เวียดนามระส่ำวิกฤตพลังงานไฟฟ้าตกและดับตลอดสัปดาห์ เหตุจากสภาพภูมิอากาศร้อนสูงสุดเป็นประวัติการณ์ เกิดสภาวะภัยแล้ง อ่างเก็บน้ำไฟฟ้าพลังน้ำลด และการนำเข้าถ่านหินที่ล่าช้า ส่งผลกระทบถึงโรงไฟฟ้า จนทำให้ EuroCham ต้องร่อนหนังสือถึงกระทรวงอุตสาหกรรมและการค้าให้หาแนวทางเร่งด่วน หวั่นกระทบศูนย์กลางการผลิตของบริษัทยักษ์ใหญ่อย่าง Samsung Electronics, Foxconn, Canon และ Luxshare
สัปดาห์ที่ผ่านมา ประเทศเวียดนามเผชิญกับอุณหภูมิที่สูงถึง 44 องศาเซลเซียส เรียกว่าทำลายสถิติสูงสุดเป็นประวัติการณ์ ผลกระทบที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงที่ตามมาคือ ความต้องการใช้ไฟฟ้าพุ่งสูง บวกกับกำลังผลิตสำรองไม่เพียงพอ ปัญหาที่เกิดขึ้นแม้จะมีสาเหตุหลักจากสภาพภูมิอากาศ แต่กำลังสะท้อนไปถึงการบริหารจัดการนโยบายพลังงาน
สำนักข่าว South China Morning Post รายงานบทวิเคราะห์ถึงปัญหาและการบริหารจัดการด้านพลังงานของเวียดนาม นำไปสู่การตั้งคำถามว่า วิกฤตครั้งนี้เกิดขึ้นได้อย่างไร และเกิดอะไรขึ้นกับเวียดนาม จึงได้เกิดเหตุการณ์ไฟฟ้าตกและดับอย่างต่อเนื่องตลอดสัปดาห์ที่ผ่านมา
ย้อนกลับไปก่อนหน้านี้ ฝ่าม มิงห์ จิ๋งห์ นายกรัฐมนตรีของเวียดนาม ได้แจ้งเตือนประชาชนถึงสถานการณ์ฉุกเฉินปีนี้ว่า จะเกิดไฟฟ้าดับทั่วประเทศ และผู้คนต้องอยู่อาศัยด้วยอุณหภูมิที่ร้อนสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 44.1 องศาเซลเซียส (111.38 องศาฟาเรนไฮต์) ซึ่งส่งผลให้ความต้องการใช้ไฟฟ้าพีคสูงสุดอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน สถานการณ์ไฟฟ้าดับตั้งแต่สามเหลี่ยมปากแม่น้ำโขงทางตอนใต้ไปจนถึงเมืองหลวงฮานอยทางตอนเหนือ ถึงขั้นต้องปิดไฟถนนบางดวงเพื่อประหยัดไฟฟ้า สวนสาธารณะในเมืองที่มีประชากร 8 ล้านคน ทำให้ทั้งเมืองจมดิ่งลงสู่ความมืดสนิทหลังเวลา 23.00 น. ขณะที่ไฟฟ้าบนท้องถนน 2 ใน 3 ดวงก็ดับลงพร้อมๆ กัน
วิกฤตดังกล่าวทำให้รัฐบาลดานังออกมาตรการให้ทุกหน่วยงานปิดไฟตกแต่งและไฟโฆษณาสาธารณะ ตั้งเเต่เวลา 20.00 น. และออกมาตรการอื่นๆ ตามมา
สาเหตุหลักของไฟฟ้าดับมาจากสภาวะภัยแล้ง ทำให้อ่างเก็บน้ำไฟฟ้าพลังน้ำหลายแห่งลดระดับลงอย่างมาก และการนำเข้าถ่านหินที่ล่าช้าส่งผลกระทบต่อการดำเนินงานของโรงไฟฟ้าพลังความร้อน บวกกับสถานการณ์ขาดแคลนเชื้อเพลิงก๊าซธรรมชาติ LNG เพราะรัสเซียเริ่มลดการส่งออก ทำให้เวียดนามต้องหาแหล่งพลังงานทดแทนเพื่อเติมเต็มช่องว่าง
