×

พินิจ โกษาปาน ใน Visiteurs de Versailles 1682-1789 เล่าสัมพันธ์ไทย-ฝรั่งเศส นิทรรศการที่คนไทยแทบไม่รู้

21.02.2018
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

7 Mins. Read
  • นิทรรศการ Visiteurs de Versailles 1682-1789 จัดแสดงตั้งแต่วันที่ 22 ตุลาคม 2560 – 25 กุมภาพันธ์ 2561 ณ พระราชวังแวร์ซายส์ ประเทศฝรั่งเศส เล่าถึงความสัมพันธ์ไทย-ฝรั่งเศส ผ่าน โกษาปาน ผู้เป็นราชทูตสยามแรก ในรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ที่ได้เข้าเฝ้าพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 เพื่อเจริญสัมพันธไมตรีทั้ง 2 ประเทศ
  • เปิดโอกาสให้สาธารณชนได้เข้าชมเป็นครั้งแรกในรอบสามร้อยกว่าปี สำหรับ เครื่องมงคลราชบรรณาการของสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ที่นำไปถวายพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 พร้อมกับพระราชสาส์น ณ ท้องพระโรงห้องกระจก (Galerie des Glaces) แห่งพระราชวังแวร์ซายส์
  • อย่างไรก็ตาม นิทรรศการอันทรงคุณค่านี้กลับไม่ได้รับความสนใจจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในประเทศไทยเพื่อเผยแพร่ให้ประชาชนชาวไทยได้รับทราบเลย

นิทรรศการ Visiteurs de Versailles 1682-1789 จัดแสดงตั้งแต่วันที่ 22 ตุลาคม 2560 – 25 กุมภาพันธ์ 2561 ณ พระราชวังแวร์ซายส์ ประเทศฝรั่งเศส โดยนำเสนอเกี่ยวกับอาคันตุกะ เจ้าชาย และคณะทูต ที่ได้มีโอกาสมาเยือนพระราชวังแวร์ซายส์ ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1682 ซึ่งพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 ทรงใช้พระราชวังแวร์ซายส์เป็นราชสำนักของพระองค์อย่างเป็นทางการ จนถึงปี ค.ศ. 1789 ซึ่งเป็นปีปฏิวัติฝรั่งเศสในรัชสมัยพระเจ้าหลุยส์ที่ 16

 

 

จัดแสดงเครื่องมงคลราชบรรณาการสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ครั้งแรกรอบ 300 ปี

สิ่งที่เป็นสุดยอดไฮไลต์เกี่ยวกับประเทศไทยของการจัดแสดงในครั้งนี้ ก็คือเครื่องมงคลราชบรรณาการของสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ได้แก่ ปืนใหญ่ฉลุลายเงินดุนนูน 1 กระบอก ตู้ญี่ปุ่น 3 ใบ และกาน้ำชาเงินจีน 1 ใบ ซึ่งพระองค์ทรงโปรดเกล้าฯ ให้ออกพระวิสุทธสุนทร หรือโกษาปาน เป็นราชทูต นำไปถวายพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 พร้อมกับพระราชสาส์น ณ ท้องพระโรงห้องกระจก (Galerie des Glaces) แห่งพระราชวังแวร์ซายส์ เมื่อวันที่ 1 กันยายน ค.ศ. 1686 (พ.ศ. 2229)

 

การจัดแสดงเครื่องมงคลราชบรรณาการดังกล่าวนับเป็นการค้นพบที่สำคัญยิ่งและเปิดโอกาสให้สาธารณชนได้เข้าชมเป็นครั้งแรกในรอบสามร้อยกว่าปี โดยสอดคล้องกับประชุมพงศาวดาร ฉบับหอสมุดแห่งชาติ ภาคที่ 27 เล่ม 7 ความว่า

 

 

คนโทน้ำทำด้วยทองคำ ขวดทองคำ ถ้วยทองคำ หีบทองคำ ตู้เล็กๆ ทำด้วยกระ หีบและโต๊ะญี่ปุ่น พรมมาจากเมืองฮินดูซตัน และพรมเมืองจีน กับเรือทำด้วยทองคำ 1 ลำ และปืนใหญ่ปลอกเงิน 2 กระบอก และเครื่องลายครามอย่างงามที่สุด 1,500 ชิ้น เครื่องราชบรรณาการได้นำมาเรียงไว้ในท้องพระโรง”

 

ซึ่งขุนราชภูเบนทร์และหมื่นพิเศษภูบาลทำหน้าที่คุมเครื่องมงคลราชบรรณาการตามเอกสารฝรั่งเศส

 

 

