×

สว. 67 : วันนี้ของ ‘วันชัย’ ผู้ไม่ยอมให้ใครบัญชา พร้อมผันตัวเป็น สว. โซเชียล

24.06.2024
  • LOADING...
วันชัย สอนศิริ

HIGHLIGHTS

9 min read
  • วันชัย สอนศิริ ก้าวเข้าสู่ตำแหน่ง สว. ตั้งแต่ปี 2544 มีหลายวีรกรรม ทั้งการคว่ำรัฐธรรมนูญ เสนออำนาจโหวตนายกฯ ให้ คสช. อยู่ต่อ เขายืนยันว่าทำทั้งหมดด้วยเจตนาของตัวเอง ไม่มีใครสั่งการ
  • แต่หลังผ่านไป 5 ปี ประเทศเลวร้ายลงกว่าเดิม ประชาชนขาดความสมานฉันท์ เขาตัดสินใจใช้อำนาจ สว. โหวตให้นายกฯ ที่ได้เสียงข้างมาก แม้จะเจอแรงกดดัน
  • ผลงานที่ภูมิใจที่สุดคือ โหวตเลือก เศรษฐา ทวีสิน เป็นนายกฯ เพราะเป็นการทำตามความต้องการของเสียงส่วนใหญ่ ที่ต้องการให้บ้านเมืองเดินไปด้วยความปรองดองสมานฉันท์ ซึ่งเป็นสิ่งที่รอคอยมา 20 ปี

การสิ้นสุดวาระของสมาชิกวุฒิสภาชุดพิเศษทั้ง 250 คน เสมือนฉากสำคัญในประวัติศาสตร์การเมืองไทยได้จบลงไปด้วย THE STANDARD เดินสายสนทนากับบรรดา สว. เพื่อชวนย้อนมองความภูมิใจในผลงานที่ผ่านมา และบทบาทชีวิตข้างหน้า หลังหมดหน้าที่ในสภา

 

ถึงคิวของ ‘วันชัย สอนศิริ’ หนึ่งใน สว. ที่คนไทยคุ้นเคยมากที่สุด จากทนายความสายฮา กลายเป็นผู้ทรงอิทธิพลของการเมืองไทย และที่ลืมไม่ได้คือ หนึ่งในผู้ริเริ่มตั้งคำถามพ่วง มาตรา 272 ให้อำนาจ สว. ร่วมโหวตนายกรัฐมนตรีใน 5 ปีแรก ที่พลิกโฉมการเมืองไทยมาจนทุกวันนี้

 

3 คะแนนเสียงที่โหวตให้ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา, พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ และ เศรษฐา ทวีสิน ตามลำดับ วันชัยในวันนี้ได้ปริปากให้เราเห็น (ส่วนเสี้ยว) หลังม่านของเกมแห่งอำนาจ ที่เขาได้มีส่วนพัวพันมาเป็นเวลากว่า 2 ทศวรรษ ไปจนถึงความรู้สึกของเขาต่อผลงานที่เคยร่วมสร้าง แต่ผลลัพธ์ที่ตามมากลับไม่เป็นไปตามที่หวัง

 

วันชัย สอนศิริ

วันชัยยืนอยู่หน้าสำนักงานทนายความ ย่านปากเกร็ด

ภาพ: ศวิตา พูลเสถียร

 

ประมาณปี 2544 วันชัย ทนายความนามอุโฆษ ผู้โลดแล่นทั้งในวงการกฎหมายและโทรทัศน์ กำลังเตรียมโลดทะยานสู่ถนนการเมืองเต็มตัว

 

เขาลงรับสมัครเป็น สว. จากการสรรหา ซึ่งมีทั้งหมด 74 คน และจะได้เข้าไปทำงานร่วมกับ สว. จากการเลือกตั้ง จังหวัดละคน เป็น 76 คน รวมกันเป็นวุฒิสภาที่มีทั้งหมด 150 คน

 

“ถามว่ามีใครชักชวนไหม” วันชัยตั้งคำถามเอง แล้วโบกมือเป็นเชิงปฏิเสธ “ส่วนตัวผมคิดอยากเป็น สส. หรือ สว. มานานแล้ว”

 

วันชัยเปิดเผยว่า ตัวเขาหลงใหลในการเมืองมาตั้งแต่ยังรุ่นๆ สมัยเรียนมักจะติดตามฟังการถ่ายทอดสดประชุมสภาผู้แทนราษฎรทางวิทยุหรือโทรทัศน์ และเมามันไปกับการโต้วาทะของบรรดาผู้แทนราษฎร

 

ตอนเรียนมหาวิทยาลัยเราเป็นนักพูด นักโต้วาที เราชอบพูด แล้วเราก็ฝันไว้ว่า สักวันจะเข้าไปในสภาแห่งนี้ให้ได้

 

ในห้วงเวลาที่มีการสรรหา สว. นั้น เกิดขึ้นก่อนการเลือกตั้ง สส. ไม่นาน ระหว่างที่วันชัยกำลังรอการพิจารณาคัดเลือก มีบุคคลสำคัญจากพรรคการเมืองใหญ่ที่กำลังกระแสแรงในยุคนั้นเข้ามาทาบทามให้เขาลงสมัครเป็น สส. ชลบุรี ของพรรค เพราะเขาเองก็เริ่มสั่งสมชื่อเสียงทางการเมืองมาพอสมควร

 

วันชัยปฏิเสธข้อเสนอจากพรรคการเมืองนั้น เพราะลงสมัคร สว. ไปเสียแล้ว พลันบุคคลนั้นก็ตบโต๊ะ! ก่อนพูดใส่หน้าวันชัยว่า “ผมขอแช่งไม่ให้คุณได้เป็น สว. แล้วผมจะรอคุณ”

 

วันชัยขณะปฏิบัติหน้าที่ในรัฐสภา เขาถือว่าเป็น สว. ซึ่งโดดเด่นและมีวาทศิลป์เป็นเลิศคนหนึ่ง

ภาพ: ศวิตา พูลเสถียร

 

จนแล้วจนรอดวันชัยก็ได้เป็น สว. ในสภาหินอ่อนตามความใฝ่ฝัน และทำหน้าที่อย่างดุเดือดสมบทบาท ได้ใช้ความรู้ความสามารถทั้งด้านวาทศิลป์และกฎหมาย ชนิดที่เขานิยามตัวเองว่า “ไม่ได้มาแค่เสียบบัตรกินข้าว แต่ถือว่ามีความโดดเด่นอยู่ในตัว”

 

วันชัยทำหน้าที่อย่างสมบุกสมบันมาจนถึงปี 2557 ห้วงแห่งความล่อแหลมของประวัติศาสตร์การเมืองไทย หลังจาก ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกฯ จากพรรคเพื่อไทยขณะนั้น ประกาศยุบสภา สส. ทั้งหมดระเห็จออกไป แต่ สว. ยังคงอยู่ ถึงกระนั้นก็ไม่มีใครมองเห็นหนทางออกจากความขัดแย้ง และยิ่งไม่มีใครคิดว่าจะเกิดการรัฐประหาร จนเป็นเหตุให้ สว. ชุดนั้นสิ้นสุดไป

 

ทว่าจะด้วยความโดดเด่นของวันชัยหรือไม่ก็ตาม คณะรัฐประหารคงเล็งเห็นถึงความสามารถของเขา ทำให้วันชัยได้รับเลือกเป็นหนึ่งในสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ที่มาจากการสรรหา และมีส่วนร่วมในการปฏิรูปประเทศระหว่างยุคเปลี่ยนผ่าน

 

“ผมก็เป็นโฆษก มีความโดดเด่น มุ่งมั่นทุ่มเท แล้วก็มีการร่างรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว ซึ่งระบุไว้ว่า เมื่อรัฐธรรมนูญนี้ผ่าน จะต้องจัดการเลือกตั้งทันที ผมก็มีความเห็นว่า อะไรวะ เพิ่งจะปฏิวัติ จะไปกันแล้วหรือ 7-8 เดือน”

 

วันชัย สอนศิริ

วันชัยมีสีหน้าครุ่นคิด ขณะกำลังเล่าถึงประสบการณ์การเมืองในอดีต

ภาพ: ศวิตา พูลเสถียร

 

วันชัยเล่าเจตนาตอนนั้นว่า สาเหตุที่เขาเป็นตัวตั้งตัวตีล้มรัฐธรรมนูญฉบับของอาจารย์บวรศักดิ์ อุวรรณโณ เพราะคิดว่า คสช. ควรจะอยู่ต่อเพื่อทำให้บ้านเมืองเรียบร้อยกว่านี้อีกสักหน่อย โดยไม่ได้สนใจว่าการเคลื่อนไหวของเขาจะไปเข้าทางใครหรือกลุ่มใด

