กลายเป็นธรรมเนียมปฏิบัติในช่วงปีใหม่ของทุกปีไปแล้วที่ มาร์ก ซักเคอร์เบิร์ก ผู้ร่วมก่อตั้งและซีอีโอของ Facebook จะออกมาเปิดเผยปณิธานปีใหม่ประจำปีนั้นๆ ของเขาผ่านแอ็กเคานต์ Facebook ส่วนตัว เพื่อเปิดเผยความตั้งใจและเป้าหมายส่วนตัวที่เขาตั้งใจจะทำให้สำเร็จลุล่วงในปีนั้นๆ
ส่วนในปี 2020 นี้ ความพิเศษของปณิธานและวิสัยทัศน์ประจำปีของซักเคอร์เบิร์กคือการที่เจ้าตัวได้เปลี่ยนจากการวางเป้าหมายระยะสั้นเป็นการตั้งเป้าหมายระยะยาว 10 ปีแทน เพื่อให้มั่นใจว่าจะสามารถดำเนินการต่างๆ สำเร็จตามความตั้งใจได้จริงภายในปี 2030
“ทุกๆ ปีใหม่ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ผมได้ตั้งเป้าหมายและปณิธานส่วนตัวที่ช่วยให้ผมได้เรียนรู้ และเติบโตนอกเหนือจากหน้าที่ส่วนตัวในการทำงานกับ Facebook ที่ผ่านมาผมได้เรียนภาษาจีน, การเขียนโค้ดสำหรับผู้ช่วยปัญญาประดิษฐ์, อ่านหนังสือให้มากขึ้น ออกไปวิ่งให้ได้มากกว่าเดิม และฝึกทักษะการพูดในที่สาธารณะให้ดีขึ้น
“ถ้าสิ่งต่างๆ ดำเนินไปได้ด้วยดี ลูกสาวของผม ‘Max’ จะเรียนในไฮสคูลพอดี เราจะมีเทคโนโลยีที่ทำให้รู้สึกเหมือนว่าเรากำลังอยู่กับใครสักคนด้วยจริงๆ ไม่ว่าเขาคนนั้นจะอยู่ที่ไหนก็ตาม (เทคโนโลยีแว่นตา AR) รวมถึงงานวิจัยที่ช่วยรักษา และป้องกันโรคเพื่อต่ออายุเฉลี่ยของเราให้ยืดยาวกว่าที่คาดการณ์ไว้อีก 2 ปีครึ่ง และนี่คือเป้าหมายบางส่วนที่ผมเชื่อว่ามันจะมีความสำคัญในอีก 10 ปีต่อจากนี้” ซักเคอร์เบิร์ก กล่าวผ่านโพสต์ส่วนตัว
โดยปณิธานประจำปี 2020 ของ มาร์ก ซักเคอร์เบิร์ก ประกอบด้วย 5 ส่วนสำคัญ ได้แก่
- ให้อำนาจคนรุ่นใหม่มากขึ้น (Generational Change): มาร์กบอกว่าตอนที่เขาเริ่มทำ Facebook ใหม่ๆ หนึ่งในเหตุผลที่ทำให้เขามองเห็นความสำคัญของการให้สิทธิให้เสียงผู้คนในช่วงวัยไล่เลี่ยกัน ได้แสดงออกผ่านแพลตฟอร์มที่เขาสร้างขึ้นมา เป็นเพราะรู้สึกว่า เสียงหรือความคิดของคนในช่วงอายุรุ่นราวคราวเดียวกับเขา ‘ไม่ได้รับการรับฟังมากเพียงพอ’
โดยมาร์กตั้งเป้าเอาไว้ว่าตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไปจนถึงปี 2030 เขาจะให้ความสำคัญกับการสนับสนุนเงินทุน รวมถึงการเปิดแพลตฟอร์มให้กับผู้ประกอบการ นักวิทยาศาสตร์ และผู้นำรุ่นใหม่ เพื่อให้พวกเขาเหล่านั้นมีส่วนในการเปลี่ยนแปลง และเปิดรับฟังความคิดเห็นของคนรุ่นใหม่ๆ มากขึ้น
- แพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียแบบใหม่ที่เน้นความเป็นส่วนตัว (New Private Social Platform): จริงอยู่ที่อินเทอร์เน็ตช่วยให้ผู้คนเปิดโลกพบเจอสิ่งใหม่ๆ และสามารถเชื่อมต่อเข้าถึงผู้คนอีกกว่าพันล้านคนทั่วโลกได้อย่างเสรี แต่ความท้าทายที่ตามมาคือ ‘ความผูกพันใกล้ชิด’ กับคนรอบตัวที่ลดลงไปด้วย แถมผู้ใช้งานโซเชียลมีเดียส่วนใหญ่ ณ วันนี้ก็ยังประสบปัญหาในการค้นหาตัวตนของตัวเอง ดังนั้น มาร์กจึงเชื่อว่าโครงสร้างขั้นพื้นฐานของโซเชียลมีเดียบางอย่างที่สำคัญในปัจจุบันจะมีส่วนช่วยให้ชุมชนต่างๆ ที่สนใจในเรื่องเฉพาะทางบางเรื่องเข้มแข็งขึ้น
นอกจากนี้ เขายังบอกอีกด้วยว่า สภาพแวดล้อมของโลกดิจิทัลในอีก 5 ปีต่อจากนี้จะเปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิง โดยหันมาเน้นการให้ความสำคัญกับการมีปฏิสัมพันธ์แบบส่วนตัวมากกว่าที่เคย เพื่อช่วยให้ผู้คนสามารถสร้างชุมชนเล็กๆ ที่พวกเขาต้องการในชีวิตจริงๆ ได้
- กระจายโอกาส (Decentralizing Opportunity): มาร์กหวังว่า 10 ปีต่อจากนี้ เทคโนโลยีจะต้องช่วยสร้างสรรค์โอกาสให้กับผู้คนได้ดีขึ้น ยิ่งกว่านั้นมันจะต้องช่วยให้ทุกภาคส่วนของเศรษฐกิจนำเทคโนโลยีมาใช้ เพื่อช่วยให้พวกเขาเติบโตได้เร็วขึ้นกว่าเดิมอีกด้วย
ด้วยเหตุนี้ Facebook จึงได้เริ่มพัฒนาเครื่องมือใหม่ๆ ที่มีประโยชน์ทั้งการทำธุรกรรมและการค้าออนไลน์ ออกมาหนุนผู้ประกอบการธุรกิจขนาดเล็กอย่างต่อเนื่อง หลังจากที่ก่อนหน้านี้ ผู้ประกอบการที่จะเข้าถึงเทคโนโลยีที่มีประโยชน์ส่วนใหญ่ล้วนแล้วแต่เคยจำกัดอยู่ในวงแคบเฉพาะผู้ประกอบการรายใหญ่ๆ แทบทั้งสิ้น
- แพลตฟอร์มคอมพิวเตอร์เจเนอเรชันถัดไป (Next Computing Platform): แพลตฟอร์มเทคโนโลยีในยุค 1990’s คือ ‘คอมพิวเตอร์ตั้งโต๊ะ’ ตามมาด้วย ‘เว็บไซต์’ ในช่วงยุค 2000’s และ ‘สมาร์ทโฟน’ ในยุค 2010’s ซึ่งมาร์กเชื่อว่าสมาร์ทโฟนจะยังคงเป็นกุญแจ และแพลตฟอร์มสำคัญต่อไปจนถึงช่วงปี 2020 แน่นอน
แต่แพลตฟอร์มที่มาร์กมองว่าจะเริ่มเข้ามามีบทบาทมากขึ้นเรื่อยๆ ต่อจากนี้คือ ‘แว่นตา AR’ ซึ่งจะเข้ามานิยามความสัมพันธ์ของมนุษย์กับเทคโนโลยีเสียใหม่ ทำให้ผู้คนอยู่ใกล้ชิดกันมากกว่าที่เคย แม้ว่าในโลกแห่งความเป็นจริง ต่างฝ่ายอาจจะอาศัยอยู่คนละสถานที่ก็ตาม รวมถึงการทำงานโดยไร้ข้อจำกัดเรื่องสถานที่ซึ่งจะมีส่วนช่วยลดต้นทุนค่าครองชีพได้อย่างมหาศาล
- เปิดโอกาสให้ผู้ใช้งานมีส่วนร่วมกำกับแพลตฟอร์ม (New Forms of Governance): ปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นกับแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา ล้วนแล้วแต่เป็นปัญหาระดับโลกแทบทั้งสิ้น ทั้งคอนเทนต์ข่าวปลอม, การแทรกแซงการเลือกตั้ง, การรั่วไหลของข้อมูลส่วนตัว ซึ่งมาร์กหวังว่าในอีก 10 ปีต่อจากนี้ จะมีกฎหมายการควบคุมแพลตฟอร์มที่ชัดเจนจากภาครัฐออกมา
ส่วนอีกวิธีการที่ Facebook น่าจะมีส่วนในการมอบอำนาจให้กับผู้ใช้งานร่วมดูแลแพลตฟอร์ม คือการที่ในอนาคตอันใกล้ ผู้ใช้งานจะสามารถยื่นอุทธรณ์การดำเนินการจัดการลบคอนเทนต์ของคณะทำงานที่ดูแลเนื้อหาบนแพลตฟอร์มได้ ซึ่งมาร์กหวังว่าตัวเขาเองจะสามารถช่วยให้ชุมชนผู้ใช้งานข้ามามีส่วนร่วมดูแลชุมชน เพื่อเป็นโมเดลต้นแบบสำหรับชุมชนออนไลน์แห่งอื่นๆ ในอนาคตได้
“เรายังมีอีกหลายสิ่งหลายอย่างให้ทำในช่วงทศวรรษที่จะเกิดขึ้นต่อจากนี้ มีอีกหลายเรื่องให้เราได้เรียนรู้ เพื่อทำให้ทุกสิ่งทุกอย่างเกิดขึ้นได้จริง ผมหวังว่าปีใหม่และทศวรรษใหม่ของคุณจะเริ่มต้นได้ดี นี่คือช่วงปี 2020 ที่ยอดเยี่ยม”
พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์
อ้างอิง