×

‘เจาะเทคนิคการสร้างวิดีโอคอนเทนต์ยุคดิจิทัลที่ใครเห็นก็อยากแชร์’ จาก เต๋อ นวพล, อั๋น วุฒิศักดิ์ และกอล์ฟมาเยือน ในงาน Lazada: Add to Life Project – Creative Film Workshop [ADVERTORIAL]

24.08.2023
  • LOADING...
Lazada Add to Life Project

HIGHLIGHTS

  • ลาซาด้า (Lazada) จัด ‘Creative Film Workshop’ เวิร์กช็อปที่ได้ เต๋อ นวพล, อั๋น วุฒิศักดิ์ และกอล์ฟมาเยือน มาแบ่งปันเทคนิคการเล่าเรื่องอย่างไรให้โดนใจคนยุคดิจิทัล ไปจนถึงเคล็ดลับการทำงานโปรดักชันที่คนทำหนังควรรู้
  • เจาะ 6 เทคนิคทำหนังสไตล์ เต๋อ นวพล, เล่าเรื่องฮุกคนดูให้อยู่หมัดสไตล์คนโฆษณาแบบ อั๋น วุฒิศักดิ์ และสร้างวิดีโอแนวตั้งให้คนไม่ปัดทิ้งสไตล์กอล์ฟมาเยือน
  • Creative Film Workshop เป็นกิจกรรมภายใต้โครงการ ‘Add to Life Project’ เวทีประกวดหนังสั้นแนวตั้งครั้งแรกจากลาซาด้าที่เปิดโอกาสให้เด็กรุ่นใหม่ที่รักการทำหนังร่วมโชว์ไอเดีย เพื่อบอกเล่าคอนเซปต์ ‘Add to Cart, Add to Life: ช้อปสิ่งที่ชอบ เพิ่มสิ่งที่ใช่ให้ชีวิต’ และเป็นตัวแทนประเทศที่ได้นำผลงานไปโปรโมตร่วมกับอีก 5 ประเทศในอาเซียน

ถือได้ว่าเป็นโครงการที่ได้รับความสนใจในกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่รักการทำหนังสำหรับ ‘Add to Life Project’ เวทีประกวดหนังสั้นแนวตั้งที่ลาซาด้า (Lazada) ตั้งใจจัดขึ้น เพื่อเปิดพื้นที่ให้เด็กรุ่นใหม่ที่รักการทำหนังได้ระเบิดศักยภาพ พัฒนาความคิดสร้างสรรค์ และร่วมกันโชว์ไอเดีย เพื่อบอกเล่าคอนเซปต์ ‘Add to Cart, Add to Life: ช้อปสิ่งที่ชอบ เพิ่มสิ่งที่ใช่ให้ชีวิต’ สะท้อนความเชื่อและตอกย้ำจุดยืนของลาซาด้าที่มุ่งหวังในการเติมเต็มชีวิตให้แก่นักช้อป ด้วยการส่งต่อแรงบันดาลใจใหม่ๆ ที่มีคุณค่า เพื่อเชื่อมต่อกับประสบการณ์ที่น่าประทับใจให้ผู้บริโภคในทุกๆ คำสั่งซื้อผ่านมุมมองของพวกเขา โดยจะต้องเล่าเรื่องในรูปแบบ Vertical Film ภายใต้แนวคิด ‘From Gen Z to Gen Z by Gen Z’ 

 

จาก 282 ทีม รวมกว่า 800 คนที่ส่งผลงานเข้าประกวดในโครงการนี้ มีเพียง 5 ทีมที่ได้สิทธิ์เข้าร่วม Intensive Workshop อย่างใกล้ชิดกับ เต๋อ-นวพล ธำรงรัตนฤทธิ์ ผู้กำกับและนักเขียนบทชื่อดัง เพื่อพัฒนาและต่อยอด Treatment ก่อนจะคัดเลือกผู้ชนะเพียง 1 ทีมที่จะได้ถ่ายทำหนังสั้นแนวตั้งครั้งแรกกับลาซาด้า พร้อมโอกาสในการทำงานร่วมกับ เต๋อ นวพล และเป็นตัวแทนจากประเทศไทยไปบอกเล่าเรื่องราวของลาซาด้าภายใต้คอนเซปต์ Add to Cart, Add to Life: ช้อปสิ่งที่ชอบ เพิ่มสิ่งที่ใช่ให้ชีวิต เพื่อนำไปฉายใน 6 ประเทศอาเซียน  

 

 

