×

จับตาขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ สัญญาณเตือน Wage Price Spiral

04.05.2022
  • LOADING...
Wage Price Spiral

ปัญหาค่าครองชีพที่พุ่งสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะราคาน้ำมันและอาหารสด ในขณะที่เศรษฐกิจของประเทศก็ยังฟื้นตัวจากโควิดได้ไม่เต็มที่ ทำให้มีคนไทยจำนวนไม่น้อยที่กำลังเผชิญกับภาวะรายรับโตไม่ทันกับรายจ่าย บางรายต้องกู้หนี้ยืมสินมาเพื่อใช้จ่ายไปก่อน ดิ้นรนเอาตัวรอดกันแบบเดือนชนเดือน

 

สถานการณ์ที่เกิดขึ้นส่งผลให้เมื่อเร็วๆ นี้ คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) และสมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ (สรส.) ได้ออกมาเรียกร้องให้รัฐบาลประกาศปรับค่าจ้างแรงงานขั้นต่ำเป็น 492 บาทเท่ากันทั่วประเทศ ทั้งกรณีของแรงงานในระบบและนอกระบบ

 

การเคาะอัตราค่าแรงที่ 492 บาทเท่ากันทั่วประเทศ เกิดจากการสำรวจค่าใช้จ่ายรายวันและรายเดือน ซึ่งครอบคลุมค่าอาหาร, ค่าเดินทาง, ค่าน้ำประปา, ค่าไฟฟ้า, ค่าเช่าบ้าน, ค่าโทรศัพท์, ค่าอินเทอร์เน็ต, ค่าเลี้ยงดูครอบครัว ของแรงงานกว่า 3,000 คนมาคำนวณ โดยพบว่าปัจจุบันแรงงานแต่ละคนจะมีค่าใช้เฉลี่ยอยู่ที่ 21,382.92 บาทต่อเดือน 

 

ขณะเดียวกันยังพบว่าปัจจุบันครัวเรือนไทยส่วนใหญ่มีหนี้สินเฉลี่ยกว่า 2 แสนบาทต่อครัวเรือน เพิ่มขึ้นถึง 5.90% เทียบกับปีที่แล้ว ซึ่งเป็นระดับสูงที่สุดในรอบ 14 ปี 

 

แน่นอนว่าทันทีที่มีข้อเรียกร้องให้ปรับขึ้นค่าจ้าง เสียงคัดค้านจากบรรดานายจ้างและผู้ประกอบการย่อมตามมา โดยสภาองค์การนายจ้างแห่งชาติ พร้อมด้วยสมาคมนายจ้างอีก 40-50 สมาคม ได้ออกมาแสดงจุดยืนคัดค้านการขึ้นค่าแรงจาก 331 บาท เป็น 492 บาททั่วประเทศ และไม่เห็นด้วยที่จะขึ้นค่าแรงขั้นต่ำในช่วงนี้ 

 

โดยในมุมของนายจ้างมองว่า การปรับเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำแบบก้าวกระโดดจาก 313-336 บาท ไปที่ 492 บาท หรือเกือบ 50% นั้นสูงเกินไป และอาจส่งผลกระทบเชิงลบมากกว่าเชิงบวก ภาคธุรกิจที่เผชิญกับภาระต้นทุนการผลิตและต้นทุนพลังงานที่เพิ่มสูงขึ้นอยู่แล้ว อาจแบกรับต้นทุนที่เพิ่มขึ้นจากค่าแรงอีกไม่ไหว จนต้องลดการจ้างงานหรือปิดกิจการไป 

 

ขณะเดียวกันภาคธุรกิจยังจำเป็นต้องส่งผ่านต้นทุนที่เพิ่มขึ้นไปยังผู้บริโภคด้วยการขึ้นราคาสินค้า ทำให้ในท้ายที่สุดแรงงานก็จะต้องซื้อสินค้าอุปโภคบริโภคในราคาที่สูงขึ้น ซึ่งจะยิ่งผลักดันให้ปัญหาเงินเฟ้อทวีความรุนแรงขึ้น

 

ขึ้นค่าแรงเท่าไรจึงเหมาะสม?

 

หนึ่งในข้อเสนอที่ออกมาจากสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) คือ สูตรการปรับขึ้นค่าแรงควรนำอัตราเงินเฟ้อและผลิตภาพแรงงานมาพิจารณาประกอบ โดยการปรับเพิ่มขึ้นไม่ควรเป็นอัตราเดียวกันทั่วประเทศ เนื่องจากค่าครองชีพในแต่ละพื้นที่ไม่เท่ากัน

 

ขณะเดียวกันภาครัฐควรช่วยเหลือผู้ที่ได้รับความเดือดร้อนจากของแพงผ่านมาตรการอื่นๆ ควบคู่กันไป เช่น การใส่เงินเข้าไปในบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ นอกจากนี้ภาครัฐควรให้ความช่วยเหลือธุรกิจที่พึ่งพาแรงงานเข้มข้นในการปรับโครงสร้าง ด้วยการนำเทคโนโลยีและเครื่องจักรเข้ามาทดแทนบางส่วน พร้อมปรับปรุงกฎระเบียบที่เป็นอุปสรรคสำหรับภาคธุรกิจ

 

ห่วงค่าแรงขึ้นก้าวกระโดดสะเทือนเศรษฐกิจ

 

ด้าน ธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ที่ประเมินว่า การที่รัฐบาลจะตัดสินใจเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำจากปัจจุบันที่ 330 บาทต่อวัน ขึ้นเป็น 492 บาทตามข้อเรียกร้องของกลุ่มแรงงานคงเป็นเรื่องยาก

