หลังจากรอคอยกันมาอย่างยาวนาน ในที่สุดธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ก็มีการออกแนวทางสำหรับการอนุญาตให้จัดตั้ง ธนาคารดิจิทัล Virtual Bank หรือธนาคารพาณิชย์ไร้สาขา ในประเทศไทยออกมาเสียที โดยในระยะแรกนี้ ธปท. จะเปิดให้ใบอนุญาต (ไลเซนส์) เป็นจำนวนไม่เกิน 3 ราย พร้อมกำหนดทุนจดทะเบียนเริ่มต้นเอาไว้ที่ไม่ต่ำกว่า 5 พันล้านบาท
ทั้งนี้ Virtual Bank จะมีทั้งจุดที่เหมือนและต่างจากธนาคารแบบดั้งเดิม โดยในส่วนที่เหมือนคือ เป็นธนาคารพาณิชย์ที่จดทะเบียนจัดตั้งในไทย และอยู่ภายใต้การกำกับดูแล ต้องมีธรรมาภิบาล สามารถบริหารความเสี่ยง และปฏิบัติตามกฎเกณฑ์ที่เกี่ยวข้องได้เหมือนกัน
ส่วนข้อที่แตกต่างคือ Virtual Bank จะต้องแบกรับความคาดหวังของ ธปท. ในการเข้าถึงกลุ่ม Underserved เพื่อตอบโจทย์เรื่อง Financial Inclusion และต้องให้บริการผ่านช่องทางดิจิทัลเป็นหลัก (ไม่มีสาขาของตัวเอง) ไม่ได้รับอนุญาตให้มี ATM และ CDM เป็นของตัวเอง ต้องใช้วิธีไปพาร์ตเนอร์กับหน่วยงานอื่นๆ เช่น ไปรษณีย์ ร้านสะดวกซื้อ หรือธนาคารพาณิชย์อื่นๆ สำหรับการให้บริการเงินสด
โดย ธปท. จะเปิดรับฟังความเห็นต่อแนวทางการอนุญาตให้จัดตั้งธนาคารพาณิชย์ระหว่างวันที่ 12 มกราคม – 12 กุมภาพันธ์นี้ ก่อนจะสรุปหลักเกณฑ์อย่างเป็นทางการภายในไตรมาสแรก จากนั้นจะเข้าสู่ขั้นตอนเปิดรับสมัครในไตรมาส 2 ของปีนี้ โดยเปิดรับสมัครเป็นเวลา 6 เดือน เมื่อปิดรับสมัครจะใช้เวลาคัดเลือกผู้ที่เหมาะสมอีก 9 เดือน แบ่งเป็นการพิจารณาจาก ธปท. 6 เดือน และกระทรวงการคลังอีก 3 เดือน
ทั้งนี้ ธปท. จะประกาศรายชื่อผู้ที่ได้รับความเห็นชอบให้จัดตั้ง Virtual Bank ในช่วงกลางปี 2567 จากนั้นจะให้เวลาผู้ได้รับการคัดเลือกเตรียมความพร้อมก่อนเปิดให้บริการเป็นเวลา 1 ปี ก่อนจะให้เริ่มดำเนินการจริงกลางปี 2568
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
- คลอดแล้ว! เกณฑ์ ‘Virtual Bank’ ธปท. จำกัดไลเซนส์แค่ 3 ราย เผยมีผู้สนใจแล้ว 10 ราย เล็งประกาศผลกลางปีหน้าก่อนเริ่มให้บริการจริงปี 68
- จับตา! ดีลร่วมทุน ‘กรุงไทย-เอไอเอส-กัลฟ์’ ศึกษาตั้ง Virtual Bank เปิดทางบริษัทที่มี Big Data เข้าสู่ธุรกิจการเงิน
- ก.ล.ต. เร่งศึกษาแนวทางกำกับดูแลตลาดทุนในยุค Web 3.0 รองรับ Virtual Capital Market ที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต
ภาพประกอบ: ธิดามาศ เขียวเหลือ