×

“คู่แข่งของวีซ่าคือเงินสด” ก้าวที่ไม่เคยหยุดของฟินเทครายแรกของโลก ผ่านมุมมองผู้จัดการวีซ่า ประเทศไทย [Advertorial]

29.03.2019
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

5 Mins. Read
  • วีซ่าไม่ใช่บัตรเครดิต ไม่ใช่บัตรเดบิต แต่เป็นฟินเทครายแรกของโลกที่เชื่อมเครือข่ายระบบการชำระเงินระดับโลกเข้าไว้ด้วยกัน
  • เปิดตัวตน ฟังแนวคิด ‘สุริพงษ์ ตันติยานนท์’ ผู้จัดการวีซ่า ประเทศไทย ผู้บริหารหนุ่มที่พร้อมท้าทายทุกการเปลี่ยนแปลงเพื่อประสบการณ์ชำระเงินไร้รอยต่อของผู้ใช้งาน

วีซ่าเป็นแบรนด์ที่ทั่วโลกรู้จักกันเป็นอย่างดีตลอด 6 ทศวรรษที่ผ่านมา ภาพจำของแบรนด์นี้สำหรับผู้บริโภคชาวไทยคือสัญลักษณ์บนบัตรเครดิตที่รองรับการใช้จ่ายที่เกิดขึ้นไม่ว่าจะอยู่ที่ใดในโลกก็ตาม ทั้งที่วีซ่าไม่ใช่เจ้าของบัตรเครดิตใดๆ ทั้งนั้น

 

ความจริงมักจะมีมากกว่าที่เราเห็นเสมอ

 

THE STANDARD พูดคุยกับ สุริพงษ์ ตันติยานนท์ ผู้จัดการวีซ่า ประเทศไทย ในรายการ THE STANDARD BizKlass ทำอย่างไรเครือข่ายการชำระเงินระดับโลกแบรนด์นี้จึงยังเป็นที่หนึ่งอยู่เสมอในวันที่ Digital Disruption สั่นสะเทือนทุกวงการธุรกิจ ติดตามคำตอบได้ในบทความพิเศษนี้

 

ลูกค้าอยู่ที่ไหน วีซ่าต้องอยู่ที่นั่น ก้าวที่มุ่งมั่นของความปลอดภัยและเทคโนโลยี

“วีซ่าเป็นเครือข่ายการรับเงินชำระเงินที่ใหญ่ที่สุดในโลก เรามีผู้ถือบัญชีวีซ่า 3.3 พันล้านบัญชี เรามีกว่า 54 ล้านร้านค้าทั่วโลกที่รองรับธุรกรรมของเรา มีสถาบันการเงินอีกกว่า 1.6 หมื่นแห่งเป็นพันธมิตร เราไม่ใช่เจ้าของบัตรพลาสติก ไม่ใช่เจ้าของบริษัทบัตรเครดิต บัตรเดบิต หรือบัตรพรีเพด แต่เราเป็นเครือข่ายที่เชื่อมระบบนิเวศพวกนี้ให้เกิดการจ่ายเงินได้ต่างหาก”

 

สุริพงษ์เล่าว่าโมเดลธุรกิจของวีซ่าคือการเป็นตัวเชื่อมของระบบการเงิน โจทย์ที่สำคัญคือทำอย่างไรให้ผู้ออกบัตรสามารถสนับสนุนให้ผู้ถือบัตรใช้งานได้ง่ายที่สุด ด้วยระบบที่ปลอดภัย สะดวก และไร้รอยต่อ หากนิยามธุรกิจใดก็ตามที่ทำให้บริการทางการเงินเกิดขึ้นได้เป็นฟินเทค วีซ่าถือเป็นฟินเทครายแรกของโลกที่เกิดขึ้นเมื่อ 60 ปีก่อนและยังนำเสนอนวัตกรรมใหม่ๆ มาจนถึงปัจจุบันเพื่อรองรับการจ่ายเงินทุกรูปแบบ ซึ่งมีกระบวนการทั้งเบื้องหน้าที่ผู้บริโภครับรู้และเบื้องหลังสำหรับผู้ประกอบการและส่วนที่เกี่ยวข้องอีกมากทั้งธุรกิจขนาดเล็กและองค์กรขนาดใหญ่

 

“ทุกๆ วินาที วีซ่ารองรับ 6.5 หมื่นธุรกรรมต่อวินาทีจากทั่วทุกมุมโลก ซึ่งเราจะคอยดูแลอยู่ตลอดเวลา การจ่ายเงินมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้น วีซ่าจึงต้องปรับตัวอยู่เสมอเพื่อสร้างขีดความสามารถที่จะรองรับทุกธุรกรรมได้ตลอดเวลา ทุกวันนี้ผู้คนซื้อของเมื่อไรที่ไหนก็ได้ อีคอมเมิร์ซเติบโตมาก นี่คือสิ่งสำคัญที่เราต้องทำให้ดี”

 

สำหรับเรื่องความไม่สะดวกในการใช้บริการของผู้บริโภคกรณีร้านค้าเรียกเก็บเงินค่ารูดบัตรเครดิต 3% สุริพงษ์เห็นด้วยว่าเรื่องนี้เป็นต้นทุนที่ผู้บริโภคไม่ควรต้องจ่าย ยอมรับว่าปัญหานี้ยังมีอยู่บ้าง แต่ก็ลดลงไปมากแล้วเมื่อเทียบกับช่วงสิบปีที่ผ่านมา ปัจจุบันวีซ่าและสถาบันการเงินพยายามทำงานร่วมกันเพื่อแก้ไขปัญหาเรื่องนี้ และพยายามทำความเข้าใจกับผู้ประกอบการให้มากขึ้น จากการศึกษาพบว่าผู้บริโภคมักจะซื้อของด้วยบัตรเครดิตในมูลค่าที่มากกว่าการจ่ายด้วยเงินสดที่เตรียมมาเสมอ ซึ่งถือเป็นโอกาสในการสร้างยอดขายที่มากกว่าเดิม นอกจากนี้ประเทศไทยยังเป็นจุดหมายของนักท่องเที่ยวทั่วโลก การเพิ่มช่องทางให้นักท่องเที่ยวใช้จ่ายได้ง่ายขึ้นก็จะเป็นผลดีต่อธุรกิจ หากร้านค้ายังเรียกเก็บค่าธรรมเนียมการรูดบัตรอยู่ก็จะเสียเปรียบร้านค้าข้างๆ ที่ลูกค้าสามารถจับจ่ายได้อย่างไร้กังวล

 

“วีซ่าคือบัญชีที่อยู่เบื้องหลังการจ่ายเงินทุกรูปแบบ ทั้งบัตรพลาสติกที่ยังเป็นที่นิยม นอกจากนี้ยังรองรับการจ่ายเงินด้วยสมาร์ทโฟนหรืออุปกรณ์ที่เชื่อมต่อกับอินเทอร์เน็ตได้ แค่เชื่อมต่อบัญชีกับอุปกรณ์ก็สามารถจ่ายเงินได้ เรื่องความปลอดภัยคือสิ่งที่เราให้ความสำคัญสูงสุด เราใช้กระบวนการ Tokenization เพื่อยกระดับเรื่องนี้ ถ้าลูกค้าทำมือถือหายก็ไม่ได้หมายความว่าทุกอย่างจะถูกเอาไปด้วย เพราะเลขบัตรเครดิตที่อยู่กับเรากับเลขที่อยู่ในเครื่องมันคนละตัวเลขกัน ต่อให้ถูกแฮกก็จะไม่เกิดอะไรขึ้น ถ้าเรารู้ว่าผู้บริโภคใช้อะไรเป็นหลัก เราก็ต้องไปอยู่ตรงนั้น และนี่คือสิ่งที่เรามุ่งมั่นอย่างไม่หยุดยั้งเพื่อยกระดับความปลอดภัยไปพร้อมๆ กับการสร้างความสะดวกในทุกๆ การใช้จ่าย”

