×

เสียงสะท้อนจากอดีตผู้ว่าฯ แบงก์ชาติ ชี้ชัด “มีแต่จิตสำนึกของคณะกรรมการสรรหาประธานธนาคารแห่งประเทศไทยเท่านั้นที่จะยับยั้งหายนะทางเศรษฐกิจ”

08.10.2024
  • LOADING...

เมื่อวันที่ 7 ตุลาคมที่ผ่านมา ธาริษา วัฒนเกส อดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เขียนบทความและเผยแพร่ต่อสาธารณะ โดยธาริษาระบุว่า

 

“ในขณะนี้มีแต่จิตสำนึกของคณะกรรมการสรรหาประธานธนาคารแห่งประเทศไทยเท่านั้นที่จะยับยั้งหายนะทางเศรษฐกิจ”

 

ที่ผ่านมารัฐบาลได้แสดงความไม่พอใจอย่างชัดเจนต่อ ธปท. ทั้งในเรื่องไม่ลดดอกเบี้ยและการคัดค้านนโยบายแจกเงิน 10,000 บาท เป็นต้น ล่าสุดก็มีการคาดหมายว่ารัฐบาลจะส่งคนของตนเข้าไปเป็นประธานคณะกรรมการ ธปท. ซึ่งวัตถุประสงค์ก็เพื่อจะได้สามารถใช้ ธปท. เป็นเครื่องมือในการสนองนโยบายของรัฐบาล ซึ่งหากภาพนี้เกิดขึ้น หายนะของเศรษฐกิจไทยก็จะตามมาอย่างแน่นอน เหมือนที่เราเห็นในต่างประเทศที่รัฐบาลเข้าไปแทรกแซงในธนาคารกลาง

 

การกระทำดังกล่าวทำให้ความเชื่อมั่นของต่างประเทศต่อระบบเศรษฐกิจสั่นคลอน เพราะธนาคารกลางที่ถูกแทรกแซงจะไม่สามารถมีบทบาทในการดูแลเสถียรภาพทางเศรษฐกิจในระยะยาว เศรษฐกิจจึงเสี่ยงที่จะเสียหายจากนโยบายที่เน้นการกระตุ้นเศรษฐกิจในระยะสั้นเพียงอย่างเดียว

 

ในกรณีของประเทศไทย นโยบายแจกเงิน 10,000 บาท ซึ่งเป็นภาระทางการคลังอย่างมหาศาล ก็ได้สร้างความเสี่ยงที่ประเทศจะถูกลดอันดับความน่าเชื่อถืออยู่แล้ว หาก ธปท. ถูกแทรกแซงจนขาดความเป็นอิสระ ความเสี่ยงของการถูกลดอันดับความน่าเชื่อถือจากนานาประเทศก็ยิ่งเพิ่มมากขึ้นอีก ผลเสียต่อธุรกิจและเศรษฐกิจย่อมตามมาอย่างแน่นอน

 

วงการเศรษฐกิจของไทยชี้ให้เห็นถึงผลเสียหายอันใหญ่หลวงของการแทรกแซง ธปท. แต่รัฐบาลก็ไม่ต้องการรับฟังคำเตือนเหล่านี้ ในขณะนี้จึงมีเพียงแต่จิตสำนึกของคณะกรรมการสรรหาประธาน ธปท. เท่านั้น ที่มีความสำคัญอย่างยิ่งยวดในการยับยั้งไม่ให้เกิดหายนะทางเศรษฐกิจ

 

อันที่จริง กฎหมายของ ธปท. ก็ได้คำนึงถึงความเสี่ยงของการที่คณะกรรมการสรรหาจะถูกแทรกแซงจากทางการเมือง หากคณะกรรมการยังอยู่ในตำแหน่งหน้าที่ทางราชการ กฎหมายจึงกำหนดให้กรรมการสรรหาเป็นอดีตข้าราชการระดับสูงของหน่วยงานสำคัญทางเศรษฐกิจที่เกษียณอายุแล้วทั้งสิ้น เพื่อจะได้ปลอดภัยจากการถูกแทรกแซง ที่ผ่านมาคณะกรรมการสรรหาตำแหน่งสำคัญๆ ของ ธปท. ก็ได้ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความเป็นอิสระ ไม่ยอมรับการแทรกแซง ผู้ที่ได้รับการสรรหาจึงเป็นผู้ที่มีความเหมาะสมที่จะเข้าใจบทบาทของธนาคารกลาง และสามารถปฏิบัติหน้าที่อย่างเหมาะสม รวมถึงเป็นที่ยอมรับของสังคม

 

“ดิฉันจึงได้แต่คาดหวังว่าคณะกรรมการสรรหาในครั้งนี้จะสามารถทำหน้าที่ที่สำคัญนี้ด้วยหลักการเดียวกัน คงไม่มีท่านใดอยากจะถูกจารึกในประวัติศาสตร์ว่าท่านเป็นคนหนึ่งที่ต้องรับผิดชอบในการทำให้เศรษฐกิจไทยพลิกผันไปสู่ก้าวแรกของความหายนะ” ธาริษาระบุ

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X