จากการเยี่ยมชมนิทรรศการของผู้เขียนและรับฟังคำบรรยายของเจ้าหน้าที่เมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2561 ทำให้ทราบว่าปัจจุบันตู้ญี่ปุ่น 3 ใบ อยู่ที่พิพิธภัณฑ์ลูฟวร์ และ โบซาร์-อาร์ต ในฝรั่งเศส กาน้ำชาเงินจีน 1 ใบ จากทั้งหมด 4 ใบ ตกเป็นสมบัติส่วนบุคคล และปืนใหญ่ฉลุลายเงินดุนนูน 1 กระบอก จากทั้งหมด 2 กระบอก อยู่ที่พิพิธภัณฑ์ปืนใหญ่หลวง (Royal Artillery Museum) เมืองลาร์กฮิลล์ ประเทศอังกฤษ ส่วนอีกกระบอกหนึ่งนั้นสันนิษฐานว่าอยู่ในกรุงเบอร์ลิน ประเทศเยอรมนี

 

สำหรับข้อมูลที่น่าสนใจก็คือ เมื่อครั้งปฏิวัติฝรั่งเศส ในปี ค.ศ. 1789 ประชาชนชาวฝรั่งเศสได้นำปืนใหญ่ทั้ง 2 กระบอก จากคลังแสงของพระราชวังแองวาลิดนำไปยิงป้อมบาสตีย์จริง และเมื่อถึงปี ค.ศ. 1815 จักรพรรดินโปเลียนทรงพ่ายแพ้ในสงครามวอเตอร์ลู อังกฤษและปรัสเซีย ซึ่งเป็น 2 ใน 6 ชาติพันธมิตร จึงได้ยึดปืนใหญ่กลับไปยังประเทศของตน

ชมท้องพระโรงห้องกระจกแวร์ซายส์ ต้อนรับคณะทูตสยาม

นอกจากนี้ ภายในห้องจัดแสดงยังได้จัดแสดงปฏิทินของปี ค.ศ. 1687 ภาพเขียน และเหรียญเงินที่ระลึก แสดงเหตุการณ์การถวายพระราชสาส์นและเครื่องมงคลราชบรรณาการโดยคณะราชทูตโกษาปาน หนังสือจดหมายเหตุลาลูแบร์ ภาพเขียนแสดงการตั้งบุษบกและท้องพระโรงห้องกระจก ภาพวาดคณะทูตสยาม ได้แก่ ออกพระวิสุทธสุนทร ราชทูต ออกหลวงกัลยาราชไมตรี อุปทูต ออกขุนศรีวิสารวาจา ตรีทูต และบาทหลวงเดอ ลิยอนน์ ล่าม และภาพวาดเดี่ยวของโกษาปาน รวมถึงการขอยืมบุษบกจำลองจากพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร และลอมพอกจากพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ สมเด็จพระนารายณ์ จ.ลพบุรี มาจัดแสดงด้วย   

 

 

ส่วนสถานที่สำคัญที่สุดในพระราชวังแวร์ซายส์ ก็คือท้องพระโรงห้องกระจก เพราะเป็นห้องที่พระเจ้าหลุยส์ที่ 14 ทรงพอพระราชหฤทัยมากที่สุด และมีความเกี่ยวข้องกับประวัติศาสตร์ชาติไทยโดยตรง กล่าวคือ ทรงโปรดเกล้าฯ ให้ใช้ท้องพระโรงห้องกระจกออกรับคณะทูตจากสยามเป็นคณะแรก เมื่อวันที่ 1 กันยายน ค.ศ. 1686 (พ.ศ. 2229) ซึ่งเป็นวันถวายพระราชสาส์นและเครื่องมงคลราชบรรณาการของสมเด็จพระนารายณ์มหาราช และวันที่ 14 มกราคม ค.ศ. 1687 (พ.ศ. 2230) เป็นวันที่โกษาปานกราบบังคมทูลลากลับสยาม โดยกราบบังคมทูลได้อย่างน่าจับใจความตอนหนึ่งว่า

 

“…ฉะนั้นเรื่องต่างๆ ที่จำได้ ข้าพระพุทธเจ้าทั้งหลายจึงจดจารไว้ในบันทึกและขอจบลงด้วยการประกาศยืนยันว่า แม้ข้าพระพุทธเจ้าทั้งหลายจะกล่าวถึงเรื่องต่างๆ มากมาย แต่เรื่องที่ยังไม่กล่าวถึงก็ยังมีอีกมาก บันทึกเหล่านี้จะได้มอบให้แก่ลูกหลาน แลเก็บไว้เป็นอนุสรณ์ที่หายากที่สุดและประเสริฐสุดของแผ่นดิน พระเจ้าแผ่นดินเจ้าเหนือหัวของข้าพระพุทธเจ้าทั้งหลายจะได้ส่งบันทึกดังกล่าวไปยังบรรดากษัตริย์พันธมิตร แลด้วยประการฉะนี้ มิช้าทั่วทั้งตะวันออกจะทราบความโดยทั่ว แลผู้คนในอีกหลายศตวรรษหน้า ก็จะทราบถึงทศพิธราชธรรมอันสุดประเสริฐของพระเจ้าหลุยส์มหาราช…”   

 

 

ถ้อยคำดังกล่าวก็ได้ปรากฏให้เห็นเป็นรูปธรรมเมื่อพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 ทรงใช้ท้องพระโรงห้องกระจกออกรับคณะทูตจากดินแดนบุรพทิศอีกเพียงครั้งเดียวเท่านั้นตลอดรัชสมัย คือ คณะทูตจากเปอร์เซีย เมื่อปี ค.ศ. 1715 (พ.ศ. 2258) และพระเจ้าหลุยส์ที่ 15 ทรงสืบทอดธรรมเนียมนี้เป็นครั้งที่ 3 และครั้งสุดท้าย เมื่อทรงออกรับคณะทูตจากออตโตมัน เมื่อปี ค.ศ. 1742 (พ.ศ. 2285) นอกนั้นพระเจ้าหลุยส์ที่ 14-16 ทรงออกรับคณะทูตจากประเทศต่างๆ ในห้องอพอลโล

 

อนึ่ง ท้องพระโรงห้องกระจกได้มีความเกี่ยวข้องกับประวัติศาสตร์ชาติไทยอีกครั้ง เมื่อวันที่ 28 มิถุนายน ค.ศ. 1919 (พ.ศ. 2462) เมื่อผู้แทนสยาม 2 พระองค์ ลงนามในสนธิสัญญาแวร์ซายส์ครั้งสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 1 ได้แก่ พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจรูญศักดิ์กฤดากร และพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าไตรทศประพันธ์ กรมหมื่นเทววงศ์วโรทัย

 

 

นิทรรศการพูดถึงไทยที่คนไทยแทบไม่รู้

จากการชมนิทรรศการดังกล่าวของผู้เขียน มีความรู้สึกประทับใจถึงประวัติศาสตร์และความสัมพันธ์อันยาวนานระหว่างประเทศไทยและฝรั่งเศส ซึ่งสมเด็จพระนารายณ์มหาราชทรงตั้งพระราชหฤทัยส่งคณะราชทูตไปเจริญสัมพันธไมตรีตั้งแต่คณะราชทูตออกพระพิพัฒน์ราชไมตรี เมื่อปี พ.ศ. 2223 หากแต่เรือที่โดยสารไปด้วยได้อับปางลงนอกชายฝั่งมาดากัสการ์ จนต้องส่งออกขุนพิไชยวาณิชและออกขุนพิชิตไมตรีไปสืบข่าวคราว ในปี พ.ศ. 2226 จวบจนกระทั่งการส่งคณะราชทูตโกษาปานประสบผลสำเร็จ และพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 ก็ทรงถวายพระเกียรติยศสูงสุดด้วยการออกรับในท้องพระโรงห้องกระจกเป็นครั้งแรกแห่งรัชสมัยเมื่อวันที่ 1 กันยายน พ.ศ. 2229

 

แม้การจัดแสดงในครั้งนี้ ทางพิพิธภัณฑ์พระราชวังแวร์ซายส์ก็ได้ให้เกียรติคณะราชทูตโกษาปานด้วยการมีห้องจัดแสดงที่ใหญ่ที่สุด และร่วมมือกับ Orange Foundation จัดทำ Virtual Reality (VR) ในหัวข้อ Vivez Versailles แสดงสภาพแวดล้อมเสมือนจริงของการถวายพระราชสาส์นและเครื่องมงคลราชบรรณาการของสมเด็จพระนารายณ์มหาราช รวมทั้งประชาสัมพันธ์ให้ผู้มีความสนใจและนักท่องเที่ยวจากทุกมุมโลกได้มาชมนิทรรศการอันทรงคุณค่านี้อย่างกว้างขวาง

 

 

อย่างไรก็ตาม นิทรรศการอันทรงคุณค่านี้กลับไม่ได้รับความสนใจจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในประเทศไทยเพื่อเผยแพร่ให้ประชาชนชาวไทยได้รับทราบเลย

 

ผู้เขียนจึงขอเชิญชวนทุกท่านที่มีโอกาสไปชมพระราชวังแวร์ซายส์ โปรดแวะชมนิทรรศการนี้ด้วย ซึ่งจะจัดแสดงจนถึงวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2561 และโอกาสครั้งสุดท้าย ก็คือการไปชมนิทรรศการนี้ ณ The Metropolitan Museum of Art นครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา ตั้งแต่วันที่ 9 เมษายน-29 กรกฎาคม 2561 ซึ่งผู้เขียนมีความมั่นใจว่าผู้ที่ได้มีโอกาสชมนิทรรศการ Visiteurs de Versailles 1682-1789 ย่อมเกิดความภาคภูมิใจต่อบรรพบุรุษไทยที่ได้แสดงให้ประชาคมโลกเห็นว่าเราเป็นประเทศที่มีอารยะและเป็นศูนย์กลางการค้านานาชาติแห่งทวีปเอเชีย!  

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising