×

สิ้นสุดยุคทองของรถแบรนด์ระดับโลกในจีน? ผลิตล้น ดีมานด์หดหาย หรือเพราะ EV จีน? ล่าสุด Volkswagen รถเยอรมันแชมป์ขายดีที่สุดในจีนจ่อปิดโรงงาน หลังพ่ายให้กับ BYD

19.09.2024
  • LOADING...

Volkswagen (VW) ที่ร่วมผลิตกับค่ายรถ SAIC จ่อปิดโรงงานในจีนชั่วคราว เหตุรถยนต์ล้นตลาด ดีมานด์ไม่มี การแข่งขัน EV ร้อนแรง! โดย CNN รายงานบทวิเคราะห์ The ‘glory days’ for global automakers in China are over ที่เปิดเผยว่า ผู้ผลิตรถยนต์ต่างชาติที่ครองตลาดรถยนต์จีนมานาน ด้วยยอดขายหลักหลายล้านคัน และรับกำไรมหาศาลมาหลายทศวรรษ มาถึงจุดสิ้นสุดความรุ่งโรจน์แล้ว

 

รายงานระบุว่า บริษัท Volkswagen (VW) ผู้ผลิตรถยนต์รายใหญ่ของโลกจากเยอรมนี มีแผนปิดโรงงานผลิตรถยนต์ที่เป็นความร่วมมือกับค่ายรถยนต์จีน SAIC Motor ในเมืองหนานจิง ทางตะวันออกของจีน ชั่วคราว

 

โดยโรงงานแห่งนี้เป็นฐานการผลิตรถยนต์สันดาปขนาดใหญ่ที่รวมถึงรถรุ่นดังอย่าง Passat รายงานข่าวระบุว่า นี่อาจถือเป็นอีกหนึ่งสัญญาณชี้ชัดและสะท้อนถึงการจัดการปัญหาการผลิตที่ล้นตลาดในจีน (Overcapacity) ซึ่งเป็นแหล่งผลิตที่ใหญ่ที่สุดในโลก

 

แหล่งข่าวระบุอีกว่า Volkswagen และ SAIC Motor จะทยอยย้ายไลน์การผลิตรถยนต์และพนักงานบางส่วนที่ผลิตรุ่น Passat ไปยังโรงงานอี้เจิงในมณฑลเจียงซูแทน ซึ่งปัจจุบันผลิต Lavida ซึ่งเป็นรุ่นขายดีที่สุดของแบรนด์ แต่ยังไม่มีการเปิดเผยช่วงเวลาที่ชัดเจน และยังไม่มีความแน่ชัดว่าจะมีแผนปิดโรงงานที่หนานจิงอย่างถาวรหรือจะปรับเป็นสำนักงานขายแทนหรือไม่

 


ข่าวที่เกี่ยวข้อง:


 

ขณะเดียวกัน ทั้ง Volkswagen และ SAIC Motor ยังเตรียมฟื้นแผนกลับมาทำตลาดขายรถยนต์แบรนด์ Skoda อีกครั้ง หลังจากที่แบรนด์นี้เคยสร้างยอดขายได้ถึง 17% จากยอดขายของ SAIC-VW ในปี 2018 แต่ปัจจุบันเหลือเพียง 1%

 

ก่อนหน้านี้ รายงานที่มีมุมมองสอดคล้องกันจาก Bloomberg ระบุว่า SAIC-VW จะปิดโรงงาน 2 แห่งในหนานจิงและหนิงโป ซึ่งรายหลังยังถือเป็น 1 ใน 3 โรงงานรถยนต์ที่ใหญ่ที่สุดในเซี่ยงไฮ้ด้วย 

 

โดยทั้งสองบริษัทมีแผนจะปิดโรงงาน 2 แห่งในเมืองหนานจิงและหนิงโป แม้แหล่งข่าว 2 แห่ง ปฏิเสธข้อเท็จจริงข่าวดังกล่าว

 

