×

เวียดนาม ผู้ชนะสงครามการค้าสหรัฐฯ-จีนที่ไม่รู้จะส่งผลดีถึงเมื่อไร

06.06.2019
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

3 Mins. Read
  • แม้จะไม่มีผู้แพ้หรือชนะโดยสิ้นเชิงในเรื่องสงครามการค้า แต่หนึ่งในประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อย่างเวียดนามกลับกลายเป็นประเทศที่ได้ผลประโยชน์จากข้อพิพาทนี้เป็นพิเศษ
  • ตัวเลขสถิติจากรัฐบาลในกรุงฮานอยเปิดเผยให้เห็นว่าช่วงปีที่ผ่านมาเวียดนามได้ยอดมูลค่าการลงทุนจากต่างชาติแตะหลัก 3.58 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ และในช่วงไตรมาสแรกของปี 2562 เพียงอย่างเดียว ตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศที่แท้จริงก็ไต่สูงถึง 6.79%
  • ปัจจัยหนึ่งที่ดึงดูดให้มีการลงทุนในเวียดนามมากขึ้นสืบเนื่องจากค่าจ้างแรงงานที่ต่ำกว่าจีน 2-3 เท่า
  • ไม่เพียงแต่ค่าแรงเท่านั้น เวียดนามในฐานะประเทศกำลังพัฒนาได้รับสิทธิพิเศษในการส่งออก ผนวกเข้ากับโครงสร้างพื้นฐาน ตลาดผู้บริโภคขนาดใหญ่ นโยบายและความพร้อมของรัฐบาลที่เหมาะสมกว่าประเทศอย่างเมียนมา กัมพูชา หรือลาว จนทำให้เวียดนามถือเป็นตัวเลือกอันดับต้นๆ

ไม่ใช่เพียงความพยายามสร้าง ‘กำแพง’ กั้นพรมแดนระหว่างเม็กซิโกโดยอ้างเหตุเพื่อป้องกันการฉวยโอกาสจากแรงงานต่างด้าว แต่ โดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ยังสร้าง ‘กำแพง’ ภาษีนำเข้าขวางกั้นประเทศจีนเพื่อคานดุลการค้า จนลุกลามกลายเป็นการงัดข้อระหว่างสองอำนาจเศรษฐกิจใหญ่ของโลกในนามสงครามการค้า

 

แม้จะไม่มีผู้แพ้หรือชนะในศึกครั้งนี้โดยสิ้นเชิง แต่หนึ่งในประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อย่างเวียดนามกลับกลายเป็นประเทศที่ได้ผลประโยชน์จากข้อพิพาทนี้เป็นพิเศษ

 

ตัวเลขสถิติจากรัฐบาลในกรุงฮานอยเปิดเผยให้เห็นว่า ช่วงปีที่ผ่านมาเวียดนามได้ยอดมูลค่าการลงทุนจากต่างชาติแตะหลัก 3.58 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ และในช่วงไตรมาสแรกของปี 2562 เพียงอย่างเดียว ตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศที่แท้จริงก็ไต่สูงถึง 6.79%

 

ในฐานะสมาชิกองค์การการค้าโลกและตามกฎกติกาการค้าเสรี ทั้งจีนและเวียดนามได้รับการปฏิบัติในฐานะประเทศกำลังพัฒนา และพึงได้รับความอนุเคราะห์พิกัดภาษีจากประเทศพัฒนาแล้ว อันรวมถึงสหรัฐฯ ด้วย

 

“ระยะสั้น เวียดนามเป็นผู้ชนะหลักอันหนึ่งของสงครามการค้า”

 

ดร.อาร์ม ตั้งนิรันดร อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ให้สัมภาษณ์กับ THE STANDARD

 

“ในระยะยาว เวียดนามก็มีศักยภาพครบถ้วนที่จะเติบโตอย่างรวดเร็วโดยอาศัยการดึงดูดการลงทุน”

 

เวียดนามและเพื่อนสมาชิกในสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน) อาจยังปราศจากโครงสร้างพื้นฐาน คุณภาพวัสดุ และห่วงโซ่การผลิตที่เอื้ออำนวย หากเทียบกับขีดความสามารถในจีน

 

หากแต่ปัจจัยหนึ่งที่ดึงดูดให้มีการลงทุนในเวียดนามมากขึ้นสืบเนื่องจากค่าจ้างแรงงานที่ต่ำกว่าด้วยราคาประมาณ 120-170 เหรียญสหรัฐต่อเดือน หากเปรียบเทียบกับค่าใช้จ่ายเดียวกันในพื้นที่การลงทุนยอดนิยมของจีนแล้วนับเป็นสัดส่วนน้อยกว่า 2-3 เท่า

 

เมื่อเทียบข้อดีข้อเสียกับประเทศอื่นในอาเซียนแล้ว ผู้เชี่ยวชาญด้านจีนรายนี้มองว่าไม่เพียงแต่ค่าแรงเท่านั้น เวียดนามในฐานะประเทศกำลังพัฒนาได้รับสิทธิพิเศษในการส่งออก ผนวกเข้ากับโครงสร้างพื้นฐาน ตลาดผู้บริโภคขนาดใหญ่ นโยบายและความพร้อมของรัฐบาลที่เหมาะสมกว่าประเทศอย่างเมียนมา กัมพูชา หรือลาว จนทำให้เวียดนามถือเป็นตัวเลือกอันดับต้นๆ

 

ขณะเดียวกัน หากเทียบกับไทยแล้ว ดร.อาร์มมองว่าไทยมีค่าแรงสูงขึ้นแล้ว และมีตลาดภายในประเทศที่เล็กกว่า รวมถึงปัญหาขาดแคลนแรงงานด้วย

 

ถึงอย่างนั้นไม่ใช่ว่าทุกสายการผลิตจะสามารถย้ายไปเวียดนามได้หมด เนื่องจากผลิตภัณฑ์บางรายการจำเป็นต้องอาศัยความสมบูรณ์ของห่วงโซ่การผลิตในจีนและทรัพยากรบุคคลที่พร้อมในการควบคุมการผลิต

 

ข้อมูลจากปี 2561 เปิดเผยว่าเวียดนามใช้เม็ดเงินในการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานมากกว่าเพื่อนบ้านในอาเซียนค่อนข้างมาก และเป็นรองเพียงอินเดียเท่านั้น คิดเป็นสัดส่วนราว 5.8% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ โดยตั้งเป้าเพื่อพัฒนาความพร้อมในภาคดังกล่าวและเตรียมรองรับการขยายฐานเศรษฐกิจในระยะยาว ขณะเดียวกันนโยบายเศรษฐกิจปัจจุบันของเวียดนามมุ่งเน้นการสร้างเสถียรภาพในระยะยาวมากกว่าการพุ่งเป้าอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ

 

โชคดีอาจกลายเป็นร้าย

จากข้อมูลและตัวเลขทางเศรษฐกิจ เวียดนามอาจได้รับการยกให้เป็นผู้ชนะในสงครามการค้าระหว่างจีนและสหรัฐฯ ไปในเบื้องต้น อย่างไรก็ตาม แรงหนุนทางเศรษฐกิจนี้อาจนำเรื่องร้ายมาด้วยได้เช่นกัน

 

ผศ.วรศักดิ์ มหัทธโนบล อาจารย์ภาควิชาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ เปิดเผยต่อ THE STANDARD ถึงอีกมุมมองต่อสถานการณ์ดังกล่าวว่าความพยายามหลีกเลี่ยงภาษีนำเข้าในจีนอาจนำปัญหาเข้าไปยังประเทศที่บริษัทต่างๆ ของจีนพยายามเข้าไปลงทุน โดยให้เหตุผลว่าการดำเนินนโยบายต่างๆ ของประธานาธิบดีทรัมป์คาดเดาด้วยเหตุผลได้ยากจนก่อให้เกิดความเสี่ยงว่าอาจมีการใช้เครื่องมือเดียวกันต่อประเทศคู่ค้าอื่นๆ

 

“เมื่อเหล็กที่ถูกผลิตในประเทศอาเซียน มันก็จะประทับตราว่าผลิตในประเทศนั้นๆ เมื่อนำเข้าสู่สหรัฐฯ ก็จะไม่เจอปัญหาภาษี 25% แต่ถ้าเป็นอย่างนี้ สหรัฐฯ ไม่รู้หรือว่านี่เป็นผลิตภัณฑ์ของบริษัทจีน” อาจารย์จากรั้วจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยยกตัวอย่างของกรณีที่อาจเกิดขึ้นได้ พร้อมย้ำว่าเป็นไปได้ยากที่สหรัฐฯ จะไม่เข้าใจถึงสถานการณ์ที่ดำเนินอยู่

 

รายงานจากสำนักข่าว Bloomberg เมื่อวันที่ 28 พฤษภาคมที่ผ่านมา ระบุว่าในช่วงไตรมาสแรกของปี 2562 สหรัฐฯ มียอดนำเข้าสินค้าจากเวียดนามก้าวกระโดดถึง 40.2% จากช่วงไตรมาสเดียวกันของปีก่อน และคาดการณ์ว่าหากคงกระแสการค้าเช่นนี้ไปได้ เวียดนามในฐานะผู้ส่งออกสินค้าให้สหรัฐฯ จะเลื่อนจากอันดับ 12 ในปีที่ผ่านมาเป็นอันดับที่ 7

 

นอกจากปัญหาจากตัวผู้นำสหรัฐฯ เองแล้ว ผู้อำนวยการศูนย์จีนศึกษายังมองอีกว่าสายการผลิตที่เพิ่มขึ้นย่อมหมายถึงปริมาณสินค้ามากขึ้นตามมาด้วย และหากเป็นสินค้าที่ประเทศอาเซียนผลิตอยู่แล้วก็อาจนำไปสู่การแข่งขันในตลาดภายในประเทศจนกระทบต่อเจ้าของกิจการท้องถิ่น

 

ท่ามกลางรายงานของธนาคารดีบีเอสที่คาดการณ์ว่าเวียดนามอาจมีเศรษฐกิจขยายตัวใหญ่กว่าสิงคโปร์ภายในปี 2572 และหากปัญหาการค้าระหว่างจีนและสหรัฐฯ ยังไม่ลงตัว การเจริญเติบโตของประเทศแห่งนี้ก็ยังดูสดใส

 

แต่ก็ไม่มีสิ่งใดการันตีว่าสินค้า Made in Vietnam จะหนีพ้นความแปรปรวนของรัฐบาลสหรัฐฯ ภายใต้ประธานาธิบดีทรัมป์ได้เลย

 

 

พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์

อ้างอิง:

 

 

 

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X