 

ผมไม่ได้รับสัญญาณจากใคร เราทำมาจากจิตใจของเรา

 

ในที่สุดรัฐธรรมนูญฉบับอาจารย์บวรศักดิ์ถูกคว่ำไป คสช. ได้อยู่ต่อ และคราวนี้ภารกิจร่างรัฐธรรมนูญตกเป็นของอาจารย์มีชัย ฤชุพันธุ์ ส่วน สปช. ที่สิ้นสภาพ ก็มีสมาชิกสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) มาแทนที่ และแน่นอน วันชัยได้รับเลือกอีกตามเคย

 

“อาจจะด้วยตรงสเปกหรือเปล่าก็ไม่รู้” วันชัยเล่ากลั้วหัวเราะ

 

ที่มามาตรา 272 กุญแจสู่ สว. เลือกนายกฯ

 

เบื้องลึกของมาตรา 272 ในบทเฉพาะกาลของรัฐธรรมนูญ ที่มาของอำนาจให้ สว. 250 คนโหวตเลือกนายกฯ ก่อเกิดจากความคิดของคณะกรรมาธิการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศด้านการเมืองของ สปท. ซึ่งขณะนั้นวันชัยอยู่ร่วมคณะ โดยมี เสรี สุวรรณภานนท์ สปท. ขณะนั้น และ สว. ขณะนี้ เป็นประธานคณะกรรมาธิการฯ

 

“ผมไม่ได้คิดคนเดียว แต่ก็มีคนอื่นคิดด้วยว่า น่าจะมีบทเฉพาะกาลให้มี สว. 250 คน โดยการแต่งตั้งของ คสช. และให้มีสิทธิโหวตนายกฯ“ วันชัยเล่าย้อน “คณะกรรมาธิการฯ ให้ผมเป็นหัวหอกเคลื่อนไหวเรื่องนี้ ก็เป็นความคิดที่ตรงกับใจเรา”

 

วันชัยย้ำหลายครั้งว่า หลักการนี้ไม่ใช่ความคิดของเขาคนเดียว แต่เป็นการตกผลึกร่วมกันของหลายฝ่าย

 

ผมเสนอเพิ่มให้มีสิทธิลงมติถอดถอนนายกฯ ด้วย ในการอภิปรายไม่ไว้วางใจของ สว. คือมีทั้งให้เข้าและออก แต่คนบอกว่าแบบนี้แรงไป ให้เหลือแค่การโหวตเข้า ส่วนการออกให้เป็นเรื่องของ สส. และ สว. ไม่เกี่ยว ในที่สุดก็คิดออกมาเป็นคำถามพ่วงในประชามติ

 

วันชัย กับ เสรี สุวรรณภานนท์ ผู้ร่วมกันล่ารายชื่อเสนอญัตติคำถามพ่วง จนกระทั่งได้เป็น สว. ชุดเฉพาะกาลมาด้วยกัน

ภาพ: ศวิตา พูลเสถียร

 

ญัตติดังกล่าวที่มีวันชัยเป็นแรงขับเคลื่อนหลัก ร่วมกับเสรีเดินล่ารายชื่อมาจนครบ 90 คนใน สปท. ก่อนจะผ่านกระบวนการเข้าไปสลักอยู่ในรัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 นำมาสู่จุดกำเนิดของ 250 สว. ชุดพิเศษ และการโหวตเลือกนายกฯ 3 ครั้ง ที่พลิกโฉมการเมืองไทยตลอดไป

 

และแน่นอนเมื่อถึงกระบวนการสรรหาหรือแต่งตั้ง 250 สว. ชุดดังกล่าว ชื่อของวันชัยจะอยู่ที่ไหน คงไม่ต้องเดา

 

“ผมเองไม่ได้วิ่งเต้นกับใคร เพราะความจริงตั้งแต่เป็น สปช. และ สปท. ไม่ได้รู้จักสนิทสนมกับทหารคนใดเป็นการส่วนตัวทั้งสิ้น” วันชัยเล่า

 

ไม่ได้รู้จัก พล.อ. ประยุทธ์ หรือ พล.อ. ประวิตร ทั้งสิ้น และผมก็ได้รับการแต่งตั้งมาเป็น สว. จนกระทั่งทุกวันนี้ที่คุณเห็น

 

อำนาจเลือกนายกฯ: เลือกมาเสียของ!