สำหรับ Volkswagen ถือเป็นผู้ผลิตรถยนต์ที่มียอดขายสูงสุดในจีนมาอย่างยาวนานหลายทศวรรษ ปัจจุบันกำลังประสบปัญหาส่วนแบ่งการตลาดในประเทศจีนลดลง และกำลังทำงานร่วมกับ SAIC และมองหาพันธมิตรรายอื่นๆ เช่น XPENG เพื่อนำรถรุ่นใหม่ๆ ออกสู่ตลาด ด้วยหวังว่าจะสามารถแข่งขันได้มากขึ้น 

 

อย่างไรก็ตาม Volkswagen ระบุว่า ไม่แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับข่าวลือดังกล่าว ขณะที่ SAIC ยังไม่ขอแสดงความคิดเห็นเช่นกัน

 

เมื่อไม่นานมานี้ บริษัทออกมาประกาศออกมาอย่างเป็นทางการว่า Volkswagen (VW) จะส่งมอบรถยนต์ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้า (EV) รุ่นถัดไป ออกสู่ตลาดภายในปี 2028 โดย Thomas Schäfer ผู้บริหารของ VW ระบุว่า สายพานการผลิตรถ EV ที่ VW ผลิตกำลังจะออกรถรุ่นใหม่ในชื่อว่า Scalable Systems Platform (SSP) ซึ่งถือเป็นสถาปัตยกรรมใหม่ และกำลังวางแผนจะเริ่มออกสู่ตลาดในปี 2028

 

THE STANDARD WEALTH สำรวจแบรนด์รถยนต์ที่ทยอยปิดโรงงานในจีนปีนี้ พบว่า นอกจาก Toyota ที่ปลดคนงานบางส่วน Honda Motor ค่ายยักษ์ใหญ่ญี่ปุ่นก็เตรียมปิดโรงงานที่ลงทุนร่วมแบบกิจการร่วมค้ากับทาง กว่างโจว ออโตโมบิล กรุ๊ป (GAC Group) ในเดือนตุลาคมนี้ โดย​ Honda จะหันไปมองหาการผลิตรถยนต์ไฟฟ้า (EV) ให้มากขึ้น  

 

นอกจากปิดโรงงานถาวร 1 แห่งแล้ว Honda ยังประกาศระงับการผลิตที่โรงงานอีก 1 แห่ง ซึ่งเป็นการร่วมทุนกับ บริษัท ตงเฟิง มอเตอร์ คอร์ปอเรชัน (Dongfeng Motor Corporation) ในเดือนพฤศจิกายนนี้ โดยเป็นโรงงานของ Dongfeng Honda ในกว่างโจว และมีกำลังการผลิตประมาณ 240,000 คันต่อปี

 

อีกทั้งเตรียมลดการผลิตรถยนต์เครื่องยนต์เบนซินในจีน 30% คิดเป็นราว 10% ของการผลิตทั้งหมดของ Honda ทั่วโลก 

 

สิ้นสุดยุคทองของผู้ผลิตรถยนต์ระดับโลกในจีน?

 

CNN เผยแพร่รายงานกึ่งบทวิเคราะห์ The ‘glory days’ for global automakers in China are over ว่า ช่วงเวลาแห่งความรุ่งโรจน์ของผู้ผลิตรถยนต์ระดับโลกในจีนสิ้นสุดลงแล้ว หลังจากที่ผู้ผลิตรถยนต์ต่างชาติที่ครองตลาดรถยนต์จีนมานานหลายทศวรรษ ขายรถได้หลายล้านคันและทำกำไรมหาศาล แต่ยุคทองนี้กำลังจะสิ้นสุดลงอย่างรวดเร็ว

 

สาเหตุหนึ่งมาจากการเติบโตอย่างรวดเร็วของผู้ผลิตยานยนต์ไฟฟ้า (EV) ในจีน เช่น BYD และ XPENG ที่กำลังพลิกโฉมตลาดรถยนต์นั่งส่วนบุคคลที่ใหญ่ที่สุดในโลก และทำให้ผู้ผลิตรถยนต์รายใหญ่ที่สุดของโลกต้องพ่ายแพ้

 

สัญญาณที่เด่นชัดคือความท้าทายที่ยากลำบากที่ผู้ผลิตรถยนต์แบบดั้งเดิมต้องเผชิญท่ามกลางการแข่งขันที่รุนแรงของ EV เมื่อไม่นานมานี้ อย่าง Volkswagen ที่เตือนว่าอาจปิดโรงงานในเยอรมนีเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ เพื่อพยายามลดต้นทุน หลังผู้บริหารระดับสูงได้พบปะกับพนักงานที่สำนักงานใหญ่ของบริษัทในเมือง Wolfsburg



โดย Arno Antlitz ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายการเงินเตือนว่า “Volkswagen มีเวลา 1 ปี หรืออาจจะ 2 ปี ในการพลิกสถานการณ์” เขากล่าวว่า ยอดขายรถยนต์ในยุโรปลดลง โดยขายได้ 500,000 คันต่อปี เมื่อเทียบกับระดับก่อนเกิดโรคระบาด ซึ่งเทียบเท่ากับโรงงานผลิตรถยนต์ประมาณ 2 แห่ง

 

ขณะที่ในจีนซึ่งเป็นตลาดที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่ง พบว่ายอดส่งมอบลดลงมากกว่า 1 ใน 4 จากเมื่อ 3 ปีก่อน เหลือ 1.34 ล้านคันในช่วงครึ่งแรกของปีนี้ 

 

“ชัดเจนที่สุดคือ เมื่อปีที่แล้ว Volkswagen สูญเสียตำแหน่งแบรนด์รถยนต์ต่างชาติที่ขายดีที่สุดในจีนให้กับ BYD หลังรั้งอันดับ 1 มาตั้งแต่ปี 2000 โดย Volkswagen เป็นผู้ผลิตรถยนต์รายใหญ่อันดับ 2 ของโลกรองจาก Toyota”

 

รายงานระบุอีกว่า Volkswagen ไม่ใช่บริษัทเดียวที่ประสบปัญหาในจีน Ford และ General Motors (GM) ก็เป็นอีก 2 แบรนด์ที่พบว่ายอดขายและส่วนแบ่งการตลาดในจีนลดลง เนื่องจากผู้บริโภคในประเทศปฏิเสธที่จะซื้อสินค้าจากต่างประเทศและหันไปซื้อสินค้าจากจีนแทน

 

สะท้อนจากข้อมูลของสมาคมรถยนต์นั่งส่วนบุคคลแห่งประเทศจีน (CPCA) ในเดือนกรกฎาคม พบว่า ส่วนแบ่งการขายรถยนต์ของผู้ผลิตรถยนต์ต่างชาติในจีนลดลงเหลือ 33% จาก 53% ในเดือนเดียวกันเมื่อ 2 ปีก่อน  

 

หมายความว่าผู้ผลิตรถยนต์แบรนด์ต่างชาติกำลังสูญเสียพื้นที่ในตลาดจีนจากแรงกดดันของยอดขายรถยนต์ไฟฟ้า (EV) จีนจึงเห็นส่วนแบ่งการตลาดของผู้ผลิตรถยนต์ EV จีนภายในประเทศเติบโตอย่างต่อเนื่องในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา

 

ช่วงเวลาเพียง 2 ปี ยอดขายรถยนต์ของผู้ผลิตต่างชาติลดลง 33%

 

แม้ก่อนหน้านี้ ผู้บริหารระดับสูงด้านรถยนต์รายหนึ่งกล่าวติดตลกว่า “เราทำเงินในจีนได้มากกว่าพระเจ้า แต่วันนี้การแข่งขันนั้นรุนแรงมาก” 

 

นักวิเคราะห์ส่วนหนึ่งมองว่า แม้ว่ารัฐบาลจีนจะเริ่มทุ่มเงินให้กับผู้ผลิต EV และแบตเตอรี่ในประเทศในช่วงกลางทศวรรษ 2010 ภายใต้กลยุทธ์ ‘Made in China 2025’ ของผู้นำสีจิ้นผิง ผู้ผลิตรถยนต์ต่างชาติก็ยังคงเพิ่มส่วนแบ่งการตลาดต่อไป และผู้บริโภคชาวจีนยังคงชอบรถยนต์แบบเดิมจากแบรนด์ที่มีชื่อเสียง

 

แต่นักวิเคราะห์บางกลุ่มมองว่า หลังจากการเข้ามาของ Tesla ในเดือนธันวาคม 2019 Tesla Model 3 คันแรกที่ผลิตในจีนได้ออกจากสายการผลิตในเซี่ยงไฮ้ ทุกอย่างก็เปลี่ยนไปในชั่วข้ามคืน ราวกับว่ามีปาฏิหาริย์เกิดขึ้น “การผลิต Model 3 ของ Tesla ในเซี่ยงไฮ้ได้เปลี่ยนมุมมองของผู้บริโภคจีนที่มีต่อรถยนต์ไฟฟ้า EV กลายเป็นความเท่ในรูปแบบใหม่”  

 

ส่งผลให้การส่งออกรถยนต์นั่งส่วนบุคคลของจีนพุ่งสูงขึ้น โดยเพิ่มขึ้นมากกว่า 60% เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว จนแตะระดับ 4 ล้านคัน ทำให้จีนกลายเป็นผู้ส่งออกรถยนต์รายใหญ่ที่สุดในโลก แซงหน้าญี่ปุ่นและเยอรมนี โดยการส่งออกมากกว่า 1 ใน 4 ล้วนเป็นรถยนต์ไฟฟ้า (EV) 

 

จับตามาตรการขึ้นภาษี EV จีน สะเทือนตลาดรถยนต์โลก

 

อย่างไรก็ตาม ภายในปี 2030 ผู้ผลิตรถยนต์ของจีนอาจเห็นส่วนแบ่งการตลาดรถยนต์ไฟฟ้าทั่วโลกเพิ่มขึ้นจากเพียง 2 เท่าเป็นประมาณ 1 ใน 3 ตามที่ UBS คาดการณ์ โดยบริษัทในยุโรปจะเป็นแบรนด์ที่สูญเสียส่วนแบ่งการตลาดมากที่สุด

 

สิ่งที่ต้องจับตาต่อไปคือมาตรการกีดกันการค้า ที่หลายประเทศมองว่าจีนคือภัยคุกคามต่ออุตสาหกรรมรถยนต์

 

ทั้งสหภาพยุโรปและอเมริกาเหนือได้ออกมาตรการทางภาษี ปลุกกระแสการขึ้นภาษีนำเข้ารถยนต์ไฟฟ้าที่ผลิตในจีน แม้ยังไม่ชัดเจนว่าภาษีนำเข้าที่สูงขึ้นจะเพียงพอที่จะหยุดการโจมตีครั้งนี้ได้หรือไม่ 

 

โดยสหรัฐฯ ออกมาตรการภาษีรถยนต์ไฟฟ้าของจีน โดยให้เหตุผลว่าจีนมีกำลังการผลิตเกิน รถยนต์ EV จีนส่งผลกระทบต่อตลาดทั้งสหรัฐฯ และตลาดโลก และก่อให้เกิดความเสี่ยง รวมถึงปัญหาความปลอดภัยของข้อมูล จึงกำหนดอัตราภาษีนำเข้ารถยนต์ไฟฟ้าของจีน 100% ขณะเดียวกันจีนยืนยันว่าอุตสาหกรรมรถยนต์ไฟฟ้ามีกำลังการผลิตขั้นสูงที่ช่วยต่อสู้กับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและส่งเสริมการเปลี่ยนผ่านสู่สีเขียว และกล่าวหาว่าสหรัฐฯ บ่อนทำลายการค้าเสรี

 

จากสถานการณ์ดังกล่าวย่อมมีผลต่อบรรดาผู้ผลิตรถยนต์ในจีนให้ต้องมองหาฐานผลิตใหม่ๆ เพื่อหลีกเลี่ยงมาตรการภาษีมากขึ้นหรือไม่

 

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising