×

สว. วันชัย ค้านภูมิธรรม บอกไม่มีความจำเป็นส่งศาลรัฐธรรมนูญตีความซ้ำรอบสอง ปมตั้ง สสร. รื้อรัฐธรรมนูญฉบับปี 60

โดย THE STANDARD TEAM
27.11.2023
  • LOADING...
วันชัย สอนศิริ

วันนี้ (27 พฤศจิกายน) ที่รัฐสภา วันชัย สอนศิริ สมาชิกวุฒิสภา (สว.) ในฐานะรองประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) การพัฒนาการเมือง การสื่อสารมวลชน และการมีส่วนร่วมของประชาชน วุฒิสภา กล่าวถึงกรณีที่ ภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ในฐานะประธานคณะกรรมการเพื่อพิจารณาศึกษาแนวทางการทำประชามติเพื่อแก้ไขปัญหาความเห็นต่างเรื่องรัฐธรรมนูญ 2560 เตรียมเสนอให้สภาส่งศาลรัฐธรรมนูญตีความการแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 256 กรณีให้มีสภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.) ทำหน้าที่จัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ว่า มองว่าไม่มีความจำเป็นที่จะต้องทำเรื่องเพื่อให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความในประเด็นดังกล่าว

 

เนื่องจากที่ผ่านมามีประเด็นที่เคยส่งศาลรัฐธรรมนูญตีความโดย ไพบูลย์ นิติตะวัน อดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (สส.) บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ และ สมชาย แสวงการ สว. พร้อมคณะ ทำเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความมาแล้ว และคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญตีความว่า หากจะแก้รัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ โดย สสร. หรือให้ สสร. ทำหน้าที่รื้อรัฐธรรมนูญฉบับเดิม ซึ่งมาจากอำนาจของประชาชน ต้องถามประชาชนก่อนว่าเห็นด้วยหรือไม่

 

วันชัยกล่าวว่า ส่วนกรณีที่รัฐบาลที่ต้องการแก้รัฐธรรมนูญทั้งฉบับ หรือยกเว้นหมวด 1 หมวด 2 มองว่าไม่จำเป็นที่ต้องยื่นศาลรัฐธรรมนูญให้ตีความอีกเพราะเคยเกิดขึ้นแล้ว หรือหากรัฐบาลไม่ต้องการทำประชามติสามารถแก้รัฐธรรมนูญได้เป็นรายมาตรา หรือตามเงื่อนไขของมาตรา 256 ในรัฐธรรมนูญ 2560 กำหนดไว้

 

ส่วนกรณีที่รัฐบาลมีความเห็นว่าจะสอบถามคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ควรทำประชามติกี่ครั้ง วันชัยกล่าวว่า ส่วนตัวมองว่าอย่างน้อย 2 ครั้ง แต่ไม่ควรเกิน 3 ครั้ง คือครั้งแรกก่อนจะแก้รัฐธรรมนูญ ครั้งที่สองเมื่อแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญที่กระทบต่อเงื่อนไขมาตรา 256 ซึ่งจะเป็นก่อนการลงมติว่าจะเห็นชอบหรือไม่ในวาระสาม และครั้งที่สามหลังจากที่ได้รับความเห็นชอบทั้งฉบับโดยรัฐสภาแล้ว

 

วันชัยยังกล่าวถึงกรณีที่รัฐบาลมีเงื่อนไขเพิ่มทั้งการแก้ พ.ร.บ.ประชามติ และส่งศาลรัฐธรรมนูญตีความว่า เป็นประเด็นของรัฐบาลที่ต้องตัดสินใจ เพราะการศึกษาแนวทางการทำประชามตินั้นเป็นอำนาจเต็มของรัฐบาลตามกฎหมาย แต่ที่รัฐบาลฟังพรรคการเมือง ประชาชน ถือเป็นวิธีปฏิบัติ หรือหาแนวร่วมทั้งที่ข้อเท็จจริงไม่ฟังก็ได้ ดังนั้นมองว่ารัฐบาลมีเหตุผลทางการเมืองที่ไม่จำเป็นต้องรีบแก้รัฐธรรมนูญ

 

โยนสภาถก หากเห็นขัดแย้งชงศาลรัฐธรรมนูญตีความ

 

ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายนที่ผ่านมา ภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ในฐานะประธานคณะกรรมการเพื่อพิจารณาศึกษาแนวทางในการทำประชามติ เพื่อแก้ไขปัญหาความเห็นที่แตกต่างในเรื่องรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย 2560 ได้ให้สัมภาษณ์ว่า ที่ประชุมรับทราบรายงานความคืบหน้าหลายประเด็น ทั้งในส่วนของคณะอนุกรรมการรับฟังความคิดเห็นที่ดำเนินการไปพอสมควรแล้ว

 

เหลือการรับฟังความเห็นอีก 2 ภาค คือภาคเหนือ ที่จังหวัดเชียงใหม่ จากกลุ่มชาติพันธุ์ และภาคใต้ ที่จังหวัดสงขลา ที่จะรับฟังความเห็นจากชาวใต้และชาวมุสลิม และต้องรอเปิดประชุมรัฐสภาเพื่อสอบถามความเห็นจาก สว. และ สส. เมื่อรับฟังหมดแล้วถือว่าครบถ้วน จากนั้นอนุกรรมการรับฟังความคิดเห็นจะทำข้อสรุปและบันทึกความเห็นที่แตกต่าง เพื่อเสนอคณะกรรมการชุดใหญ่และที่ประชุมคณะรัฐมนตรี เพื่อนำไปสู่การตัดสินใจ

 

ภูมิธรรมกล่าวว่า ที่ประชุมเห็นควรให้ทำหนังสือถึง กกต. เพื่อมาให้ความชัดเจนในข้อกฎหมายอีกครั้ง และทำให้การตัดสินใจของคณะกรรมการเกิดความชัดเจน ในที่ประชุมยังหาหารือว่าการแก้ไขครั้งนี้มีข้อเสนอว่าควรให้สภาผู้แทนราษฎรมีความเห็นเพื่อเสนอให้ประธานรัฐสภาเป็นผู้เสนอเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความหากเกิดกรณีที่มีความเห็นขัดแย้งกัน โดยมอบหมายให้ตัวแทนพรรคการเมืองที่อยู่ในคณะกรรมการไปปรึกษาหารือกันในพรรคของตัวเอง โดยทั้งหมดนี้จะนำไปประมวลผลและคาดว่าคณะกรรมการชุดใหญ่จะมีข้อสรุปภายในสิ้นปีนี้

 

ส่วนกรณีที่จะให้พรรคการเมืองเสนอต่อสภาผู้แทนราษฎรเพื่อส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความจะนำเสนอในประเด็นใด ภูมิธรรมกล่าวว่า เป็นความชัดเจนที่เกี่ยวกับการทำ เช่น ต้องทำได้กี่ครั้ง สามารถทำร่วมกับกฎหมายการเลือกตั้งอื่นได้หรือไม่ และสามารถให้ประชาชนออกเสียงผ่านเครื่องมือสื่อสารได้หรือไม่ เป็นต้น สิ่งเหล่านี้จะหารือในที่ประชุมสภาก่อน หากที่ประชุมตกลงกันได้ก็ดำเนินการต่อไป แต่หากมีความขัดแย้ง สภาก็ส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย

 

ส่วนศาลรัฐธรรมนูญระบุว่าไม่ใช่องค์กรที่ให้คำปรึกษาจะรับพิจารณาในเรื่องดังกล่าวหรือไม่ ภูมิธรรมกล่าวว่า ไม่ได้คิดว่าเป็นที่ปรึกษา แต่หากที่ประชุมสภามีความขัดแย้ง สภามีหน้าที่นำเสนอต่อศาลให้ตีความได้ เพื่อให้ได้ข้อยุติ

 

ขณะเดียวกัน ที่ประชุมมีข้อเสนอให้แก้กฎหมายประชามติหรือไม่ เนื่องจากมีกับดักสองชั้นเรื่องของเสียงของประชาชนที่จะมาลงประชามติ ภูมิธรรมกล่าวว่า มีข้อสรุปให้ไปศึกษากฎหมายที่เกี่ยวข้อง ขณะที่ นิกร จำนง โฆษกคณะกรรมการ เสนอว่า ยังมีกฎหมายที่สร้างความชัดเจนตรงนี้ได้ จึงมอบหมายให้คณะอนุกรรมการศึกษาไปพิจารณาด้วย เนื่องจากกฎหมายประชามติยังไม่เคยถูกนำมาใช้ จึงต้องไปศึกษาเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด

 

ส่วนกรณีที่มีการมีเงื่อนไขเพิ่มหากต้องสอบถามศาลรัฐธรรมนูญจะไม่กระทบกับไทม์ไลน์ที่วางไว้ที่จะให้ได้ข้อสรุปภายในสิ้นปีนี้ใช่หรือไม่ ภูมิธรรมกล่าวว่า คณะกรรมการมีความมุ่งมั่นจะทำให้เป็นไปตามไทม์ไลน์ที่วางไว้ ตามที่นายกรัฐมนตรีบอกไว้ว่าทำไม่ได้ไม่มี มีแต่ทำอย่างไรจะทำให้ได้ ยืนยันว่ารัฐบาลตั้งใจจะทำให้สำเร็จ เพื่อให้เกิดประโยชน์ และประชาชนอยากได้รัฐธรรมนูญที่เป็นประชาธิปไตย อยากได้บรรยากาศและกติกาใหม่ เพื่อแก้ไขปัญหาต่างๆ ให้มากขึ้น แต่หากเกิดปัญหาที่เป็นเรื่องจำเป็น เชื่อว่าประชาชนจะเข้าใจได้

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X