×

VinFast แบรนด์รถเวียดนามบุกไทย กับคำถามว่าจะ ‘ขายดีหรือจอดนิ่ง?’ เพราะราคาถูกไม่พอ แต่คุณภาพต้องมาด้วย

19.04.2024
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

  • VinFast เป็นแบรนด์รถยนต์สัญชาติเวียดนาม ก่อตั้งเมื่อปี 2017 เริ่มเข้ามาทำตลาดในไทยอย่างจริงจังในปีนี้ โดยมีการเซ็นข้อตกลงความร่วมมือกับ 15 ดีลเลอร์ในไทย
  • ผลิตภัณฑ์แรกที่ VinFast จะนำมาทำตลาดในไทย คือ VF e34 รถยนต์ไฟฟ้าสำหรับครอบครัว แต่คุณภาพของวัสดุภายในตัวรถอาจไม่ถูกใจผู้บริโภคชาวไทยมากนัก ส่วนรุ่นที่มีความหวังมากกว่าอย่าง VF 6 และ VF 7 ยังต้องรอถึงไตรมาส 3 ของปีนี้
  • VinFast เลือกใช้กลยุทธ์บุกตลาดทั่วโลก ตามรอย Tesla แต่ยอดขายที่ผ่านมายังไม่เข้าเป้า และน่าจะมาจากการซื้อรถเข้าฟลีตของบริษัทในเครือด้วย โดยจากรายงานทางการเงินล่าสุด VinFast ยังขาดทุนหลายร้อยล้านบาทต่อปี
  • การเข้ามาทำตลาดของ VinFast ในไทยต้องเผชิญกับสงครามราคาของรถจีนอยู่ก่อนแล้ว ประกอบกับรสนิยมของคนไทยที่ค่อนข้างพิถีพิถัน ทำให้นับเป็นงานที่ยากสำหรับแบรนด์น้องใหม่อย่าง VinFast ซึ่งยังต้องพิสูจน์ตัวเองอีกมาก

VinFast แบรนด์รถยนต์ที่เราเชื่อว่า ท่านผู้อ่านรู้จักแบรนด์นี้กันในระดับหนึ่งแล้ว แต่สำหรับคนที่ยังไม่เคยรู้จัก เรามีข้อมูลเบื้องต้นเพื่อเป็นฐานความรู้ก่อนจะนำไปสู่บทวิเคราะห์ของแบรนด์รถยนต์น้องใหม่รายนี้ 

 

ตัว VinFast เป็นแบรนด์รถยนต์สัญชาติเวียดนาม ก่อตั้งโดย ‘ฝ่าม เญิ้ต เวือง’ เมื่อปี 2017 สร้างชื่อเสียงด้วยการบุกตลาดอเมริกาและเมื่อสิงหาคมปี 2023 จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ Nasdaq ด้วยราคาหุ้นที่พุ่งสูงกว่า 250% ในวันแรกที่เข้าทำการซื้อ-ขาย 

 

 

อย่างไรก็ตาม บทความนี้จะไม่เกิดขึ้นเลยหาก VinFast มิได้มาปรากฏตัวและจัดแสดงรถยนต์ในงาน Bangkok International Motor Show ครั้งที่ 45 เพิ่งจบไปไม่นาน ซึ่งการเข้าร่วมงานดังกล่าวเป็นการแสดงเจตจำนงที่ชัดแจ้งที่สุด ว่าจะเข้ามาทำตลาดในประเทศไทยอย่างจริงจัง ซึ่งความจริงมีกระแสข่าวว่าแบรนด์รถยนต์สัญชาติเวียดนามรายนี้จะเข้ามาทำตลาดในไทยหลายครั้งแล้วแต่ยังไม่มีสิ่งใดเป็นรูปธรรม จนกระทั่งครั้งนี้

 

ขายดีหรือจอดนิ่ง

 

ออกตัวตั้งแต่บรรทัดนี้เลยว่า บทความนี้ถูกเขียนขึ้นบนพื้นฐานของข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นประกอบกับประสบการณ์ส่วนตัวของผู้เขียน มิได้มีเจตนาดูถูกหรือดูแคลน บางเรื่องราวอาจเป็นการชี้ให้เห็นถึงข้อบกพร่องและผิดพลาดเพื่อนำไปปรับปรุงแก้ไขก่อนจะสายเกินไป

 

นอกจากการจัดแสดงรถยนต์อย่างเป็นทางการ ยังมีการเซ็นข้อตกลงความร่วมมือ (Letter of Intent: LOI) กับ 15 ดีลเลอร์ของไทย ในการเป็นตัวแทนจำหน่ายรถยนต์ VinFast ในประเทศไทย (จะมีการเปิด 22 เอาต์เล็ตทั่วประเทศ) อย่างไรก็ตาม การเซ็นบันทึกความเข้าใจครั้งนี้ยังไม่ถือว่าเป็นข้อตกลงอย่างเป็นทางการในการแต่งตั้งตัวแทนจำหน่าย ซึ่ง VinFast ให้ข้อมูลกับ THE STANDARD WEALTH ในภายหลังว่า บริษัทอยู่ระหว่างการหารือกับตัวแทนจำหน่ายเหล่านี้ และตั้งใจที่จะสรุปข้อตกลงอย่างเป็นทางการในอนาคตอันใกล้

 

 

ดังนั้นแล้ว ภาพข่าวโปรโมตจึงไม่ได้เป็นการประกาศอย่างเป็นทางการว่าบุคคลในภาพจะมาเป็นตัวแทนจำหน่าย 

 

อาจมองว่าเป็นประเด็นเล็กๆ แต่สิ่งนี้คือ ‘เรื่องใหญ่’ สำหรับคนทำธุรกิจรถยนต์ในประเทศไทย เพราะแสดงถึงความเป็นมืออาชีพและความเชื่อมั่นที่จะเกิดขึ้นกับแบรนด์ในอนาคต เรียกว่าขายหน้าตั้งแต่ยังไม่เปิดอย่างเป็นทางการ เหมือนติดกระดุมเม็ดแรกผิดแล้ว

 

ประเด็นสำคัญต่อมา จากข้อมูลที่มีอยู่ในเวลานี้คือ แผนการทำตลาด ที่มีการนัดสื่อมวลชนของไทยร่วมรับประทานอาหารแต่ไม่มีการพูดเรื่องแผนการตลาดที่เฉพาะเจาะจงใดๆ ส่วนข้อมูลที่เปิดเผยออกมานั้น เป็นเรื่องเป้าหมายธุรกิจของ VinFast เสียเป็นส่วนมาก ซึ่งหากผู้บริหาร VinFast ให้ข้อมูลทั้งในส่วนของเป้าหมายธุรกิจและแผนงานที่จะทำให้บรรลุเป้าหมายในคราวเดียวก็จะสามารถสร้างความเชื่อมั่นให้แบรนด์ได้  

 

ทั้งที่ในความเป็นจริง ข้อมูลเหล่านี้ควรออกมาจากผู้บริหารระดับสูงสุดในลักษณะของการแถลงอย่างเป็นทางการ โดยเฉพาะเมื่อมีโอกาสได้พูดคุยกับสื่อมวลชน ซึ่งจะเป็นหนึ่งในแนวทางการสร้างความเชื่อมั่นให้แบรนด์ได้ แต่ผู้บริหารเลือกตอบคำถามว่า “เรามากินข้าวทำความรู้จักกันเฉยๆ” 

 

 

โปรดักต์ตอบโจทย์หรือไม่?

 

จากข้อมูลเปิดเผยในเวลานี้ VinFast จะเริ่มต้นทำตลาดด้วยรุ่น VF e34 ที่เป็นรถยนต์ไฟฟ้าขนาดคอมแพ็กแบบอเนกประสงค์ โดยจะเปิดตัวในช่วงเดือนกรกฎาคมที่จะถึงนี้ แน่นอนว่าปัจจัยที่จะเป็นตัวชี้วัดความสำเร็จหรือล้มเหลวคือ ‘ราคา’ 

 

แต่หากมองจากประสบการณ์ของผู้เขียน หลังได้สัมผัสคุณภาพของวัสดุภายในตัวรถ ขอทำนายไว้ตรงนี้ว่า ผู้บริโภคของไทยก้าวข้ามคุณภาพสินค้าแบบนี้มานานแล้ว คือ ‘ไม่ว่าจะขายถูกแค่ไหน ฉันก็ไม่ซื้อ’

 

ทั้งนี้ยังไม่นับรวมถึงเรื่องของความสวยงามภายนอก ภาพลักษณ์ของแบรนด์ และบริการหลังการขาย ที่ทุกอย่างล้วนเป็นปัจจัยที่สำคัญในการตัดสินใจเลือกซื้อรถยนต์ทั้งสิ้น

 

ขณะที่รุ่นต่อมาคือ VF 5 รถขนาดเล็กเซ็กเมนต์เดียวกับอีโคคาร์ คุณภาพวัสดุภายในไม่ต่างจาก VF e34 แต่มีขนาดเล็กกว่า ดังนั้นคำทำนายของผู้เขียนจึงเหมือนกัน 

 

สำหรับรุ่นที่น่าจะพอมีความหวังคือ VF 6 และ VF 7 คงต้องรอจนกว่ารุ่นพวงมาลัยขวาจะพร้อม โดยคาดว่าจะอยู่ในช่วงไตรมาส 3 ของปีนี้ ส่วนรุ่นอื่นๆ ที่นำมาโชว์ด้วยนั้นยังไม่มีแผนอย่างเป็นทางการ ซึ่งหากจะกล่าวกันแบบจริงจัง ยังไม่มีการเปิดตัวแบรนด์หรือมีการประกาศแผนและนโยบายอย่างเป็นทางการ มีเพียงการพูดคุยนอกรอบแบบไม่เป็นทางการเท่านั้น 

 

 

เวทีโลก ธงนำ

 

อย่างที่หลายคนทราบแล้วว่า VinFast เลือกใช้กลยุทธ์ลุยตลาดโลกเป็นหลัก ทั้งการปักหมุดขายในสหรัฐอเมริกา, ยุโรป, ออสเตรเลีย และเอเชีย ซึ่งไทยเป็นหนึ่งในหมุดหมายที่ VinFast เลือกปักธง 

 

โดยแนวคิดดังกล่าวเป็นแนวทางเดียวกับ Tesla ที่ต้องการเพิ่มยอดขายด้วยการขยายตลาดไปทั่วโลก แต่แตกต่างกันตรงที่ Tesla เริ่มต้นด้วยการประสบความสำเร็จอย่างถล่มทลายในประเทศบ้านเกิดก่อนจะออกสู่เวทีโลก 

 

ทว่ายอดจำหน่ายของ VinFast ยังไม่ได้มากมายแบบ Tesla แต่กลับเลือกใช้แผนแบบเดียวกัน ซึ่งยอดขายที่รายงานผ่านสื่อยังห่างไกลกับเป้าหมายที่ตัวเองวางไว้ 

 

เหนืออื่นใดรายงานข่าวจากสื่อบางสำนักยังระบุว่า ยอดขายที่เห็นส่วนใหญ่มาจากการซื้อรถเข้าฟลีตของตัวเองอีกด้วย (VinFast เป็นบริษัทในเครือของ Vingroup ซึ่งมีหลากหลายธุรกิจ โดยมีการซื้อรถ VinFast เข้ามาเป็นแท็กซี่ ซึ่งไม่ต่างอะไรกับคำพังเพยที่ว่า อัฐยายซื้อขนมยาย)   

 

สำหรับสถานะทางการเงินล่าสุดของ VinFast ตามการรายงานต่อตลาดหุ้นในไตรมาสที่ 3 ของปี 2023 แสดงสถานะการขาดทุนกว่า 14 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือกว่า 500 ล้านบาท และมีสัดส่วนของผู้ถือหุ้นติดลบกว่า 140 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยราคาหุ้นร่วงลงมากว่า 60% เทียบกับราคาเปิดจำหน่าย 

 

 

ส่วนการทำตลาดในเมืองไทยยังมีการบ้านอีกมากที่ VinFast จะต้องทำความความรู้จักพฤติกรรมผู้บริโภคของชาวไทย รวมถึงจังหวะการเข้ามาลุยตลาดในช่วงที่เกิดสงครามราคาระหว่างรถจีนอีกด้วย

 

นี่ทำให้เป็นสิ่งที่ยากทวีคูณสำหรับ VinFast ในการปักหมุดที่ประเทศไทย เหมือนติดกระดุมเม็ดแรกผิด ฝืนไปอย่างไรก็สุดท้ายก็อาจต้อง ‘ถอดใจ’

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising