×

Vivienne Westwood กับครึ่งศตวรรษในการเป็นวีรสตรีและผู้ขบถแห่งวงการแฟชั่น

โดย OPOLOP POPPY
20.02.2020
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

7 Mins. Read
  • เมื่อโลกเข้าสู่ทศวรรษที่ 1970 ในช่วงเวลาที่ประเทศอังกฤษกำลังเผชิญหน้ากับวิกฤตเศรษฐกิจ ส่งผลให้มีคนว่างงานเป็นจำนวนมาก วิเวียน เวสต์วูด และมัลคอล์ม แม็กลาเรน แฟนหนุ่มในช่วงเวลานั้น จึงตัดสินใจเปิดร้านเล็กๆ เลขที่ 430 บนถนน Kings Road ในกรุงลอนดอน ชื่อ Let It Rock เพื่อขายผลงานที่แสดงวิสัยทัศน์ผ่านการออกแบบ สะท้อนแนวคิดและรูปแบบการเสพดนตรีและแฟชั่นที่เปลี่ยนไปจากในอดีตที่ผ่านมา
  • วิเวียน เวสต์วูด และมัลคอล์ม แม็กลาเรน จัดแฟชั่นโชว์ครั้งแรกขึ้นในฤดูกาล Fall/Winter 1981 สถานที่จัดงานโอลิมเปียของกรุงลอนดอนคลาคล่ำไปด้วยผู้คนที่ต้องการจะเป็นส่วนหนึ่งในหน้าประวัติศาสตร์ เพราะนับตั้งแต่สิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 2 เป็นต้นมา เวสต์วูดและแม็กลาเรนถือเป็นผู้จุดประกายความหวังให้กรุงลอนดอนกลับมามีสีสันและเป็นหนึ่งในผู้นำด้านแฟชั่นโลกอีกครั้ง
  • จุดเปลี่ยนสำคัญของแบรนด์ Vivienne Westwood ให้กลายเป็นที่ยอมรับในระดับโลกมากยิ่งขึ้น คือการบุกกรุงปารีสในต้นยุค 90 โดยโมเมนต์สำคัญของโลกแฟชั่นในยุคนี้เกิดขึ้นที่ฤดูกาล Fall/Winter 1993 เมื่อปรากฏภาพนางแบบคนดัง นาโอมิ แคมป์เบลล์ ตกจากรองเท้าส้นสูงที่ตัวแพลตฟอร์มมีความสูงถึงเกือบหนึ่งฟุตจนกลายเป็นที่ฮือฮาไปทั่วโลก
  • นอกจากผู้คนทั่วโลกรู้จักชื่อของ วิเวียน เวสต์วูด ในฐานะของตัวแม่สายพังก์และแฟชั่นดีไซเนอร์แล้ว เธอยังมีชื่อเสียงในฐานะของนักกิจกรรมตัวยง โดยหนึ่งในประเด็นสำคัญที่วิเวียนเน้นย้ำอยู่เสมอคือเรื่องของ Reuse, Reduce, Recycle

วิเวียน เวสต์วูด โดย ทิม วอล์กเกอร์

 

แม้ในโลกความเป็นจริงจะมีเรื่องของการเมืองเป็นปัจจัยในการขับเคลื่อนยุคสมัย ทำให้สหราชอาณาจักรพ้นจากการเป็นสมาชิกภาพของสหภาพยุโรปไปเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา แต่เรื่องนี้กลับสวนทางกับโลกแฟชั่นที่ทั้งสองแน่นแฟ้นยิ่งขึ้นกว่าเดิม นั่นเพราะปี 2020 เปิดฉากมาพร้อมกับเรื่องราวอันแสนหวาน เป็นความโรแมนติกที่เกิดขึ้นในวันวาน ซึ่งนักออกแบบทั้งรายน้อยใหญ่ไม่ว่าจะเป็นแบรนด์เก่าหรือใหม่ ต่างก็นำความประทับใจในเรื่องราวทางประวัติศาสตร์มานำเสนออีกครั้ง โดยช่วงเวลาที่ว่านั้นทั้งผมและคุณผู้อ่านต่างก็ไม่เคยสัมผัส เพราะแต่ละยุคสมัยผ่านล่วงเลยมานานไม่ต่ำกว่า 100 ปี คนรุ่นหลังได้แต่เพียงรับรู้เรื่องราวเหล่านี้ผ่านทางบทบันทึกในรูปแบบต่างๆ ทั้งหนังสือ ภาพยนตร์ ดนตรีคลาสสิก และงานออกแบบในโลกพาณิชย์ศิลป์ มีนักออกแบบแฟชั่นทำหน้าที่เป็นศิลปินถ่ายทอดเป็นผลงานศิลปะที่สามารถเสพและสวมใส่ได้ โดยหนึ่งในนักออกแบบที่สามารถนำเรื่องราวในอดีตมาถ่ายทอดให้คนรุ่นหลังประทับใจ และผมกำลังจะพาคุณผู้อ่านไปพบกับแง่มุมน่าสนใจในวันนี้คือสาวใหญ่วัย 78 ปี ผู้มีอีกสถานะเป็นไอคอนของวัฒนธรรมพังก์อย่าง วิเวียน เวสต์วูด (Vivienne Westwood)

 

เมื่อเอ่ยชื่อของ วิเวียน เวสต์วูด ผมเชื่อว่านอกจากคอแฟชั่นที่รู้จักกันเป็นอย่างดีแล้ว คุณผู้อ่านที่ไม่ได้ติดตามข่าวคร่าวในโลกแฟชั่นอย่างใกล้ชิดก็คงได้ยินชื่อนี้ผ่านหูอยู่บ่อยครั้ง เพราะนอกจากเธออยู่ในสถานะแฟชั่นดีไซเนอร์และตัวแม่สายพังก์แล้ว ยังเป็นนักเคลื่อนไหวทางสังคมที่ออกมารณรงค์เรื่องต่างๆ อย่างต่อเนื่องในช่วงหลายปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะกับ 10 ปีนี้ เมื่อวิเวียนเริ่มตระหนักและให้ความสำคัญกับปัญหาสิ่งแวดล้อมโลก มีการร่วมมือกับองค์การสาธารณประโยชน์ที่ดำเนินกิจกรรมด้านสิ่งแวดล้อมและสันติภาพอย่าง Greenpeace และเมื่อ 2 ปีที่แล้วก็ยังมีภาพยนต์สารคดีออกมาชักจูงใจให้คนรุ่นใหม่ได้ตระหนักถึงปัญหานี้ด้วยเช่นกัน ดังนั้นในช่วงเวลาสำคัญที่ก้าวเข้าสู่ 5 ทศวรรษของวิถีแห่งความขบถ เป็น 50 ปีที่เธอโลดแล่นในวัฏจักรแฟชั่น จากจุดเริ่มที่เป็นหนึ่งในผู้ปลุกกระแส ‘พังก์’ วัฒนธรรมย่อยที่มีอิทธิพลต่อคนฟังดนตรี สู่รูปแบบการแต่งกายที่ได้รับความนิยมเป็นวงกว้าง ผมจึงขอพาคุณผู้อ่านย้อนรอยไปพบกับเรื่องราวน่าอันสนใจของเธอ

 

มัลคอล์ม แม็กลาเรน และวิเวียน เวสต์วูด

 

Worlds End ก่อนจะมาเป็น Vivienne Westwood
เมื่อโลกเข้าสู่ทศวรรษที่ 1970 ในช่วงเวลาที่ประเทศอังกฤษกำลังเผชิญหน้ากับวิกฤตเศรษฐกิจ ส่งผลให้มีคนว่างงานเป็นจำนวนมาก วิเวียน เวสต์วูด และมัลคอล์ม แม็กลาเรน แฟนหนุ่มในช่วงเวลานั้นจึงตัดสินใจเปิดร้านเล็กๆ เลขที่ 430 บนถนน Kings Road ในกรุงลอนดอนชื่อ Let It Rock เพื่อขายผลงานที่แสดงวิสัยทัศน์ผ่านการออกแบบ สะท้อนแนวคิดและรูปแบบการเสพดนตรีและแฟชั่นที่เปลี่ยนไปจากในอดีตที่ผ่านมา สินค้าในร้านมีตั้งแต่แผ่นเสียงจากวงดนตรีร็อกแอนด์โรลยุค 50 ไปจนถึงเสื้อผ้าเก่าๆ ราคาถูก 

 

กระทั่งในปี 1972 เมื่อทั้งคู่เริ่มสนใจในเรื่องราวสิงห์นักบิดมอเตอร์ไซค์ จึงเปลี่ยนชื่อร้านใหม่เป็น Too Fast Too Live, To Young Too Die เพื่อขายชุดหนัง ชุดรัดรูป เสื้อยืดขาดวิ่นพิมพ์ข้อความกวนๆ ที่ทั้งดูลามกและอนาจาร จนกระทั่งในปี 1980 จึงได้มีการเปลี่ยนชื่อร้านเป็น Worlds End เพื่อเน้นธุรกิจเสื้อผ้าแฟชั่นแบบเป็นเรื่องเป็นราว ตลอดระยะเวลาตั้งแต่เปิดร้าน ทั้งคู่ได้รับการติดต่อให้ออกแบบผลงานสำหรับละครเวที ไปจนถึงเสื้อผ้าบางส่วนในร้านก็ถูกนำไปใช้ในภาพยนตร์เช่นในปี 1973 เรื่อง That’ll Be the Day ปีเดียวกันนี้เองที่ วิเวียน เวสต์วูด และมัลคอล์ม แม็กลาเรน เดินทางไปนครนิวยอร์กเพื่อเข้าร่วมงาน National Boutique Fair จนได้พบกับ The New York Dolls วงดนตรีฮาร์ดร็อกชื่อดังของอเมริกาที่กำลังมองหาผู้จัดเตรียมเสื้อผ้าสำหรับแสดงคอนเสิร์ต และกระแสความนิยมในสไตล์ของ The New York Dolls ที่คนดนตรีต่างพูดถึงนี่เองนำมาซึ่งชื่อเสียงของเวสต์วูดและแม็กลาเรน ส่งผลให้ทั้งคู่ก้าวสู่จุดต่อไปในการเป็นผู้นำด้านไลฟ์สไตล์ของผู้คน

 

เสื้อผ้าของ The New York Dolls ในปี 1975 ผลงานโดยเวสต์วูดและแม็กลาเรน

 

Sex Pistols วงดนตรีพังก์ร็อกระดับตำนาน

 

SEX กับการก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งตัวแม่สายพังก์

ในปี 1974 ร้าน Worlds End ถูกเปลี่ยนชื่อเป็น SEX ด้วยเหตุผลที่ทั้งคู่ต้องการสื่อถึงความลุ่มหลงในเรื่องของเพศ ด้วยรูปแบบของผลงานที่ดูดิบเพื่อสะท้อนแรงปรารถนาในจิตใจของผู้คนผ่านเสื้อผ้าสไตล์เฟติช ความหวือหวาของเสื้อผ้าที่ให้อารมณ์เหมือนชมคอสตูมในหนังโป๊หรือชุดที่ขายในร้านเซ็กซ์ช็อปนี่เอง ที่ถูกนำมาต่อยอดกลายเป็นงานออกแบบคอสตูมชุดใหม่สำหรับ The New York Dolls ในปี ค.ศ. 1975 เป็นชุดหนัง ลาเท็กซ์สีแดงร้อนแรงที่เวสต์วูดและแม็กลาเรนต้องการเรียกร้องความสนใจ ทำให้ชื่อของวงดนตรีกลายเป็นที่พูดถึง แต่ก็ดูเหมือนว่าวิธีนี้จะไม่ประสบความสำเร็จเท่าไรนัก จึงเป็นเหตุที่ทำให้ทั้งคู่ต้องกลับสู่ลอนดอน แต่แล้วจุดหักเหครั้งสำคัญก็มาถึง เมื่อแม็กลาเรนและหนึ่งในลูกค้าคนสำคัญของร้าน SEX อย่าง พอล คุก และสตีฟ โจนส์ มือกลองและมือกีตาร์ชาวอังกฤษ ได้แลกเปลี่ยนทัศนคติเกี่ยวกับดนตรีซึ่งกันและกัน จากจุดเริ่มต้นของแรงบันดาลใจต่างๆ ที่มีเกี่ยวกับการเสพดนตรีของผู้คนในยุคนั้น สู่ผลลัพธ์ที่กลายมาเป็นการก่อตั้งวงดนตรีแนวพังก์ร็อกระดับตำนาน Sex Pistols ภายใต้การบริหารงานของ มัลคอล์ม แม็กลาเรน และแน่นอนว่าคอสตูมของวงดนตรีที่ถูกเชิดชูว่าเป็นหนึ่งในผู้มีอิทธิพลต่อวงการมากที่สุดนี้ ก็เป็นผลงานของ วิเวียน เวสต์วูด

โดยประเด็นน่าสนใจจากกรณี Sex Pistols คือวงพังก์ร็อกระดับตำนานที่แม็กลาเรนดูแลเคยถูกมองว่าเป็นพวกแกนนำขับไล่ราชินีและต่อต้านสถาบัน เพราะเนื้อหาในซิงเกิลเพลง God Save The Queen ปี 1977 และเสื้อยืดที่ออกแบบโดย เจมี เรด, วิเวียน เวสต์วูด, มัลคอล์ม แม็กลาเรน ก็กลายเป็นประเด็นเช่นกัน แต่ในปี 1998 วิเวียนได้รับรางวัลจากราชินีอังกฤษสำหรับยอดการส่งออกที่มากที่สุดในรอบปี ก่อนท้ายที่สุดเธอจะได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์ท่านผู้หญิง (Dame) จากราชสำนักอังกฤษ เพื่อตอบแทนการเป็นดีไซเนอร์ที่สร้างชื่อให้ประเทศอังกฤษ

 

Pirate โชว์แรกของเวสต์วูดและแม็กลาเรนในปี 1981

 

บอย จอร์จ กับเสื้อผ้าของเวสต์วูดและแม็กลาเรน

 

 

 

The New Romantic Era ช่วงเวลาเขย่าโลกแฟชั่น

วิเวียน เวสต์วูด และมัลคอล์ม แม็กลาเรน จัดแฟชั่นโชว์ครั้งแรกขึ้นในฤดูกาล Fall/Winter 1981 สถานที่จัดงานโอลิมเปียของกรุงลอนดอนคลาคล่ำไปด้วยผู้คนที่ต้องการจะเป็นส่วนหนึ่งในหน้าประวัติศาสตร์ เพราะนับตั้งแต่สิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 2 เป็นต้นมา เวสต์วูดและแม็กลาเรนถือว่าเป็นผู้จุดประกายความหวังให้กรุงลอนดอนกลับมามีสีสันและเป็นหนึ่งในผู้นำด้านแฟชั่นโลกอีกครั้ง ทั้งคู่ตั้งชื่อคอลเล็กชันโชว์แรกว่า ‘Pirate’ บอกเล่าเรื่องราวของการล่าอาณานิคมและการค้นพบดินแดนใหม่ เป็นผลมาจากการที่แม็กลาเรนรักการเดินทางเป็นชีวิตจิตใจ และจากการค้นคว้าเกี่ยวกับประวัติศาสตร์เครื่องแต่งกายเพื่อถ่ายทอดให้คนรุ่นหลัง ทั้งหมดถูกนำเสนอควบคู่ไปกับแนวคิดขบถ เครื่องแต่งกายของโจรสลัดที่ดูน่ายำเกรงจึงถูกละเลงด้วยลายกราฟิก โดยใช้สีสันจัดจ้านไม่ต่างอะไรจากงานศิลปะป๊อปอาร์ตและสไตลิ่งดรามาติกดุจคอสตูมละครเวที ที่สำคัญคือคอลเล็กชันนี้ยังถูกนำเสนอในแบบ Unisex หญิงใส่ได้ชายใส่ดี เมื่อรวมกับการจับผู้ชายใส่ชุดระบายและกรีดอายไลเนอร์ตามแนวคิดความโรแมนติกยุคใหม่ด้วยแล้ว รูปแบบของแฟชั่นที่นำเสนอตลอดครึ่งแรกของยุค 80 นี้จึงถูกใจคนดังหลายราย โดยหนึ่งในนั้นคือ บอย จอร์จ ซึ่งถือว่าเป็นผู้มีอิทธิพลทางการแต่งกายในขณะนั้น

 

นาโอมิ แคมป์เบลล์ ตกส้นสูงที่มีความสูงเกือบหนึ่งฟุตในฤดูกาล Fall/Winter 1993

 

คอลเล็กชัน Spring/Summer 1996 ซึ่งจัดที่โรงแรม Grand Hotel ในปารีส

 

เมื่อพังก์บุกเมืองหลวงแฟชั่นโลกเพื่อเขย่าปารีส

หลังจากความสัมพันธ์กับ มัลคอล์ม แม็กลาเรน สิ้นสุดลง วิเวียน เวสต์วูด ยังคงจัดแสดงผลงานภายใต้ชื่อแบรนด์ Vivienne Westwood ในกรุงลอนดอน แต่จุดเปลี่ยนสำคัญที่ถือเป็นการยกระดับให้แบรนด์แฟชั่นจากลอนดอนรายนี้กลายเป็นที่ยอมรับในระดับโลกมากยิ่งขึ้น คือการบุกกรุงปารีสในต้นยุค 90 โดยความน่าสนใจอยู่ที่การแสดงให้เห็นว่า ถึงแม้โด่งดังมากับเสื้อผ้าสไตล์พังก์ แต่เธอก็สามารถรังสรรค์ชิ้นงานสุดหรูเทียบเท่างานกูตูร์ของฝรั่งเศสได้เช่นเดียวกัน ในช่วงยุค 90 ของแบรนด์จึงมักนำความประทับใจที่มีต่อศิลปะการแสดงอย่างบัลเลต์ ละครเวที และวัฒนธรรมการแต่งกายของชนชั้นสูงในศตวรรษที่ 18 ถึงต้นศตวรรษที่ 20 มาถ่ายทอดเป็นผลงานทั้งคอร์เซ็ต หรือชุดรัดทรงที่ทำหน้าที่บังคับรูปร่างของสตรีให้เป็น S Curve โครงสุ่มเพื่อสร้างซิลูเอตแบบคริโนไลน์ งานปักประดับประดา ลายพิมพ์ที่มักนำภาพศิลปะของศิลปินดังในยุค Rococo มาใช้ ไปจนถึงเครื่องประดับ รองเท้า สไตลิ่งที่อิงภาพวาดและละครบรอดเวย์ โดยโมเมนต์สำคัญของโลกแฟชั่นในยุคนี้เกิดขึ้นที่ฤดูกาล Fall/Winter 1993 เมื่อปรากฏภาพนางแบบคนดัง นาโอมิ แคมป์เบลล์ ตกจากรองเท้าส้นสูงที่ตัวแพลตฟอร์มมีความสูงถึงเกือบหนึ่งฟุตจนกลายเป็นที่ฮือฮาไปทั่วโลก และในปี 1996 วิเวียนยังถูกเลือกให้เป็นหนึ่งในนักออกแบบที่มาสร้างสรรค์ชิ้นงานพิเศษในโอกาสครบรอบ 100 ปีลายโมโนแกรมของ Louis Vuitton

“เรารักปารีส เพราะที่นี่เป็นศูนย์กลางทางวัฒนธรรมของยุโรปตั้งแต่สมัยฌอง แบบติสต์ กอลแบรต์ นโยบายเศรษฐกิจของกอลแบรต์คือฝรั่งเศสจะผลิตสิ่งที่ดีที่สุดเสมอ เป็นผลให้ยุโรปทั้งหมดดำเนินรอยตามวัฒนธรรมฝรั่งเศส ดังนั้นฝรั่งเศสจึงเป็นผู้นำทางวัฒนธรรมมาเป็นเวลา 200-300 ปี จนถึงสงครามโลกครั้งที่สอง ด้วยเหตุนี้ฝรั่งเศสจึงอยู่ในฐานะผู้นำทางวัฒนธรรม นี่คือเหตุผลที่เราชอบแสดงผลงานในปารีส และทำไมแอนเดรียสและฉันจึงต้องการเปิดร้านที่นี่” วิเวียน เวสต์วูด

 

เบิร์ด-ธงไชย แมคอินไตย์ กับแหวน Armour ในมิวสิกวิดีโอเพลง ฝากไว้ ปี 1991

 

การ์ตูนเรื่อง NANA สวมแหวนรุ่น Armour เช่นเดียวกัน

 

กระแสความคลั่งไคล้ในโลกตะวันออก

แม้แบรนด์ Vivienne Westwood มีชื่อเสียงมาตั้งแต่ยุค 80 โดยถือเป็นแบรนด์ร่วมรุ่นกับกูตูริเยร์แห่งยุคอย่าง Christian Lacroix และนักออกแบบสายขบถแห่งกรุงปารีส Jean Paul Gaultier แต่ช่วงพีกของแบรนด์ที่กลายเป็นที่นิยมของแฟนๆ ทั่วโลก โดยเฉพาะกับในโลกตะวันออกนั้นเกิดขึ้นในยุคปลายยุค 80-90 ยุคที่มีช่องเพลงดังอย่าง MTV, Channel V และผู้คนจากทั่วโลกต่างได้เห็นผลงานการออกแบบของ วิเวียน เวสต์วูด บนเรือนร่างของศิลปินดัง 

 

หนึ่งในหลักฐานที่ปรากฏให้เห็นคือมิวสิกวิดีโอเพลง ฝากไว้ ของ เบิร์ด-ธงไชย แมคอินไตย์ ในปี 1991 ซึ่งพี่เบิร์ดของเราได้ใส่แหวนวงเด่นรุ่น Armour ให้เห็นในมิวสิกวิดีโอเพลงนี้ ก่อนที่แหวนดีไซน์คล้ายกับเกราะนักรับในยุคล่าอาณานิคมของแบรนด์ Vivienne Westwood จะได้รับความนิยมมากขึ้นจากการที่วัยรุ่นยุคใหม่พากันนิยมเสพมังงะและแอนิเมชันของประเทศญี่ปุ่น เพราะการ์ตูนของแดนอาทิตย์อุทัยหลายเรื่องมักสะท้อนไลฟ์สไตล์และค่านิยมในการใช้สินค้าแบรนด์ดังจากโลกตะวันตกให้ผู้เสพได้ซึมซับ โดยเฉพาะกับการ์ตูนเรื่องดัง NANA ที่มีแบรนด์ Vivienne Westwood เป็นเครื่องสะท้อนรสนิยมด้านดนตรีและแฟชั่นของสาวพังก์ร็อกสุดเท่ได้เป็นอย่างดี เราจึงได้เห็นตัวละครหลักใส่เสื้อผ้า สร้อย ต่างหู และแหวนรุ่นเดียวกับที่พี่เบิร์ดใส่ด้วยเช่นกัน

 

ตัวละคร แครี แบรดชอว์ ในเรื่อง Sex and the City สวมชุดเจ้าสาวของ Vivienne Wrstwood

 

คอลเล็กชันชุดเจ้าสาวประจำปี 2020

 

จากสาวพังก์สายขบถ สู่เจ้าสาวผู้สง่างาม

แม้ปัจจุบันแบรนด์ Vivienne Westwood อาจไม้ได้อยู่ในกระแสหลัก แต่ก็มีความเคลื่อนไหวให้แฟนคลับได้ติดตามกันทุกๆ ปี โดยในช่วงเวลานี้ถือเป็นหมุดหมายสำคัญที่ทางแบรนด์ได้ยกระดับคุณค่าแห่งงานหัตถศิลป์ สะท้อนผ่านไลน์ Semi-Couture ที่เป็นการทำชุดสั่งตัดสำหรับเจ้าสาวสุดหรู ซึ่งเป็นการต่อยอดมาจากกระแสที่เกิดขึ้นกับภาพยนตร์ที่สร้างมาจากซีรีส์ดัง Sex and the City ในปี 2008 เมื่อตัวละครเอก แครี แบรดชอว์ สวมชุดเจ้าสาวจากคอลเล็กชันฤดูหนาวปี 2007 ของไลน์ Gold Label ในภาพยนตร์ ด้วยผลตอบรับที่ดี จึงทำให้ วิเวียน เวสต์วูด เปิดไลน์ชุดเจ้าสาวแบบเป็นเรื่องเป็นราวในปีถัดมา และในโอกาสที่ไลน์ชุดเจ้าสาวครบรอบ 10 ปี จึงทำให้ในคอลเล็กชันชุดเจ้าสาวประจำปี 2020 มีหนึ่งในชุดเด่นที่เป็นการนำชุดเจ้าสาวของ แครี แบรดชอว์ มาปัดฝุ่นใหม่ แถมอัปเกรดให้แลดูร่วมสมัยเหมาะกับสาวๆ ในทศวรรษที่ 2020 โดยลูกค้าที่ต้องการสง่างามในแบบเจ้าสาวของ Vivienne Westwood และแครี แบรดชอว์ ก็สามารถรับการบริการสั่งตัดในส่วนนี้ได้จาก Atelier ที่อยู่ในเมืองหลวงของแฟชั่นโลกอย่างกรุงปารีส ลอนดอน และนิวยอร์ก ซึ่งสำหรับผู้เขียนแล้วขอยกให้ชุดเจ้าสาวของแบรนด์นี้เป็นหนึ่งในแบรนด์ที่รังสรรค์ออกมาได้งดงามไม่แพ้ใครเลยทีเดียว

 

เบลลา ฮาดิด ใส่คอร์เซ็ตของ Vivienne Westwood จาก Potrait คอลเล็กชันในปี 1990

 

กระแสวินเทจกับชิ้นมาสเตอร์พีซ

การก้าวสู่ช่วงเวลาแห่งการเฉลิมฉลอง 5 ทศวรรษในโลกแฟชั่นและวัฒนธรรมพังก์ของ วิเวียน เวสต์วูด ดันมาประจวบเหมาะกับช่วงเวลาที่กระแสสินค้าวินเทจกำลังร้อนแรงได้ที่ แม้แต่ เวอร์จิล อาเบลาะห์ ดีไซเนอร์คนดังแห่งยุค ซึ่งถือเป็นหนึ่งในตัวพ่อของสายสตรีทแฟชั่น ก็ยังออกมาให้สัมภาษณ์เมื่อปลายปีที่ผ่านมาว่า สำหรับเขาแล้วสิ่งที่น่าหลงใหลใน พ.ศ. นี้ก็คือของวินเทจ การได้พบชิ้นวินเทจจากช่วงเวลาอันงดงามเมื่อครั้งอดีตจึงเปรียบได้กับการพบสมบัติล้ำค่า 

 

ดังนั้นในช่วงเวลานี้เราจึงได้เห็นคนดังพากันเปิดกรุเสื้อผ้า หรือไม่ก็ให้สไตลิสต์ส่วนตัวไปหาชิ้นงานระดับตำนานมาสวมใส่ โดยหนึ่งในนั้นคือคอร์เซ็ตของ Vivienne Westwood จาก Potrait คอลเล็กชันในปี 1990 ซึ่งมีอายุครบ 30 ปีพอดิบพอดี โดยผลงานชิ้นดังในคอลเล็กชันนี้ได้แรงบันดาลใจมาจากเครื่องแต่งกายของสาวๆ ในศตวรรษที่ 18 ยุคที่พระนางมารี อ็องตัวแนตเป็นผู้นำเทรนด์ และศิลปะ Rococo ก็กำลังเบ่งบานเต็มที่ ภาพวาดชิ้นเลื่องชื่อของ ฟร็องซัว บูเช ศิลปินเอกในยุคนั้นจึงกลายมาเป็นลายพิมพ์หลักในคอลเล็กชัน และไม่เพียงแต่ในส่วนของคอลเล็กชันเสื้อผ้า แม้แต่นาฬิกาที่ร่วมงานครั้งพิเศษกับแบรนด์ Swatch ในปี 1992, 1993 และ 2001 ก็ยังมีมูลค่าซื้อขายที่สูงขึ้นมากเช่นเดียวกัน

 

วิเวียน เวสต์วูด ในฐานะนักกิจกรรมที่คอยเคลื่อนไหวพร้อมกับกลุ่มต่างๆ 

 

แบบอย่างของนักกิจกรรมตัวยง

อย่างที่กล่าวไว้ตอนต้นว่า นอกจากผู้คนทั่วโลกรู้จักชื่อของวิเวียน เวสต์วูดในฐานะของตัวแม่สายพังก์และแฟชั่นดีไซเนอร์แล้ว เธอยังมีชื่อเสียงในฐานะของนักกิจกรรมตัวยง โดยหนึ่งในประเด็นสำคัญที่วิเวียนเน้นย้ำอยู่เสมอคือเรื่องของ Reuse, Reduce, Recycle ซึ่งผมเชื่อว่าทุกคนคงทราบกันดีในเชิงทฤษฎี แต่ในเชิงปฏิบัตินั้นยังไม่มากเท่าที่ควรจะเป็น เราจึงได้เห็นโลกใบนี้เสื่อมโทรมลงไปทุกวัน วิเวียนเคยให้สัมภาษณ์ถึงการปรับตัวเพื่อรับมือกับสภาวะแวดล้อมโลกว่า เธอเริ่มจากเรื่องเล็กๆ เช่น จากเดิมที่เคยเปิดน้ำขณะแปรงฟัน ก็เปลี่ยนมาใช้วิธีรองน้ำใส่แก้ว แล้วจะใช้น้ำในปริมาณที่จำเป็น รวมทั้งงานออกแบบบางส่วนในช่วงหลายปีที่ผ่านมาก็ใช้วัสดุเหลือใช้และวัสดุรีไซเคิล เพื่อแสดงให้เห็นว่าถึงแม้จะยังคงทำงานในอุตสาหกรรมแฟชั่นที่ขึ้นชื่อว่าสร้างมลพิษทางขยะให้โลกเป็นจำนวนมาก แต่เธอก็ขอลุกขึ้นมาเป็นฟันเฟืองชิ้นเล็กๆ ที่ใช้แฟชั่นในการขับเคลื่อนสังคมเพื่อก้าวไปข้างหน้า และก้าวไปในทิศทางที่ดีกว่าเดิม ซึ่งสำหรับผมนี่ถือเป็นแนวคิดของ ‘สาวขบถ’ ยุคใหม่ เป็นความขบถที่ไม่ใช่หยุดอยู่เพียงแค่ในเรื่องของเสื้อผ้าเครื่องแต่งกายและรสนิยมการฟังเพลง แต่เป็นความขบถที่พร้อมจะลุกขึ้นมาท้าทาย ชักนำ เปลี่ยนค่านิยม และพฤติกรรมแบบเดิมๆ ของผู้คนในสังคม

 

 

 

พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X