 

ธนวรรธน์กล่าวอีกว่า การขึ้นค่าจ้างในอัตราดังกล่าวจะส่งผลกระทบเชิงลบต่อภาคธุรกิจ ทำให้ต้นทุนของการผลิตสินค้าจะเพิ่มสูงขึ้นโดยปริยาย อีกทั้งจะทำให้กลุ่มธุรกิจขาดสภาพคล่องจนต้องเพิ่มราคาสินค้าเพื่อมาจ่ายต้นทุนที่มากขึ้น ซึ่งจะยิ่งส่งผลกระทบเชิงลบต่อเงินเฟ้อไทย

 

จับตา Wage Price Spiral 

 

นริศ สถาผลเดชา หัวหน้าศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจทีทีบี (ttb analytics) ระบุว่า ภาวะค่าครองชีพที่เพิ่มสูงขึ้นจนนำไปสู่การเรียกร้องให้ปรับขึ้นค่าแรงนี้ถือว่ามีความน่ากังวล เนื่องจากมีความเสี่ยงที่สถานการณ์อาจลุกลามจนเกิดเป็นปัญหาเงินเฟ้อฝังลึก หรือ Wage Price Spiral ที่การปรับขึ้นราคาสินค้าและการปรับขึ้นค่าแรงจะวนลูปจนเกิดเป็นวงจรเงินเฟ้อที่ยากจะแก้ไข

 

“เรื่องการปรับขึ้นค่าแรงเปรียบเสมือนปัญหาไก่กับไข่ มุมหนึ่งด้วยค่าครองชีพที่สูงระดับนี้ ถ้าไม่ปรับขึ้นรายได้ให้กับแรงงาน กำลังการบริโภคในประเทศก็จะลดลง แต่อีกมุมหนึ่งผู้ประกอบการก็ต้องแบกรับภาระต้นทุนที่เพิ่มขึ้นเช่นกัน ดังนั้นเราอาจต้องหาจุดสมดุลที่เป็นที่ยอมรับของทั้งสองฝ่าย” นริศกล่าว

 

นริศกล่าวว่า กลุ่มธุรกิจที่อาจประสบปัญหาหากมีการปรับขึ้นค่าแรงคือ SMEs เนื่องจากธุรกิจ SMEs มีความสามารถในการส่งผ่านต้นทุนไปยังผู้บริโภคไม่มากและมีอำนาจต่อรองน้อย หากธุรกิจกลุ่มนี้ต้องแบกรับต้นทุนค่าแรงเพิ่มเติมจากต้นทุนการผลิตต่างๆ ที่เพิ่มขึ้นล่วงหน้าไปแล้ว ก็จะยิ่งมีความเปราะบางมากขึ้น

 

“ปัจจุบัน SMEs มีการจ้างงานอยู่ถึง 12 ล้านคน ถ้าผู้ประกอบการกลุ่มนี้เกิดปัญหาก็อาจยิ่งสร้างปัญหาในเชิงเศรษฐกิจได้ โดยหากย้อนไปดูช่วงปี 2555-2556 ที่ไทยปรับขึ้นค่าแรง 35% จะพบว่าความสามารถในการแข่งขันของ SMEs ไทยเริ่มลดลงหลังจากนั้น” นริศกล่าว

 

โคเพย์อาจเป็นทางออก

 

สมประวิณ มันประเสริฐ รองผู้จัดการใหญ่ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มงาน EIC ธนาคารไทยพาณิชย์ กล่าวว่า ค่าครองชีพที่พุ่งสูงขึ้นในเวลานี้เป็นปัญหาที่เกิดจากฝั่งอุปทานคือราคาพลังงานและอาหาร ซึ่งกลุ่มครัวเรือนที่มีรายได้น้อยและผู้ใช้แรงงานที่รับรายได้ขั้นต่ำจะมีสัดส่วนการใช้จ่ายในหมวดนี้สูงถึง 40% ประกอบกับการมีภาระหนี้ที่สูง ทำให้คนกลุ่มนี้ได้รับผลกระทบที่รุนแรงกว่ากลุ่มอื่นๆ จนต้องส่งเสียงออกมาด้วยการเรียกร้องค่าแรง

 

สมประวิณกล่าวว่า การแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นโดยหลักการสามารถทำได้ 2 ส่วน หนึ่งคือลดรายจ่าย เช่น การใช้นโยบายอุดหนุนราคาพลังงานและควบคุมราคาสินค้าจำเป็น ซึ่งมีข้อจำกัดในเชิงงบประมาณ และสองคือการเพิ่มรายได้ คือการปรับเพิ่มค่าแรง แต่แนวทางนี้จะส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการ และทำให้ราคาสินค้าปรับสูงขึ้นจากการส่งผ่านต้นทุน

 

“โดยส่วนตัวมองว่าการเพิ่มรายได้ผ่านการอุดหนุนของภาครัฐน่าจะเป็นทางเลือกที่ดีที่สุด วิธีการนี้คือการปรับขึ้นค่าแรงโดยให้ภาครัฐเข้ามาร่วมจ่ายบางส่วน โดยเจาะจงการช่วยเหลือไปที่แรงงานที่รับค่าจ้างขั้นต่ำและอยู่ในอุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานเข้มข้น โดยวิธีการนี้จะไม่สร้างภาระโดยตรงให้กับผู้ประกอบการ ขณะเดียวกันก็ไม่ทำให้การจ้างงานลดลง” สมประวิณกล่าว

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising