×

‘Freedom House’ เผยคะแนนประชาธิปไตยทั่วโลกถดถอย ‘ไทย’ เข้าสู่สถานะไร้เสรีภาพ

โดย THE STANDARD TEAM
06.03.2021
  • LOADING...
‘Freedom House’ เผยคะแนนประชาธิปไตยทั่วโลกถดถอย ‘ไทย’ เข้าสู่สถานะไร้เสรีภาพ

Freedom House เผยแพร่รายงานเสรีภาพโลกประจำปี 2021 ระบุว่าในปีที่ผ่านมาระบอบประชาธิปไตยทั่วโลกเผชิญกับภาวะถดถอยติดต่อกันเป็นปีที่ 15 ส่งผลให้มีเพียงประชากรโลกไม่เกิน 20% เท่านั้นที่มีเสรีภาพในการแสดงออก

 

จากการประเมินสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในปี 2020 จาก 195 ประเทศทั่วโลก มีประประเทศที่คะแนนประชาธิปไตยลดลงถึง 73 ประเทศ ขณะที่ประเทศที่คะแนนประชาธิปไตยเพิ่มขึ้นมีเพียง 28 ประเทศเท่านั้น คิดเป็นส่วนต่างที่ 45 ซึ่งมากที่สุดในรอบ 15 ปี 

 

ทั้งนี้ Freedom House เป็นองค์กรเอกชนเพื่อประชาธิปไตยและสิทธิเสรีภาพ ซึ่งมีสำนักงานใหญ่อยู่ที่กรุงวอชิงตัน ดี.ซี. สหรัฐอเมริกา

 

ปัจจัยสำคัญอย่างหนึ่งคือการที่ประเทศอินเดียถูกปรับลดสถานะจาก ‘มีเสรีภาพ’ เป็น ‘มีเสรีภาพบางส่วน’ ทำให้จำนวนประชากรโลกที่อยู่ในกลุ่มประเทศที่มีเสรีภาพในการแสดงออกเหลือเพียงแค่ต่ำกว่า 20% ซึ่งนับเป็นตัวเลขต่ำที่สุดในรอบ 15 ปีเช่นกัน

 

สำหรับประเทศยักษ์ใหญ่อย่างสหรัฐอเมริกา แม้ว่าจะคงสถานะประเทศที่มีเสรีภาพ แต่ก็ได้คะแนนต่ำลง 3 คะแนน ซึ่งเป็นผลพวงจากพฤติกรรมของ โดนัลด์ ทรัมป์ อดีตประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา เช่น กรณีสั่งปลดผู้ตรวจราชการประจำกระทรวงการต่างประเทศอย่างไม่โปร่งใส บิดเบือนข้อมูลการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 รวมถึงการจงใจปลุกปั่นให้เกิดเหตุจลาจล จากการไม่ยอมรับผลการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ครั้งที่ผ่านมา (เดือนพฤศจิกายน 2020) ที่เขาแพ้การเลือกตั้ง

 

ด้านประเทศไทยถูกลดสถานะจากประเทศที่ ‘มีเสรีภาพบางส่วน’ เป็น ‘ไร้เสรีภาพ’ ได้คะแนนรวม 30 จาก 100 คะแนนเต็ม ลดลงจากปี 2020 ไป 2 คะแนน โดยคะแนนด้านสิทธิเสรีภาพอยู่ที่ 5 จาก 40 คะแนน และคะแนนด้านสิทธิทางการเมืองอยู่ที่ 25 จาก 60 คะแนน  

 

ในรายงานระบุว่าสาเหตุสำคัญเกิดจากการมีคำสั่งศาลยุบพรรคอนาคตใหม่ ซึ่งเป็นพรรคการเมืองหน้าใหม่มาแรงในการเลือกตั้งปี 2562 รวมถึงเหตุการณ์การชุมนุมของกลุ่มเยาวชนเพื่อเรียกร้องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ขับไล่รัฐบาล พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่สืบทอดอำนาจมาจากระบอบเผด็จการทหาร

 

หลังจากที่ประเทศไทยต้องเผชิญการเปลี่ยนผ่านจากระบอบเผด็จการทหารมาสู่กระบวนการเลือกตั้งในปี 2562 ที่เป็นที่วิพากษ์วิจารณ์ถึงความไม่โปร่งใสของกติกาและผลการนับคะแนน ในปีที่ผ่านมาไทยก็ต้องเผชิญวิกฤตการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 เช่นเดียวกับประเทศอื่นๆ ทั่วโลก

 

หากแต่วิกฤตโรคระบาดก็เป็นหนึ่งในชนวนที่ทำให้ประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนจากการจัดการวิกฤตที่ไม่มีประสิทธิภาพของรัฐบาล รวมกับกลุ่มเยาวชนที่ต้องการเปลี่ยนแปลงประเทศออกมาเคลื่อนไหวจนเกิดเป็นการประท้วงขับไล่รัฐบาลครั้งใหญ่ที่สุดของประเทศในรอบ 10 ปี ทวงความยุติธรรมให้กับนักเคลื่อนไหวทางการเมืองที่ถูกจับกุม รวมไปถึงปรากฏการณ์ทะลุเพดาน เรียกร้องการปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ให้อยู่ภายใต้ระบอบประชาธิปไตย

 

โดยพัฒนาการสำคัญในปีที่ผ่านมาของประเทศไทย มีดังนี้

 

  • จากผลการวิจัยของมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด ประเทศไทยมีตัวเลขผู้ติดเชื้อยืนยันน้อยกว่า 7,500 ราย และตัวเลขผู้เสียชีวิตจากโรคโควิด-19 จำนวน 63 ราย นับเป็นหนึ่งในประเทศที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 น้อยที่สุด อย่างไรก็ตาม รัฐบาลตัดสินใจประกาศใช้ พ.ร.ก. ฉุกเฉิน และต่ออายุการใช้อำนาจภายใต้ พ.ร.ก. ฉุกเฉินหลายต่อหลายครั้ง ซึ่งถูกมองว่าเป็นการเสริมสร้างอำนาจการปกครองของตนเองมากกว่าเป็นไปเพื่อการจัดการวิกฤตเศรษฐกิจและโรคระบาด

 

  • ศาลรัฐธรรมนูญมีมติให้ยุบพรรคอนาคตใหม่ พร้อมเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งของคณะกรรมการบริหารพรรคเป็นเวลา 10 ปี

 

  • การชุมนุมประท้วงของเยาวชนทั่วประเทศซึ่งเริ่มต้นในเดือนกุมภาพันธ์ต้องล้มเลิกไปจากข้อบังคับเพื่อลดการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ก่อนที่จะกลับมาสานต่ออีกครั้งในเดือนกรกฎาคม

 

  • ในเดือนตุลาคม รัฐบาลประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงในเขตพื้นที่กรุงเทพมหานคร ห้ามชุมนุมหรือมั่วสุมกัน ณ ที่ใดๆ ต้ังแต่ 5 คนขึ้นไป จนกระทั่งเดือนพฤศจิกายนที่มีการยกระดับการใช้มาตรา 112 เพื่อตั้งข้อหากับผู้ชุมนุมและนักเคลื่อนไหวทางการเมือง ทำให้องค์กรสิทธิมนุษยชนหลายกลุ่มออกมาแสดงความกังวลใจต่อสถานการณ์ในประเทศ

 

พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising
X
Close Advertising