อย่างไรก็ตาม หากย้อนดูจากแผนพลังงานเเล้วจะเห็นว่า เวียดนามกำลังเผชิญกับปัญหาเงินทุนและการจัดการโครงสร้างพลังงานอีกด้วย
ย้อนดูนโยบายพลังงานภายใต้แผนการผลิตไฟฟ้า PDP8
รัฐบาลเวียดนามอนุมัติแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าฉบับที่ 8 (PDP8) โดยปรับและวางยุทธศาสตร์การผลิตไฟฟ้าของประเทศจนถึงปี 2573 และเพิ่มกำลังการผลิตพลังงานมากกว่า 2 เท่าเป็น 150 กิกะวัตต์ (GW) จาก 69 กิกะวัตต์ในปัจจุบัน
ทว่าแผนดังกล่าวกลับล่าช้ามากว่า 2 ปี เนื่องจากผู้กำหนดนโยบายพยายามหาแนวทางเพื่อจัดหาสัดส่วนพลังงาน เพื่อความมั่นคงเเละเพื่อรองรับการเติบโตทางเศรษฐกิจที่เป็นไปอย่างรวดเร็วและแข็งแกร่ง แต่ในขณะเดียวกันก็ต้องปฏิบัติตามพันธสัญญาด้านสภาพอากาศระหว่างประเทศ
พลังงานสะอาดที่มาจากแสงอาทิตย์จึงเริ่มเข้ามามีบทบาทสำคัญใน PDP8 ซึ่งเป็นที่ทราบกันดีว่า เวียดนามมีกำลังการผลิตพลังงานแสงอาทิตย์มากที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และส่วนใหญ่จะกระจุกตัวอยู่ในโซลาร์ฟาร์มขนาดใหญ่ แต่แผนนี้กลับมีเป้าหมายที่จะเปลี่ยนแปลงเพื่อรักษาความมั่นคงก่อน
มินห์ หาดวง นักวิทยาศาสตร์อาวุโสของ Vietnam Initiative for Energy Transition Social Enterprise กล่าวว่า ประเด็นปัญหาที่สำคัญที่ต้องหยิบยกมาพูดถึงคือ ภายใต้แผน PDP8 ที่วางไว้สำหรับครัวเรือนและภาคธุรกิจนั้น รัฐบาลเองก็มีความจำเป็นและต้องการการลงทุนอย่างไม่จำกัดในพลังงานแสงอาทิตย์บนหลังคาหรือโซลาร์รูฟ ทั้งเพื่อการบริโภคเอง และหลีกเลี่ยงความเสี่ยงจากการขาดแคลนพลังงาน อีกทั้งประชาชนสามารถลดค่าไฟฟ้าได้ก็จริง
แต่ความท้าทายใหม่ที่เกิดขึ้นคือ Grid ของระบบไฟฟ้าเวียดนาม ไม่สามารถเคลื่อนย้ายพลังงานแสงอาทิตย์จำนวนมหาศาล ที่เกิดขึ้นในจังหวัดที่มีแสงแดดส่องถึงบนชายฝั่งตอนกลางไปยังแหล่งพลังงานหลัก และไม่สามารถป้อนไฟฟ้าไปยังเมืองและศูนย์กลางอุตสาหกรรมที่อื่นๆ ได้อย่างเต็มกำลัง สิ่งเหล่านี้จึงนำไปสู่สถานการณ์ที่ประเทศมีพลังงาน ‘ส่วนเกินและขาดแคลน’ ไปพร้อมกัน
ดังนั้น อาจเป็นไปได้ว่า สาเหตุที่ไฟฟ้าดับส่วนหนึ่งอาจมาจากการวางแผนนโยบายพลังงานที่ผิดพลาด ที่ขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของ ‘ผู้นำ’ ที่ควรรู้ว่าต้องทำอะไร อย่างไร ซึ่งต้องยอมรับว่า เวียดนามกำลังเผชิญความท้าทายรอบด้านในฐานะซัพพลายเชนของโลก ความจำเป็นในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจสมัยใหม่ในโลกที่มีการแข่งขันสูงขึ้นและมีความไม่แน่นอน บวกกับความท้าทายที่แท้จริงคือ เวียดนามต้องการสร้างช่องทางทางการเงินสำหรับนักลงทุนต่างชาติในการเข้าถึงโครงการต่างๆ เนื่องจากจะพึ่งตลาดทุนในประเทศเพียงอย่างเดียวไม่ได้
EuroCham เรียกร้องให้รัฐบาลวางแผนสำรอง หวั่นกระทบฐานผลิตบริษัทต่างชาติ
ล่าสุด EuroCham ซึ่งเป็นตัวแทนของบริษัทยุโรปในประเทศ ส่งจดหมายถึงกระทรวงอุตสาหกรรมและการค้า เพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลมีมาตรการด่วนเพื่อจัดการกับเหตุฉุกเฉิน จากการตัดไฟบ่อยครั้งโดยไม่ได้แจ้งล่วงหน้า
แหล่งข่าวกล่าวว่า นิคมอุตสาหกรรมบางแห่งในจังหวัดทางตอนเหนือของ Bac Ninh และ Bac Giang ระบุว่า บริษัทต่างชาติประสบปัญหาไฟดับบ่อยครั้ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งพื้นที่เหล่านี้ล้วนเป็นที่ตั้งโรงงานผลิตของ Samsung Electronics, Foxconn, Canon และ Luxshare กระทรวงอุตสาหกรรมของเวียดนามควรใช้มาตรการเร่งด่วน เพื่อรักษาความเชื่อมั่นของประเทศในฐานะศูนย์กลางการผลิตระดับโลกก่อนจะถูกทำลาย และอาจส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมอื่นอีกจำนวนมากในฐานะซัพพลายเชนเอเชีย และอาจจะส่งผลต่อ GDP ประเทศ
สำหรับประเทศไทย แม้ภาคเอกชนและการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ออกมาระบุตรงกันว่า จะไม่เกิดปัญหาไฟฟ้าตกและดับเหมือนเวียดนามอย่างแน่นอน เนื่องจากมีการสำรองไฟฟ้าที่เพียงพอ แต่อย่าลืมว่าปัญหาหลักของความมั่นคงด้านพลังงานคือ ‘นโยบาย’ ที่ไทยเองก็มีแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย (PDP) ฉบับปรับปรุงใหม่จาก PDP 2022 เป็น PDP 2023 เช่นกัน
ซึ่งขณะนี้ล่าช้ากว่าแผนที่วางไว้กลางปีเช่นกัน เพราะเป็นช่วงรอยต่อรัฐบาลใหม่ที่จะเข้ามาบริหารต่อ ผู้นำจึงมีบทบาทสำคัญต่อการตัดสินใจอย่างรอบด้านทุกมิติ ทั้งพันธสัญญาสภาพภูมิอากาศและความมั่นคง เพราะการเพิ่มสัดส่วนพลังงานสะอาดกับการผลักดันการเติบโตทางเศรษฐกิจต้องสมดุลและเดินหน้าไปพร้อมกัน
อ้างอิง:
- https://www.scmp.com/week-asia/economics/article/3222755/can-vietnams-plan-boost-energy-capacity-work-amid-rolling-outages-electricity-shortages
- https://www.reuters.com/world/asia-pacific/vietnam-capital-dims-street-lights-save-energy-during-heat-wave-2023-05-30/
- https://www.asiafinancial.com/vietnam-power-cuts-hit-samsung-foxconn-canon-factory-hubs