×

เปิดมุมมอง ‘บ้านชานเมือง คืนสุนทรียภาพในการใช้ชีวิต’ กับ ประวีรัตน์ เทวอักษร CEO หญิงแห่งกลุ่มบริษัท วิลล่า คุณาลัย จำกัด [Advertorial]

โดย THE STANDARD TEAM
27.11.2017
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

3 Mins. Read
  • เพราะเติบโตมากับศิลปะ ‘ประวีรัตน์ เทวอักษร’ CEO หญิงแห่ง คุณาลัย จึงดีไซน์ทุกพื้นที่ให้เต็มไปด้วยสุนทรี
  • คำว่า ‘ชานเมือง’ คือคำว่า ‘สเปซ’ หมายถึง พื้นที่ที่มากขึ้นสำหรับชีวิต เพื่อให้ทุกคนช่วยกันเติมเต็ม
  • อีกโควตที่โดดเด่นจับใจ คือ ‘บ้านชานเมือง คือ สุนทรียภาพที่คนกรุงเทพฯ คิดถึง’
  • ถ้าศิลปะมีส่วนช่วยจรรโลงชีวิต หรือทำให้ชีวิตการอยู่บ้านชานเมืองสมบูรณ์แบบมากขึ้นได้จริง คุณาลัย ได้ประสบความสำเร็จกับสิ่งนั้นอย่างเป็นรูปธรรมแล้ว

เมื่อพูดถึงบ้านชานเมือง คุณนึกถึงอะไร?

     สำหรับเราคงเป็นความอบอุ่นไปถึงหัวใจกับคำว่า ‘ครอบครัว’ อันหมายถึงเสียงหัวเราะกระเซ้าเย้าแหย่ของสมาชิกในบ้าน หรือคงนึกถึงพื้นที่สำหรับกิจกรรมต่างๆ สำหรับการใช้ชีวิตอย่างมีสุนทรี ที่บล็อกสี่เหลี่ยมในเมืองกรุงให้ไม่ได้ แต่ ‘บ้านชานเมือง’ ให้ได้

     เราไม่ได้คิดไปเอง เพราะการสนทนากับ คุณประวีรัตน์ เทวอักษร CEO หญิงแห่ง คุณาลัย เจ้าบ้านของย่านบางบัวทอง สะกิดให้เรานึกถึงคำว่า ‘ครอบครัว’ ‘ความสุข’ และ ‘ศิลปะการใช้ชีวิต’ ที่บางครั้งชีวิตแบบปัจเจกชนในเมืองกรุงอาจทำให้เราลืมนึกไป

     คุณประวีรัตน์บอกกับเราด้วยเหตุและผลที่น่าคิดตามว่า รูปแบบชีวิตที่มีความสุขแทบทั้งหมดที่คนเมืองคิดถึงมีอยู่จริงในระยะทางที่ห่างจากเมืองกรุงเพียงหนึ่งชั่วโมง บนทำเลที่คนเมืองมักเรียกว่า ‘บ้านชานเมือง’ ยิ่งไปกว่านั้น หากละแวกบ้านมีความรุ่มรวยทางศิลปะอบอวลอยู่อย่างคุณาลัย ลองนึกดูว่าพื้นที่ชีวิตของคุณจะรื่นรมย์มากเพียงไหน

 

 

ทำไมต้องเริ่มปักธงที่ทำเล ‘บางบัวทอง’?

     ประวีรัตน์: เราอยู่ตรงนี้มาตั้งแต่เด็ก เมื่อ 30 ปีที่แล้วคงไม่มีใครเห็นภาพหรอกว่าที่ตรงนี้จะเจริญ และจะมีรถไฟฟ้าแบบอังกฤษ เราเองก็ยังมองภาพไม่ออกเหมือนกัน แต่คนที่มองออกคือคุณพ่อ ท่านพยากรณ์ไว้แล้วว่าอีกหน่อยแถวนี้จะเจริญมาก ซึ่งเราก็เห็นการเจริญเติบโตของย่านนี้เป็นไปตามนั้น พอถึงช่วงเจเนอเรชันของเราในการทำธุรกิจ เราก็ยังยืนยันที่จะปักธงย่านนี้ ส่วนหนึ่งก็เพราะคุณพ่อ รวมถึงเหตุผลหลายๆ อย่างประกอบกัน ตั้งแต่ความชอบในคำว่า ‘บางบัวทอง’ เรารู้สึกว่าคำนี้น่ารัก ไพเราะ ความหมายดี แล้วก็มีเรื่องราวมากมายซ่อนอยู่ อีกทั้งบริเวณแถบนี้ยังคงมีธรรมชาติของความเป็นชุมชนที่อยู่อาศัย มีสเปซให้หายใจ ไม่แออัด แล้วจังหวัดนนทบุรีก็มีวิสัยทัศน์มาตั้งแต่แรกว่าจะเป็นเมืองแห่งที่อยู่อาศัยชั้นดี ซึ่งทางจังหวัดเขาก็ยึดหลักการตรงนี้เป็นโจทย์ในทุกครั้งที่มีการปรับปรุงระบบระเบียบต่างๆ อีกด้านหนึ่ง ถ้ามองในมุมธุรกิจ การจะประสบความสำเร็จในเชิงธุรกิจได้ต้องทำในสิ่งที่ถนัด ซึ่งต้นทุนของที่ดินย่านนี้ รวมถึงรูปแบบบ้านที่เราทำ เราสามารถควบคุมได้ ราคาขายที่เราตั้ง ก็ตรงกับกลุ่มเป้าหมาย ที่สำคัญคือเราเป็นคนที่นี่ อยู่ตรงนี้มานาน ตรงนี้มันคือเวทีชกมวยที่เราถนัด เรารู้ว่าเราจะชกอย่างไร อย่างน้อยก็ยืนถึงยกสิบสองได้ไหว เราก็เลยเลือกทำในสิ่งที่เราถนัด ชื่อเสียงที่เราสั่งสมมาหลายปีก็เป็นจุดเพาะให้เราประสบความสำเร็จอีกทอดหนึ่งด้วย

 

 

เสน่ห์ของบ้านชานเมืองคืออะไร?

     ประวีรัตน์: การอยู่อาศัยแบบชานเมืองที่แท้จริงคืออะไร เราตั้งคำถามและตีความสิ่งเหล่านี้ตลอดเวลาในทุกครั้งที่มีการต่อยอดความคิดพัฒนาโครงการใหม่ สิ่งที่ คุณาลัย ทำให้น่าสนใจ คือ บ้านชานเมืองของเราเป็นชานเมืองจริงๆ เราจะไม่พยายามยัดเยียดความเป็นเมืองมาใส่ที่นี่ เราทำในสิ่งที่ลูกบ้านอยากจะได้ แล้วเราก็ตัดสิ่งที่ไม่จำเป็นออกไป จะเรียกว่าปลูกเรือนตามใจผู้อยู่ก็ได้ จนกระทั่งมาตกผลึกว่าคำว่าชานเมือง คือคำว่า ‘สเปซ’ เพื่อให้ทุกคนช่วยกันเติมเต็ม นี่คือสิ่งที่เป็นรูปธรรมที่ลูกค้าจะได้รับจากเราแน่นอน เขาจะได้พื้นที่ที่มากขึ้นสำหรับชีวิตของพวกเขา ถนนที่ใหญ่ขึ้น ครัวที่ใหญ่ขึ้น ห้องที่ใหญ่ขึ้น ห้องนั่งเล่นที่ใหญ่ขึ้น สวนที่กว้างขึ้น สวนสาธารณะที่ใหญ่ขึ้น จอดรถได้ตื่นเต้นน้อยลงเพราะช่องใหญ่ขึ้น ท้องฟ้าที่กว้างขึ้น ความแออัดยัดเยียดที่น้อยลง เวลาก็มากขึ้น ออกกำลังกายได้มากขึ้น ขี่จักรยาน ว่ายน้ำ อยู่กับครอบครัวได้มากกว่าเดิม หรือหมายถึงอะไรก็ได้เท่าที่คำว่า ‘สเปซ’ จะพาไปได้ นี่จึงเป็นเหตุผลที่เราไม่เคยจัดแจงบ้านทุกหลังให้ 100% บางคนถามเราว่าทำไมไม่เติมจนเป็นบ้านที่เพอร์เฟกต์ที่สุด เราก็บอกไปว่าเราเชื่อว่าทุกคนมีศิลปะในใจ โดยเฉพาะศิลปะการใช้ชีวิตของตัวเขาเอง ดังนั้น เราจะไม่สร้างสรรค์บ้านที่สมบูรณ์แบบ 100% ในอุดมคติ แต่เราจะเผื่อพื้นที่ให้คนอยู่ได้มาดีไซน์ชีวิต ให้เขามาคิด มาสร้างสเปซของเขา แล้วเขาจะอยู่บ้านหลังนี้ได้นาน

 

เมื่อไรที่คนกรุงจะรู้สึกอยากมาอยู่บ้านชานเมือง

     ประวีรัตน์: ก็เมื่อพวกเขาคิดถึงสุนทรียภาพที่มันไม่ใช่เมืองกรุงยังไงล่ะ พนักงานคนหนึ่งให้นิยามบ้านชานเมืองกับเราไว้ว่า ‘บ้านชานเมือง คือ สุนทรียภาพที่คนกรุงเทพฯ คิดถึง’ ซึ่งเราเห็นด้วยว่านี่เป็นสโลแกนที่ชัดเจนและตอบโจทย์ในความชานเมืองแบบที่เราเป็นอย่างยิ่ง

 

 

ถ้าอย่างนั้น คุณได้สร้างสุนทรียภาพให้เกิดกับบ้านชานเมืองของ คุณาลัย อย่างไรบ้าง

     ประวีรัตน์: เราใส่ความคิดสร้างสรรค์หรือศิลปะลงไป มากกว่าจะคิดแค่เรื่องของตัวเลข ในเมื่อบางบัวทองมันไม่มีพื้นที่แบบนี้ เราก็อยากจะเติมศิลปะเข้ามา ทำให้พื้นที่เหล่านี้มีเสน่ห์ เราเชื่อว่าการสร้างบ้านของเรา นัยหนึ่งเหมือนเราได้ทำงานศิลปะ เพราะเราต่อเติมงานศิลปะลงไปในชีวิตลูกค้า วันนี้เขาอาจไม่สนใจ แต่ถ้าเขาเดินผ่านทุกวัน วันหนึ่งมันจะซึมเข้าไปในชีวิตเขา ศิลปะเป็นสิ่งที่จรรโลงใจ คนสร้างได้ใส่ความพากเพียรและจิตวิญญาณในการสร้างสรรค์ผลงานขึ้นมา แค่เขามองแล้วสงสัยว่ามันคืออะไร วันหนึ่งมันก็จะต่อยอดความคิดของเขาได้ ชีวิตมันก็เป็นแบบนี้ บางครั้งก็หนักเบา บางครั้งก็ฉูดฉาด

     ศาสตราจารย์ ศิลป์ พีระศรี เคยพูดว่า “ศิลปะ คือ งานอันเป็นความพากเพียรของมนุษย์ ซึ่งจะต้องใช้ความพยายามด้วยมือและความคิด” เราเรียนศิลปะมา เรารู้ว่ามันยากกว่าที่จะออกมาเป็นผลงานที่เห็นกัน ต้องอาศัยความพากเพียร ซึ่งความพากเพียรก็สอนเราในการใช้ชีวิตว่าชีวิตมันไม่ง่าย ต้องอดทน ถ้าเราอยากจะให้มันดีขึ้น หรืออยากจะให้ปลายทางมันดี เราต้องแก้ ต้องฝึกฝน ต้องไม่ย่อท้อ เราจึงเป็นคนที่อดทนกับคน อดทนกับปัญหา อดทนกับทุกสิ่งที่เกิดขึ้น การทำหมู่บ้านจัดสรรไม่ใช่เรื่องง่าย มีปัญหาเกิดขึ้นให้เราต้องแก้เรื่อยๆ

     มีงานอยู่ชิ้นหนึ่งชื่อว่า ‘ความผูกพัน’ เราตั้งงานชิ้นนี้ไว้ในสวน วันหนึ่งลูกบ้านอาจจะทะเลาะกับคนที่บ้าน เข้ามาในสวนแล้วเห็นงานชิ้นนี้ เขาอาจจะคิดได้ว่าความรักมันก็แบบนี้ แล้วกลับไปคืนดีกัน เราเชื่อเรื่องพวกนี้เพราะเราเติบโตมากับศิลปะ ถ้ามันพอมีประโยชน์บ้าง อย่างน้อยในทางสุนทรีเราก็ดีใจ แต่ถ้ายิ่งลึกซึ้งไปกว่านั้น คือ ถ้าศิลปะมีส่วนช่วยจรรโลงชีวิต หรือทำให้ชีวิตการอยู่บ้านชานเมืองของเขาสมบูรณ์แบบมากขึ้น มันก็ยิ่งตอบโจทย์การทำงานของเราว่าเราเดินมาถูกทางแล้ว

 

 

ทราบมาว่านอกจากกลุ่มครอบครัว ลูกค้าอีกกลุ่มของคุณคือคนรุ่นใหม่ แล้วคนรุ่นใหม่ที่เป็นมนุษย์ปัจเจกผู้พิสมัยชีวิตเมือง คุณทำอย่างไรให้พวกเขาสนใจบ้านชานเมืองของ คุณาลัย

     ประวีรัตน์: เรามีกลุ่มลูกค้า กลุ่มคนรุ่นใหม่ที่เป็น Urbanista เยอะ แต่โดยมากลูกค้ากลุ่มนี้จะซื้อบ้านให้กับคนที่เขารัก คนรุ่นใหม่เขาพิสมัยการอยู่ในเมือง เพราะมันมีอะไรให้ต่อยอดความคิดสร้างสรรค์ เราเข้าใจ แต่เราเชื่อว่าโมงยามที่ตื่นตาตื่นใจและตื่นเต้นตลอดเวลานั้นจะทำให้เขาเหนื่อยล้าบ้าง มันจึงเป็นเหตุผลที่เขาอยากออกไปเที่ยว ไปหาสิ่งที่กรุงเทพฯ ไม่มี การมีบ้านอยู่ชานเมืองก็เหมือนกัน และพวกเขาก็คงต้องมองเห็นข้อดีของบ้านชานเมือง เพราะในขณะที่พวกเขาชอบชีวิตในเมือง แต่เขากลับเลือกที่จะให้คุณพ่อคุณแม่ได้มีชีวิตอยู่ที่นี่ คนกลุ่มนี้ซื้อแล้วมาอยู่บ้านน้อย แต่เวลาที่มาอยู่เขาจะรู้สึกว่าที่นี่คือบ้าน มันคือคำว่า ‘อบอุ่น’ เพราะสเปซที่มีมากเพียงพอ ทำให้คำว่า ‘ครอบครัว’ ของเขาชัดเจนขึ้น

 

ในฐานะของคนปลูกบ้าน คุณมองความหมายของคำว่า ‘บ้าน’ อย่างไรบ้าง

     ประวีรัตน์: ครอบครัวเราทำธุรกิจบ้านจัดสรรมามากกว่า 40 ปี ตอนปี 2540 เราเจอวิกฤตต้มยำกุ้ง ทำให้เป็นหนี้เกือบห้าพันล้าน แต่สิ่งที่ทำให้ทุกคนมีกำลังใจต่อสู้กับกองหนี้มหาศาลคือความรักความอบอุ่นในครอบครัว ในวิกฤตนั้นเป็นโอกาสที่ทำให้ทุกคนได้กลับมาอยู่พร้อมหน้าในบ้านหลังเดียวกัน เวลานั้นเราได้รู้ซึ้งถึงคำว่า ‘บ้าน’ ทุกคนทำงานหนัก แต่ทุกคนมีความสุขเพราะมีกำลังใจดีมาก แม้ว่าอุปสรรคข้างนอกบ้านมันใหญ่แค่ไหน ถ้าบ้านมีความรักความอบอุ่น ปัญหาข้างนอกไม่ใช่เรื่องใหญ่เลย นั่นคือสิ่งที่เรารับรู้ ในที่สุดครอบครัวเราก็ต่อสู้จนหนี้หมดลง ทำให้เราได้เติบโตในสายงานธุรกิจที่รักอีกครั้งจนถึงทุกวันนี้ นี่คือความหมายของ ‘บ้าน’ ในมุมมองของเรา

     แต่ถ้าเป็นมุมมองของคนทั่วไป ความฝันของคนไทยส่วนใหญ่ คือ ‘อยากมีบ้านสักหลังเป็นของตัวเอง’ ความหมายคือเขาอยากเป็นเจ้าของสเปซสักแห่ง แล้วสามารถจะมีชีวิตในแบบที่เขาชอบได้ เราค้าขายในสิ่งที่เป็นความฝันของคน เราไม่ได้ขายแค่ที่อยู่อาศัย แต่เราขายคำว่า ‘บ้าน’ ดังนั้น ในคำว่า ‘บ้าน’ เราจึงตีความหมายในเชิงนามธรรมว่าเป็นความรักความอบอุ่นที่แท้จริง คือคำว่า ครอบครัว สายใย ความสุข ความทรงจำ แต่ถ้าเป็นรูปธรรม คือ สเปซ ก็คือที่ที่เขาเป็นเจ้าของ ซึ่งที่แห่งนี้เขาจะสร้างสรรค์สิ่งที่เป็นความสุขของเขาได้อย่างแท้จริง

     คือความตั้งใจของเรา ถ้าเมื่อไรคนนึกถึงชีวิตบ้านชานเมือง ความสุขที่ได้อยู่บ้านชานเมือง เราอยากให้ชื่อ คุณาลัย เป็นชื่อแรกที่นึกถึง

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X