั้ง ส่วนประเด็นการยกเลิกมาตรา 159 และ 272 หรือให้ ส.ว. โหวตนายกรัฐมนตรีนั้น มาตราดังกล่าวเขียนมาเป็นเรื่องเฉพาะกิจและการกระทำเฉพาะกาล ซึ่งได้ผ่านไปแล้ว ขณะนี้การดำรงอยู่ของนายกรัฐมนตรีในปัจจุบันนี้หรือในอนาคตไม่ได้อยู่ที่ ส.ว. แต่อยู่ได้เพราะ ส.ส. ที่เกินกว่า 251 เสียง เมื่อบริบททางการเมืองเปลี่ยนไป เห็นว่ามาตรานี้ในสถานการณ์นี้ไม่มีความจำเป็น
วันชัยยังกล่าวอีกว่า การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญนั้น เป็นการปฏิรูปประเทศตามมาตรา 257 เพราะทำให้ประเทศมีความสงบเรียบร้อย สามัคคีปรองดอง สังคมเป็นธรรม ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดี มีส่วนร่วมในการพัฒนาประเทศและการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข
พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า