ส.ว. 250 เสียงมีที่มาจากการแต่งตั้งโดย คสช. ซึ่งการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีในวันที่ 5 มิถุนายน ที่รัฐธรรมนูญเปิดโอกาสให้ ส.ว. มีสิทธิร่วมโหวตด้วยเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์การเมืองไทย เราจึงไม่เห็นปรากฏการณ์ ‘เสียงแตก’ เพราะ ส.ว. พร้อมใจกันยกมือโหวตสนับสนุนให้ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรีต่อ 249 เสียง ขณะที่ประธานวุฒิสภางดออกเสียง 1 เสียง
ชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา ประกาศผลการลงคะแนนอย่างเป็นทางการ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้รับ 500 คะแนน นั่งเป็นนายกรัฐมนตรีสมัยที่ 2 ชนะธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ที่ได้รับ 244 คะแนน งดออกเสียง 3 คะแนน ท่ามกลางเสียงปรบมือจากสมาชิกในรัฐสภา
ชวน หลีกภัย กล่าวว่า “ตามกฎหมายต้องถือว่า พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้รับคะแนนเสียงมากกว่ากึ่งหนึ่งของสภาแล้ว จึงถือว่าได้รับมติของสภาให้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี”
ก่อนจะกล่าวขอบคุณสมาชิกรัฐสภา สื่อมวลชน และพี่น้องประชาชน และประกาศปิดสภาอย่างเป็นทางการ
สรุปผลโหวตนายกรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้รับการโหวตให้เป็นนายกรัฐมนตรีต่อสมัยที่ 2 โดยได้รับคะแนน 500 เสียง เอาชนะ ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ที่ได้รับคะแนน 244 เสียง งดออกเสียง 3 เสียง หลังการประชุมร่วมกันของรัฐสภาระหว่าง ส.ส. และ ส.ว. รวมจำนวน 747 คน
สิริพงศ์ อังคสกุลเกียรติ ส.ส. หนี่งเดียวของ #ภูมิใจไทย งดออกเสียง ไม่เลือกใครเป็นนายกฯ
ด่วน! พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้รับการโหวตให้เป็นนายกฯ ต่อสมัยที่ 2
พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา แคนดิเดตนายกฯ จากพรรคพลังประชารัฐ ได้รับคะแนนเสียงเห็นชอบเกินกึ่งหนึ่งให้เป็นนายกรัฐมนตรีต่ออีกสมัย เอาชนะ ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ แคนดิเดตจากพรรคอนาคตใหม่ หลังการประชุมร่วมกันของรัฐสภาระหว่าง ส.ส. และ ส.ว. รวมจำนวน 747 คน
นายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา เปิดให้ที่ประชุมร่วม ส.ส. และ ส.ว. มีการลงมติเพื่อเลือกนายกรัฐมนตรี โดยสมาชิกทั้งหมด 750 คน แต่ ส.ส. มี 498 คน เพราะ ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ถูกศาลสั่งหยุดปฏิบัติหน้าที่ และ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ลาออกจากการเป็น ส.ส. ทำให้เสียงในที่ประชุมกึ่งหนึ่งคือ 374 คน ดังนั้น บุคคลที่ได้รับแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรีจะต้องมีคะแนนไม่น้อยกว่า 375 เสียง
รายงานสถานการณ์ล่าสุด: การประชุมร่วมของรัฐสภาเพื่อเลือกนายกรัฐมนตรี วันที่ 5 มิถุนายน 2562
พลเอก ปรีชา จันทร์โอชา สมาชิกวุฒิสภา ในฐานะสมาชิกรัฐสภา ชี้แจงภายหลังถูก พลตำรวจเอก เสรีพิศุทธ์ เตมียเวส ส.ส. บัญชีรายชื่อ พรรคเสรีรวมไทย กล่าวหาถึงกรณีที่บุตรชายใช้ที่อยู่ซึ่งเป็นบ้านพักในค่ายทหารไปจดทะเบียนตั้งบริษัท โดยยอมรับว่าขณะนั้นบุตรชายมีที่พักอาศัยอยู่กับตนแห่งเดียวคือบ้านพักในค่ายทหาร จึงต้องใช้ที่อยู่ดังกล่าว
เสรีพิศุทธ์ชี้ ประยุทธ์ขาดคุณสมบัติ เผยถูกยื่นข้อเสนอซื้อตัว ส.ส.
พลตำรวจเอก เสรีพิศุทธ์ เตมียเวส ได้อภิปรายถึงคุณสมบัติต้องห้ามของ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา ว่าขัดกับข้อกฎหมายหลายอย่าง โดยเฉพาะกับผู้ที่จะมาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี โดยระบุว่าพลเอก ประยุทธ์ ขาดคุณสมบัติ 8 ประการตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 160 ทำให้ไม่สามารถสนับสนุนให้เป็นนายกรัฐมนตรีได้
นอกจากนี้พลตำรวจเอก เสรีพิศุทธ์ ยังได้กล่าวถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในวันที่ 24 พฤษภาคมที่ผ่านมา ขณะนั้นฝ่ายที่เรียกตัวเองว่าฝ่ายประชาธิปไตยมี 200 กว่าเสียง โดยที่ยังไม่ทราบความชัดเจนของพรรคภูมิใจไทยและประชาธิปัตย์ว่าจะมีทิศทางร่วมรัฐบาลกับฝ่ายใดหรือไม่ โดยบอกว่าวันดังกล่าวได้มีบุคคลนิรนามมาหาถึงบ้านในช่วงเช้า ก่อนรัฐพิธีเปิดประชุมรัฐสภาแบบไม่ได้นัดหมาย พร้อมยื่นข้อเสนอเพื่อซื้อตัว ส.ส. รวมถึงตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรีอีกด้วย
รังสิมันต์ โรม อภิปรายย้ำ ธนาธรมีคุณสมบัติครบถ้วนในการชิงเก้าอี้นายกรัฐมนตรี พร้อมแสดงความเป็นห่วงประยุทธ์ อาจจะขาดคุณสมบัติเสียเอง
รังสิมันต์ โรม ส.ส. พรรคอนาคตใหม่ เริ่มอภิปรายชี้แจงต่อที่ประชุมว่า ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ แคนดิเดตนายกรัฐมนตรีจากพรรคอนาคตใหม่ มีคุณสมบัติครบถ้วนเพียงพอที่จะลงชิงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีตามที่กำหนด ไม่ต้องกังวลหากธนาธรได้เป็นนายกรัฐมนตรีแล้วจะไม่ได้เข้าสภา แต่ให้ห่วง พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา ว่าหากได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีแล้วจะสามารถเข้าสภามาได้หรือไม่
นอกจากนี้ รังสิมันต์ โรม ยังได้แจงถึงกรณีการที่สมาชิกรัฐสภาบางคนตั้งประเด็นว่าปมถือหุ้นสื่อของธนาธรอาจจะทำให้ไม่สามารถดำรงตำแหน่งได้ว่า
“ผมขอชี้แจงว่า นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ได้ทำการโอนหุ้นตั้งแต่วันที่ 8 มกราคมเป็นที่เรียบร้อยแล้ว และแม้ว่าศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งไม่สามารถเป็น ส.ส. ได้ แต่ ณ วันนี้ 5 มิถุนายน หุ้นได้โอนไปแล้ว คุณธนาธรสามารถดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีได้โดยไม่มีกฎข้อต้องห้ามใดๆ เลย”
พร้อมได้ตั้งประเด็นเกี่ยวกับข้อสงสัยไปยัง พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา แทนว่ามีข้อสงสัยหลายอย่างที่สมาชิกรัฐสภาได้อภิปรายไปหลายเรื่อง โดยเฉพาะเรื่องของการเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ และมี กกต. รับรองแล้ว ทางรังสิมันต์เผยว่าไม่เป็นความจริง เพราะอันที่จริงรองเลขาธิการ กกต. ได้ยืนยันในสื่อหลายสำนักว่า กกต. ไม่ได้วินิจฉัย แต่เป็นหน้าที่ของรัฐสภาที่ต้องวินิจฉัยตรงนี้
18.20 น. กอบศักดิ์ ภูตระกูล โฆษกพรรคพลังประชารัฐ และอดีตรัฐมนตรีในรัฐบาล คสช. ที่ลาออกมาร่วมก่อตั้งพรรคพลังประชารัฐ เดินทางมาที่อาคารรัฐสภาชั่วคราว อาคารทีโอที ถนนแจ้งวัฒนะ โดยได้พบกับ อนุทิน ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย พร้อมทักทายกันอย่างชื่นมื่น
รายงานสถานการณ์ล่าสุด: การประชุมรัฐสภาเพื่อโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี อีกหนึ่งวันประวัติศาสตร์การเมืองไทย ณ หอประชุมใหญ่ บริษัททีโอที สำนักงานใหญ่ แจ้งวัฒนะ
สุริยะโต้ ส.ส. พรรคเพื่อไทยอภิปรายข้อมูลบิดเบือนในสภา ปมประยุทธ์สั่งปิดเหมืองแร่ทองคำอัครา
สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ ส.ส. บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ อภิปรายกรณี สุทิน คลังแสง ส.ส. พรรคเพื่อไทย พาดพิงพลเอก ประยุทธ์ สั่งปิดเหมืองแร่ทองคำ บริษัท อัครา รีซอร์สเซส จำกัด (มหาชน) เป็นเหตุให้รัฐบาลถูกฟ้องร้องและจะแพ้คดีแน่นอนว่าไม่เป็นความจริง โดยเฉพาะการให้ข้อมูลว่ารัฐบาลจะต้องจ่ายค่าเสียหายจากการถูกฟ้องร้อง 4 หมื่นล้านบาท แต่ข้อเท็จจริงถูกฟ้องร้องเพียง 3,000 ล้านบาท ซึ่งเป็นตัวเลขที่แตกต่างจากที่สุทินพูดถึง 10 เท่า
แต่ประเด็นที่เป็นสาระสำคัญคือสิ่งที่สุทินบอกว่ารัฐบาลจะแพ้คดีร้อยเปอร์เซ็นต์ ขอยืนยันว่ารัฐบาลไทยมีโอกาสชนะ เพราะจากการตรวจสอบจากกระทรวงอุตสาหกรรมพบว่าบริษัทดังกล่าวทำผิดเงื่อนไข คือสร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม โดยบริษัทไม่สามารถดูแลความเรียบร้อยและทำให้ชาวบ้านได้รับผลกระทบ จึงเป็นเหตุให้พลเอก ประยุทธ์ ต้องสั่งปิดเหมืองแร่ดังกล่าวไป
5.46 น. วทันยา วงษ์โอภาสี หรือมาดามเดียร์ ส.ส. บัญชีรายชื่อพรรคพลังประชารัฐ เปิดเผยว่า ได้ถอนชื่อการอภิปรายคุณสมบัติ ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ แคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของพรรคอนาคตใหม่แล้ว พร้อมระบุว่า มีสมาชิกอีกหลายท่านเข้าชื่อเพื่อขออภิปราย
ขณะที่ก่อนหน้านี้มีรายงานข่าวว่า วทันยาจะอภิปรายในประเด็นที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งให้ธนาธรยุติปฏิบัติหน้าที่ ส.ส. ฐานถือครองหุ้นในกิจการสื่อมวลชน
16.46 น. คำนูณ สิทธิสมาน สมาชิกวุฒิสภา เผยว่าการที่ ส.ว. ทั้ง 250 คนต้องมามีส่วนร่วมในการร่วมเลือกนายกรัฐมนตรีในครั้งนี้ เพราะรัฐธรรมนูญได้มอบหน้าที่ขับเคลื่อนประเทศมาแล้ว
พร้อมบอกถึงสาเหตุที่ ส.ว. จะต้องเข้าประชุมเพื่อร่วมเลือกนายกรัฐมนตรี เพราะสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศกับสภานิติบัญญัติแห่งชาติมีความเห็นว่าเมื่อจะให้ ส.ว. ได้กำกับการปฏิรูปประเทศแล้ว แทนที่จะไปกำกับที่ในช่วงขั้นตอนกลางหรือปลายทาง ควรให้มาร่วมตั้งแต่ต้นทางของการแก้ปัญหาร่วมกัน คือการร่วมเลือกตั้งแต่นายกรัฐมนตรีจะเป็นการดีกว่าหรือไม่
“ประเด็นดังกล่าวเป็นเรื่องละเอียดอ่อน จึงนำมาซึ่งคำถามเพิ่มเติมในการลงประชามติรัฐธรรมนูญฉบับนี้ เมื่อวันที่ 7 สิงหาคม 2559 ทำให้ผมผู้เป็น ส.ว. มีเหตุผลที่ต้องมาร่วมเลือกนายกรัฐมนตรี”
16.00 น. จีรเดช ศรีวิราช ส.ส. พะเยา พรรคพลังประชารัฐ กล่าวถึงคุณสมบัติที่เหมาะสมของพลเอก ประยุทธ์ ว่าการเสนอชื่อแคนดิเดตของพรรคจะช่วยให้ก้าวข้ามความขัดแย้งในประเทศที่หมักหมมมานาน ตั้งแต่พลเอก ประยุทธ์ เข้ามาบริหารประเทศเมื่อ 5 ปีก่อน ประชาชนมีความสุขมากขึ้น บ้านเมืองสงบขึ้น ถึงแม้จะมีคนพูดถึงปัญหาเศรษฐกิจ แต่เชื่อมั่นว่าเศรษฐกิจจะดีขึ้นบนพื้นฐานความสงบของบ้านเมือง
15.54 น. นายแพทย์ระวี มาศฉมาดล ส.ส. พรรคพลังธรรมใหม่ เผยว่าสภาอภิปรายมากว่า 4 ชั่วโมงแล้ว เสนอญัตติให้ปิดการอภิปรายแคนดิเดตคุณสมบัตินายกรัฐมนตรีเพื่อลงมติเลือกนายกรัฐมนตรี โดยมีผู้รับรองจำนวนหนึ่ง
ขณะที่ จิรายุ ห่วงทรัพย์ ส.ส. พรรคเพื่อไทย คัดค้านว่าต้องอภิปรายอย่างน้อย 10 ชั่วโมง เพราะการเลือกนายกรัฐมนตรี ประมุขฝ่ายบริหาร เป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด เชื่อประชาชนอยากฟังเหตุผลของพรรคประชาธิปัตย์และพรรคภูมิใจไทยที่จะเลือกพลเอก ประยุทธ์
ที่สุด พรเพชร วิชิตชลชัย รองประธานรัฐสภา ขอให้นายแพทย์ระวีถอนญัตติและเปิดให้อภิปรายกันต่ออย่างน้อย 2 ชั่วโมง ก่อนจะส่งหน้าที่ให้ ชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา ควบคุมการประชุมต่อ
15.25 น. สุทิน คลังแสง ส.ส. เพื่อไทย อภิปรายชี้ พลเอก ประยุทธ์ มีลักษณะต้องห้ามหลายข้อ ขณะที่ธนาธรมีความเหมาะสมกว่า
ประการแรก พลเอก ประยุทธ์ ขาดคุณสมบัติมาตรฐานจริยธรรม ซึ่งผู้ที่เป็นนายกรัฐมนตรีได้ต้องธำรงไว้ซึ่งระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข แต่พลเอก ประยุทธ์ เป็นหัวหน้ากบฏ ทำการยึดอำนาจ ซึ่งมีความผิดชัดเจน แต่นิรโทษกรรมตัวเอง ดังนั้นการให้เป็นนายกฯ ต่อไม่ต่างจากเอาคนเผาวัดมาเป็นเจ้าอาวาส เอาโจรมาเป็นตำรวจ ชี้ไม่มีเหตุจำเป็นต้องรัฐประหาร ไม่เช่นนั้นคงไม่นิรโทษกรรมตัวเอง
นอกจากนี้ยังเป็นปฏิปักษ์ต่อประชาธิปไตย โดยยกเลิกรัฐธรรมนูญและร่างรัฐธรรมนูญที่ทำให้ประชาธิปไตยบิดเบี้ยวเพื่อสืบทอดอำนาจต่อ อ้างอิงคำพูดของ ส.ส. พรรคพลังประชารัฐที่กล่าวว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้ออกแบบมาเพื่อพรรคพลังประชารัฐ ทำให้ได้ประชาธิปไตยที่อัปลักษณ์ ทั้งระบบนับคะแนนที่โลกตะลึง เป็นประเทศเดียวที่ตั้งรัฐบาลยากที่สุด นอกจากนี้ยังถือเป็นเจ้าหน้าที่อื่นของรัฐ อ้างอิงตามคำพิพากษาศาลฎีกา
ทั้งนี้สุทินยังชี้ว่าพลเอก ประยุทธ์ ไม่รักษาซึ่งเกียรติภูมิและผลประโยชน์ของชาติ ไม่ยึดมั่นใจระบบนิติรัฐ และตัดสินใจบนผลประโยชน์ที่ขัดกันของตัวเองในขณะดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี โดยใช้มาตรา 44 ที่ขัดต่อหลักปฏิบัติสากล
15.15 น. พันตำรวจโท ไวพจน์ อาภรณ์รัตน์ ส.ส. จากพรรคพลังประชารัฐ เผยว่า พรรคพลังประชารัฐเป็นพรรคการเมืองที่ได้รับเสียงเลือกตั้งมากที่สุดในรัฐสภาแห่งนี้ ได้ 8 ล้านกว่าคะแนน ยืนยันว่า พรรคพลังประชารัฐเป็นประชาชนสายกลางที่คอยขจัดปัญหาความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในประเทศ และทางพรรคได้เสนอชื่อ พลเอก ประยุทธ์ จันโอชา เป็นแคนดิเดตนายกฯ เข้ามาสานต่อและแก้ปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นมาตลอด
“วันนี้เขาให้มีการเลือกตั้งแล้วครับ คนที่แพ้ก็ต้องยอมรับว่าแพ้ ส่วนคนที่ชนะก็ต้องทำหน้าที่ของตนเองให้ดีที่สุด แข่งกันทำความดีครับ เพราะใครทำความดีมาก ประชาชนก็จะเลือกเข้ามาบริหารชาติบ้านเมือง พรรคพลังประชารัฐนำเสนอหลายๆ นโยบาย โดยสานต่องานที่ท่าน พลเอก ประยุทธ์ ได้ทำ”
ทั้งนี้ ในขณะเดียวกัน พันตำรวจโท ไวพจน์ อาภรณ์รัตน์ ได้หลุดคำพูดมาสั้นๆ ว่า “เขาได้เป็นนายกฯ อยู่แล้ว” ท่ามกลางเสียงหัวเราะจากผู้เข้าร่วมประชุมในสภา
รายงานข่าวแจ้งว่า วทันยา วงษ์โอภาสี หรือมาดามเดียร์ ส.ส. บัญชีรายชื่อพรรคพลังประชารัฐ เตรียมอภิปรายคุณสมบัติ ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ แคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของพรรคอนาคตใหม่ กรณีถูกศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งให้ยุติปฏิบัติหน้าที่ ส.ส. ฐานถือครองหุ้นในกิจการสื่อมวลชน
14.15 น. เสรี สุวรรณภานนท์ สมาชิกวุฒิสภา ระบุ ส.ว. ไม่ได้มีหน้าที่เข้ามาเพื่อตอบแทนใคร และมีอิสระในการโหวตเลือกนายกฯ โดยส่วนตัวยอมรับว่าให้การสนับสนุน พล.อ. ประยุทธ์ เป็นนายกรัฐมนตรี ย้อนเหตุรัฐประหาร เพราะปัญหาจากฝ่ายการเมืองที่สู้รบกันจนบ้านเมืองวิกฤต เกิดกลียุค บ้านเมืองแบ่งฝักแบ่งฝ่าย เกิดการเผาบ้านเผาเมือง จนต้องมีการรัฐประหาร ดังนั้น พล.อ. ประยุทธ์ จึงไม่ได้ทำผิดจริยธรรมตามที่สมาชิกรัฐสภาหลายคนอภิปรายไปก่อนหน้านี้ ย้ำ พล.อ. ประยุทธ์ ไม่ได้มีเจตนา หรือความต้องการใดๆ ที่จะปฏิวัติ รัฐประหาร แต่เหตุการณ์บังคับ
โดยระหว่างการอภิปราย คารม พลพรกลาง ส.ส. พรรคอนาคตใหม่ ยกมือประท้วง ชี้ ส.ว. เตรียมยกมือมาจากบ้าน หยุดอ้างเหตุการณ์ในอดีต และคดีความที่มีการตัดสินไปแล้ว ย้ำควรอภิปรายให้ตรงประเด็น ก่อนที่ประธานในที่ประชุมจะเปิดโอกาสให้มีการอภิปรายต่อ โดยไม่ต้องเสียเวลา
ปิยบุตร แสงกนกกุล ส.ส. อนาคตใหม่ อภิปรายชี้ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา ทำรัฐประหารวันที่ 22 พฤษภาคม ทำให้ขาดคุณสมบัติต้องห้ามตามมาตรา 160 เนื่องจากมีพฤติกรรมฝ่าฝืน หรือไม่ปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญอย่างร้ายแรง เพราะการรัฐประหารคืออาชญากรรมสูงสุดในการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข วอนสมาชิกรัฐสภาช่วยกันหยุดยั้งการสืบทอดอำนาจของ คสช.
แคนดิเดตนายกรัฐมนตรีคนที่ 30 อดแสดงวิสัยทัศน์ เหตุอีกฝ่ายท้วงเสียเวลาลงมติเลือกนายกฯ
จิรวัฒน์ อรัณยกานนท์ ส.ส. กทม. พรรคอนาคตใหม่ ได้เสนอรัฐสภาให้ผู้ได้รับการเสนอชื่อเป็นนายกรัฐมนตรีมีโอกาสแสดงวิสัยทัศน์ และขอให้ที่ประชุมลงมติตามข้อบังคับการประชุมรัฐสภาข้อที่ 31 ขณะที่ ชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา กล่าวว่าผู้ที่ได้รับการเสนอชื่อเลือกจะแสดงวิสัยทัศน์หรือไม่ก็ถือเป็นสิทธิ์ของผู้นั้น เนื่องจากไม่มีข้อบังคับ ก่อนจะเสนอให้ที่ประชุมแสดงความคิดเห็นเพื่อลงมติต่อไป
อย่างไรก็ดี สมาชิกสภาผู้แทนราษฏรฝั่งพลังประชารัฐได้ลุกขึ้นประท้วงไม่เห็นด้วย ให้เหตุผลว่า การให้แคนดิเดตนายกรัฐมนตรีนำเสนอวิสัยทัศน์ไม่เคยมีมาก่อนตามข้อบังคับทั้งในรัฐธรรมนูญและประเพณีปฏิบัติ ประกอบกับบุคคลที่ถูกเสนอชื่อให้เป็นนายกรัฐมนตรีทั้งสองท่านเป็นบุคคลสาธารณะและแสดงวิสัยทัศน์มาตลอดอยู่แล้ว
ดังนั้น การจะให้ที่ประชุมลงมติว่าจะให้แคนดิเดตนายกรัฐมนตรีนำเสนอวิสัยทัศน์หรือไม่นั้นจึงทำให้เสียเวลาและเกิดผลกระทบต่อการมีรัฐบาลเดินหน้าบริหารแก้ไขปัญหาประเทศ
ท้ายที่สุดพรรคอนาคตใหม่ในฐานะผู้เสนอให้มีการแสดงวิสัยทัศน์ เห็นว่าการลงมติต้องเสียเวลาขานชื่อนานกว่า 2-3 ชั่วโมง และมองผลการโหวตสามารถคาดเดาได้อยู่แล้ว จึงตัดสินใจถอนญัตติ เพื่อให้การโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีเดินหน้าต่อไปได้ โดยมีรายงานว่า ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ แคนดิเดตนายกรัฐมนตรีจากพรรคอนาคตใหม่จะแถลงวิสัยทัศน์ ณ จุดแถลงข่าวที่รัฐสภา ในช่วงเวลา 13.00 น
สื่อนอกจับตาเลือกนายกรัฐมนตรีไทยวันนี้ คาด พล.อ. ประยุทธ์ นั่งเก้าอี้อีกสมัย
สื่อต่างประเทศหลายสำนักเฝ้าติดตามวันสำคัญทางประวัติศาสตร์การเมืองไทยในวันนี้ (5 มิ.ย.) จับตาการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีของรัฐสภาไทย คาด พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นั่งเก้าอี้ผู้นำประเทศต่ออีกสมัย โดยจะได้รับเสียงสนับสนุนอย่างน้อย 376 เสียง จากทั้งหมด 750 เสียง (หรือ 747 เสียงในวันนี้) ซึ่งถือเป็นประวัติศาสตร์การเมืองไทยที่รัฐธรรมนูญเปิดโอกาสให้ ส.ว. 250 เสียงมีสิทธิร่วมเลือกนายกฯ เป็นครั้งแรก
นักวิเคราะห์ระบุว่า ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ เป็นสิ่งที่รัฐบาลทหารกังวลใจมากที่สุดในขณะนี้ โดย พอล แชมเบอร์ อาจารย์ประจำมหาวิทยาลัยนเรศวร ให้สัมภาษณ์กับ Aljazeera ว่า “ธนาธรคือคนหนุ่ม คนรุ่นใหม่ เอาจริงเอาจัง และตอนนี้เขาเป็นภัยที่ยิ่งใหญ่กว่าทักษิณสำหรับรัฐบาลทหารชุดนี้”
โดยในวันนี้ประเทศไทยจะมีการเลือกนายกรัฐมนตรีในรัฐสภาเป็นครั้งแรกในรอบ 8 ปี แต่อาจจะได้นายกรัฐมนตรีหน้าเดิมบริหารประเทศต่อไปอีกอย่างน้อย 4 ปี แต่อย่างไรก็ตาม หลายฝ่ายกังวลใจถึงความไม่มีเสถียรภาพของรัฐบาลชุดใหม่ที่ประกอบไปด้วยพรรคการเมืองจำนวนมาก และอาจนำไปสู่ภาวะการติดหล่มทางการเมืองอีกครั้ง
ภาพ: Lillian Suwanrumpha / AFP / Getty Images
โพล THE STANDARD เผย 97% อยากได้ ‘ธนาธร’ เป็นนายกฯ คนใหม่ของประเทศไทย
หลังจาก THE STANDARD เปิดให้แสดงความคิดเห็นผ่านเฟซบุ๊กในหัวข้อ ‘คุณอยากให้ใครเป็นนายกรัฐมนตรีคนต่อไป’ เนื่องจากวันนี้ (5 มิ.ย.) จะมีวาระการประชุมเพื่อโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีโดยสมาชิกรัฐสภา 750 คนเป็นครั้งแรก (ส.ส. 500 คนจากการเลือกตั้ง + ส.ว. 250 คนจากการแต่งตั้งโดย คสช.) อย่างเป็นทางการ
สรุปผลโพลพบว่า มีผู้เข้ามาแสดงความคิดเห็นและร่วมโหวตประมาณเกือบ 50,000 คน โดยส่วนใหญ่โหวตให้ ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ แคนดิเดตนายกรัฐมนตรีพรรคอนาคตใหม่ ประมาณ 47,994 คน คิดเป็น 97% โดยความเห็นส่วนใหญ่ระบุว่า อยากให้ ‘ธนาธร’ เป็นนายกฯ คนใหม่ เพราะอยากได้นายกฯ เป็นคนยุคใหม่ ซึ่งมีบุคลิกและการแสดงออกถึงความเป็นผู้นำสูง และมีความเพียบพร้อมในการบริหารบ้านเมืองไทยในเวลานี้
ด้านผลโหวตทางฝั่งของ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา แคนดิเดตนายกรัฐมนตรีพรรคพลังประชารัฐ นั่งเก้าอี้นายกฯ ต่อไป มีประมาณ 1,642 คน หรือคิดเป็น 3% โดยส่วนใหญ่วิพากษ์วิจารณ์การทำงานของพลเอก ประยุทธ์ ตลอดระยะเวลาเกือบ 5 ปีที่ผ่านมา ว่าไม่สามารถบริหารจัดการระบบเศรษฐกิจไปในทางที่ดีขึ้นได้
ในขณะที่ผลโหวตจากทวิตเตอร์ THE STANDARD มีผู้เข้ามาแสดงความคิดเห็นและร่วมโหวตประมาณ 13,963 คน โดยส่วนใหญ่โหวตให้ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ แคนดิเดตนายกรัฐมนตรีพรรคอนาคตใหม่ เป็นนายกรัฐมนตรีคนใหม่ที่จำนวน 96% และโหวตเลือกพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา แคนดิเดตนายกรัฐมนตรีพรรคพลังประชารัฐ 4%
ประธานรัฐสภาเปิดโอกาสให้ที่ประชุมร่วมรัฐสภาอภิปรายในประเด็นคุณสมบัติของแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี
ทั้งนี้ ก่อนหน้านี้พรรคอนาคตใหม่ได้เสนอญัตติให้แคนดิเดตนายกฯ แสดงวิสัยทัศน์ แต่สุดท้ายได้ทำการถอนญัตติ เนื่องจากกังวลเรื่องเวลา ทำให้ในวันนี้แคนดิเดตนายกรัฐมนตรีจะไม่มีการแสดงวิสัยทัศน์ แต่จะเป็นการอภิปรายคุณสมบัตินายกฯ ของแต่ละฝ่าย โดยยังไม่มีข้อสรุปเรื่องกรอบเวลาในการอภิปรายแต่อย่างใด
11.59 น. จิรวัฒน์ อรัณยกานนท์ ส.ส. กทม. พรรคอนาคตใหม่ เสนอรัฐสภาให้ผู้ได้รับการเสนอชื่อเป็นนายกรัฐมนตรี ได้มีโอกาสแสดงวิสัยทัศน์ และขอให้ที่ประชุมลงมติ ตามข้อบังคับการประชุมรัฐสภาข้อที่ 31 ขณะที่ ชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา เสนอให้ที่ประชุมแสดงความคิดเห็นเพื่อลงมติต่อไป
11.40 น. ศรีนวล บุญลือ ส.ส. พรรคอนาคตใหม่ เสนอชื่อ ‘ธนาธร’ ชิงเก้าอี้นายกฯ ต่อที่ประชุมรัฐสภา
การประชุมรัฐสภาเพื่อให้ความเห็นชอบบุคคลดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในวันนี้ ศรีนวล บุญลือ ส.ส. เขต 8 จังหวัดเชียงใหม่ พรรคอนาคตใหม่ เป็นผู้เสนอชื่อ ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ
สำหรับ ศรีนวล บุญลือ ได้รับการเลือกตั้งเป็น ส.ส. เขต 8 เชียงใหม่ ด้วยคะแนนเสียง 75,891 คะแนน ซึ่งถือเป็นคะแนนเสียง ส.ส. เขตที่มากที่สุดของประเทศในการเลือกตั้งครั้งนี้
11.39 น. ณัฏฐพล ทีปสุวรรณ ส.ส. พลังประชารัฐ เสนอชื่อ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรี
ชวน หลีกภัย ขอ ส.ส. ให้สร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้สภา แสดงบทบาทที่ถูกต้อง ยึดข้อบังคับในการประชุม
ชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร กล่าวในที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรเมื่อเช้านี้ ในนามประธานและรองประธานทั้งสองคนว่า ขอบคุณสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรทุกคนที่ได้ให้โอกาสพวกตนในการทำหน้าประธานและรองประธาน ตนขอแสดงความยินดีกับท่านด้วยความจริงใจ เพราะรับทราบว่าการได้รับเลือกเป็น ส.ส. นั้นยากเพียงใด ในฐานะที่เป็นส่วนหนึ่งของฝ่ายนิติบัญญัติ ซึ่งจะเห็นว่าเป็นหนึ่งในอำนาจนิติบัญญัติที่พระมหากษัตริย์ทรงใช้อำนาจนี้ผ่านทางรัฐสภา ซึ่งสภาผู้แทนเป็นส่วนหนึ่งของรัฐสภา ตนอยากให้สมาชิกได้ตระหนักถึงความสำคัญของฝ่ายนิติบัญญัติ ฝ่ายนี้เป็นตัวแทนของประชาชนในการออกกฎหมาย ตรวจสอบฝ่ายบริหาร และสามารถมีเสียงข้างมากตั้งฝ่ายบริหาร
ดังนั้นบทบาทของสภาผู้แทนราษฎรจึงสูงมาก ในฐานะผู้ออกกฎหมาย ตนคิดว่า ส.ส. ต้องเป็นแบบอย่างของผู้เคารพกฎหมาย และสิ่งที่จะสะท้อนไปยังประชาชนให้เป็นที่ยอมรับ บทบาทใดก็ตามที่เป็นเรื่องบวกก็เป็นบวกกับฝ่ายนิติบัญญัติ บทบาทใดที่เป็นลบก็เป็นลบกับฝ่ายนิติบัญญัติ ด้วยความรู้สึกส่วนตัว ตนอยากเห็นการเปลี่ยนแปลงที่เริ่มจากสมาชิกทุกคน มีการพูดถึงการปฏิรูปการเมือง และเรื่องอื่นๆ มามาก แท้จริงแล้ว ส.ส. จะเป็นแบบอย่างของการปฏิรูป จึงขอร้อง ส.ส. ทุกคนให้สร้างภาพที่ดีให้กับสภา โดยการแสดงบทบาทที่ถูกต้อง ชอบธรรม
ส่วนประธานและรองประธานสภานั้น กฎหมายให้ปฏิบัติหน้าที่อย่างเป็นกลาง แต่เนื่องด้วยงานของประธานและรองประธานมีงานอื่นอยู่ด้วย ทั้งที่เกี่ยวข้องกับทรัพย์สินและเรื่องอื่นๆ ตนจึงขอยืนยันว่าประธานและรองประธานจะปฏิบัติหน้าที่ไม่เพียงแต่เป็นกลาง แต่จะปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์สุจริตในทุกด้านด้วย นอกจากนี้ สำหรับประธานเองมีหน้าที่ควบคุมการประชุมให้เป็นไปตามข้อบังคับ ตนจึงขอร้องให้ ส.ส. ยึดข้อบังคับในการประชุม สภานี้เป็นสภาที่เอาไว้สำหรับการอภิปราย ตนตระหนักดีว่าสภาคือที่พูด ตนจะเปิดโอกาสให้สมาชิกได้พูดเพื่อนำปัญหาประชาชนมาสู่สภา เพื่อส่งต่อไปยังผู้รับผิดชอบอย่างฝ่ายบริหาร และเป็นโอกาสที่ฝ่ายบริหารจะส่งต่อผลงานที่ได้ปฏิบัติไปยัง ส.ส. เพื่อส่งต่อไปยังประชาชน ดังนั้นตนจะให้โอกาสสมาชิกพูดได้เต็มที่ ขอเพียงยึดตามข้อบังคับ เพื่อให้การประชุมเป็นไปอย่างราบรื่น และสมาชิกได้พูดกันอย่างทั่วถึง
“ขออย่าแย่งกันพูด ถ้าประธานไม่ชี้ อย่าเพิ่งพูดนะครับ อย่าเพิ่งพูด แล้วเมื่อประธานอนุญาตให้พูดแล้วค่อยพูด เพื่อว่าเราจะไม่ถูกตำหนิจากคนทั่วไปที่เห็นข่าวการถ่ายทอดการประชุมว่า สภาแย่งกัน ชิงกัน หรือทะเลาะกัน อันเป็นภาพที่ไม่เป็นบวกกับฝ่ายนิติบัญญัติเลย” ชวนระบุ
นอกจากนี้ ชวนยังได้อัญเชิญพระบรมราโชวาทของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเนื่องในพิธีทรงเปิดประชุมรัฐสภา เพื่อให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรได้นำไปยึดถือปฏิบัติ ความตอนหนึ่งว่า
“ขอให้สมาชิกแห่งสภาพึงนึกถึงความสำคัญ และความรับผิดชอบในการปฏิบัติหน้าที่อย่างจริงจัง เพราะการกระทำทุกอย่างของแต่ละคน จะมีผลโดยตรงถึงความมั่นคงของประเทศ และความสุขทุกข์ของประชาชน จึงจำเป็นที่ทุกคนจะต้องร่วมมือกันปฏิบัติภารกิจทั้งปวง โดยเต็มสติปัญญา ความสามารถ ด้วยความสุจริต และด้วยความคิดพิจารณาอันสุขุมรอบคอบ หนักแน่นด้วยเหตุผลที่ถูกต้อง เที่ยงตรงตามหลักนิติธรรมและคุณธรรม ให้งานของชาติดำเนินก้าวหน้าไปโดยไม่ติดขัด และบังเกิดประโยชน์อันพึงประสงค์สมบูรณ์บริบูรณ์”
11.09 น. ชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร ในฐานะประธานรัฐสภา เปิดการประชุมร่วมกันของรัฐสภา ครั้งที่ 1 โดยมีวาระสำคัญคือการพิจารณาให้ความเห็นชอบของบุคคล ซึ่งสมควรได้รับการแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี
สุทัศน์ เงินหมื่น เตรียมเลื่อนขึ้นเป็น ส.ส. แทน อภิสิทธิ์ หลังลาออกจากตำแหน่งผู้แทนฯ
การแถลงลาออกจากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ของ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ จะทำให้วันนี้คะแนนเสียงของฝ่ายที่โหวตให้ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรี หายไป 1 เสียง จาก ส.ส. บัญชีรายชื่อของพรรคประชาธิปัตย์
ทำให้ต้องเลื่อนลำดับสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร แบบบัญชีรายชื่อของพรรคประชาธิปัตย์ขึ้นมาแทนที่อภิสิทธิ์ ในลำดับที่ถัดจาก จิตภัสร์ ตั๊น กฤดากร ที่ได้เป็น ส.ส. ในบัญชีลำดับที่ 20 คือ สุทัศน์ เงินหมื่น ผู้สมัครในลำดับที่ 21 จะได้เข้ามาเป็น ส.ส. แทนอภิสิทธิ์
แต่คาดว่าไม่สามารถแต่งตั้งเข้าปฏิบัติหน้าที่ได้ทันในการโหวตนายกฯ ในที่ประชุมรัฐสภาในเวลา 11.00 น. ที่จะมีการประชุมในวันนี้
10.15 น. ด่วน! อภิสิทธิ์ ลาออกจากสภาผู้แทนราษฎร
ขอบคุณพี่น้องประชาชนที่ได้ให้การสนับสนุนจุดยืนของผมในขณะนั้น และผมสำนึกในบุญคุณของประชาชนที่ได้มอบคะแนนให้ นับตั้งแต่เลือกตั้งผมได้มีจุดยืนดังกล่าว และได้พยายามโน้มน้าวให้สมาชิกพรรคมีจุดยืนนั้น
สิ่งที่พวกเราได้ประสบมาในการเลือกตั้ง ได้เห็นการใช้อำนาจรัฐ ใช้เงิน ได้คะแนนเสียงมาโดยไม่ชอบ พฤติการณ์สรรหาวุฒิสภา การแทรกซึมเข้าไปในสื่อมวลชนบางแขนง สิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่ผมยืนยันว่ามีอยู่จริง ไม่ใช่วาทกรรมการสืบทอดอำนาจ เป็นเหตุการณ์ไม่ต่างจากปี 2548 ที่ผมยืนหยัดต่อสู้กับระบอบทักษิณ ถ้านึกไม่ออกขอให้ไปอ่าน Animal Farm
บัดนี้ประชาธิปัตย์มีมติร่วมรัฐบาลกับพลังประชารัฐและสนับสนุนพล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรี สิ่งที่ผมคาดหวังก็คือการแก้ไขรัฐธรรมนูญให้มีประชาธิปไตย แอบหวังลึกๆ ที่คนของประชาธิปัตย์ไปพายเรือให้จะกลับใจ
ความพยายามของผมเมื่อไม่สำเร็จแล้วก็ต้องตัดสินใจ ประการแรกผมขอกราบขอโทษพี่น้องทุกคนที่ตัดสินใจเลือกพรรคประชาธิปัตย์โดยคิดว่าพรรคจะรักษาสิ่งที่ผมพูดและจุดยืนของพรรค
ผมคงไม่สามารถเดินเข้าไปในห้องประชุมและลงคะแนนที่ฝ่าฝืนมติของพรรคได้ ผมเป็นนักการเมืองที่ได้รับโอกาสจากพรรคประชาธิปัตย์ ผมทราบว่านักการเมืองที่ดีต้องมีวินัย เพราะยิ่งใหญ่กว่ามติพรรคคือสัญญาประชาคมที่ให้กับผู้คนทั้งประเทศ
ผมขอบคุณเพื่อนสมาชิกประชาธิปัตย์ที่พยายามรักษาเกียรติภูมิให้กับผม ด้วยการให้ผมงดออกเสียง ผมเรียนว่าพรรคไม่มีหน้าที่รักษาเกียรติภูมิให้ใคร พรรคมีหน้าที่รักษาเกียรติภูมิของพรรค
เพื่อรักษาเกียรติภูมิของตำแหน่งหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ผมต้องรักษาสจฺจํ เว อมตา วาจา ผมจึงขอลาออกจากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป
9.35 น. ศรีนวล บุญลือ ส.ส. เขต 8 จ.เชียงใหม่ จากพรรคอนาคตใหม่, วทันยา วงษ์โอภาสี ส.ส. บัญชีรายชื่อพรรคพลังประชารัฐ และ จิตภัสร์ กฤดากร ส.ส. บัญชีรายชื่อพรรคประชาธิปัตย์ ปฏิญาณตนเข้ารับตำแหน่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ก่อนการลงคะแนนโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีจะเริ่มต้นขึ้น
8.40 น. ‘ชวน’ ปัดตอบ ‘ธนาธร’ แสดงวิสัยทัศน์ได้หรือไม่ ตามระเบียบที่ประชุม ส.ส. สามารถอภิปรายได้
ชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร ระบุตนไม่หนักใจการทำหน้าที่ควบคุมการประชุมวันนี้ เพราะทุกอย่างเป็นไปตามข้อบังคับการประชุม พร้อมยืนยันว่าตนไม่ได้คุมเกม เพราะไม่ได้เล่นเกมอะไร
ส่วนผู้ที่ได้รับการเสนอชื่อเป็นนายกรัฐมนตรี สามารถแสดงวิสัยทัศน์ได้ เพราะระเบียบการประชุมระบุไว้ชัดเจน ว่าสามารถทำได้ ขึ้นอยู่กับการยกมือเสนอ
ส่วนกรณี ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ แคนดิเดตนายกฯ ของ 7 พรรคขั้วต้าน คสช. จะแสดงวิสัยทัศน์ได้หรือไม่นั้น ชวนระบุว่า “เป็นคนละเรื่อง”
8.35 น. อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ถึงสภาแล้ว หลบฉากสื่อขึ้นห้องประชุมทันที ปฏิเสธตอบคำถามอนาคตทางการเมือง มีเพียงรอยยิ้มให้สื่อมวลชน ทั้งนี้ยังต้องติดตามจุดยืนที่ชัดเจนในการโหวตนายกฯ ที่จะมีขึ้นในวันนี้
7.40 น. ส.ส. หลากหลายทางเพศ มั่นใจพร้อมโหวต ธนาธร เป็นนายกฯ เตรียมข้อมูลอภิปรายคุณสมบัติเต็มที่
3 ส.ส. ความหลากหลายทางเพศ อนาคตใหม่ ได้แก่ ธัญญ์วาริน สุขะพิสิษฐ์, ณธีภัสร์ กุลเศรษฐสิทธิ์ และกวินนาถ ตาคีย์ เปิดเผยกับ THE STANDARD ว่า พร้อมโหวต ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ เป็นนายกฯ โดยวันนี้ได้เดินทางมาถึงสถานที่ประชุมตั้งแต่ช่วงเช้า ก่อนการประชุมสภาผู้แทนฯ จะเริ่มในเวลา 09.00 น. และประชุมร่วมรัฐสภาเพื่อโหวตนายกฯ ในเวลา 11.00 น.