×

หุ้น Walmart ทำ All Time High แต่ทำไมยักษ์ใหญ่ ‘ค้าปลีกไทย’ ยังอ่อนแอ?

08.11.2020
  • LOADING...
หุ้น Walmart ทำ All Time High แต่ทำไมยักษ์ใหญ่ ‘ค้าปลีกไทย’ ยังอ่อนแอ?

HIGHLIGHTS

5 mins read
  • หุ้น Walmart ปีนี้พุ่งขึ้นทำจุดสูงสุดใหม่ (All Time High) อีกครั้งที่ประมาณ 150 ดอลลาร์ ในช่วงต้นเดือนกันยายนที่ผ่านมา แรงหนุนจากรายได้และกำไรที่เติบโตขึ้นท่ามกลางวิกฤตโควิด-19 
  • Walmart ตัดสินใจ Disrupt โมเดลธุรกิจเดิมของตัวเอง โดยหันมาเน้นการขายผ่านอีคอมเมิร์ซ และนำเทคโนโลยีต่างๆ อาทิ Robotics และ Automation เข้ามาพัฒนาบริการใหม่ๆ 
  • ขณะที่ค้าปลีกรายใหญ่ของไทยอย่าง CPALL และ CRC ต่างยังเผชิญกับแรงกดดันจากการหายไปของนักท่องเที่ยวและกำลังซื้อที่ชะลอตัวลง ส่วนค้าปลีกที่ยังเติบโตได้ดีจะเป็นกลุ่มที่ขายสินค้าเฉพาะทาง เช่น COM7 และ DOHOME 
  • นักวิเคราะห์ บล.กสิกรไทย มองว่า หุ้นค้าปลีกไทยจะฟื้นตัวกลับมาอยู่ในระดับเดียวกับช่วงก่อนโควิด-19 หรือเติบโตต่อไปได้ จำเป็นจะต้องเห็นนักท่องเที่ยวกลับมา รวมถึงกำลังซื้อในประเทศที่ดีขึ้นก่อน ซึ่งคาดว่าอาจจะต้องรอไปถึงปลายปี 2564

หากนึกถึงธุรกิจ ‘ค้าปลีก’ ยักษ์ใหญ่ของโลก ‘Walmart’ น่าจะเป็นชื่อแรกๆ ที่โผล่เข้ามาในความคิดของหลายๆ คน ประเด็นที่น่าสนใจเกี่ยวกับ Walmart ในช่วงล่าสุด คือ ท่ามกลางวิกฤตโควิด-19 ซึ่งกระทบภาคธุรกิจทั่วโลก ราคาหุ้นของ Walmart (WMT) กลับยังคงเดินหน้าทำ All Time High ได้ต่อเนื่อง

 

ราคาหุ้น Walmart เติบโตขึ้นราว 170% ไปแตะระดับ 150 ดอลลาร์ในช่วงต้นเดือนกันยายนที่ผ่านมา โดยเป็นการเติบโตในปี 2563 ถึง 20%

 

กราฟราคาหุ้น Walmart (WMT) ช่วง 5 ปีที่ผ่านมา

 

ช่วงเวลา 5 ปีที่ผ่านมา ก่อนหน้าที่โลกจะเผชิญกับวิกฤตโควิด-19 Walmart เผชิญกับความท้าทายอยู่ก่อนแล้ว โดยเฉพาะการรับมือกับเทคโนโลยีที่มองกันว่าจะเข้ามา Disrupt ธุรกิจค้าปลีกดั้งเดิม

 

แม้ว่ารายได้ของ Walmart ยังคงเดินหน้าเพิ่มขึ้นจาก 4.82 แสนล้านดอลลาร์ในปี 2558/2559 มาเป็น 5.14 แสนล้านดอลลาร์ในปี 2561/2562 แต่กำไรสุทธิของ Walmart อ่อนตัวต่อเนื่อง จาก 16,363 ล้านดอลลาร์ หายไปเกินครึ่งเหลือเพียง 6,670 ล้านดอลลาร์ ในช่วงเวลาเดียวกัน

 

ถัดมาในปี 2562/2563 รายได้ของ Walmart ยังคงขยับขึ้นต่อเนื่องไปอยู่ที่ 523,964 ล้านดอลลาร์ พร้อมกับการฟื้นตัวของกำไรสุทธิอย่างก้าวกระโดดมาอยู่ที่ 14,881 ล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้น 123%

 

ผลประกอบการของ Walmart ช่วง 5 ปีที่ผ่านมา


การปรับตัวของ Walmart ก่อนหน้านี้อาจจะเรียกได้ว่าเป็นการ Disrupt โมเดลธุรกิจดั้งเดิมของตัวเอง ซึ่งเดิมทีเน้นการขายผ่านทางสาขาต่างๆ ที่กระจายอยู่ทั่วสหรัฐฯ เกือบ 4,800 สาขา หันมาให้ความสำคัญกับการขายสินค้าผ่านช่องทางที่หลากหลายมากขึ้น

 

ทอม วาร์ด รองประธานอาวุโสแผนกงานด้านดิจิทัล ของ Walmart กล่าวไว้ก่อนหน้านี้ว่า กระแสของนวัตกรรมที่เกิดขึ้นสามารถมองย้อนกลับไปที่หลักการพื้นฐานของธุรกิจคือ การช่วยให้ชีวิตผู้คนดีขึ้น เช่น เราจะช่วยแต่ละครอบครัวประหยัดเงินได้อย่างไร หรือเราจะช่วยให้พวกเขาประหยัดเวลาในวันที่ยุ่งยากได้อย่างไร

 

ทอม วาร์ด กล่าวว่า ถ้าเราสามารถหาแนวทางเหล่านี้ได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งผ่านช่องทางอีคอมเมิร์ซ, Robotics, Automation และเทคโนโลยี เราจะเดินหน้าทำสิ่งเหล่านั้น

 

ช่วงที่ผ่านมาเราจึงเห็น Walmart เริ่มปรับโครงสร้างธุรกิจในหลายๆ ด้าน และพัฒนาบริการใหม่ๆ ขึ้นมาตอบสนองความต้องการผู้บริโภค เช่น บริการแบบส่งตรงถึงหน้าบ้าน (Door-to-Door Delivery) ผ่านรถยนต์ไร้คนขับ (Self-Driving Cars) หรือบริการสั่งสินค้าออนไลน์ (Order Online) และรับสินค้าที่จุดรับอัตโนมัติ (Pick Up at Kiosk) หรือบริการสั่งสินค้าออนไลน์ และสามารถระบุเวลาที่จะมารับสินค้าที่ลานจอดรถของสาขาต่างๆ (Groceries Delivered to Your Car Door)

 

ไม่เพียงแค่นั้น Walmart ยังได้ทดลองบริการใหม่ๆ เพื่ออำนวยความสะดวกที่มากขึ้นในการจัดส่งสินค้า อาทิ InHome Delivery ซึ่งเป็นบริการส่งสินค้าไปยังตู้เย็นที่บ้านของลูกค้าโดยตรง โดยคำนึงถึงความปลอดภัย โดยการติดกล้องไปกับพนักงานเพื่อให้ลูกค้าสามารถติดตามได้

 

การปรับตัวของ Walmart มาตั้งแต่ช่วงก่อนหน้านี้ ทำให้ผลประกอบการปี 2563/2564 ใน 2 ไตรมาสที่ผ่านมารวมกันยังคงเติบโตต่อเนื่อง ทั้งในส่วนของรายได้ที่เพิ่มขึ้น 7% เป็น 272,364 ล้านดอลลาร์ ขณะที่กำไรสุทธิเพิ่มขึ้น 40% เป็น 10,466 ล้านดอลลาร์ โดยยอดขายสาขาเดิม (SSSG) ของ Walmart ในไตรมาสล่าสุดเติบโตได้ถึง 9.3% จากปีก่อน

 

การปรับตัวของ Walmart เพื่อแข่งขันในยุคอีคอมเมิร์ซ

 

  1. บริการแบบส่งตรงถึงหน้าบ้าน (Door-to-Door Delivery) ผ่านรถยนต์ไร้คนขับ (Self-Driving Cars)
    2. บริการสั่งสินค้าออนไลน์ (Order Online) และรับสินค้าที่จุดรับอัตโนมัติ (Pick Up at Kiosk)
    3. บริการสั่งสินค้าออนไลน์ และสามารถระบุเวลาที่จะมารับสินค้าที่ลานจอดรถของสาขาต่างๆ (Groceries Delivered to Your Car Door)
    4. InHome Delivery บริการส่งสินค้าไปยังตู้เย็นที่บ้านของลูกค้าโดยตรง

    ตัดภาพมาที่ธุรกิจค้าปลีกขนาดใหญ่ในไทย ซึ่งส่วนมากเป็นบริษัทที่จดทะเบียนอยู่ในตลาดหลักทรัพย์ฯ หากพิจารณาจากดัชนีกลุ่มพาณิชย์ (COMM) ตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา ยังคงติดลบอยู่ 14.1%

    หากมองโดยภาพรวมจะเห็นว่า หุ้นค้าปลีกที่โดดเด่นขึ้นมาในปีนี้จะเป็นกลุ่มที่ค่อนข้างเฉพาะตัวอย่าง บมจ.คอมเซเว่น (COM7) ซึ่งเป็นตัวแทนจำหน่ายสินค้าไอที โดยเฉพาะผลิตภัณฑ์ของ Apple ราคาหุ้นเพิ่มขึ้นได้ 57.5% และ 5 ปีที่ผ่านมา ราคาหุ้นก็เพิ่มขึ้นมาถึง 784%

    หรืออย่าง บมจ.ดูโฮม (DOHOME) ที่เน้นขายวัสดุก่อสร้าง ราคาหุ้นเพิ่มขึ้น 50% ในปีนี้ ส่วน 5 ปีที่ผ่านมาเพิ่มขึ้น 87%

    ส่วนหุ้นค้าปลีกยักษ์ใหญ่ของไทยอย่าง บมจ.ซีพี ออลล์ (CPALL) หรือ บมจ.เซ็นทรัล รีเทล คอร์ปอเรชั่น (CRC) ราคาหุ้นยังติดลบในปีนี้ พร้อมกับผลประกอบการที่อ่อนแอลงอย่างชัดเจน

ความเคลื่อนไหวราคาหุ้นกลุ่มค้าปลีกช่วง 5 ปีที่ผ่านมา

 

ธรีทิพย์ วงษ์แสงไพบูลย์ ผู้อำนวยการอาวุโส บล.กสิกรไทย มองว่า สิ่งที่แตกต่างค่อนข้างชัดเจนระหว่างธุรกิจค้าปลีกขนาดใหญ่ในไทยกับ Walmart คือการเติบโตของยอดขายจากสาขาเดิม (SSSG) ซึ่งเท่าที่ดูแล้ว Walmart มีตัวเลขเติบโตดีกว่าในไทยค่อนข้างชัดเจน

 

การหายไปของนักท่องเที่ยวเป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญที่กดดันธุรกิจค้าปลีกไทย ซึ่งที่ผ่านมาในอดีตกำลังซื้อจากนักท่องเที่ยวมีส่วนสำคัญต่อการเติบโตของยอดขายโดยรวม เมื่อนักท่องเที่ยวลดลง ก็ส่งผลโดยตรงต่อผลประกอบการของบริษัท

 

นอกจากนี้การล็อกดาวน์และปิดสาขาแต่ละแห่งในช่วงที่โควิด-19 แพร่ระบาดหนัก ทำให้ความพร้อมในเรื่อง ‘การขายผ่านช่องทางออนไลน์’ สะท้อนความแตกต่างออกมาให้เห็น

 

“จริงๆ แล้วธุรกิจค้าปลีกส่วนใหญ่ค่อนข้างตื่นตัวกับเทรนด์ออนไลน์อยู่แล้ว ทั้งส่วนของแพลตฟอร์มและโลจิสติกส์ แต่สัดส่วนของยอดขายผ่านทางออนไลน์ช่วงก่อนโควิด-19 น่าจะอยู่เพียง 2-3% เต็มที่ไม่น่าจะเกิน 5% แต่หลังจากการล็อกดาวน์ ทำให้บริษัทค้าปลีกของไทยแอ็กทีฟมากขึ้น และมีการพัฒนาช่องทางต่างๆ ขึ้นมาในเวลาอันสั้น จนทำให้สัดส่วนยอดขายออนไลน์กระโดดขึ้นมาเป็น 12-17%”

 

แต่เมื่อเทียบกับ Walmart ซึ่งในช่วงเวลาปกติที่มีสัดส่วนยอดขายจากออนไลน์กว่า 10% ค้าปลีกของไทยยังมีสัดส่วนจากทางออนไลน์ที่ค่อนข้างต่ำ โดยเฉพาะหลังจากที่สาขาต่างๆ เริ่มกลับมาเปิดได้ตามปกติ สัดส่วนการขายออนไลน์ก็หดตัวลง แต่สิ่งที่ดีคือ สัดส่วนที่ลดลงนั้นไม่ได้กลับไปต่ำเท่าเดิม โดยปัจจุบันน่าจะอยู่ที่สูงกว่า 5% เพิ่มขึ้นจากช่วงก่อนโควิด-19 ราว 1.5-2 เท่า เนื่องจากลูกค้ามีประสบการณ์การซื้อออนไลน์มากขึ้น

 

สำหรับแนวโน้มหลังจากนี้ ธุรกิจค้าปลีกไทยยังคงขาดกำลังซื้อจากนักท่องเที่ยว รวมถึงกำลังซื้อในประเทศที่ผู้บริโภคยังชะลอการใช้จ่าย

 

“บนสมมติฐานที่ว่าจะไม่มีการแพร่ระบาดของโควิด-19 ระลอกสอง และคาดว่านักท่องเที่ยวน่าจะเริ่มกลับมาได้ปลายปี 2564 คาดว่าจะเห็นการฟื้นตัวของธุรกิจค้าปลีกในไทยช่วงไตรมาส 2 ปีหน้า ด้วยฐานที่ต่ำในปีนี้ แต่การจะเห็นธุรกิจฟื้นกลับไปในระดับเดิมก่อนเกิดโควิด-19 หรือกลับมาเติบโตได้ คงจะต้องรอให้นักท่องเที่ยวกลับมา รวมถึงการฟื้นตัวของกำลังซื้อในประเทศที่ปัจจุบันยังชะลอการใช้จ่าย”

 

พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising