×

ยินดีต้อนรับสู่ยุค VUCA โลกแห่งความ ‘ผันผวน ไม่แน่นอน ซับซ้อน และงุนงง

18.07.2022
  • LOADING...
VUCA

กรณี VUCA อาจกล่าวได้ว่ายุคแห่งเศรษฐกิจแบบปกติธรรมดาหมดลงแล้ว โดยช่วงก่อนวิกฤตโควิดในแวดวงเศรษฐกิจการเงินโลกจะมีคำกล่าวว่า เศรษฐกิจในช่วงนั้นเป็นยุคแห่งการเติบโตต่อเนื่อง (The Great Moderation) อันเป็นยุคที่เศรษฐกิจเติบโตต่ำ เงินเฟ้อต่ำ ดอกเบี้ยต่ำ วินัยการเงินการคลังเริ่มดีขึ้น และดอลลาร์อ่อนค่า ขณะที่สกุลอื่นๆ ทั้งเยน ยูโร หยวน หรือแม้กระทั่งเงินบาทแข็งค่า

 

ปัจจุบันยุคนั้นได้หมดไปแล้ว (อย่างน้อยก็ในช่วงนี้) เห็นได้จากความเสี่ยงเศรษฐกิจถดถอย (Recession) ที่ชัดเจนขึ้นในเศรษฐกิจขนาดใหญ่ เช่น สหรัฐอเมริกา, ยุโรป, แคนาดา, ออสเตรเลีย และอังกฤษ โดยในหลายที่เกิดภาวะ Inverted Yield Curve หรือผลตอบแทนพันธบัตรกลับทิศ อันเป็นสัญญาณของภาวะถดถอยในอนาคต หรือเงินเฟ้อที่สูงสุดในรอบหลายทศวรรษ และทำให้การขึ้นดอกเบี้ยเป็นไปอย่างรวดเร็ว วินัยการเงินการคลังเริ่มกลับมาถดถอยอีกครั้งโดยเฉพาะในยุโรป และอาจนำไปสู่ความเสี่ยงวิกฤตหนี้สาธารณะ แต่ที่อาจจะรุนแรงที่สุดคือค่าเงินที่ดอลลาร์แข็งค่าสูงสุดในรอบหลายสิบปี และกลับเข้ามาสู่ Parity หรือ 1 ดอลลาร์แลกได้ 1 ยูโร เป็นครั้งแรกนับตั้งแต่กำเนิดยูโร

 

หรือหากพิจารณาจากกระแสข่าวในสัปดาห์ที่ผ่านมา จะเห็นว่ามีความเสี่ยงมากขึ้นทั้งสิ้น เช่น 

 

  1. ความกังวลในเรื่องเศรษฐกิจถดถอยมีมากขึ้น โดยเฉพาะหลังจากที่ตัวเลขเงินเฟ้อทั่วไปของสหรัฐฯ ปรับเพิ่มขึ้นเกินคาด ทำให้ตลาดคาดว่าเป็นไปได้มากขึ้นที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) จะปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายถึง 1% ในปลายเดือนนี้ 

 

  1. ธนาคารกลางทั่วโลกปรับขึ้นดอกเบี้ยรุนแรงขึ้น โดยธนาคารกลางแคนาดาขึ้นดอกเบี้ยจาก 1% สู่ระดับ 2.5% ขณะที่ธนาคารกลางเกาหลีใต้ปรับขึ้นจาก 0.5% ไปอยู่ที่ 2.25% ธนาคารกลางชิลีและฟิลิปปินส์ขึ้นดอกเบี้ย 0.75% ขณะที่หน่วยงานกำกับนโยบายการเงินสิงคโปร์ปรับช่วงอัตราแลกเปลี่ยนขึ้น (สิงคโปร์ใช้อัตราแลกเปลี่ยนเป็นเครื่องมือนโยบายการเงิน)

 

  1. ผู้ซื้อบ้านชาวจีนใน 50 เมืองปฏิเสธที่จะจ่ายสินเชื่อที่อยู่อาศัย หลังผู้พัฒนาโครงการหยุดการดำเนินโครงการต่อ ทำให้มีความเสี่ยงที่จะเกิดหนี้สูญถึง 8.3 หมื่นล้านดอลลาร์ ขณะที่เริ่มเกิดสถานการณ์ Bank Run ในธนาคารขนาดเล็กของจีนหลังมีการระงับการถอนเงิน ขณะที่หลายเมืองในจีนเริ่มทำมาตรการควบคุมโควิดรอบใหม่ โดยเฉพาะในเมืองแถบลุ่มแม่น้ำแยงซีและมาเก๊า แต่ในขณะเดียวกันรัฐบาลจีนกลับเตรียมทุ่มเม็ดเงินกว่า 1.1 ล้านดอลลาร์ในการทำโครงการโครงสร้างพื้นฐานใหม่ ซึ่งสำนักวิจัยเอกชนมองว่าอาจช่วยทำให้ GDP จีนขยายตัวเพิ่มขึ้นถึงกว่า 2-3% (Percentage Point) 

 

  1. คณะกรรมาธิการยุโรปได้ปรับลดการคาดการณ์เศรษฐกิจว่าจะขยายตัวที่ 2.6% และ 1.4% ในปีนี้และปีหน้า จาก 2.7% และ 2.3% ในการคาดการณ์ครั้งก่อน ขณะที่ Bloomberg คาดว่าโอกาสเกิดเศรษฐกิจถดถอยในยุโรปและเยอรมนีใน 12 เดือนข้างหน้าอยู่ที่ 45% และ 55% ตามลำดับ 

 

พัฒนาการทั้งหมดบ่งชี้ว่า ความเสี่ยงเศรษฐกิจถดถอยที่เพิ่มขึ้นนั้น เป็นผลจากภาวะเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้นทั่วโลก โดยเฉพาะในสหรัฐฯ ที่เงินเฟ้อในเดือนมิถุนายนที่ 9.1% สูงกว่าที่หลายฝ่ายคาด โดยส่วนสำคัญเป็นเพราะการเพิ่มขึ้นของค่าใช้จ่ายภาคบริการ โดยเฉพาะอย่างยิ่งค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับบ้านที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง 18 เดือนติดกันที่ 7.3% และค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องกับการขนส่งที่ปรับขึ้นต่อเนื่องที่ 19.6% 

 

แต่เงินเฟ้อพื้นฐานเริ่มลดต่ำอย่างต่อเนื่อง 3 เดือนติดกันมาอยู่ที่ 5.9% สอดคล้องกับอัตราเงินเฟ้อที่วัดจาก Core PCE ที่ลดลงอย่างต่อเนื่องที่ 4.7% บ่งชี้ว่าเงินเฟ้อน่าจะเริ่มพีคแล้ว และจะลดลงในระยะถัดไป 

 

อย่างไรก็ตาม เงินเฟ้อในระดับสูงสอดคล้องกับการจ้างงานนอกภาคเกษตรเพิ่ม 3.7 แสนตำแหน่ง สูงกว่าคาดที่ 2.5 แสนตำแหน่ง ทำให้เป็นไปได้มากขึ้นที่จะมีการปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย 1% 

 

โดยผู้เขียนมองว่ามีความเป็นไปได้ประมาณ 50% ที่จะขึ้น 1% ในเดือนนี้ ก่อนที่จะขึ้น 0.5% ในเดือนกันยายน และ 0.25% ในเดือนพฤศจิกายนและธันวาคม ซึ่งจะทำให้ดอกเบี้ยนโยบายไปอยู่ที่ 3.63% ณ สิ้นปี 

 

ผู้เขียนเชื่อว่านโยบายการเงินที่ตึงตัวขึ้น แม้อาจจะไม่ทำให้เศรษฐกิจสหรัฐฯ ตกต่ำรุนแรง ณ ขณะนี้ แต่ความเสี่ยงในระยะต่อไปคือผลกระทบของการขึ้นดอกเบี้ยไปสู่ทั่วโลก ที่อาจนำไปสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอยในยุโรป เงินยูโร เยน และสกุลอื่นๆ อ่อนค่าสวนทางดอลลาร์ และความผันผวนทางการเงินมีมากขึ้น หากธนาคารกลางในประเทศอื่นๆ ไม่ได้ขึ้นดอกเบี้ยตาม 

 

แต่ในส่วนของไทย ผู้เขียนเชื่อว่าการตึงตัวของนโยบายการเงินไทยน่าจะเป็นไปอย่างค่อยเป็นค่อยไป โดยสัญญาณล่าสุดเห็นได้จากแถลงการณ์การประชุมร่วมกันระหว่างคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) และคณะกรรมการนโยบายสถาบันการเงิน (กนส.) ของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ในช่วงต้นเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา 

 

ที่ประชุมเห็นว่าระบบการเงินไทยโดยรวมมีเสถียรภาพ ตลาดการเงินสามารถทำหน้าที่ได้ตามปกติ ธนาคารพาณิชย์มีเงินกองทุนและเงินสำรองอยู่ในระดับสูง ธุรกิจหลักทรัพย์และธุรกิจประกันภัยมีฐานะการเงินมั่นคง แม้บริษัทประกันวินาศภัยบางแห่งได้รับผลกระทบจากการรับประกันภัยโควิตแบบเจอ จ่าย จบ แต่ขณะนี้สถานการณ์คลี่คลาย โดยกรมธรรม์ส่วนใหญ่หมดอายุ ประกอบกับได้มีมาตรการกำกับดูแลอย่างเข้มข้นแล้ว

 

นอกจากนั้น หน่วยงานด้านเศรษฐกิจการเงินของรัฐได้ทดสอบภาวะวิกฤตระดับมหภาค (Macro-Stress Testing) และทดสอบภาวะวิกฤตแบบย้อนกลับ (Reverse Stress Test) พบว่า ระบบการเงินไทยในภาพรวมมีสภาพคล่องเพียงพอ และมีฐานะทางการเงินที่สามารถรองรับภาวะวิกฤตได้ 

 

อย่างไรก็ตาม ที่ประชุมได้ประเมินผลกระทบจากปัจจัยเสี่ยง โดยให้ความสำคัญกับ 1. ปัญหาสภาพคล่องและความสามารถในการชำระหนี้ของภาคครัวเรือนและภาคธุรกิจ จากค่าครองชีพและต้นทุนวัตถุดิบที่ปรับเพิ่มขึ้น รวมถึงนัยยะของแนวโน้มการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย และ 2. การสะสมความเสี่ยงจากพฤติกรรมแสวงหาผลตอบแทนที่สูงกว่า (Search for Yield Behavior) ในบริบทที่อัตราดอกเบี้ยนโยบายที่แท้จริงมีแนวโน้มติดลบต่อเนื่อง 

 

ด้วยแถลงการณ์ดังกล่าวทำให้ผู้เขียนวิเคราะห์ได้ว่า กนง. และ กนส. น่าจะพิจารณาว่าระบบการเงินไทยพร้อมรับดอกเบี้ยขาขึ้นแล้ว จึงน่าจะขึ้นดอกเบี้ยอย่างค่อยเป็นค่อยไปเพื่อลดแรงกดดันด้านความคาดหวังเงินเฟ้อ และเป็นการทำให้นโยบายการเงินกลับสู่ระดับปกติ (Normalization) รวมถึงลดพฤติกรรม Search for Yield และสร้างช่องว่างเชิงนโยบาย (Policy Space) เพื่อสามารถลดดอกเบี้ยได้หากเกิดวิกฤตเศรษฐกิจ แต่การขึ้นของดอกเบี้ยน่าจะเป็นอย่างค่อยเป็นค่อยไปเพื่อให้ทั้งเศรษฐกิจและสถาบันการเงินสามารถปรับตัวได้ อย่างไรก็ตาม การขึ้นของดอกเบี้ยทั่วโลกและในไทยประกอบกับทิศทางตลาดการเงินและเศรษฐกิจโลกที่ผันผวนขึ้นจะส่งผลกระทบต่อภาวะเศรษฐกิจและการลงทุนไทยในระยะต่อไป 

 

ยุคแห่งการเติบโตต่อเนื่องหมดลงแล้ว ขอต้อนรับสู่ยุคใหม่ที่จะ ‘ผันผวน ไม่แน่นอน ซับซ้อน และงุนงง’ (Volatility, Uncertainty, Complexity and Ambiguity: VUCA)

 


 

ช่องทางติดตาม THE STANDARD WEALTH


Twitter: twitter.com/standard_wealth
Instagram: instagram.com/thestandardwealth
Official Line: https://lin.ee/xfPbXUP

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X