วันนี้ (29 ธันวาคม) วันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานรัฐสภาและประธานสภาผู้แทนราษฎร กล่าวถึงบทบาทของสภาผู้แทนราษฎรชุดที่ 26 ว่า ตนอยู่ในสภาผู้แทนราษฎรนี้มา 44 ปี ได้เห็นการพัฒนาของรัฐสภามาโดยตลอด กระทั่งการเลือกตั้งสภาผู้แทนราษฎร ปี 2566 ก็ได้เห็นการพัฒนาไปมาก โดยจะเห็นได้ว่ามีทั้ง สส.คนรุ่นใหม่ และ สส.คนรุ่นเก่า รวมถึงหากสังเกตให้ดีจะเห็นการอภิปรายของสมาชิกที่อภิปรายได้มีสาระมีเนื้อหาที่ครบถ้วน มีการแสดงวีดิทัศน์ภาพของจริงมานำเสนอและเข้าใจง่าย ไม่ใช่น้ำท่วมทุ่งเหมือนในอดีตที่ผ่านมา ถือเป็นวิวัฒนาการการทำงานของสมาชิกสภาทั้งฝ่ายค้านและฝ่ายรัฐบาล
นอกจากนี้จะเห็นได้ว่า ปัจจุบันฝ่ายรัฐบาลมีการเอาใจใส่ในการทำงานของรัฐสภามากขึ้น เมื่อมีกระทู้ถามสด กระทู้ถามทั่วไป หรือกระทู้ถามเฉพาะ จะมีรัฐมนตรีมาตอบเกือบทุกครั้ง อาจมีบางครั้งที่รัฐมนตรีติดภารกิจ ไม่สามารถมาตอบได้ ก็จะมีการแจ้งล่วงหน้าทุกครั้งว่าจะสามารถมาตอบกระทู้ได้เมื่อใด
ส่วนผลงานของสภาชุดนี้ วันมูหะมัดนอร์กล่าวว่า เริ่มตั้งแต่วันที่ 3 กรกฎาคม 2566 จะเห็นว่าสมัยประชุมที่ผ่านมาอาจยังมีร่างกฎหมายที่ค้างการพิจารณาถูกนำมาบรรจุในวาระการประชุม เพราะในช่วงนั้นเพิ่งเลือกนายกรัฐมนตรีคนใหม่และได้รัฐบาลใหม่โดยที่ยังไม่เสนอกฎหมายเข้ามา ส่วนกฎหมายที่เสนอโดย สส. และภาคประชาชน ก็ต้องมีการทำประชาพิจารณ์จากประชาชนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งถ้าเป็นกฎหมายเกี่ยวด้วยการเงินก็ต้องผ่านการรับรองจากนายกรัฐมนตรี
ดังนั้นเมื่อเปิดสมัยประชุมนี้ตนจึงได้นำกฎหมายเหล่านั้นมาบรรจุเข้าสู่ระเบียบวาระ โดยเฉพาะร่าง พ.ร.บ.สภาชนเผ่าพื้นเมืองฯ ที่เสนอโดยภาคประชาชน และเพิ่งผ่านสภารับหลักการไป หากผ่านสภาได้ก็เป็นผลงานที่เชื่อว่าจะเกิดประโยชน์อย่างยิ่งต่อการส่งเสริมและคุ้มครองกลุ่มชาติพันธุ์และชนเผ่าพื้นเมือง ขณะเดียวกันก็ยังมีร่างกฎหมายอีกหลายฉบับและญัตติที่เป็นประโยชน์กับประชาชนก็จะผลักดันในสมัยประชุมนี้ด้วย
วันมูหะมัดนอร์กล่าวอีกว่า สภาชุดนี้ยังให้ความสำคัญต่อปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนอย่างมาก พบว่ามี สส. วันละ 40 คนเป็นกระบอกเสียงที่นำปัญหาของประชาชนมาหาทางออกผ่านเวทีสภาในทุกเช้าวันพุธและเช้าวันพฤหัสบดี หรือประมาณวันละ 40 เรื่อง แต่บางคนก็นำปัญหามาแจ้ง 3-4 เรื่อง เพื่อส่งต่อไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ช่วยแก้ไขปัญหา
วันมูหะมัดนอร์กล่าวต่อว่า ในปี 2567 ช่วงวันที่ 3-5 มกราคม 2567 สภาก็มีวาระสำคัญในการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2567 ใช้เวลา 3 วันที่รัฐบาลจะนำเสนอต่อรัฐสภา อยากให้ประชาชนให้ความสำคัญ เพื่อทราบว่าแต่ละกระทรวงใช้งบประมาณเท่าใด เมื่อสภารับหลักการวาระแรกแล้วก็จะต้องตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญเพื่อไปพิจารณาในวาระที่ 2 ก่อนจะเสนอกลับมายังรัฐสภาในวาระที่ 3 ไม่เกิน 105 วันทำการ หรืออาจใช้เวลาเพียง 90 วัน
วันมูหะมัดนอร์ยืนยันว่า สภาผู้แทนราษฎรจะพยายามปฏิรูประบบรัฐสภาใหม่ เพื่อให้มีการพัฒนาและมีส่วนร่วมกับประชาชนมากขึ้น ให้สมกับที่เป็นรัฐสภาของประชาชนทุกคน