นอกจากพื้นที่แห่งโอกาสที่ลาซาด้าเปิดกว้างให้คนรุ่นใหม่แล้ว หนึ่งในกิจกรรมที่มีประโยชน์กับน้องๆ ที่เข้าร่วมโครงการนี้ก็คือ ‘Creative Film Workshop’ เวิร์กช็อปที่ได้ เต๋อ นวพล มาแบ่งปันเทคนิคการเล่าเรื่องอย่างไรให้โดนใจคนยุคดิจิทัล ไปจนถึงเคล็ดลับการทำงานโปรดักชันที่คนทำหนังควรรู้ 

 

โดยมี อั๋น-วุฒิศักดิ์ อนรรฆพร ผู้กำกับโฆษณาชื่อดังเจ้าของรางวัลมากมาย ร่วมเผยเทคนิคเล่าเรื่องอย่างไรให้น่าสนใจและฮุกคนดูอย่างไรตั้งแต่เปิดเรื่อง

 

พร้อมด้วย กอล์ฟมาเยือน ยูทูเบอร์ชื่อดัง กับเคล็ดลับในการถ่ายวิดีโอคอนเทนต์แนวตั้งที่คอนเทนต์ครีเอเตอร์ควรรู้

 

THE STANDARD สรุปเทคนิคที่น่าสนใจมาให้ บอกเลยว่าไม่จำเป็นต้องเป็นคนที่รักการทำหนัง ถ้าคุณคือคอนเทนต์ครีเอเตอร์ นักเขียน นักโฆษณา หรือคนที่ทำงานด้านความคิดสร้างสรรค์ นี่คือ Creative Hack ที่จะช่วยให้คุณคิดเร็วขึ้น เซฟเวลามากขึ้น และได้ผลลัพธ์ที่เจ๋งกว่า

 

 

6 เทคนิคทำหนังสไตล์ เต๋อ นวพล

 

ส่งบทให้ถึงคนดู ด้วยการแปลบทเป็นภาพและเสียง

 

เทคนิคแรกเริ่มด้วยการแก้ปัญหาทำหนังแล้วคนดูไม่รู้สึกเท่าสิ่งที่ผู้กำกับคิด อาจเป็นไปได้ว่าเมสเสจที่ตั้งใจเล่าคนดูมองไม่เห็นหรือไม่ได้ยิน โดยเฉพาะความรู้สึกลึกๆ บางอย่างของตัวละคร

 

“หลักการเขียนบทคือ ต้องเขียนภาพและเสียงออกมาให้ได้ ถ้าเหงาอย่าเขียนบทว่า ‘ฉันเหงา’ ต้องแปลความเหงาออกมาเป็นภาพ คิดเป็นพฤติกรรม เพื่อเล่าความรู้สึก เช่น นั่งริมหน้าต่าง นั่งเฉยๆ นอนไม่หลับ เทคนิคคือ ฝึกสังเกตด้วยการมองและฟังทั้งคนและสิ่งแวดล้อม หรือแม้แต่การดูสเตตัสเฟซบุ๊กคนอื่น” 

 

 

แคสต์นักแสดงต้องอย่ายึดติด 

 

ปัญหาการเลือกตัวแสดงมาแล้วแต่พอเล่นจริงไม่รอด! อาจเพราะยึดติดกับการทำแคสติ้งเกินไป แทนที่จะยึดตามบท ลองปล่อยให้นักแสดงเล่นไปอีกทาง ให้นักแสดงแคสต์ตามบทประมาณหนึ่ง แล้วลองให้เขาแคสต์บทตามที่เขาเข้าใจ บางทีประสบการณ์ของคนที่มาแคสต์อาจเติมเต็มและเปิดมุมมองใหม่ๆ รวมถึงได้รายละเอียดที่คิดไม่ถึงตอนเขียนบท 

 

“การแคสติ้งไม่ใช่แค่หาว่าคนนี้เล่นได้หรือเปล่า แต่มันคือเขามีของอะไรบ้าง เรามีของอะไรบ้าง แล้วมาแลกเปลี่ยนกัน”

 

ทำโลเคชันให้น่าสนใจ ต้องใส่ใจคาแรกเตอร์ตัวละคร

 

อย่าจำสิ่งที่เขาทำตามๆ กันมา เช่น ห้องนักดนตรีต้องแปะโปสเตอร์เยอะๆ และอย่ายึดติดว่าโลเคชันโรงเรียนต้องถ่ายที่โรงเรียน ประเด็นสำคัญอยู่ที่การเข้าใจพื้นฐานของตัวละครที่สร้างขึ้น คาแรกเตอร์เป็นแบบไหน ห้องและโลกของเขาในฉากก็จะเป็นแบบนั้น ทำให้คนดูรู้สึกว่าไม่เคยเห็นโลกของตัวละครแบบนี้ที่ไหนมาก่อน จะทำให้หนังน่าสนใจขึ้น

 

“สมมติทำหนังเกี่ยวกับนักเรียน โลเคชันไม่จำเป็นต้องเป็นโรงเรียนเสมอไป อาจมาแค่เสียง บรรยากาศ หรือพร็อพ ก็ได้”

 

อีกประเด็นที่เต๋อแนะนำเสริมคือ การอ่านเรื่องสถาปัตยกรรมและการสังเกตสิ่งรอบตัว จะช่วยให้บรีฟทีมงานได้ดีขึ้น

 

ประหยัดเวลาทำงานและเซฟงบได้ แค่ไม่ย้ายโลเคชัน

 

ระวังกับดับโลเคชันสวย! ถ้าอยากคุมเวลาทำงานและงบประมาณอาจต้องชั่งน้ำหนักระหว่างโลเคชันสวย เหมาะกับคาแรกเตอร์ แต่ต้องย้ายโลเคชันไกล เพราะอาจทำให้เสียเวลาจนไม่ได้ซีนสำคัญ 

 

“การย้ายสถานที่เป็นสิ่งที่อันตรายและกินเวลามาก ถ้ามีเวลาถ่ายแค่วันเดียวและจำเป็นต้องย้ายจริงๆ ก็ไม่ควรเกิน 1-2 ครั้ง แต่ถ้าถ่ายไม่เยอะก็ย้ายได้ บางทีโลเคชันภาพกว้างสวย แต่ถ่ายจริงเอาแค่มุมเดียว”

 

 

‘บริหารจัดการ’ ศาสตร์ที่ช่วยสร้างงานศิลปะที่ดี

 

แม้ว่าการทำหนังคือศิลปะ แต่การจะเกิดศิลปะที่ดีได้ต้องเกิดจากการบริหารจัดการเวลาและสิ่งที่ต้องถ่ายให้ดี จะทำให้สร้างงานออกมาได้ตรงตามความต้องการมากขึ้น 

 

“ถ้าวางแผนให้มากขึ้นตั้งแต่เริ่มทำงาน เช่น หากมีเวลาถ่ายน้อย ซีนที่จะถ่ายใช้ไม่เยอะและมีตัวละครสมทบ การหาคนที่มีพื้นฐานการแสดงที่ดีตั้งแต่ตอนแคสต์ก็ทำให้ไม่เสียเวลากับบทตัวประกอบมากไป และเอาเวลาไปลงรายละเอียดกับตัวเอกได้มากขึ้น ถ้าปล่อยไหลไปเรื่อยๆ จนกินเวลาช็อตอื่น ก็จะกระทบเป็นโดมิโน ยิ่งวางแผนดี ยิ่งมีเวลากำกับนาน”

  

‘หยุดพัก’ คือเคล็ดลับการตัดต่อ

 

แทนที่จะลุยต่อให้สุด ควรหยุดพักผ่อน นี่คือเคล็ดลับสุดท้ายที่เต๋อบอก สำหรับเขาการพักถือเป็นหนึ่งในกระบวนการทำงาน

 

“พักแบบไม่ต้องกลับไปเช็กอะไรเลย บางทีตัดงานติดต่อกันหลายวัน ตัวเราเองจะดูไม่รู้เรื่องและอาจตัดสินใจพลาด ลองหยุดพักสัก 3 วัน การพักจะทำให้ลืมทุกสิ่ง พอกลับมาดูใหม่จะเห็นความจริงว่าเรื่องมันยืดไปไหม ทำไมถึงเล่าจุดนี้ซ้ำๆ ที่คิดว่าดียังดีอยู่หรือเปล่า มันเหมือนเรากลับมาดูในฐานะของคนดูจริงๆ ไม่ใช่ผู้กำกับ” 

 

 

เล่าเรื่องฮุกคนดูให้อยู่หมัดสไตล์คนโฆษณาแบบ อั๋น วุฒิศักดิ์
  

แยกให้ออก ‘เราสนใจ’ หรือ ‘คนดูสนใจ’

 

คำถามที่ว่า ไอเดียที่น่าสนใจคืออะไร อาจไม่สำคัญเท่าการแยกให้ออกว่า ‘น่าสนใจสำหรับคนดู’ หรือ ‘น่าสนใจเพราะเราอยากจะเล่า’

 

“แยกให้ออกว่าสิ่งที่เราอยากทำกับสิ่งที่คนดูอยากจะดูเป็นคนละเรื่องกัน ดังนั้นสิ่งสำคัญที่สุดคือ เรื่องนี้เราอยากเล่า แล้วคนฟังอยากฟังหรือเปล่า? คิดง่ายที่สุดคือ ถ้าจะทำหนังรักสักเรื่อง มีอะไรบ้างที่ซ้ำกับหนังรักที่ผ่านมา อะไรก็ตามที่เราเคยดูไปแล้วตัดออกให้หมด เราประทับใจไปแล้วและคนดูก็เคยเห็นแล้วเหมือนกัน ตัดออก” 

 

เข้าเรื่องให้เร็ว ความอดทนคนมันน้อย

 

ต้องยอมรับว่าการเซ็ตอัพของหนังทุกเรื่องน่าเบื่อ ถ้าเป็นยุคคนดูมีความอดทนสูง การปูเรื่องไปเรื่อยๆ ทำได้ แต่ยุคนี้ไม่เวิร์กอีกต่อไป

 

“ยุคนี้ความอดทนของคนไม่เหมือนเมื่อก่อน คนชินกับการดูคอนเทนต์ที่ฮุกเร็ว ถ้ามัวแต่ปูคาแรกเตอร์คนดูปิดหนีหมด สังเกตหนัง Marvel ซีนแรกก็ตีกันเลย มันต้องหาวิธีเล่าใหม่ จำไว้ว่ายิ่งปูเรื่องเยอะเท่าไร โอกาสที่หนังจะพังก็สูงเท่านั้น แยกให้ออก ตัดให้ขาด ว่าคนดูควรได้ยินอะไรบ้าง มองให้ออกว่าสิ่งที่เราอยากเล่าตรงนี้คือปัญหาที่เขาอยากฟังหรือเปล่า”

 

 

ลองย้ายมุมมองกับเรื่องเดิมๆ

  

เลิกถามว่าถ้าชีวิตเรามันน่าเบื่อ จำเจ จะหาไอเดียจากมันได้อย่างไร อั๋นแชร์น้องๆ ว่า หนังสือประเภทเดียวที่เขาอ่านคือการ์ตูน หนังที่เขาชอบดูคือหนังเรื่องเดิมๆ เพราะเป็นทางเดียวที่ทำให้เรารู้ว่าอะไรในหนังเรื่องนั้นที่ทำให้เราชอบ ดังนั้นการเป็นคนที่ไม่มีไลฟ์สไตล์หวือหวาไม่ผิด เพราะหนังบางเรื่องพล็อตเดิมๆ แต่ก็ดึงความสนใจคนได้อยู่หมัด 

 

“ทำไม Titanic ที่รู้อยู่แล้วว่าตอนสุดท้ายจบอย่างไรเราถึงยังดู หรือเหตุการณ์ถ้ำหลวง เหตุการณ์เดียวกันเล่าออกมาได้หลายเวอร์ชัน แปลว่าต่อให้มันเป็นเรื่องเดิม แค่ย้ายมุมกล้องมันจะมีมุมมองในการเล่าเหตุการณ์เดิมให้น่าสนใจอีกมหาศาล อาจเปลี่ยนสคริปต์ให้สนุกขึ้นโดยไม่ต้องมีสกิลเพิ่ม” 

 

เลือกช่วงที่น่าสนใจ ลดเวลาด้วยไดอะล็อก

 

หากถามว่าจะดีไซน์เรื่องอย่างไรให้จบในเวลาที่จำกัด ต้องแยกก่อนว่าคนดูควรต้องดูอะไรบ้างและตัดสิ่งที่คนดูไม่ควรดูทิ้ง แต่ถ้าสิ่งที่มีจำเป็นต้องเล่า ลองหาวิธีเล่าที่ฉลาดขึ้น เช่น ลดไดอะล็อก

  

“เวลาอยากจะเล่าอะไรก็ตาม ลองตั้งกฎกับตัวเองว่าตัดเนื้อหาออกสักครึ่งหนึ่งของสคริปต์ แล้วเล่าให้น้อยกว่าความเป็นจริง มันจะกลายเป็นหนังที่น่าสนใจขึ้นทันที เช่น ผู้ชายคนนี้เลิกงานแล้วชอบหนีภรรยาไปเที่ยวต่อ กลับบ้านมาก็ทะเลาะกันประจำ ก้อนนี้อาจจะใช้เวลาเล่า 5 นาทียังไม่เข้าเรื่องสักที เพราะนี่แค่ปูเรื่อง ลองใหม่ เปิดเรื่องมาเป็นซีนห้องนั่งเล่น ผู้ชายเปิดประตูเข้ามา ปิดประตู ยังไม่ทันเปิดไฟ ภรรยาพูดออกมาว่า “ประชุมดึกอีกแล้วเหรอ” แค่นี้รู้เรื่องแล้วว่าสองคนนี้ทะเลาะกันเรื่องนี้หลายรอบแล้ว อันนี้เป็นลูกล่อลูกชนที่เราสามารถให้ตัวละครพูดบทที่เล่าน้อยแต่กินความเยอะ” 

 

อย่าให้คำว่า ‘จงเป็นตัวเอง’ หลอก

 

คำแนะนำสุดท้ายคือ อย่าหลงกลคำว่า ‘จงเป็นตัวเอง’ ต่อให้คุณถูกสอนมาตลอดว่าเวลาทำหนังให้เป็นตัวเองมากๆ แต่ตราบใดที่คุณทำงานสื่อสาร คนดูสำคัญที่สุด

 

“อย่าเป็นตัวเองโดยไม่สนใจคนดู แยกให้ขาดว่าความเป็นตัวเองที่ใส่เข้าไปได้มันรับใช้เนื้อเรื่องเพื่อเอ็นเตอร์เทนคนดูอย่างไรบ้าง เราต้องแคร์คนดูมากๆ อะไรที่เขารู้แล้ว อะไรที่เขาไม่อยากฟัง ส่วนเรื่องความเป็นตัวเองมันคือดีเทล แต่คนละมองเหตุการณ์เดียวกัน แต่อาจเห็นสิ่งที่มีค่าคนละจุด ตีความต่างกัน ตรงนี้คือมุมมองที่ทำให้ผู้กำกับแต่ละคนต่างกัน” 

 

 

สร้างวิดีโอแนวตั้งให้คนไม่ปัดทิ้งสไตล์กอล์ฟมาเยือน

 

เข้าใจแพลตฟอร์ม

 

เวลาใครพูดว่า ที่คอนเทนต์ไม่สำเร็จ เพราะอัลกอริทึมไม่ชอบ อยากให้มองอัลกอริทึม = คนดู

 

“ถ้าบอกว่าอัลกอริทึมไม่ชอบเรา ก็แปลว่าคนดูไม่ชอบเรา ดังนั้นการเข้าใจคนดูสำคัญที่สุดไม่ว่าจะเป็นแพลตฟอร์มไหนก็ตาม บน YouTube จะแข่งกันด้วยเกมของ Thumbnail การที่ YouTube จะตัดสินว่าคลิปไหนดีหรือไม่ดีควรดันขึ้นมาอยู่หน้าแรกๆ คือภาพปก แต่ถ้า Facebook คุณต้องทำให้คนอยู่กับคอนเทนต์ของคุณให้นานที่สุดและทำให้เกิดการแชร์ หรือ Tag ส่วน TikTok คือสงครามที่เล่นกับเสี้ยวเวลา ต้องทำให้คนหยุดสนใจภายใน 3 วินาที” 

 

ดีไซน์ก่อนลงมือถ่าย

 

“ถ้ารู้ว่าจะต้องถ่ายแนวตั้ง ต้องดีไซน์ทุกอย่างไว้ก่อน”

  

กอล์ฟเล่าว่า ช่วงที่เทรนด์วิดีโอแนวตั้งมาแรกๆ เขาลองเอาคลิปเก่ามาตัด ก็พบปัญหาว่าไม่สามารถครอปภาพให้สวยได้ นอกจากนี้เขายังสร้างเงื่อนไขให้ตัวเองอีกอย่างนั่นคือ “ผมอยากทำวิดีโอแนวนอนด้วย” การดีไซน์ก่อนลงมือถ่าย เพื่อให้ได้ภาพที่ใช้ได้ทั้งแนวและแนวนอนจึงสำคัญ 

 

นี่คือ 4 วิธีดีไซน์การทำงาน เพื่อให้ได้วิดีโอคอนเทนต์ที่มีคุณภาพ

 

  1. ดูโลเคชันจริง เพื่อกำหนดเฟรม ถ้าเป็นโลเคชันที่ชอบจริงๆ แต่ระยะไม่ได้ เลือกใช้เลนส์ระยะกว้างกว่าปกติ ถ้าเปลี่ยนเลนส์ก็ยังเก็บไม่หมด กอล์ฟแนะนำให้ใช้ Generative  AI มาช่วยเติมภาพบนและล่าง
  2. ถ่ายเป็น 4K เพื่อให้สามารถซูมเฉพาะจุดหรือครอปได้ โดยที่คุณภาพของภาพยังดีอยู่
  3. ถ่าย 4:5 ภาพที่ได้จะใกล้เคียงภาพสี่เหลี่ยมจัตุรัส คนตัดต่อจะมีโอกาสครอปได้ทั้งแนวตั้งและแนวนอน
  4. ช็อตเปิดดึงคนดู เลือกหยิบเหตุการณ์สำคัญของเรื่องมาจั่วหัวก่อน แล้วค่อยๆ พาคนดูหาคำตอบที่หยอดไว้ตลอดทั้งเรื่องจนจบ 

 

 

อย่าไว้ใจสูตรสำเร็จ

 

นอกจากจะวางใจกับความสำเร็จในอดีตไม่ได้แล้ว สูตรสำเร็จที่คนอื่นเคยทำมาหรือแม้แต่ตัวเองเคยทำแล้วสำเร็จ มันอาจไม่สำเร็จเสมอไป

 
“พอต้องปรับมาเล่าเรื่องด้วยคอนเทนต์วิดีโอ ก็ต้องเรียนรู้ใหม่หมด อย่างเช่น วิธีการเล่าเรื่อง เพราะ Storytelling คนละแบบ ภาพนิ่งสามารถเล่าได้ด้วยภาพเดียว แต่พอเป็นวิดีโออาจต้องมีชั้นเชิงกับมันมากขึ้น หรือหาลูกเล่นใหม่ๆ ให้กับเรื่องเดิมๆ ที่เคยเล่าไปแล้วก็ได้ เพราะความชอบมันเปลี่ยนแปลงตลอด มันจึงไม่มีสูตรสำเร็จ ทุกอย่างมีเวลาของมัน”

  

ถ่ายให้ดูเหมือนมือสมัครเล่น

 

อีกหนึ่งเทคนิคที่เขาบอกว่าทำแล้วเวิร์กและเป็นสไตล์เฉพาะตัวคือ ถ่ายให้ดูเหมือนมือสมัครเล่น แต่เนื้อหาต้องดี

 

“5 วินาทีแรกของคลิปผมจะถ่ายด้วยมือถือ อยากให้ดูเรียลเหมือนไม่ตั้งใจ แล้วข้างในค่อยใช้อุปกรณ์ดีๆ สำหรับผมวิธีนี้มันสร้างความใกล้ชิดและเป็นกันเองให้กับคนดูได้” 

 

 

เทคนิคและประสบการณ์ที่เหล่าสปีกเกอร์มาร่วมแชร์ในครั้งนี้น่าจะเชปแนวคิดและมุมมองใหม่ๆ ในการสร้างคอนเทนต์ที่ใช่และตรงใจคนดูให้กับน้องๆ ได้อย่างแน่นอน

 

หลังจบเวิร์กช็อป ลาซาด้ายังได้ประกาศ 5 ทีมที่ได้สิทธิ์เข้าร่วม Intensive Workshop อย่างใกล้ชิดกับ เต๋อ นวพล

 

ก่อนจะคัดเลือกผู้ชนะเพียง 1 ทีม ได้แก่ กุลพัทธ์ เอมมาโนชญ์ และ จิรชญา เร่งมุกดา ไปเมื่อวันที่ 20 สิงหาคมที่ผ่านมา โดยผู้ชนะจะได้ถ่ายทำหนังสั้นแนวตั้งกับลาซาด้า และเป็นตัวแทนประเทศไปบอกเล่าเรื่องราวของลาซาด้าภายใต้คอนเซปต์ ‘Add to Cart, Add to Life: ช้อปสิ่งที่ชอบ เพิ่มสิ่งที่ใช่ให้ชีวิต’

 

ผลงานของทีมที่ชนะจะถูกโปรโมตผ่านโซเชียลมีเดียของลาซาด้าร่วมกับผลงานจากอีก 5 ประเทศอาเซียน

 

สามารถตามดูผลงานได้ที่โซเชียลมีเดียของลาซาด้าทุกช่องทาง

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X