×

วันนอร์มอง หากทำประชามติครั้งแรกก่อนเสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ จะปลอดภัยและไม่เสี่ยงถูกยื่นศาล

โดย THE STANDARD TEAM
24.04.2024
  • LOADING...
วันมูหะมัดนอร์ มะทา

วันนี้ (24 เมษายน) ที่อาคารรัฐสภา วันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร กล่าวว่า การเปิดประชุมสภาสมัยวิสามัญเพื่อพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2568 ในช่วงวันที่ 5-6 มิถุนายน ตามที่มีกระแสข่าว ต้องขึ้นอยู่กับรัฐบาลจะเสนอร่างฯ มาเมื่อใด แต่ส่วนตัวมองว่าหากเป็นช่วงเดือนมิถุนายนก็เป็นเรื่องดี

 

อย่างไรก็ตาม การพิจารณาเรื่องอื่นๆ อย่างเช่น เรื่องแก้ไขรัฐธรรมนูญ ยังไม่สามารถนำมาพิจารณาได้ เนื่องจากรัฐบาลจะต้องไปทำประชามติในรอบแรกก่อน ซึ่งเห็นว่าจะแล้วเสร็จประมาณเดือนกรกฎาคม แต่มีกฎหมายอีกหลายฉบับที่ค้างคาอยู่ ถ้าหากรัฐบาลอยากเอาเข้าสมัยประชุมวิสามัญสภาก็พร้อม ส่วนกฎหมายที่เกี่ยวกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ หากใครเสนอมาสภาก็จะรับไว้พิจารณา ส่วนจะบรรจุได้หรือไม่นั้น เป็นเรื่องที่ฝ่ายกฎหมายของสภาและฝ่ายที่เกี่ยวข้องต้องตรวจสอบดูว่าจะสามารถบรรจุได้หรือไม่ และต้องดูว่าจะขัดแย้งกับคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญหรือไม่

 

สำหรับกรณีที่พรรคก้าวไกลเรียกร้องให้ประธานสภาเร่งบรรจุร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญก็สามารถเสนอมาได้ แต่จะบรรจุหรือไม่ต้องดูกันอีกที เพราะรัฐบาลก็มีมติว่าจะทำประชามติก่อน และต้องพูดอย่างตรงไปตรงมาว่า ถ้าเสนอเข้ามาแล้วมีการพิจารณาไปแล้ว หากไปมีความขัดแย้งกับศาลรัฐธรรมนูญ จนมีคนไปร้องศาลรัฐธรรมนูญ ทำให้ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญถูกตีตก ก็จะเสียเวลาไปมากกว่าที่รัฐบาลได้ตัดสินใจว่าจะทำประชามติ 3 รอบ 

 

“อย่างน้อยรอบแรกก็เพื่อถามประชาชนก่อนว่าจะให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญหรือไม่ ถ้าอยากจะมีการแก้ไขก็เป็นไปตามคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ จากนั้นก็ค่อยเสนอร่างเข้ามาแก้ไข ก็จะทำให้ไม่เสียเวลา ซึ่งถือว่าเป็นไปตามขั้นตอนและปลอดภัย”

 

ขณะที่กรณีมีบางฝ่ายเรียกร้องให้แก้ไขกฎหมายประชามติก่อน ประธานสภาระบุว่า ตอนนี้กฎหมายประชามติมีอยู่แล้ว ถ้ารัฐบาลจะใช้กฎหมายที่มีอยู่ทำประชามติก็สามารถทำได้เลย เว้นแต่ว่ารัฐบาลเห็นว่าอยากจะแก้ไขบางมาตราก่อน ก็เสนอมาแก้ไขได้ในช่วงสมัยวิสามัญ ซึ่งก็ไม่ทราบว่าจะมีการเสนอเข้ามาหรือไม่ แต่ความจริงกฎหมายที่มีอยู่ก็สามารถทำประชามติได้ เพราะทำแค่ถามประชาชนว่าเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ 

 

ทั้งนี้ ส่วนตัวเชื่อว่าประชาชนจะออกมาใช้สิทธิเกินครึ่งหนึ่ง เพราะหากทุกคน ทุกฝ่าย ช่วยกันรณรงค์ ทั้งรัฐบาล สื่อมวลชน และประชาชน เมื่อรณรงค์แล้วจึงไม่คิดว่าประชาชนจะออกมาใช้สิทธิไม่ถึงครึ่ง แต่หากประชาชนออกมาใช้สิทธิไม่ถึงครึ่ง ก็แสดงว่าประชาชนไม่อยากแก้ไขรัฐธรรมนูญ ก็ต้องปฏิบัติไปตามนั้น 

 

เมื่อผู้สื่อข่าวถามว่า หากการทำประชามติครั้งแรกแล้วประชาชนออกมาใช้สิทธิไม่ถึงครึ่งจะทำให้งบประมาณ 3 พันกว่าล้านบาทสูญเปล่าหรือไม่นั้น วันมูหะมัดนอร์กล่าวว่า เนื่องจากกฎหมายเป็นเช่นนั้น แต่ส่วนตัวยังมั่นใจว่าประชาชนจะออกมาใช้สิทธิเกินครึ่ง เพราะเวลาเลือกตั้งไม่ว่าจะเป็นระดับท้องถิ่นหรือระดับไหน ประชาชนก็ออกมาใช้สิทธิเกินครึ่ง ส่วนใหญ่ประมาณ 70-80% และระยะหลังมีการรณรงค์มากขึ้น ประชาชนก็ออกมาใช้สิทธิกว่า 80% 

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X