 

ความเห็นของวันชัยในบรรทัดต่อไปนี้ เขาจะไม่ได้พูดออกมาบ่อยนัก แต่เมื่อถูกถาม เขาก็จะตอบเหมือนเดิมอย่างตรงไปตรงมา และคราวนี้เป็น THE STANDARD ที่ตั้งคำถามว่า เมื่อสถานการณ์บ้านเมืองเดินมาถึงจุดนี้ เขารู้สึกอย่างไรกับอำนาจโหวตนายกฯ ตามมาตรา 272

 

วันชัยยอมรับว่า กติกานี้ถูกคิดมาด้วยเจตนาให้การปฏิรูปประเทศมีความต่อเนื่อง และให้การเมืองมีเสถียรภาพมั่นคง และต้องยอมรับอีกว่า รัฐบาลจะมีความเข้มแข็ง ก็ต้องมี สว. ที่มาจาก คสช. เป็นแรงหนุน

 

“แต่ปรากฏว่าก็ไม่ได้ต่างอะไรจากการเมืองปกติ” วันชัยเปิดใจ

 

วันชัย สอนศิริ

“ทุกอย่างเหมือนเดิม เลวร้ายกว่าเดิม” วันชัยกล่าวกับ THE STANDARD

ภาพ: ศวิตา พูลเสถียร

 

การปฏิรูปที่หวังไว้ใน 5 ปี ว่าจะปฏิรูปตำรวจได้ ปฏิรูปการศึกษาได้ การทุจริตโกงกินจะต้องหมดไป ความปรองดองสมานฉันท์ต้องเกิดขึ้น กลับไม่มีอะไรสัมฤทธิ์ผลตามความมุ่งหวังของทุกฝ่ายที่มีส่วนร่วมกันมาตั้งแต่ต้น

 

“ผมว่าผมเป็นคนหนึ่งที่ลงทุนสูงในตัวเอง ไม่ว่าจะลงทุนเป็นแกนนำล้มรัฐธรรมนูญ ตั้งคำถามพ่วง แม้แต่เป็น สว. มา ผมเป็นคนลงทุนเอาตัวเองให้สังคมตราหน้า

 

แต่สิ่งที่เราอยากให้มีการปฏิรูปประเทศ ทั้งหมดยังเหมือนเดิม เลวร้ายกว่าเดิม แล้วจะปฏิวัติ ปฏิรูป กันไปทำไม ถ้ามันเป็นเหมือนเดิม การปรองดองสมานฉันท์ก็ไม่มีอะไร ก็ยังฉันเช้าฉันเพลกันอยู่เหมือนเดิม

 

“นี่คือสิ่งที่ผมพูดจากใจจริง ไม่ได้ดัดจริต แต่พรรคพวกก็จะถล่มทลายล่อผมอยู่เยอะ” วันชัยกล่าวด้วยน้ำเสียงจริงจัง

 

“แต่ผมพูดจากใจจริงๆ เพราะผมถือว่าผมลงทุนสูง ลงทุนกับตัวเอง ใครจะมองอย่างไรก็ช่างเถิด แต่ผมลงทุนถึงขนาดว่าทุ่มเทให้ คสช. อยู่ต่อ ทุ่มเทให้มีคำถามพ่วงเพื่อให้มีสมดุลอำนาจ แต่ทุกอย่างกลับเหมือนเดิม ผมก็รู้สึกว่าไม่ได้ดังที่ใจคิด”

 

วันชัยยืนอยู่ริมหน้าต่างห้องทำงานชั้นบนของสำนักงานทนายความ

ภาพ: ศวิตา พูลเสถียร

 

วันชัยเปลี่ยนไป หรือเมืองไทยเปลี่ยนเอง?

 

หากเป็นคอการเมืองไทย น่าจะเห็นข่าวสารที่มาจากทัศนะของวันชัยผ่านตาอยู่เนืองๆ และคงตั้งข้อสังเกตได้ว่า ตัวตนของ สว. คนนี้ดูจะเปลี่ยนไปตามกาลเวลาและสถานการณ์หรือไม่

 

ตั้งแต่การขับไล่รัฐบาลทักษิณ ชินวัตร ฝักฝ่ายกับพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย หลังรัฐประหารก็ได้เป็น สว. ซึ่งมาจาก คสช.

 

ก่อนในปลายสมัยของรัฐบาลประยุทธ์ กลับกลายเป็น 1 ใน 14 สว. ที่ประกาศพร้อมโหวตให้พิธา แคนดิเดตนายกฯ จากพรรคก้าวไกล แล้วมาลงเอยที่ลงคะแนนเสียงให้เศรษฐา จากพรรคเพื่อไทย เป็นนายกฯ

 

กระทั่งทุกวันนี้ก็ยังให้ความเห็นทั้งในแง่แก้ต่างช่วยเหลือรัฐบาลเศรษฐา และวิพากษ์วิจารณ์บ้างแบบหยิกแกมหยอกเป็นระยะ

 

“ผมไม่ได้แค่เปลี่ยนไปเพราะหาอำนาจ เพราะชีวิตผมไม่จำเป็นต้องได้อำนาจ แต่เป็นความหวังไว้เท่านั้นว่า วันหนึ่งเราทำอะไรเพื่อประชาชนได้ในนามนักการเมือง เราก็ทำ” วันชัยยืนยันกับ THE STANDARD

 

แต่จะให้ไปกราบกราน เลียแข้งเลียขา หรือพินอบพิเทาขอใคร ไม่ทำ ถ้าจะได้ ก็ต้องได้มาด้วยตัวเอง หรือเขาตั้งให้

 

วันชัย สอนศิริ

วันชัยระหว่างให้สัมภาษณ์พิเศษกับ THE STANDARD

ภาพ: ศวิตา พูลเสถียร

 

วันชัยยังยืนยันว่า แม้จะได้รับการแต่งตั้งแล้ว ก็ไม่ยอมให้ใครมาบังคับบัญชา ทุกการกระทำต้องมาจากใจของตนเท่านั้น

 

“ผมจะล้มรัฐธรรมนูญ จะไปโดนใจใครหรือไม่ก็อีกเรื่อง ก็มาจากใจผม จะตั้งคำถามพ่วง ก็มาจากใจผม ถ้าผมต้องเปลี่ยนไปเพื่อเป็นนกสองหัว ไปหาอำนาจ ผมก็ละอาย ผมไม่ทำอยู่แล้ว”

 

อย่างไรก็ตาม วันชัยสารภาพว่า มีสิ่งหนึ่งที่ติดอยู่ในใจเขามานานตลอดระยะเวลากว่า 20 ปี ตั้งแต่ก่อนเข้ามาเป็น สว. จนกระทั่งทุกวันนี้

 

สิ่งที่ผมอึดอัดขัดข้อง และอยากให้ทำมากที่สุด คือเรื่องการปรองดองสมานฉันท์

 

“ถ้าเราเห็นคนในครอบครัวทะเลาะกันเพราะแบ่งสีแบ่งฝ่าย โคตรจะทรมาน ญาติพี่น้องคุยการเมืองกันไม่ได้ พี่ชายผมขึ้นไปเวทีเสื้อแดงด่าน้องชาย พี่น้องแตกฉานซ่านเซ็นไปคนละฝ่าย มันอึดอัด จะคุยอะไรก็ไม่รู้ใครเป็นใคร มันอึดอัดเป็น 10 ปีนะ

 

“แล้วเวลาประชุมสภา สมัยผมเป็น สว. เมื่อปี 2554-2555 อย่างกับจะฆ่ากัน ยิ่งประชุมร่วมรัฐสภา บางทีเห็นแล้วคิดว่านี่มันเวทีทะเลาะเบาะแว้งฆ่าแกงกันหรือไง โคตรจะอึดอัด”

 

วันชัยเดินอยู่ในสำนักงานทนายความ สถานที่ทำงานตั้งแต่ก่อนรับตำแหน่ง สว.

ภาพ: ศวิตา พูลเสถียร

 

วันชัยยอมรับว่า นี่คือสาเหตุหลักที่เขาชิงประกาศตัวว่าจะโหวตให้กับแคนดิเดตนายกฯ จากพรรคการเมืองที่รวมเสียงข้างมากได้ ซึ่งในจังหวะนั้นก็คือพรรคก้าวไกล นำโดยพิธา ที่รวมได้ 312 เสียง สส. แล้ววันชัยก็โหวตให้จริงตามที่ประกาศโดยไม่บิดพลิ้ว

 

“ถามว่าถูกกดดันไหม โอ้โฮ ถ้าไม่ใช่วันชัย ผมไม่แน่ใจว่าเขาอยู่กันได้หรือเปล่า ผมอาจจะมีพระดีก็ได้

 

แต่เอาจริงผมก็อยู่ลำบาก พรรคพวกมองเป็นตัวประหลาด 14 คน แต่ผมก็ถือว่าทำในสิ่งที่ใจสั่งมา ดังนั้นก็ไม่ยี่หระ แต่ถ้าคนอื่นสั่งแล้วเราต้องทำตามคนอื่น ผมว่าเราไม่มีเกียรติภูมิ ศักดิ์ศรี เราต้องเป็นตัวของตัวเรา

 

ดวงตาเห็นธรรม บรรลุปรองดอง

 

“หลังจากโหวตพิธาแล้ว ผมต้องแกล้งตายอยู่พักหนึ่ง ไม่ให้สัมภาษณ์ใคร”

 

แต่ประมาณ 1 สัปดาห์ก่อนที่จะมีการโหวตนายกฯ ครั้งประวัติศาสตร์ในวันที่ 22 สิงหาคม 2566 วันชัยได้รับสัญญาณว่า ‘ผู้มีอำนาจ’ ของแต่ละขั้วสามารถ ‘ตกลงกันได้’ และจับมือกันจัดตั้งรัฐบาลแล้ว

 

“ผู้ใหญ่ท่านหนึ่งบอกว่า วันชัยออกมาได้แล้ว ออกมาให้สัมภาษณ์ว่า สว. ส่วนใหญ่จะโหวตให้พรรคเพื่อไทย เพราะสามารถรวมเสียงข้างมากได้

 

“คุณเชื่อไหม หัวใจมันฟู พองโต มันมีความสุข เพราะเหมือนเกิดดวงตาเห็นธรรม บ้านเมืองปรองดองกันแล้ว มันเหมือนผมบรรลุปัจจุสมัยขึ้นมา” วันชัยเล่าพร้อมเอามือทาบบนอก สีหน้าเขาอิ่มเอิบเมื่อหวนรำลึก

 

วันชัย สอนศิริ

วันชัยส่งเสียงหัวเราะ พร้อมชี้มาที่กล้องของช่างภาพ THE STANDARD

ภาพ: ศวิตา พูลเสถียร

 

“เรามีความสุข ผมบอกตรงๆ ผมมีความสุขเหมือนคนที่ประสบความสำเร็จอะไรสักอย่าง ในชีวิตที่รอคอยคนรักกลับมา ผมรอมา 10 กว่าปี ผมว่าความขัดแย้งมันจบแล้ว”

 

ในวันนั้นเอง สว. ที่เป็นไม้เบื่อไม้เมากับพรรคเพื่อไทยมาตลอดศกได้เทคะแนน 150 เสียง เห็นชอบให้เศรษฐาเป็นนายกฯ ซึ่งต้องการ สว. เพียง 60 เสียงเท่านั้น

 

“ที่แล้วมามันเหมือนภาพลวงตาเรา” วันชัยพูดถึงหลายทศวรรษแห่งความขัดแย้งยาวนาน เหมือนจะจบลงทันตาเห็น ทันทีที่ผู้มีอำนาจบรรลุข้อตกลงกันได้

 

“บอกตรงๆ ไม่ได้ดัดจริตเลย ผมบรรลุปัจจุสมัย ได้ดวงตาเห็นธรรมจากการเมือง ไม่ได้ดัดจริตจะเปลี่ยนข้าง เพราะเรารอความปรองดองมาตั้งเป็นสิบๆ ปี แล้วเห็นเขากอดกัน เราจะไม่พลอยมีความสุขได้อย่างไร ตั้งแต่นั้นผมก็อยากให้บ้านเมืองเดินต่อไป

 

“คุณอาจจะได้บ้าง เสียบ้าง ถูกบ้าง ผิดบ้าง นี่คือความคิดของผม

 

ใครจะว่าผมเปลี่ยน ผมยอมรับว่าผมเปลี่ยน ผมไม่จมปลักอยู่กับความขัดแย้ง กับการอาฆาตมาดร้ายกับใคร ผมต้องการให้บ้านเมืองเดินหน้า

 

วันชัย เบื้องหน้าพื้นหลังที่เป็นท้องฟ้าแจ่มใส

ภาพ: ศวิตา พูลเสถียร

 

THE STANDARD ถามวันชัย เหมือนที่ได้ถาม สว. ทุกคนในการสัมภาษณ์: ผลงานที่ภูมิใจที่สุดใน 5 ปีของการเป็น สว. คืออะไร?

 

วันชัยตอบทันทีว่า วันที่มีการโหวตให้เศรษฐาเป็นนายกฯ เพราะเป็นการทำตามความต้องการของเสียงส่วนใหญ่ ที่ต้องการให้บ้านเมืองเดินไปด้วยความปรองดองสมานฉันท์

 

“ผมภูมิใจ เพราะเป็นสัญญาณที่ก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงทางการเมือง ปฐมบทของการปรองดองสมานฉันท์ที่เป็นรูปธรรมแท้จริง ไม่ใช่ตัวหนังสือหรือปากพูดเท่านั้น” วันชัยบอก “อะไรนอกนั้นผมถือเป็นงานปกติ ไม่ได้มีอะไรที่ตัวผมเองภูมิใจ”

 

THE STANDARD ถามต่อไปว่า แล้วตอนโหวตให้พิธารู้สึกแบบนี้ไหม?

 

“ไม่ได้รู้สึกอย่างนี้ รู้สึกตัวเองวังเวง แต่รู้สึกภูมิใจที่ได้ทำตามใจสั่งมา และมีการประกาศ แม้สภาพแวดล้อมจะกดดัน”

 

วันชัย สอนศิริ

วันชัยนั่งหน้าตู้โชว์ที่เต็มไปด้วยผลงานซึ่งบอกเล่าประวัติศาสตร์เส้นทางกฎหมายและการเมืองของเขา

ภาพ: ศวิตา พูลเสถียร

 

ส่งต่อความรู้ เข้าสู่โซเชียล

 

วันชัยเปิดเผยว่า หลังหมดวาระการเป็น สว. แล้ว เขาก็กลับสู่อาชีพเดิมที่เคยเป็นมาตลอด ตั้งแต่ก่อน ระหว่าง และหลังรับตำแหน่ง สว. คือทนายความ ตัวตนนี้ไม่เคยหายไปไหน แม้หมดวาระแล้ว ก็ยังมีลูกศิษย์ด้านกฎหมายมากมาย ตำแหน่งที่ปรึกษาทางกฎหมายให้บริษัทหลายแห่ง ตลอดจนเป็นอาจารย์พิเศษบรรยายตามสถานศึกษา

 

“ตอนนี้กำลังเริ่มศึกษาเรื่องการทำไลฟ์ เตรียมทีมทำไว้แล้ว ถ้าจะว่าไปก็ดูตัวอย่างของคุณจอมขวัญบ้าง THE STANDARD บ้าง คุณสุทธิชัย หยุ่น บ้าง หลายๆ คน” วันชัยแง้มแผนหลังเกษียณจากงานสภา

 

เขาเปิดเผยว่า ได้เตรียมทีมงานหลังบ้านสำหรับการทำไลฟ์ และ TikTok ที่ตั้งใจว่าจะเผยแพร่สัปดาห์ละ 2 คลิป และการไลฟ์ถ่ายทอดความรู้ด้านการเมือง กฎหมาย ประสบการณ์ทนายความ และตอบคำถาม โดยไม่ได้มุ่งหวังในทางธุรกิจแต่อย่างใด

 

เพราะสุดท้ายของชีวิตแล้ว ไม่จำเป็นต้องไปกระเสือกกระสนดิ้นรนหาตำแหน่ง หาเงินทองมากนัก มีแต่ชีวิตที่เหลือจะทำอะไรเพื่อสังคม เพื่อชาวบ้าน เรามีความรู้ทางการเมือง ทางกฎหมาย ก็ให้ความรู้กับสังคมไปเรื่อยๆ

 

วันชัย และโต๊ะทำงานที่จะเป็นตำแหน่งไลฟ์ของเขา เมื่อเข้าสู่โลกโซเชียลเต็มตัว

ภาพ: ศวิตา พูลเสถียร

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X