เมื่อวันที่ 19 ธันวาคมที่ผ่านมา นับเป็นความสำเร็จที่ยิ่งใหญ่ของวงการกีฬาไทย เมื่อ บาส-เดชาพล พัววรานุเคราะห์ และ ปอป้อ-ทรัพย์สิรี แต้รัตนชัย คู่ผสมมือหนึ่งของโลก คว้าแชมป์โลกในศึก Total Energies BWF World Championships 2021 โดยนับเป็นแชมป์โลกสมัยแรกของคู่ผสมไทย เป็นแชมป์รายการที่ 5 ติดต่อกันของ บาส ปอป้อ และเป็นแชมป์ที่ 8 ของพวกเขาในปีนี้
แต่ในพิธีมอบรางวัล สิ่งที่ปรากฏขึ้นในช่วงการเปิดเพลงชาติของผู้ชนะในพิธีมอบรางวัล แทนที่จะเป็นธงชาติไทยที่จะขึ้นอยู่บนจุดสูงสุด แต่ในครั้งเป็นธง BAT (Badminton Association of Thailand) หรือสมาคมกีฬาแบดมินตันแห่งประเทศไทย ที่ปรากฏขึ้นแทน
โดยเหตุการณ์นี้เป็นผลกระทบต่อเนื่องจากการที่ องค์กรต่อต้านการใช้สารต้องห้ามโลก (WADA) ประกาศไม่ให้การรับรองประเทศไทย เนื่องจากยังไม่ได้ปฏิบัติตาม 2021 WADA Code หรือธรรมนูญขององค์กรได้ตามกำหนด ตั้งแต่ช่วงเดือน ตุลาคมที่ผ่านมา
ทำไมวงการกีฬาไทยจึงโดน WADA แบน และไทยสามารถแก้ไขได้อย่างไรบ้าง ก่อนหน้านี้ ดร.ก้องศักด ยอดมณี ผู้ว่าการการกีฬาแห่งประเทศไทย ได้ออกมาแถลงถึงปัญหาที่เกิดขึ้นไว้เมื่อเดือนตุลาคมที่ผ่านมา
โดยเหตุการณ์เมื่อเดือนตุลาคมที่ผ่านมา องค์กรต่อต้านการใช้สารต้องห้ามโลก (WADA) ประกาศไม่ให้การรับรองประเทศไทย เนื่องจากยังไม่ได้ปฏิบัติตาม 2021 WADA Code หรือธรรมนูญขององค์กร ในด้านของการบังคับใช้กฎหมาย ซึ่ง WADA ได้ออกแถลงไม่รับรองไทยอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 8 ตุลาคมที่ผ่านมา พร้อมกับเกาหลีเหนือและอินโดนีเซีย
ล่าสุดทาง ดร.ก้องศักด ยอดมณี ผู้ว่าการ การกีฬาแห่งประเทศไทย (ผู้ว่าการ กกท.) ได้ออกมาแถลงชี้แจงปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้น และขั้นตอนการแก้ไขต่อจากนี้อย่างเป็นทางการ เมื่อวันที่ 11 ตุลาคม
ความผิดของไทย แตกต่างจากรัสเซีย อินโดนีเซีย และเกาหลีเหนือ
สิ่งแรกที่ ดร.ก้องศักด ออกมายืนยันคือ ความผิดของไทยที่ส่งผลให้ WADA ไม่ให้การรับรองประเทศไทย แตกต่างจากกรณีของรัสเซีย อินโดนีเซีย และเกาหลีเหนือ
โดย ดร. ก้องศักด ได้กล่าวว่า
“กรณีของไทยแตกต่างจากกรณีที่รัสเซีย เกาหลีเหนือ และอินโดนีเซีย ที่โดนแบนจากการที่ไม่ได้ตรวจสอบและควบคุมการใช้สารกระตุ้นในนักกีฬา
“แต่ไทยเรามีประเด็นสำคัญเรื่องการแก้ไขตัวบทกฎหมายพระราชบัญญัติควบคุมสารต้องห้ามทางการกีฬา พ.ศ. 2555 บางประการที่ไม่สอดคล้องกับเกณฑ์ของ WADA ในเรื่องบทลงโทษที่ประกาศเมื่อเดือนมกราคม 2564 และการแยกเป็นองค์กรอิสระในการบริหารจัดการ
“โดยเราพยายามแก้ไขกฎหมายลูกตั้งแต่ปีที่แล้ว แต่กระบวนการมีหลายขั้นตอนและละเอียดอ่อน ทำให้ไม่สามารถดำเนินการได้ทันตามกรอบเวลาของ WADA”
ผลกระทบที่เกิดขึ้นกับไทยจากการถูก WADA ไม่รับรอง
ผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการประกาศของ WADA เมื่อวันที่ 8 ตุลาคม
ข้อแรกคือ ไทยจะไม่สามารถขอทุนจาก WADA หรือเข้าไปมีส่วนร่วมในการดำเนินงานได้ แต่ที่ผ่านมาไทยไม่เข้าไปมีส่วนร่วมในจุดนี้อยู่แล้ว จึงไม่มีผลกระทบใดๆ
ข้อที่สองคือ คนที่ไทยที่เป็นคณะกรรมการ หรือดำรงตำแหน่งอยู่ในสหพันธ์กีฬาต่างๆ ก็ต้องหยุดปฏิบัติหน้าที่ในช่วงที่เรายังแก้ไขปัญหาไม่ได้ ตัวแทนไทยจะไม่สามารถร่วมโหวตหรือออกเสียงในการประชุมของสหพันธ์กีฬาที่เป็นสมาชิกของ WADA จนกว่าไทยจะสามารถแก้ไขข้อกฎหมายได้ตามกำหนดของ WADA
ข้อที่สามคือ ประเทศไทยจะไม่สามารถจัดการแข่งขันระดับภูมิภาค ระดับทวีป ระดับชิงแชมป์โลก ในช่วงเวลาที่ยังดำเนินการแก้ไขกฎหมายอยู่ ยกเว้นในระดับโอลิมปิกและพาราลิมปิก
แต่การแข่งขันที่เสนอจัดไปแล้วต่างๆ ก่อนหน้านี้ จะไม่มีผลกระทบ ขึ้นอยู่กับการพูดคุยระหว่างฝ่ายจัดการแข่งขัน สหพันธ์กีฬานานาชาติ (International Federation), WADA และประเทศไทย
ข้อที่สี่คือ ประเทศไทยจะไม่สามารถใช้ธงชาติได้ในการแข่งขันระดับมหกรรมกีฬาสากล แต่จะเข้าร่วมแข่งขันได้ตามปกติเป็นเวลา 1 ปี ยกเว้นเพียงการแข่งขันระดับโอลิมปิกและพาราลิมปิกที่จะเข้าร่วมได้แบบปกติ ส่งผลให้การแข่งขันโอลิมปิกฤดูหนาวในช่วงต้นปี 2022 จะไม่ได้รับผลกระทบ
ในแง่ของบทลงโทษในแต่ละชนิดกีฬาของการแข่งขันกีฬาอาชีพทั่วโลกที่มีนักกีฬาไทยเข้าร่วมแข่งขัน ทุกกรณีจะขึ้นอยู่กับการพูดคุยระหว่างฝ่ายจัดการแข่งขัน สหพันธ์กีฬานานาชาติ และ WADA
ซึ่งทาง กกท. ได้ชี้แจงปัญหาไปยัง WADA ถึงปัญหาที่เกิดขึ้น และในวันอังคารที่ 12 ตุลาคมนี้ ทาง กกท. จะมีการประชุมร่วมกับผู้บริหารสมาคมกีฬาแห่งประเทศไทยที่มีผู้แทนอยู่ในสหพันธ์กีฬาระดับนานาชาติ เพื่อหารือแนวทางการแก้ไขปัญหาร่วมกันอีกครั้งหนึ่ง
ขั้นตอนการแก้ไขปัญหาต่อจากนี้
ดร. ก้องศักด ได้เปิดเผยว่าแนวทางการแก้ปัญหาก่อนหน้านี้ตั้งแต่ต้นปี 2564 ที่ WADA มีการปรับปรุงกฎเกณฑ์ต่างๆ ในประเทศไทยได้มีการดำเนินงานปรับเปลี่ยนตาม เพื่อให้เป็นไปตามมาตรฐานสากลมาโดยตลอด
แต่ในส่วนที่ทำให้เกิดปัญหาคือ พระราชบัญญัติควบคุมการใช้สารต้องห้ามทางการกีฬา พ.ศ. 2555 ซึ่งมีข้อกำหนดในบางมาตราที่ยังไม่เป็นไปตามมาตรฐานสากล ตามที่ WADA Code 2021 กำหนดไว้
“กฎของ WADA ออกมาใช้บังคับอย่างเป็นทางการเดือนมกราคม ต้นปีนี้ ในการที่เราต้องปรับตัวให้เข้ากับ WADA สิ่งต่างๆ ที่เราทำได้คือเราพยายามแก้ส่วนที่เราสามารถที่จะทำได้ด้วยอำนาจหน้าที่ของการกีฬา ก็คือกฎหมายลูกและระเบียบต่างๆ เราแก้ไขมาเป็น 100 ประเด็นแล้ว
“แต่ประเด็นที่เราต้องมีการแก้ไขจริงๆ คือประเด็นในเรื่องของบทกำหนดโทษ ที่ของเรายังไม่สอดคล้องกับ WADA Code เรื่องของนิยามบางส่วน แล้วก็เรื่องของความเป็นอิสระขององค์กรควบคุมสารต้องห้าม ซึ่งในประเด็นของการมีอิสระ ได้มีการดำเนินแก้ไขในการบริหารจัดการในระดับหนึ่งแล้ว
“ทุกฝ่ายเห็นตรงกันว่าเราจะเร่งแก้ไขกฎหมาย ซึ่งอาจจะเป็นการออกกฎหมายพิเศษเป็นพระราชกำหนด และเข้าสู่กระบวนการปฏิรูปกฎหมาย ซึ่งจะทำให้ขบวนการเร็วกว่าปกติ เราคาดการณ์ตามกรอบเวลาที่จะแก้ไขปัญหาให้ได้ภายใน 3-4 เดือน
“ซึ่งทาง กกท. ได้มีดำเนินการควบคู่กันไปในการรายงานความคืบหน้าให้กับ WADA คณะกรรมการโอลิมปิกสากล (IOC) และรัฐบาลได้รับทราบอย่างต่อเนื่อง
“เราได้มีการเก็บข้อมูล ยกร่างกฎหมายส่งให้คณะกรรมการกฤษฎีกา ก่อนร่างกฎหมายส่งให้ WADA ตรวจสอบให้ถูกต้องตามมาตรฐานสากล เพื่อต้องการปลดล็อกให้เร็วที่สุด
“ส่วนการแยกออกเป็นองกรณ์อิสระนั้น ต้องแยกออกมาจากโครงสร้างของ กกท. ต้องเป็นองค์กรที่บริหารจัดการตนเอง ไม่มีหน่วยงานอื่นเข้าไปแทรกแซง และจะมีการจัดการเรื่องบุคลากรและรายได้ที่จะแยกออกมาจาก กกท. อีกครั้งหนึ่ง
“อีกส่วนหนึ่งคือทาง กกท. ได้มีการออกหนังสืออธิบายขั้นตอนการดำเนินงานให้เกิดความชัดเจนกับ WADA เพื่อขอให้พิจารณาชะลอบทลงโทษต่างๆ กับอีเวนต์กีฬาที่กำลังจะเกิดขึ้นในช่วงเวลา 2-3 เดือนต่อจากนี้
“ในคำสั่งบทลงโทษ 1 ปีหลักๆ มี 2 เรื่องคือ การที่คนไทยเป็นกรรมการในสหพันธ์กีฬา และเรื่องของธงชาติในการแข่งขัน แต่ในเรื่องของการจัดการแข่งขันกีฬา เมื่อเราแก้ไขปลดล็อกได้ เราจัดการแข่งขันได้เลย แต่ในกรณี 2 เรื่องที่อยู่ในช่วงเวลาแบน 1 ปี เป็นเรื่องที่เราต้องหารือและขอทาง WADA
“ซึ่งหากเราดำเนินการตามข้อกำหนดได้ทุกอย่างแล้วและขอให้ปลดล็อกเลย ซึ่งหาก WADA เห็นถึงการเร่งดำเนินงานของเรา ก็สามารถปลดล็อกได้เลย แต่หาก WADA ไม่ปลดล็อก เราก็ต้องดำเนินการตามกฎหมาย ไม่ว่าจะไปศาลอนุญาโตตุลาการกีฬา (CAS) ก็สามารถไปโต้แย้งเรื่องของการผ่อนปรนมาตรการ ก็สามารถทำการได้”