สารพัดปัจจัยฉุดดัชนีอุตสาหกรรมดิ่งสุดในรอบ 8 เดือน! เอกชนห่วงเวียดนามและอินโดนีเซีย ยอมลดภาษีให้สหรัฐฯ เหลือ 0% กดดันไทยหนัก ลุ้นทีมไทยแลนด์เจรจาสำเร็จ เสนอรัฐเร่งจ่ายงบ 1.5 แสนล้านบาท อัดซอฟต์โลน 2 แสนล้าน สู้ศึกภาษีทรัมป์
วันที่ 16 ก.ค. นาวา จันทนสุรคน รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า ผลการสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมในเดือนมิถุนายน 2568 อยู่ที่ระดับ 87.7 ปรับตัวลดลง จาก 88.1 ในเดือนพฤษภาคม 2568 ซึ่งถือเป็นการปรับตัวลดลงต่ำสุดในรอบ 8 เดือน เป็นผลจากการปิดด่านชายแดนไทย-กัมพูชา และการระงับการนำเข้าน้ำมันและก๊าซ LNG จากไทย ส่งผลกระทบต่อการค้าชายแดนและผ่านแดน
บวกกับสหรัฐฯ ปรับขึ้นภาษี Sectoral Tariff ในกลุ่มสินค้าเหล็กและอะลูมิเนียมจาก 25% เป็น 50% กระทบต่อขีดความสามารถในการแข่งขัน ความขัดแย้งระหว่างอิสราเอลและอิหร่านส่งผลกระทบทำให้ราคาพลังงานผันผวน การส่งออกและจำนวนนักท่องเที่ยวชะลอตัว
อย่างไรก็ตาม ขอให้ภาครัฐเร่งเจรจาปรับลดอัตราภาษีนำเข้าสหรัฐฯ (Reciprocal Tariff) ให้ลดลงสู่ระดับที่สามารถแข่งขันได้ ก่อนจะมีผลบังคับใช้วันที่ 1 สิงหาคม 2568
“หากเป็นไปได้อยากให้อัตราภาษีนำเข้าที่สหรัฐฯ เก็บจากไทยอยู่ในระดับใกล้เคียงกับคู่แข่ง หรือประเทศเพื่อนบ้านในอาเซียน ยกเว้น สปป.ลาว และเมียนมา”
ล่าสุดการที่สหรัฐฯ ประกาศเก็บภาษีนำเข้ากับอินโดนีเซียที่ 19% จะส่งผลกระทบกับไทยอย่างไรนั้น มองว่าอาจทำให้ไทย “เหนื่อย” หน่อย แต่เชื่อว่าทีมเจรจาไทยแลนด์ต้องทำได้
หวั่นไทยถูก ‘บีบ’ ยอมลดภาษี 0% ตามอินโดนีเซีย ยันยอมรับได้ 0% เฉพาะบางสินค้าเท่านั้น
ส่วนการที่ประเทศเวียดนามและอินโดนีเซียยอมลดภาษีสินค้านำเข้าจากสหรัฐฯ เหลือ 0% นั้น ส.อ.ท. ได้หารือร่วมกับ 47 กลุ่มอุตสาหกรรมแล้ว ส่วนใหญ่ยินดีลดภาษีสินค้านำเข้าจากสหรัฐฯ เหลือ 0% ในบางกลุ่มสินค้ากับสหรัฐฯ เท่านั้น
โดยสินค้าที่ให้ลดภาษีได้ เช่น ยา เพราะเป็นสินค้าที่มีคุณภาพส่วนสินค้าที่ไม่อยากให้ลดภาษี เช่น กลุ่มเคมี เนื่องจากกลุ่มอุตสาหกรรมบางส่วนเพิ่งเริ่มประกอบกิจการและยังไม่พร้อมให้ลดภาษีเหลือ 0%
“เอกชนมีความกังวลเช่นกันว่า ในอนาคตไทยอาจถูกบีบให้ลดภาษีลงเหลือ 0% เช่นเดียวกับประเทศเพื่อนบ้านหรือไม่ แต่เชื่อว่า พิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ก็คงกังวลเช่นกัน”
แม้ว่าอินโดนีเซียจะได้ดุลการค้ากับสหรัฐฯ น้อยกว่าไทย ซึ่งไทยได้ดุลการค้าราว 45,000 หมื่นล้านดอลลาร์ในปีที่ผ่านมา ถือว่ามากกว่าอินโดนีเซีย 2.5 เท่า จึงยังสงสัยว่าทำไมอินโดนีเซียถึงยอมลดภาษีให้สหรัฐฯ ลงทั้งหมด
ทั้งนี้ สถานการณ์นี้เป็นไปตามที่สหรัฐฯ กล่าวเพียงฝ่ายเดียว ซึ่งเอกชนก็กำลังรอฟังข่าวว่าทางอินโดนีเซียจะออกมาชี้แจงในเรื่องนี้เหมือนเวียดนามหรือไม่ จึงต้องจับตาดู
ดังนั้น ยอมรับว่าหากไทยต้องโดนสูตรคิดภาษีแบบอินโดนีเซียก็ถือเป็นประเด็นที่กังวลเพิ่มมากขึ้น แต่ก็เข้าใจว่าตอนนี้อยู่ในทีมเจรจา
“หากเป็นไปอย่างนั้นอาจเป็นโจทย์ที่ยากกว่าในเรื่องของ Local Content แต่เมื่อรู้โจทย์ก็คงแก้ได้ แม้ว่าจะไม่อยากให้เป็นอย่างนั้น ทุกคนก็เป็นกำลังใจ เพราะเราได้ดุลการค้าน้อยกว่าอินโดนีเซีย แต่เขายอมขนาดนั้นก็เป็นที่น่าสงสัย”
นาวากล่าวถึงประเด็นสินค้าสวมสิทธิ์ (Transshipment) ที่เป็นประเด็นหลักในการที่สหรัฐฯ เรียกเก็บภาษีนำเข้าสูง
“เอกชนเองอยากได้อัตราภาษีที่ต่ำที่สุด แต่ไม่ขอตั้งเป็นตัวเลขเพื่อไม่ให้ไปกดดันทีมเจรจา แต่มี Benchmark อย่างมาเลเซียและอินโดนีเซียที่ไทยอยากให้ได้เท่าๆ ประเทศคู่แข่ง”
ทั้งนี้ เสนอรัฐบาลเร่งจ่ายงบ 1.5 แสนล้านบาท พร้อมอัดซอฟต์โลน 2 แสนล้านบาท สู้ศึกการค้าโลกในครั้งนี้