หากเราต้องเปรียบวงการแฟชั่นยุคปัจจุบันเป็นภาพยนตร์หรือซีรีส์เรื่องหนึ่งที่ฉายทาง Netflix หรือ Disney+ ที่กำลังจะเข้าไทยเร็วๆ นี้ บทบาทที่ผู้ชายชื่อ Virgil Abloh ควรได้รับเล่นคือตัวละคร Anti-Hero ของเรื่อง เพราะผลงานของเขาเกือบหนึ่งทศวรรษที่ผ่านมา ไม่ว่าจะเป็นที่แบรนด์ Pyrex Vision, Off-White หรือกับอีกแสนล้านโปรเจกต์ Collaboration ตั้งแต่น้ำดื่ม Evian ยันเฟอร์นิเจอร์ IKEA ก็ล้วนมีอิทธิพลอย่างมหาศาลและขับเคลื่อนวงการแฟชั่นอย่างไม่รู้จบ โดยเฉพาะกับฐานคนรุ่นใหม่
แต่ในขณะเดียวกัน ผู้ชายคนนี้ก็โดนโจมตีไม่น้อย โดยเฉพาะตั้งแต่เขามาเป็นครีเอทีฟไดเร็กเตอร์กลุ่มเสื้อผ้าชายของ Louis Vuitton เมื่อปี 2018 ซึ่งก็โดนครหาต่างๆ นานา ไม่ว่าจะเรื่องการหยิบยืมไอเดียของดีไซเนอร์คนอื่นมาใช้ หรือความไม่เหมาะสมที่ได้จะมารับตำแหน่งนี้ที่แบรนด์เบอร์หนึ่งของโลก เพราะไม่มีวุฒิเรียนจบด้านแฟชั่น (เขาจบด้านสถาปัตย์) และตัดเย็บอะไรไม่เป็น แต่สำหรับผลงานล่าสุดกับคอลเล็กชัน Fall/Winter 2021 ของ Louis Vuitton ทาง Virgil ก็กลับทำให้เห็นว่าเขาไม่ได้มีดีแค่ผิวเผินที่เกาะกระแสสตรีทแวร์ไปวันๆ และยังจะพัฒนาตัวเองต่อไป เพราะนี้คือหนึ่งในคอลเล็กชันที่ดีสุดของเขา และเป็นอีกหนึ่งก้าวกระโดดทั้งในเชิงมุมมองการดีไซน์ การใช้ความคิดสร้างสรรค์ในการโชว์ผลงานท่ามกลางสถานการณ์อันไม่ปกติของโลก และการที่ผลักดันกรอบความคิด Diversity ให้มากขึ้นได้อย่างไร ซึ่งครั้งนี้เขาก็ได้ชวน Kai-Isaiah Jamal ชายข้ามเพศและนักเคลื่อนไหวทางสังคมชื่อดังจากลอนดอนมาเป็นหนึ่งในนายแบบ
คอลเล็กชันนี้ใช้ชื่อว่า ‘Ebonics’ ที่แปลว่าคนผิวดำ นำเสนอผ่านวิดีโอแบบ Performance Art ผสมผสานการเดินรันเวย์แบบไร้ผู้ชม จัดขึ้น ณ Tennis Club de Paris ในกรุงปารีส ซึ่งได้ Wu Tsang ผู้กำกับหญิงมือฉมังด้านวิดีโอศิลปะมาทำให้ ร่วมกับ Josh Johnson มาเป็นครีเอทีฟไดเร็กเตอร์และออกแบบท่าเคลื่อนไหวให้ โดยคอลเล็กชันนี้ทาง Virgil ได้รับแรงบันดาลใจจากผลงานเรียงความชื่อ Stranger in The Village เมื่อปี 1953 ของนักเขียน LGBTQ+ ผิวดำระดับตำนาน James Baldwin ซึ่งเล่าถึงประสบการณ์ของการเป็นศิลปินผิวดำในโลกที่ศิลปะถูกควบคุมและยกย่องผ่านมุมมองของคนยุโรปผิวขาวเป็นหลัก ซึ่งก็เป็นสิ่งที่เชื่อว่า Virgil ต้องพบเจอเองอยู่ทุกวัน เพราะวงการแฟชั่นเองก็ยังไม่ได้พัฒนาไปไกลเรื่องการเปิดพื้นที่ให้คนผิวดำได้มีบทบาทในระดับการเป็นครีเอทีฟไดเร็กเตอร์หรือระดับผู้บริหาร
ในส่วนของเสื้อผ้าทาง Virgil ก็อยากศึกษาและสะท้อนต้นแบบ (Archetype) ของหลากหลายตัวละครในสังคมกับชุดที่ชอบใส่กันเพื่อประกอบอาชีพ ซึ่งกลายเป็นเหมือนยูนิฟอร์มในประจำวันและภาพจำ ไม่ว่าจะเป็นเซลส์แมน, สถาปนิก, ศิลปิน, นักธุรกิจ, ศิลปิน หรือแม้แต่นักกีฬา Motocross ซึ่งเราก็ได้เห็นตั้งแต่ชุดสูทลายหินอ่อน, ชุดสูทเข้ารูป, โค้ตตัวยาวแตะพื้น, หมวกทรงคาวบอย, แจ็กเกตบอมเบอร์, สเวตเตอร์, กระโปรง Kilt และที่โดดเด่นสุดคือการนำผ้า Kente จากประเทศกานามาใช้เดรปในหลายลุค ซึ่งเป็นผ้าจากประเทศบ้านเกิดของพ่อ Virgil ก่อนที่จะอพยพมาสหรัฐฯ ซึ่ง Virgil จำได้จากที่พ่อใส่ไปงานสำคัญต่างๆ เป็นประจำ เช่น งานแต่งงาน
แต่แน่นอน อีกหนึ่งความเก่งกาจของ Virgil มาโดยตลอด ก็คือการผลิตสินค้าที่เกื้อกูลเรื่องการขายเชิงพาณิชย์ ซึ่งเราก็เชื่อว่าบรรดาสาวกแฟนคลับของเขาและ Top Spender ของ Louis Vuitton ก็คงมีการเล็งหลายชิ้นแล้ว และคิดคอนเทนต์ว่าจะถ่ายรูปลง Instagram อย่างไรดี อย่างเช่นกระเป๋า Keepall ที่มาในทรงเครื่องบิน, แว่นตากันแดดกลิ่นอายยุค 200 และโค้ต Metallic หนัง Embossed โลโก้ที่ใส่ไปไหนคนก็ต้องมอง และรู้ว่าชิ้นนี้คงมีราคาไม่เบา
ภาพ: Louis Vuitton
พิสูจน์อักษร: วรรษมล สิงหโกมล