 

 

สำหรับอาชญากรรมทางการเงินที่เป็นภัยคุกคามโลกดิจิทัลในขณะนี้ สุริพงษ์ให้ข้อมูลว่าประเทศแถบเอเชียมีจำนวนน้อยกว่าในภูมิภาคอื่น บัตรสมัยใหม่จะมีชิปฝังเอาไว้ ซึ่งป้องกันเรื่องดังกล่าวได้อย่างดี สำหรับประเทศไทย อาชญากรรมทางการเงินถือว่าอยู่ในระดับต่ำที่สุดแห่งหนึ่งในโลก เพราะธนาคารและสถาบันการเงินของไทยให้ความสำคัญกับเรื่องนี้อย่างมาก เกิดเครือข่ายการทำงานร่วมกันอย่างชัดเจน หากธนาคารใดมีปัญหาก็อาจจะกระทบกับทั้งอุตสาหกรรมได้ ดังนั้นทุกแบรนด์จึงแชร์ข้อมูลที่จำเป็นร่วมกันเสมอ

 

นอกจากการทำงานเรื่องความปลอดภัยของระบบชำระเงินแล้ว วีซ่ายังอยู่ระหว่างพัฒนาเทคโนโลยีบล็อกเชนมาต่อยอดการบริการด้วย โดยทีมได้ศึกษาเรื่องดังกล่าวมาหลายปีแล้ว ปัจจุบันนำมาใช้กับระบบการจ่ายเงิน การโอนเงินสำหรับลูกค้ากลุ่มผู้ประกอบการ (B2B) ภายใต้โซลูชันชื่อ ‘B2B Connect’ ซึ่งวีซ่าเพิ่งจะจับมือกับธนาคารกสิกรไทยเมื่อปลายปี 2561ที่ผ่านมา รองรับการจ่ายเงินข้ามประเทศบนเทคโนโลยีบล็อกเชนที่รวดเร็วและโปร่งใส ขณะนี้อยู่ในกระบวนการทดลองในแซนด์บ็อกซ์ของธนาคารแห่งประเทศไทย และคาดว่าจะนำมาใช้ได้อย่างแพร่หลายเร็วๆ นี้ และทีมงานก็อยู่ระหว่างศึกษาโซลูชันบล็อกเชนสำหรับผู้บริโภคในอนาคตด้วย

 

“คู่แข่งของวีซ่าคือเงินสด ปัจจุบันการจ่ายเงินผ่านช่องทางอิเล็กทรอนิกส์หรือ e-Payment ขยายตัวขึ้นเยอะมาก แต่การใช้จ่ายส่วนบุคคลส่วนใหญ่ถึง 70% ของคนไทยยังเป็นการใช้เงินสดอยู่ ยังมีโอกาสในการเติบโตอีกมาก ซึ่งการชำระเงินผ่าน QR Code ถือเป็นอีกหนึ่งช่องทางที่ดีมาก ทำให้ผู้คนซื้อของได้ง่ายดาย ผู้ประกอบการรายย่อยบ้านเรามีเยอะมาก พวกเขาก็อยากได้ e-Payment แต่ในบางกรณีการเอาเครื่องรูดบัตรไปให้ทุกคนใช้ก็เป็นสิ่งที่ยาก เพราะต้นทุนของร้านค้าไม่เท่ากัน เขาจึงเอา QR Code มาให้สแกนแทน เท่านี้ก็จ่ายเงินได้แล้ว QR Code ที่เราใช้กันถือเป็นมาตรฐานระดับโลก ถ้าลูกค้าจากประเทศอื่นเดินทางมาที่เมืองไทยก็สามารถมาสแกนจ่ายได้เลยเหมือนกันทั้งบัตรเครดิต บัตรเดบิต ซึ่งลูกค้าสามารถเลือกได้เองด้วยว่าจะจ่ายผ่านบัตรไหน เดี๋ยวนี้จะกินก๋วยเตี๋ยวก็จ่ายด้วยบัตรเครดิตได้แล้ว”

 

 

ความท้าทายที่สำคัญของยุคเศรษฐกิจแพลตฟอร์ม (Platform Economy) ที่ผู้เล่นทุกรายต่างต้องการครอบครองทุกวินาทีของผู้บริโภคให้อยู่บนระบบนิเวศของตนคือการกระโดดเข้ามาทำบริการทางการเงินในรูปแบบใหม่ๆ ทั้งฟินเทคและเทคฟินที่ตอนนี้ต่างก็รุกตลาดอย่างต่อเนื่อง สุริพงษ์ยอมรับว่าวีซ่าทำธุรกิจอยู่ในตลาดเปิด และวีซ่าไม่ใช่เครือข่ายเพียงรายเดียวที่ทำเรื่องนี้ ปัจจุบันมีทั้งผู้เล่นรายเก่าและรายใหม่มากขึ้น สิ่งที่สำคัญกว่าคือการมองเกมการแข่งขันที่เปลี่ยนไป

 

“เดิมเราเคยมองทุกอย่างเป็นคู่แข่ง แต่ตอนนี้เรามองข้ามขั้นไปแล้ว นั่นคือการเชื่อมต่อ การร่วมมือกัน หลาย e-Wallet ในตอนนี้ขยายตัวขึ้นเยอะ คำถามคือเงินมาจากไหน คำตอบคืออาจจะมาจากบัญชีเงินของวีซ่าก็ได้ ไม่ว่าจะใช้เทคโนโลยีหรือแพลฟอร์มอะไร ถ้าเบื้องหลังเชื่อมต่อกับบัญชีของเราก็ถือเป็นเรื่องที่ดี จากนี้จะเห็นความร่วมมือระหว่างกันเยอะขึ้นเรื่อยๆ นอกจากนี้เรากำลังพัฒนา Open Loop กับระบบต่างๆ เพื่อรองรับการจ่ายเงินในวงกว้างขึ้นผ่านการแตะบัตรเพื่อชำระเงิน (Contactless Payment) ซึ่งบัตรจะออกโดยใครก็ได้ แต่สามารถแตะเพื่อจ่ายเงินสินค้า จ่ายเงินค่าบัตรโดยสารได้เลย สะดวกมาก ถ้านักท่องเที่ยวมาใช้งาน แค่แตะบัตรที่ประตูทางเข้าสถานีรถไฟฟ้า ยอดเงินก็จะตัดตามระยะทางรถไฟฟ้าที่เราขึ้นได้เลย กรุงลอนดอนเป็นตัวอย่างที่ประสบความสำเร็จแล้ว ตอนนี้สิงคโปร์กำลังจะเปิดตัวเร็วๆ นี้”

 

ในฐานะผู้บริหารหนุ่มที่มารับตำแหน่งเบอร์ 1 ของวีซ่าประเทศไทย สุริพงษ์ยอมรับว่ามีความกดดันหลังจากเข้ามารับตำแหน่งบ้าง แต่ก็ถือว่าโชคดีที่ผู้จัดการวีซ่าคนก่อนบริหารงานมานานและวางรากฐานที่ดีมากสำหรับการทำธุรกิจของวีซ่าในประเทศไทย ภารกิจของเขาคือการรับมือกับเทคโนโลยีใหม่ๆ ที่ถาโถมเข้ามาและเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมผู้บริโภคอย่างรวดเร็ว จึงต้องปรับตัวเร็วตามไปด้วย ร้านค้า ผู้ประกอบการ และสถาบันการเงินยังต้องเห็นคุณค่าของวีซ่าอยู่เสมอ นี่คือความท้าทายอีกรูปแบบที่เขาเผชิญ

 

สุริพงษ์เห็นว่าเรื่องที่ยากที่สุดของการเป็นลูกน้องคือการทำงานภายใต้ทิศทางที่องค์กรกำหนดโดยที่ยังสร้างความแตกต่างให้กับองค์กรได้ สิ่งที่ง่ายคือการทำตามที่เจ้านายบอก แต่สิ่งที่ยากคือการทำงานให้แตกต่างจากคนอื่น ขณะที่ความท้าทายของหัวหน้าคือจะทำอย่างไรให้คนในทีมเห็นภาพเดียวกับที่ตนเองและผู้บริหารเห็น สื่อสารให้รู้ว่าองค์กรจะเดินหน้าไปทางไหน เป้าหมายของของธุรกิจคืออะไร ถ้าทำได้ องค์กรก็จะขับเคลื่อนไปได้อย่างรวดเร็ว

 

ไม่เพียงงานบริหารที่วีซ่าเท่านั้น สุริพงษ์มีอีกตัวตนหนึ่งในฐานะเจ้าของเพจ ‘Pete’s Philosophy’ แฟนเพจที่เขาอยากจะสื่อสารกับคนทำงานผ่านมุมมองของตัวเองที่เป็นทั้งลูกน้องและห้วหน้าในคนเดียวกันผ่านการ์ตูนที่ชื่อพีท

 

 

“ผมอยากแชร์ประสบการณ์ให้คนอ่านได้เข้าใจความคิดของ Young Executive อาจเป็นคนอายุ 30 กว่าๆ ที่มาเล่าเรื่องบางอย่างที่น่าจะเป็นประโยชน์กับคนทำงาน ผมไม่อยากใช้ชื่อตัวเอง (ไมค์) ก็เลยใช้ชื่อพีทนี่ล่ะ ภาษาอังกฤษเขียนง่าย ภาษาไทยก็อ่านง่าย ซึ่งชื่อพีทก็ไม่ได้เกี่ยวข้องกับใครที่ผมรู้จัก เพจนี้เป็นการมองโลกบวก ถ้าทำอะไรแล้วมีความสุขก็ทำไปเถอะ เรามักจะบอกว่าให้หางานที่เรารักทำ เราจะได้ทำอย่างมีความสุข แต่ความจริงคือไม่ใช่ทุกคนที่ได้ทำงานที่ตัวเองรักหรอก สิ่งที่สำคัญคือทุกคนควรจะมีมุมที่ตัวเองรักในงานที่ทำอยู่ ไม่ว่าจะเป็นงานอะไรก็ตาม เราต้องหาให้เจอว่าเรารักมุมไหนของงานเรา มันจะได้ขยายความสุขจากส่วนนั้นมานำทางชีวิตการทำงานของเรา บางคนบอกว่าไม่ชอบทำงานแอดมิน เพราะไม่ชอบงานเอกสาร แต่ลองดูดีๆ หน้าที่ตรงนั้นคือ 100% ของการทำงานของเราเลยหรือเปล่า คำตอบคือไม่ใช่ เราอาจจะชอบเนื้องานบางเรื่อง ชอบเพื่อนร่วมงาน ชอบเจ้านาย หรือชอบบรรยากาศการทำงานก็ได้”

 

ครบถ้วนทั้งมุมมองธุรกิจและตัวตนของซีอีโอหนุ่มผู้บริหารเครือข่ายการชำระเงินระดับโลกในประเทศไทย ก้าวต่อไปของวีซ่าจะสอดประสานกับทุกจังหวะการใช้ชีวิตของผู้คน แข่งกับใครอาจไม่ใช่เรื่องที่สำคัญเท่ากับจะปรับตัวให้ทันกับการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วอย่างไร จริงอย่างที่สุริพงษ์ว่า ลูกค้าอยู่ที่ไหน วีซ่าก็จะอยู่ที่นั่น

 

Visa… Everywhere you want to be.

 

พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X