ในช่วง 8 เดือนแรก ปี 2564 ดัชนีหุ้นเวียดนามอย่าง VN Index (VNI) เป็นอีกหนึ่งดัชนีที่ปรับตัวขึ้นอย่างโดดเด่น ดัชนีต้นปีเริ่มต้นที่ 1,119 จุด จากนั้นก็ปรับตัวเพิ่มขึ้นเรื่อยมา จนทำระดับสูงสุดที่ 1,420 จุด ในเดือนกรกฎาคม คิดเป็นการปรับตัวเพิ่มขึ้น 26.89%
อย่างไรก็ตาม ดัชนี VNI ต้องสะดุดครั้งใหญ่ โดยในช่วงเดือนเศษที่ผ่านมา ดัชนีร่วงลงราว 100 จุด หรือ 7-8% จากจุดสูงสุดที่ 1,420 จุด มาอยู่ที่ราวๆ 1,330 จุด สาเหตุหลักคือการแพร่ระบาดของโควิดในประเทศ ซึ่งเกิดขึ้นระลอกที่ 4 ส่งผลให้เกิดความกังวลต่อความเสียหายทางเศรษฐกิจ ขณะเดียวกัน รัฐบาลเวียดนามได้ประกาศใช้มาตรการล็อกดาวน์เต็มรูปแบบ (Full Lockdown) ในนครโฮจิมินห์ ซึ่งเป็นเมืองการค้าสำคัญของเวียดนาม มีผลต่อ GDP สูงถึง 18%
การแพร่ระบาดระลอกที่ 4 ในเวียดนาม สร้างความกังวลว่าเศรษฐกิจภายในประเทศของเวียดนามเองจะเริ่มหักหัวลงหลังจากเติบโตมาได้อย่างต่อเนื่อง โดย GDP ไตรมาส 2/2564 ขยายตัว 6.61% ขณะที่ภาพรวมครึ่งปีแรก GDP เวียดนามขยายตัวถึง 5.4% เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญจากช่วงเดียวกันของปีก่อน ปัจจัยหลักที่สนับสนุนเศรษฐกิจเวียดนามคือภาคการส่งออก โดยตลาดส่งออกหลักคือสหรัฐอเมริกา
“การประกาศตัวเลข GDP ไตรมาส 3 เป็นสิ่งที่นักลงทุนจับตามองอยู่ ซึ่งเป็นอีกสาเหตุหลักที่ประเมินว่าดัชนีหุ้นเวียดนามน่าจะพักฐานต่ออีกราว 1 เดือน รวมถึงปัจจัยเรื่องการแพร่ระบาดระลอกที่ 4 ที่ทำให้ต้องล็อกดาวน์นครโฮจิมินห์ ซึ่งก็น่าจะกระทบกับ GDP อย่างมีนัยสำคัญ
“อย่างไรก็ตาม ระยะสั้นดัชนีอาจจะรีบาวด์ขึ้นมาได้บ้าง เพราะรัฐบาลเวียดนามสามารถบริหารจัดการการแพร่ระบาดได้ดี และมีปัจจัยหนุนจากการได้รับวัคซีนจากประเทศพันธมิตร เช่น สหรัฐอเมริกาและจีน” รัฐศรัณย์ ธนไพศาลกิจ หัวหน้าฝ่ายหลักทรัพย์ต่างประเทศและฟิวเจอร์ส บล.บัวหลวง กล่าว
รัฐศรัณย์กล่าวว่า จากการล็อกดาวน์นครโฮจิมินห์ ซึ่งมองว่าเป็นความเสี่ยงหลัก จึงประเมินว่าหุ้นเวียดนามยังมี Downside Risk ราว 5-10% จากระดับปัจจุบัน และแนะนำนักลงทุนให้รอโอกาสดัชนีพักฐานอีกจึงค่อยเข้าลงทุน
ทั้งนี้ ในมุมมองระยะยาวค่อนข้างมองตลาดหุ้นเวียดนามเชิงบวก เนื่องจากเป็นประเทศที่ GDP มีการเติบโต และมีแนวโน้มรับมือกับสถานการณ์โควิดได้ดี แม้การจัดหาและกระจายวัคซีนในอดีตค่อนข้างล่าช้าและต่ำสุดในเอเชีย แต่เมื่อเร็วๆ นี้มีรายงานข่าวเรื่องการได้รับการสนับสนุนวัคซีนจากประเทศพันธมิตร ทั้งสหรัฐอเมริกาและจีน
ศรชัย สุเนต์ตา CFA ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารฝ่าย SCB-CIO และผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสายงาน Investment Office and Product ธนาคารไทยพาณิชย์ กล่าวว่า จังหวะที่ดัชนีเวียดนามย่อตัว มองเป็นโอกาสเข้าลงทุนแบบสะสม โดยประเมินปัจจัยลบจากโควิดระลอกที่ 4 และการล็อกดาวน์เมืองสำคัญ จะกระทบกับตลาดหุ้นเวียดนามเพียงเล็กน้อยเท่านั้น
โดยเชื่อว่ารัฐบาลเวียดนามสามารถจัดการกับการแพร่ระบาดได้ค่อนข้างดี การใช้มาตรการล็อกดาวน์ในครั้งนี้ได้รับความเชื่อมั่นว่าจะสามารถยับยั้งการแพร่ระบาดได้จริง ประกอบกับการจัดหาวัคซีนที่มีประสิทธิภาพ ทั้งจากการจัดหาเองและได้รับการสนับสนุนจากประเทศพันธมิตร ทำให้วัคซีนส่วนมากในเวียดนามเป็นชนิด mRNA ที่มีประสิทธิภาพในการยับยั้งสายพันธุ์เดลตาได้
ศรชัยกล่าวว่า ในการจัดพอร์ตลงทุน แนะนำนักลงทุนจัดสรรการลงทุนในหุ้นเวียดนาม 10% โดยเน้นการลงทุนระยะยาว ประมาณ 2-3 ปี กลุ่มที่น่าสนใจเข้าลงทุนคือกลุ่มที่เกี่ยวเนื่องกับการบริโภคภายในประเทศ เช่น แบงก์และค้าปลีก เพราะเชื่อว่าเมื่อโควิดคลี่คลายแล้ว GDP เวียดนามจะฟื้นขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยมีกำลังซื้อภาคประชาชนในประเทศเป็นฐานกำลังสำคัญ
ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร นักลงทุนแบบเน้นคุณค่า หรือ Value Investor ของไทย กล่าวว่า ส่วนตัวยังชื่นชอบตลาดหุ้นเวียดนาม และเชื่อว่าในอนาคตจะมี Super Stock เกิดขึ้นอีกมาก
ส่วนปรากฏการณ์ที่ดัชนี VNI ปรับลดลงอย่างหนักเกิดจากการตื่นตระหนกเรื่องตัวเลขผู้ติดเชื้อในประเทศที่พุ่งสูงขึ้นและการประกาศล็อกดาวน์บางเมือง ซึ่งมองเป็นปัจจัยระยะสั้นเท่านั้น และเชื่อว่ารัฐบาลเวียดนามจะสามารถบริหารจัดการวิกฤตนี้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ดร.นิเวศน์ กล่าวว่า เหตุผลหลักที่ชื่นชอบหุ้นเวียดนามคือโอกาสในการเติบโตที่มีอีกมาก โดยตลาดหุ้นเวียดนามหรือกระทั่งโครงสร้างเศรษฐกิจเวียดนามในปัจจุบันเหมือนกับประเทศไทยเมื่อราว 10 ปีที่แล้ว ธุรกิจส่วนมากยังเป็นแบบ Traditional อยู่ แต่ในเวลาเดียวกัน เวียดนามมีต้นแบบของการสร้างการเติบโตที่หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นต้นแบบจากจีน เกาหลี หรือชาติตะวันตกอย่างสหรัฐอเมริกา ทำให้เวียดนามมีทางลัดในการเติบโตและก้าวผ่านอุปสรรค เช่น Technology Disrupt ได้ในเวลาที่รวดเร็วกว่าประเทศอื่นๆ
ต่อเนื่องมาถึงความถูก-แพง ส่วนตัวมองว่าหุ้นหลายตัวในเวียดนามราคายังถูก ขณะที่โอกาสในการเติบโตมีสูงมาก โดยเฉพาะโอกาสจากการเติบโตในประเทศเอง เพราะการบริโภคภาคประชาชนของเวียดนามมีสูง เนื่องจากอยู่ในช่วงเปิดรับเทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ นอกจากนี้ยังมี FDI จากต่างชาติเข้าไปลงทุนในเวียดนามจำนวนมาก จนล่าสุดเวียดนามกลายเป็นประเทศฐานส่งออกสินค้าของซัมซุงไปแล้ว
“เวียดนามแม้จะเหมือนไทยเมื่อ 10 ปีก่อน แต่เขาจะใช้เวลาไม่ถึง 10 ปี ในการพัฒนาและเติบโตเทียบเท่ากับไทยในปัจจุบัน อีกทั้งยังมีโอกาสสร้าง New Economy ได้ง่ายและเร็วกว่า เพราะเขามีต้นแบบจากหลายประเทศจึงสามารถสร้างทางลัดในการเติบโตได้ กลุ่มธุรกิจที่น่าสนใจและคิดว่าจะเติบโตเป็น Super Stock ของตลาดหุ้นเวียดนามได้ก็คือค้าปลีก ทั้งโมเดิร์นเทรดและห้างสรรพสินค้า แบงก์ สื่อสารและเทคโนโลยี” ดร.นิเวศน์กล่าวทิ้งท้าย
ทั้งนี้ 5 อันดับกองทุนหุ้นเวียดนามที่ให้ผลตอบแทนตั้งแต่ต้นปีจนถึงปัจจุบันมากสุดมีดังนี้
- กองทุนเปิดพรินซิเพิล เวียดนาม อิควิตี้ ชนิดสะสมมูลค่า (PRINCIPAL VNEQ-A) และกองทุนเปิดพรินซิเพิล เวียดนาม อิควิตี้ ชนิดผู้ลงทุนสถาบัน (PRINCIPAL VNEQ-I) ให้ผลตอบแทน 42.50%
- กองทุนเปิด แอสเซทพลัส เวียดนาม โกรท เพื่อการเลี้ยงชีพ (ASP-VIETRMF) ให้ผลตอบแทน 36.37%
- กองทุนเปิด แอสเซทพลัส เวียดนาม โกรท ฟันด์ (ASP-VIET) ให้ผลตอบแทน 34.20%
- กองทุนเปิดเค เวียดนาม หุ้นทุน (K-VIETNAM) ให้ผลตอบแทน 30.31%
- กองทุนเปิด วรรณ เวียดนาม อิควิตี้ ชนิดไม่จ่ายเงินปันผล สำหรับผู้ลงทุนทั่วไป (ONE-VIETNAM-RA) ให้ผลตอบแทน 28.40%
หุ้นเวียดนามปรับฐานครั้งใหญ่รอบปี ดัชนีย่อตัวลง 7-8% จากจุดสูงสุดเมื่อเดือนกรกฎาคม ที่ระดับ 1,420 จุด ท่ามกลางวิกฤตการแพร่ระบาดของโควิดและการล็อกดาวน์เมืองค้าขายสำคัญ ขณะที่ผู้เชี่ยวชาญการลงทุนเวียดนามมองเป็นโอกาสทยอยสะสมเพื่อลงทุนระยะยาว ขณะที่กองทุนหุ้นเวียดนาม Top 5 ให้ผลแทน 28-42%
ภาพประกอบ: พิชามญชุ์ วรรณสาร