เวียดนามจัดเป็นหนึ่งในประเทศที่ร้อนแรงสุดในแง่ของการเติบโตทางเศรษฐกิจ และมีความน่าสนใจในการเข้าไปลงทุนอย่างมาก สะท้อนผ่านตัวเลขคาดการณ์การเติบโตของ GDP ในปีนี้ที่ระดับ 6-7%
ข้อมูลจาก KPMG คาดการณ์ว่า GDP ของเวียดนามในปี 2564 น่าจะเติบโตได้ถึง 6.3% ส่วนหนึ่งได้แรงหนุนจากเม็ดเงินลงทุนโดยตรงจากต่างชาติ (FDI) ที่ไหลเข้ามาอย่างต่อเนื่อง โดยเมื่อปี 2562 มีเม็ดเงิน FDI ไหลเข้าเวียดนามถึง 1.67 หมื่นล้านดอลลาร์ หรือกว่า 5.4 แสนล้านบาท
เศรษฐกิจและการลงทุนที่เติบโตต่อเนื่องทำให้ตลาดหุ้นเวียดนามได้รับอานิสงส์ไปด้วย จากจุดต่ำสุดในช่วงโควิดซึ่งดัชนีของตลาดหุ้นเวียดนามอย่าง VN Index ร่วงไปแตะ 700 จุด แต่สุดท้ายดัชนีสามารถวิ่งกลับขึ้นมาจนทำสถิติสูงสุดใหม่ที่ระดับ 1,420 จุด ในช่วงต้นเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา อย่างไรก็ตาม สถานการณ์การระบาดของโรคโควิดในเวียดนามซึ่งล่าสุดกลับมามีความรุนแรงมากขึ้น ทำให้ดัชนีตลาดหุ้นเวียดนามร่วงลงมากว่า 10% นับจากต้นเดือนกรกฎาคม แต่ทั้งปี 2564 ก็ยังคงเติบโตได้ 16% จากปีก่อน
“เวียดนามได้รับผลกระทบจากโควิดรอบนี้ค่อนข้างมาก เนื่องจากการฉีดวัคซีนของเวียดนามทำได้ช้าเช่นกัน แต่หากดูสัดส่วนต่อจำนวนประชากรจะเห็นว่าการระบาดของเวียดนามยังรุนแรงน้อยกว่าไทยมาก เวียดนามมีอัตราการติดเชื้อราว 30 คนต่อประชากร 1 ล้านคน ส่วนไทยมีการติดเชื้อกว่า 130 คนต่อประชากร 1 ล้านคน” ศรชัย สุเนต์ตา กรรมการผู้จัดการ CIO Office บล.ไทยพาณิชย์ กล่าว
ศรชัยกล่าวต่อว่า แม้เวียดนามจะถูกกระทบจากโควิดระลอกใหม่ แต่โดยรวมปีนี้ตลาดหุ้นเวียดนามยังให้ผลตอบแทนในระดับ 20% ต่อเนื่องจากปีก่อนที่ให้ผลตอบแทนสูงมากถึง 50%
“เวียดนามกำลังมีพัฒนาการเรื่องวัคซีนดีขึ้นเรื่อยๆ ล่าสุดได้รับวัคซีน Pfizer 20 ล้านโดส และการที่เวียดนามเข้าร่วมโครงการ COVAX ทำให้มีโอกาสจะได้วัคซีนในระยะถัดไปเร็วขึ้น”
โดยรวมแล้วเชื่อว่าการปรับฐานของตลาดหุ้นเวียดนามน่าจะเป็นเพียงระยะสั้น เนื่องจากเศรษฐกิจเวียดนามยังมีแนวโน้มเติบโตดีในระยะยาว จากจุดเด่นในเรื่องของการส่งออก เพราะที่ผ่านมาต่างชาติย้ายฐานการผลิตเข้าไปในเวียดนามเพิ่มขึ้นมาก ประกอบกับการเข้าร่วมข้อตกลงทางการค้าต่างๆ จำนวนมาก ทำให้เวียดนามอยู่ในตำแหน่งที่ค่อนข้างดีต่อการเติบโต
“ในอีก 2-3 ปีข้างหน้า ตลาดหุ้นเวียดนามมีโอกาสจะยกระดับจาก Frontier Market ไปสู่ Emerging Market ซึ่งจะทำให้ตลาดหุ้นเวียดนามเป็นที่สนใจมากขึ้นไปอีก และการปรับฐานของหุ้นเวียดนามในรอบนี้ยิ่งทำให้ Valuation น่าสนใจมากขึ้น ซึ่งจากเดิมหุ้นเวียดนามก็มี P/E ต่ำกว่าฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย และไทยอยู่ก่อนแล้ว”
การเติบโตของเศรษฐกิจในเวียดนามทำให้การบริโภคในประเทศเติบโตดีขึ้น ซึ่งเป็นผลบวกต่ออุตสาหกรรมหลัก เช่น การเงิน ค้าปลีก อสังหาริมทรัพย์ และโลจิสติกส์
ด้าน วิริยะชัย จิตตวัฒนรัตน์ Vice President Market Solution, Private Wealth Management ธนาคารกรุงไทย มองว่า ตลาดหุ้นเวียดนามคล้ายกับตลาดหุ้นไทยเมื่อ 10 ปีก่อน เราเห็นบริษัทต่างๆ แห่เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ ขณะที่นักลงทุนรายย่อยก็เริ่มเข้ามาในตลาดมากขึ้น
แต่ด้วยสัดส่วนของนักลงทุนรายย่อยระดับ 60-70% ของตลาด และนักลงทุนต่างชาติยังมีสัดส่วนไม่มากนัก เมื่อมีความกังวลในตลาดจึงเกิดแรงเทขายออกมาได้ง่าย
“หากดูตลาดหุ้นเวียดนามในภาพรวม อย่างดัชนี VN30 โมเมนตัมในระยะสั้นยังดูแย่ หลังจากหลุดระดับ 1,500 จุดลงมา ส่วนตัวมองว่าแนวรับน่าจะอยู่บริเวณ 1,350 จุด ซึ่งเป็นจุดที่น่าสนใจทยอยซื้อสะสม เพราะในระยะกลางเวียดนามยังน่าสนใจจากแนวโน้มการเติบโตของ GDP”
ในระยะสั้นเชื่อว่านักลงทุนต่างชาติอาจจะยังไม่กลับเข้ามามากนัก เพราะแนวโน้มของดอลลาร์ที่แข็งค่าขึ้น กดดันให้ค่าเงินในภูมิภาคเอเชียอ่อนลง ประกอบกับการฟื้นตัวของยุโรปและสหรัฐฯ ที่ดูแข็งแกร่ง แม้ตัวเลขผู้ติดเชื้อจะสูงขึ้นแต่ไม่ค่อยรุนแรงนัก เนื่องจากประสิทธิภาพของวัคซีน นอกจากนี้ หุ้นขนาดใหญ่ของเวียดนามส่วนมากจะถูกซื้อเต็มเพดานของต่างชาติแล้ว
ด้าน นิเวศน์ เหมวชิรวรากร หนึ่งในนักลงทุน Value Investor รายใหญ่มองว่า ส่วนตัวไม่ได้กังวลกับการปรับฐานลงมาของตลาดหุ้นเวียดนามในรอบนี้มากนัก เพราะที่ผ่านมาตลาดหุ้นเวียดนามถูกเก็งกำไรขึ้นมาอย่างร้อนแรง ดัชนีหุ้นเวียดนามวิ่งจาก 1,200 จุด ไป 1,400 จุดในระยะเวลาสั้น การปรับฐานจึงเกิดขึ้นได้เป็นเรื่องปกติ
“ที่ผ่านมาตลาดหุ้นเวียดนามยังเป็นตลาดรายย่อยที่มีการเก็งกำไรสูง เมื่อมีความกังวลเกี่ยวกับการระบาดระลอกใหม่จึงเกิดการเทขายออกมา แต่พื้นฐานของเวียดนามไม่ได้เปลี่ยน เพราะเศรษฐกิจเวียดนามอิงกับการส่งออกและการลงทุนจากต่างประเทศ โดยรวมแล้วเศรษฐกิจเวียดนามจึงไม่ได้กระทบหนัก การเติบโตที่เคยคาดว่าจะทำได้ 6-7% ก็อาจจะปรับลดลงมาเหลือ 5-6%”
ทั้งนี้ การปรับฐานของตลาดหุ้นเวียดนามในครั้งนี้อาจจะเป็นจังหวะซื้อ โดยเฉพาะหุ้นในกลุ่มที่มองว่ามีโอกาสจะเติบโตขึ้นไปเป็น Super Stock
“จังหวะปรับฐานครั้งนี้มีหุ้นหลายตัวที่เป็นหุ้นสำหรับต่างชาติ ซึ่งเดิมทีจะมีค่าพรีเมียมสูงมาก คือราคาหุ้นสำหรับต่างชาติบางตัวจะสูงกว่าหุ้นปกติถึง 30-40% เพราะหุ้นนั้นๆ ถูกซื้อจนเต็มเพดานของต่างชาติแล้ว และต้องซื้อต่อจากต่างชาติด้วยกันเอง แต่ล่าสุดราคาพรีเมียมลดลงมาเหลือเพียง 7%”
นักลงทุนสไตล์วีไอกล่าวต่อว่า หุ้นที่ได้รับความสนใจจากต่างชาติจนมีราคาพรีเมียมสูงเหล่านี้ มีโอกาสจะเติบโตขึ้นไปเป็น Super Stock หรือหากหุ้นเหล่านั้นไม่ได้มีราคาพรีเมียมสำหรับต่างชาติ แต่ก็มีความได้เปรียบ (Competitive Advantage) จากคู่แข่งในด้านใดด้านหนึ่งอย่างชัดเจน ซึ่งความได้เปรียบนี้จะทำให้คู่แข่งไม่สามารถสู้ได้ในระยะยาว หุ้นเหล่านี้ก็มีโอกาสจะเติบโตไปเป็น Super Stock ได้
“ตอนนี้เรายังไม่รู้แน่ชัดว่าใครจะเป็นผู้ชนะ แต่ก็พอจะเริ่มเห็นได้บ้างว่าบริษัทไหนเติบโตเร็วและเริ่มได้เปรียบคู่แข่ง ส่วนหนึ่งอาจจะใช้ประสบการณ์จากไทยว่าบริษัทลักษณะไหนมีโอกาสจะเป็นผู้ชนะ”
ข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับการลงทุนในเวียดนาม: assets.kpmg/content/dam/kpmg/vn/pdf/publication/2021/Investing-in-Vietnam-2021.pdf
ภาพประกอบ: พรวลี จ้วงพุฒซา