×

ไพบูลย์ เผยโหวตวาระที่ 1 ให้ผ่านก่อน หลังจากนั้นส่งศาลวินิจฉัย เพื่อเคลียร์ปมจัดทำรับธรรมนูญใหม่ได้หรือไม่

โดย THE STANDARD TEAM
10.11.2020
  • LOADING...
ไพบูลย์ เผยโหวตวาระที่ 1 ให้ผ่านก่อน หลังจากนั้นส่งศาลวินิจฉัย เพื่อเคลียร์ปมจัดทำรับธรรมนูญใหม่ได้หรือไม่

วันนี้ (10 พฤศจิกายน) ไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ส. บัญชีรายชื่อ รองหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ในฐานะสมาชิกรัฐสภา กล่าวถึงการที่ตนเองและ สมชาย แสวงการ สมาชิกวุฒิสภาได้ร่วมกันเสนอญัตติตามข้อบังคับการประชุมรัฐสภา พ.ศ. 2563 ข้อที่ 31 ให้รัฐสภามีมติขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยปัญหาเกี่ยวกับหน้าที่และอำนาจของรัฐสภาตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 210(2)โดยมีสมาชิกวุฒิสภา 48 คนและสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร 25 คน รวม 73 คน เป็นผู้รับรองญัตตินั้น

 

ไพบูลย์เห็นว่าการที่รัฐสภาจะมีหน้าที่และอำนาจพิจารณาญัตติที่มีการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ได้หรือไม่ เป็นปัญหาที่เกิดขึ้นแล้วเกี่ยวกับหน้าที่และอำนาจของรัฐสภา ซึ่งศาลรัฐธรรมนูญเท่านั้นที่มีอำนาจวินิจฉัย จึงเห็นควรให้รัฐสภาส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยปัญหาดังกล่าวควบคู่กับให้รัฐสภาดำเนินการพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญดังกล่าวต่อไปในวาระที่ 1 และวาระที่ 2 หากศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ได้ ก็ดำเนินการลงมติในวาระที่ 3 ต่อไป แต่หากศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่ารัฐสภาไม่มีอำนาจจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ แต่มีอำนาจแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญเท่านั้น ก็สามารถดำเนินการตามรัฐธรรมนูญมาตรา 129 ให้ตั้งคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมของรัฐสภาขึ้นมา เพื่อดำเนินการจัดทำญัตติร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมเสนอสู่การพิจารณาของรัฐสภาต่อไป

 

ดังนั้นเพื่อให้การพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมในวาระที่ 1 และวาระที่ 2 ดำเนินการได้โดยถูกต้อง จึงเสนอญัตตินี้เพื่อพิจารณาหลังจากที่ประชุมรัฐสภามีมติในวาระที่ 1 แล้ว จากนั้นจึงค่อยพิจารณาญัตติตามข้อบังคับการประชุมรัฐสภา พ.ศ. 2563 ข้อที่ 31 เพื่อให้รัฐสภามีมติขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยว่ารัฐสภาจะมีอำนาจจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ได้หรือไม่ ซึ่งเป็นปัญหาเกี่ยวกับหน้าที่และอำนาจของรัฐสภา ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 210(2) หลังรับหลักการวาระที่ 1 แล้ว ทั้งนี้เพื่อเป็นประโยชน์ในการปฏิบัติหน้าที่ของรัฐสภาและสมาชิกรัฐสภาให้เป็นไปอย่างถูกต้องตามหลักการแห่งรัฐธรรมนูญ จึงยื่นญัตติให้ประธานรัฐสภาพิจารณาบรรจุญัตตินี้เป็นญัตติด่วนเข้าสู่ระเบียบวาระการประชุมรัฐสภาต่อไป

 

เนื่องจากเห็นว่าญัตติร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม (แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 256 และเพิ่มหมวด 15/1) ทั้ง 3 ฉบับ ได้มีหลักการและเหตุผลให้มีการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ขึ้น โดยเนื้อหาสาระในร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมบัญญัติให้มีหมวด 15/1 การจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ และมาตรา 256ให้มีสภาร่างรัฐธรรมนูญทำหน้าที่จัดทำร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ตามหมวดนี้ เห็นว่าตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2563 ไม่ได้มีบทบัญญัติใดที่ให้จัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ ซึ่งหากรัฐธรรมนูญมีเจตนารมณ์ให้มีการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ได้ ต้องมีบทบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ 2560 ว่าให้กระทำได้ดังเช่นที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2557 มาตรา 32 ที่บัญญัติว่า ‘ให้มีคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญขึ้นคณะหนึ่งเพื่อจัดทำร่างรัฐธรรมนูญ’ และบัญญัติให้แก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญในมาตรา 46 ‘ในกรณีที่เห็นจำเป็นและสมควร คณะรัฐมนตรีและคณะรักษาความสงบแห่งชาติจะมีมติร่วมกันให้แก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญนี้ก็ได้ โดยจัดทำเป็นร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมเสนอต่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติเพื่อให้ความเห็นชอบ’

 

จึงเห็นได้ว่ารัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2557 มีบทบัญญัติให้มีการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่บัญญัติไว้ในมาตรา 32 ถึงมาตรา 39 ส่วนการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ ให้จัดทำเป็นร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมได้บัญญัติแยกเป็นอีกส่วนหนึ่งไว้ในรัฐธรรมนูญมาตรา 46 ตามที่กล่าวมาข้างต้น ซึ่งย่อมหมายความว่ารัฐสภาจะนำบทบัญญัติรัฐธรรมนูญว่าด้วยการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญไปดำเนินการจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับนั้น รัฐสภากระทำมิได้ นอกจากนั้นยังมีรัฐธรรมนูญอีกหลายฉบับที่บัญญัติไว้ให้จัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ได้แบบเดียวกับรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2557 เช่น รัฐธรรมนูญ ปี 2592, ปี 2549 เป็นต้น และเหตุที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2557 มีบทบัญญัติให้จัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่นั้น เพราะเป็นรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว ซึ่งแสดงให้เห็นเจตนาชัดเจนว่าให้ใช้เป็นการชั่วคราว แต่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยพุทธศักราช 2560 ไม่ใช่ฉบับชั่วคราวจึงไม่บัญญัติให้อำนาจรัฐสภาจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่แต่ให้อำนาจรัฐสภามีอำนาจแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญรายมาตรา ตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้ในหมวดที่ 15 การแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 255 และ 256 เท่านั้น 

 

ซึ่งปรากฏตามความมุ่งหมายและคำอธิบายประกอบรายมาตราของรัฐธรรมนูญ หน้าที่ 453 ได้บันทึกไว้ว่า ‘แม้จะเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศ ในยามที่สถานการณ์เปลี่ยนแปลงไป หรือความต้องการของประชาชนเปลี่ยนแปลง ก็อาจมีความจำเป็นต้องมีการแก้ไขเพิ่มเติมได้ ในรัฐธรรมนูญจึงต้องมีบทบัญญัติว่าด้วยวิธีการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญไว้โดยเฉพาะ’ ย่อมหมายความว่าเจตนารมณ์แห่งรัฐธรรมนูญในหมวดที่ 15 บัญญัติให้อำนาจรัฐสภาเฉพาะแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญเท่านั้น และการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญมาตรา 255 และมาตราต้องเป็นไปตามข้อบังคับการประชุมรัฐสภา พ.ศ. 2563 หมวด 8 การเสนอและการพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมข้อที่ 114 วรรคสาม ‘การแก้ไขเพิ่มเติมหรือยกเลิกมาตราใดของรัฐธรรมนูญ ให้ระบุมาตราที่ต้องการแก้ไขเพิ่มเติมหรือยกเลิกไว้ในหลักการหรือจะระบุไว้ในเหตุผลด้วยก็ได้’ ซึ่งญัตติทั้ง 3 ฉบับ ในส่วนที่จัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ไม่ปรากฏการระบุมาตราที่ต้องการยกเลิก และไม่ได้บัญญัติไว้ให้ใช้ข้อความใดแทน จึงมิใช่เป็นการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญที่อยู่ในอำนาจของรัฐสภตามหมวด 15 การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ ซึ่งจะแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญเป็นรายมาตราเท่านั้นและต้องระบุมาตราที่ต้องการยกเลิกและให้ใช้ข้อความใดแทน

 

ไพบูลย์กล่าวต่อ แต่ก็มีความเห็นของสมาชิกรัฐสภาหลายคนเห็นว่ารัฐสภามีอำนาจจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ ดังเช่นเกิดขึ้นในการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญปี 2539 ซึ่งเป็นที่มาของรัฐธรรมนูญ ปี 2540 แต่เมื่อการวินิจฉัยว่ารัฐสภามีอำนาจหรือไม่ ศาลรัฐธรรมนูญเท่านั้นที่จะมีอำนาจวินิจฉัย และการแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับอย่างไรก็ต้องไปศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยทางใดทางหนึ่ง การที่รัฐสภาส่งไปวินิจฉัยหลังจากรับหลักการในวาระที่ 1 และตั้งคณะกรรมาธิการพิจารณาวาระที่ 2 แล้ว ก็จะเป็นการทำความชัดเจนในข้อกฎหมายโดยไม่มีผลทำให้กระบวนการพิจารณาแก้ไขรัฐธรรมนูญสะดุดหยุดลง หากศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่ารัฐสภามีอำนาจทำได้ ก็จะเป็นผลดีต่อการดำเนินการต่อไปจนประกาศใช้รัฐธรรมนูญไม่มีเหตุที่จะสะดุดหยุดลง 

 

ส่วนหากศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่ารัฐสภาไม่มีอำนาจจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ สมาชิกรัฐสภาก็จะได้เร่งรัดจัดตั้งคณะกรรมาธิการตามรัฐธรรมนูญมาตรา 129 พิจารณายกร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมของรัฐสภาขึ้น เพื่อให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญสำเร็จลุล่วงได้ตามเจตนารมณ์ของทุกฝ่าย

 

ขณะที่ พล.อ. ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกรณีที่มี ส.ส. พรรคพลังประชารัฐ ร่วมลงชื่อกับกรณีที่ 48 ส.ว. เสนอญัญติต่อประธานรัฐสภาเพื่อให้ส่งเรื่องต่อศาลรัฐธรรมนูญวินิจัยตีความร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ 3 ฉบับว่า ตนเองไม่ทราบรายละเอียดว่าจะไปตีความอย่างไร และยังไม่ได้มีการพูดคุยกันกับ ส.ส. แต่หลังจากนี้จะไปพูดคุยเพื่อให้ทราบถึงเหตุผล โดยส่วนตัวย้ำจุดยืนสนับสนุนการแก้ไขรัฐธรรมนูญ 

 

ส่วนจะต้องมีการตั้งสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ หรือ สสร. หรือไม่ ก็จะต้องพิจารณาก่อนว่าจะมีการแก้ไขอย่างไรบ้าง 

 

ทั้งนี้ไม่ทราบว่าการยื่นตีความร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญจะเป็นการยื้อเวลาหรือไม่ แต่ วิรัช รัตนเศรษฐ ประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล หรือวิปรัฐบาล ระบุแล้วว่าสามารถดำเนินการไปพร้อมๆ กันได้

 

พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising