ปัญหาสภาพอากาศ พายุกระหน่ำ อุณหภูมิน้ำทะเลสูง กระทบผลผลิตสาหร่ายวากาเมะ ดันราคาวัตถุดิบพุ่งกว่า 583 บาทต่อกิโลกรัม จับตาร้านอาหารญี่ปุ่นทั่วโลกจ่อขึ้นราคา
Nikkei Asia รายงานว่า ปัญหาสภาพอากาศมีการเปลี่ยนแปลงอย่างมาก โดยเฉพาะพายุในโซนบริเวณชายฝั่งซันริคุ ทางตะวันออกเฉียงเหนือของญี่ปุ่น ซึ่งเป็นถิ่นฐานการผลิตสาหร่ายวากาเมะส่งออกขนาดใหญ่ หรือคิดเป็นสัดส่วนมากกว่า 70%
เรียกได้ว่าผลกระทบของพายุที่ลากยาวมาตั้งแต่เดือนมกราคมสร้างความเสียหายให้กับการเจริญเติบโตของสาหร่ายวากาเมะ ส่งผลให้เกษตรกรเก็บเกี่ยวผลผลิตได้น้อยที่สุดแบบที่ไม่เคยเป็นมาก่อน โดยคาดว่าปีนี้ทั้งปีจะเก็บเกี่ยวได้ประมาณ 14,000 ตันเท่านั้น ซึ่งไม่เพียงพอต่อความต้องการภายในประเทศที่ต้องใช้วัตถุดิบสาหร่ายวากาเมะกว่า 8,000 ล้านแผ่นต่อปี
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
- วิกฤตร้านซูชิที่ ‘ล้มละลาย’ มากขึ้นในญี่ปุ่น สะท้อนให้เห็นผลกระทบจากเงินเฟ้อ จนร้านขนาดเล็กแบกต้นทุนไม่ไหว
- ‘ร้านซูชิ’ เสิร์ฟจากมือเชฟจะกลับมาสู่ยุครุ่งเรืองได้อีกหรือไม่? หลังเรื่องอื้อฉาวซูชิสายพานสร้างความเสียหายมหาศาล
- กาแฟแพงขึ้นอีกจากปรากฏการณ์เอลนีโญ กระทบผลผลิตเมล็ดกาแฟในเวียดนาม ด้านชาวสวนเริ่มหันไปปลูกทุเรียนแทน
เช่นเดียวกับฐานการผลิตสาหร่ายที่ฝั่งเมืองฮอกไกโด จากที่เคยเพิ่มขึ้นในปีที่ผ่านมาก็เริ่มลดลงหรืออยู่ที่ 12,245 ตันต่อปี และราคาอยู่ที่ 1,620 เยนต่อกิโลกรัม หรือเพิ่มขึ้น 5%
สำนักงานท้องถิ่นของ JF Zengyoren รายงานว่า ปัจจุบันราคาเฉลี่ยของสาหร่ายวากาเมะชนิดเปียกอยู่ที่ 2,479 เยน (ประมาณ 583 บาท) ต่อกิโลกรัม เพิ่มขึ้น 54% ถ้าเทียบจากปีที่แล้ว ส่วนสาหร่ายวากาเมะชนิดแห้งราคาเฉลี่ยเพิ่มขึ้น 48% ซึ่งเป็นราคาที่สูงที่สุดนับตั้งแต่ปี 2520
สิ่งที่ตามมาคือ ต้นทุนวัตถุดิบจะสูงขึ้นอีก ส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมร้านอาหารญี่ปุ่นทั่วโลก ทำให้อาจต้องปรับขึ้นราคาอีกครั้ง เพราะวัตถุดิบสาหร่ายวากาเมะเป็นส่วนผสมของหลายๆ เมนู เช่น ซูชิและซุปมิโซะ
ไดสุเกะ ฟูจิตะ ประธานสมาคมสาหร่ายทะเลญี่ปุ่น กล่าวว่า ผลผลิตสาหร่ายวากาเมะที่ลดลงส่วนใหญ่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงของสิ่งแวดล้อมและอุณหภูมิน้ำทะเลที่สูงขึ้น เพราะโดยปกติกระบวนการเติบโตของสาหร่ายจะมาจากการดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากน้ำทะเล
อ้างอิง: