วันนี้ (20 มิถุนายน) ที่อาคารรัฐสภา วันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ให้สัมภาษณ์ถึงสถานการณ์การเมืองไทยขณะนี้ ที่จำนวน สส. ในสภามีการ เปลี่ยนแปลงจะมีความปั่นป่วนในการประชุมสภาหรือไม่ว่า การเมืองก็เปลี่ยนไปตามวาระ แต่สภาก็มีหน้าที่ในการจัดการประชุมให้เกิดความเรียบร้อย ซึ่งความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองเกิดขึ้นในส่วนของรัฐบาล และคณะรัฐมนตรี แต่สภาก็คงดำเนินการตามปกติ
เมื่อผู้สื่อข่าวถามว่า เสียงปริ่มน้ำของรัฐบาลจะทำให้การทำงานของสภาลำบากขึ้นหรือไม่ วันมูหะมัดนอร์กล่าวว่า สภาเคยผ่านมาหลายยุคหลายสมัยทั้งเสียงที่มีเสียงข้างมากเด็ดขาด เวลาบริหารก็อาจมีปัญหาได้เหมือนกัน เสียงปริ่มน้ำก็เคยบริหารมาแล้ว แต่ทั้งหมดขึ้นอยู่กับฝ่ายบริหาร ฝ่ายสภาไม่ได้เข้าไปก้าวก่าย เพื่อให้การบริหารเดินต่อไปได้
เมื่อผู้สื่อข่าวถามว่า การเมืองเปลี่ยนอายุรัฐบาลอาจสั้นลงหรือไม่ วันมูหะมัดนอร์กล่าวว่า ขึ้นอยู่กับการบริหารการจัดการของนายกรัฐมนตรี และคณะรัฐมนตรีที่เข้ามาบริหารประเทศ ทางสภาก็ทำงานไปตามบทบาทหน้าที่ของสภา ส่วนจะมีการเปลี่ยนแปลงอย่างไรหรืออายุของรัฐบาลจะยาวหรือสั้นก็ขึ้นอยู่กับฝ่ายบริหาร
เมื่อผู้สื่อข่าวถามว่า อยากฝากคำแนะนำอะไรถึงปัญหาชายแดนไปยังนายกรัฐมนตรีตอนนี้หรือไม่ วันมูหะมัดนอร์กล่าวว่า ฝ่ายนิติบัญญัติไม่สามารถเข้าไปก้าวก่าย เรื่องการบริหารของรัฐบาลได้ ต้องฟังเสียงของประชาชน เพื่อที่จะรักษาอธิปไตยของประเทศ และคิดว่าฝ่ายที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคงของประเทศรวมทั้งรัฐบาล คงจะให้ความสำคัญกับเรื่องนี้
เมื่อผู้สื่อข่าวถามถึงการขอหารือปัญหาไทยกัมพูชาว่ามีเสนอเข้ามาบ้างหรือไม่ วันมูหะมัดนอร์ระบุว่า ขณะนี้อยู่ในช่วงปิดสมัยประชุมยังไม่สามารถหารือในสภาได้ โดยสภาจะเปิดในวันที่ 3 กรกฎาคมนี้ ซึ่งช่วงที่เปิดสมัยการประชุม คิดว่าประเด็นต่าง ๆ ปัญหาระหว่างประเทศก็คงจะมีสมาชิกทั้งฝ่ายค้านและฝ่ายรัฐบาล คงเสนอให้สภาได้มีการอภิปรายเรื่องเหล่านี้ได้ เพราะฉะนั้นต้องรอให้เปิดประชุมสภาสมัยสามัญก่อนส่วนถ้ามีความสำคัญจนถึงขั้นรัฐบาล เห็นว่าควรต้องเปิดประชุมสมัยวิสามัญ ก็แล้วแต่รัฐบาล เพราะอำนาจการเปิดประชุมเป็นของรัฐบาล
เมื่อผู้สื่อข่าวถามว่า ตำแหน่งรองประธานสภาคนที่ 2 ที่ว่างลงต้องรีบเลือกใหม่หรือไม่ วันมูหะมัดนอร์กล่าวว่า ฝ่ายเลขาสภาผู้แทนราษฎรต้องฟังความเห็นจาก วิปทั้งสองฝ่ายว่าพร้อม กำหนดการเลือกรองประธานสภาคนที่ 2 เมื่อไหร่ ถ้าทั้งสองฝ่ายยังไม่พร้อมหรือตกลงใจ ว่าจะเสนออย่างไร ก็คงต้องรอแต่คิดว่าเมื่อเปิดสมัยประชุม ถ้าพร้อมก็สามารถเลือกได้เลย แต่ถ้าไม่พร้อมก็อาจเลื่อนเป็นสัปดาห์ที่ 2 แต่ต้องเลือกโดยเร่งด่วนเหมือนกัน เพราะรองประธานสภาคนที่ 2 ต้องมาช่วยเรื่องบริหารสภา และเป็นประธานในที่ประชุม หากมีแค่สองคนอาจจะหนักไป
เมื่อผู้สื่อข่าวถาม จะเป็นโควตาของพรรคลำดับ 2 ของฝ่ายรัฐบาลหรือไม่ วันมูหะมัดนอร์กล่าวว่า เรื่องโควตาเป็นเรื่องภายในวิป แต่ข้อเท็จจริงคือต้องให้สภาผู้แทนราษฎรเป็นคนเลือก จะมีการเสนอแข่งขันหรือมีเพียงชื่อเดียวก็ต้องเป็นไปตามขั้นตอน
เมื่อถามว่าการเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจฝ่ายค้านยังเปิดได้อยู่หรือไม่ในสมัยการประชุมหน้า วันมูหะมัดนอร์ยืนยันว่าทำได้
เมื่อผู้สื่อข่าวถาม ถ้ามีการต้องเลือกนายกรัฐมนตรีใหม่ แคนดิเดตที่มียังสามารถใช้ได้อยู่ใช่หรือไม่นั้น ระบุว่า ก็ยังคงเป็นไปตามรัฐธรรมนูญปี 2560 คือ ต้องเป็นรายชื่อที่เคยเสนอทาง กกต. แล้ว และยังมีชื่อค้างอยู่หลายคน ซึ่งต้องเอาชื่อนั้นมาเสนอ หากมีการเลือกนายกครั้งต่อไป เป็นการเลือกเฉพาะสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จะไม่มีสมาชิกวุฒิสภามาร่วมเลือกนายกรัฐมนตรีเหมือนครั้งก่อน เพราะมาตรา 272 ที่ให้ สว. ร่วมเลือกนายกฯได้หมดวาระ 5 ปีไปแล้ว
เมื่อผู้สื่อข่าวถามว่า ต้องกลับไปถามความสมัครใจของ แคนดิเดตแต่ละคนด้วยหรือไม่ วันมูหะมัดนอร์กล่าวว่า พรรคไหนเสนอใครขึ้นมาก็ต้องมีการถามก่อนอยู่แล้ว ว่ามีความเต็มใจ ในการเป็นนายกรัฐมนตรีหรือไม่ ก็คงต้องถามเมื่อถามแล้วก็มาเสนอสภาตามรายชื่อเดิมที่มีอยู่
เมื่อผู้สื่อข่าวถามว่า จะเสนอชื่อคนนอกรายชื่อแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีได้หรือไม่ วันมูหะมัดนอร์เผยว่า ไม่สามารถทำได้ ตามรัฐธรรมนูญปี 2560 ก่อนเลือกตั้งเราใช้ บัญชีรายชื่อนี้เพื่อให้ประชาชน ตัดสินใจว่าถ้าเลือกพรรคไหน คนไหนจะเป็นนายกรัฐมนตรี เพราะฉะนั้นก็ต้องให้ความเคารพ ความคิดเห็นของประชาชน ก่อนที่จะมีการเลือกตั้ง และเมื่อเลือกตั้งเสร็จแล้วบทบัญญัติข้อนี้ไม่ได้ยกเลิกไป ยังใช้บัญชีเดิมซึ่งยังมีอยู่หลายคน
เมื่อถามว่าพรรคพลังประชารัฐที่มีจำนวน สส. ลดลงเหลือไม่ถึง 25 คน สามารถใช้บัญชีแคนดิเดตเดิม คือพล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ โหวตเป็นนายกฯได้อยู่ได้หรือไม่ วันมูหะมัดนอร์กล่าวว่า ได้ หากมีรายชื่อที่ให้ไว้กับ กกต. ก่อนเลือกตั้งอยู่ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายค้านหรือรัฐบาลก็เสนอให้สภาโหวตได้