×

ชัยชนะที่จอร์เจีย, Trifecta ของไบเดน และทางสองแพร่งของรีพับลิกัน

09.01.2021
  • LOADING...
ชัยชนะที่จอร์เจีย, Trifecta ของไบเดน และทางสองแพร่งของรีพับลิกัน

HIGHLIGHTS

5 mins read
  • สาเหตุที่สองผู้สมัครรีพับลิกันแพ้การเลือกตั้ง ส.ว. รัฐจอร์เจีย ทั้งๆ ที่ทำคะแนนเหนือกว่าผู้สมัครจากพรรคเดโมแครตในการเลือกตั้งรอบแรก เป็นเพราะฐานเสียงของพวกเขาไม่ได้ออกมาใช้สิทธิกันแบบถล่มทลายเหมือนรอบเดือนพฤศจิกายน
  • กรณีนี้คล้ายคลึงกับการเลือกตั้งกลางเทอมในปี 2018 ที่ฐานเสียงของพรรครีพับลิกันไม่ออกมาใช้สิทธิเลือกตั้ง จนทำให้พรรคเสียที่นั่งในสภาล่างไปกว่า 40 ที่นั่ง ซึ่งทั้งสองกรณีมีปัจจัยร่วมกันคือตัวทรัมป์เองไม่ได้ลงเลือกตั้งด้วย ซึ่งเป็นการสะท้อนให้เห็นว่าความภักดีของชนชั้นแรงงานผิวขาวนั้น เป็นความภักดีต่อตัวทรัมป์มากกว่าพรรครีพับลิกัน
  • แต่แบรนด์ของทรัมป์ก็ยังเป็นพิษในย่านชานเมือง พรรครีพับลิกันสูญเสียความนิยมในเขตนี้ในยุคสมัยของทรัมป์ ซึ่งเป็นปัญหาเรื้อรังของพรรค ที่เกิดจากความไม่พอใจของคนชานเมือง (ที่เต็มไปด้วยชาวอเมริกันผิวขาวฐานะดีที่มีการศึกษาในระดับปริญญา) ที่มีต่อพฤติกรรมหลายอย่างของทรัมป์
  • ทางเดียวที่รีพับลิกันจะกู้คืนภาพลักษณ์ของตัวเองในย่านชานเมืองออกมาได้คือจะต้องตีตนออกห่างจากทรัมป์ แต่นั่นก็หมายถึงการที่พรรคจะไม่สามารถชนะในเขตชนบทได้อย่างถล่มทลาย นี่เป็นทางสองแพร่งที่น่าสนใจว่า นักการเมืองรุ่นใหญ่ของพรรคจะมีท่าทีอย่างไรต่อการเลือกตั้งขั้นต้นในปี 2024
  • ชัยชนะของไบเดน, ออสซอฟฟ์ และวอร์นอค น่าจะเป็นการเปิดศักราชใหม่ของการเมืองแบบ ‘ใต้ใหม่’ หรือ The New South ที่มลรัฐทางภาคใต้อย่างจอร์เจีย เท็กซัส และนอร์ทแคโรไลนา จะกลายมาเป็นมลรัฐสนามรบที่ทั้งเดโมแครตและรีพับลิกันมีโอกาสจะชนะได้ทั้งคู่ ไม่ใช่มลรัฐสีแดงเข้มที่ริพับลิกันจะชนะแบบนอนมาอีกต่อไป

การเลือกตั้งครั้งสุดท้ายของรอบปี 2020 ได้จบลงไปแล้วด้วยชัยชนะของพรรคเดโมแครตที่พลิกกลับมาครองเสียงข้างมากในสภาสูง (วุฒิสภา) ได้สำเร็จ หลังจากที่ผู้สมัครสมาชิกวุฒิสภาที่มลรัฐจอร์เจียของพรรคทั้งสองคน อย่าง จอน ออสซอฟฟ์ และ สาธุคุณ ราฟาเอล วอร์นอค เอาชนะเจ้าของตำแหน่งเดิมจากพรรครีพับลิกันอย่าง เดวิด เพอร์ดู และ เคลลี เลฟเลอร์ ในการเลือกตั้งรอบสองในค่ำคืนของวันที่ 5 มกราคมที่ผ่านมา 

 

การเลือกตั้งครั้งนี้บอกอะไรกับเราเกี่ยวกับภูมิทัศน์ทางการเมืองของประเทศสหรัฐอเมริกาในปัจจุบัน บทความนี้จะวิเคราะห์กันอย่างละเอียด

 

Trumpism โดยไม่มีทรัมป์นั้นไม่ได้ผล

สาเหตุที่เพอร์ดูและเลฟเลอร์แพ้การเลือกตั้งในครั้งนี้ ทั้งๆ ที่ผู้สมัครของพรรครีพับลิกันทำคะแนนได้เหนือกว่าผู้สมัครจากพรรคเดโมแครตในการเลือกตั้งรอบแรก (เพียงแต่ว่ายังไม่สามารถทำคะแนนได้เกินกึ่งหนึ่งหรือ 50% ได้ จึงต้องคัดผู้มีคะแนนสูงสุดสองคนมาเลือกตั้งรอบสองกันอีกที) เป็นเพราะฐานเสียงของพวกเขาไม่ได้ออกมาใช้สิทธิกันแบบถล่มทลายเหมือนรอบเดือนพฤศจิกายน 

 

โดยเราจะเห็นได้ว่าในบรรดาเคาน์ตีในเขตชนบทโดยเฉพาะทางเหนือของมลรัฐที่เป็นฐานเสียงของพรรครีพับลิกัน จำนวนผู้มาใช้สิทธิตกลงไปจากรอบเดือนพฤศจิกายนถึงเกือบ 20% ในขณะที่เขตเมืองใหญ่อย่าง แอตแลนตา, ซาวานา และ ออกัสตา ที่เต็มไปด้วยประชากรผิวสี ที่เป็นฐานเสียงของพรรคเดโมแครตนั้น มียอดผู้มาใช้สิทธิตกลงไปไม่ถึง 10%

 

กรณีนี้คล้ายคลึงกับการเลือกตั้งกลางเทอมในปี 2018 ที่ฐานเสียงของพรรครีพับลิกันไม่ออกมาใช้สิทธิเลือกตั้ง จนทำให้พรรคเสียที่นั่งในสภาล่างไปกว่า 40 ที่นั่ง ซึ่งทั้งสองกรณีมีปัจจัยร่วมกันคือตัวทรัมป์เองไม่ได้ลงเลือกตั้งด้วย ซึ่งเป็นการสะท้อนให้เห็นว่า ความภักดีของชนชั้นแรงงานผิวขาวนั้น เป็นความภักดีต่อตัวทรัมป์มากกว่าพรรครีพับลิกัน ซึ่งแม้ว่าผู้สมัครของพรรคจะพยายามชูนโยบายและใช้สไตล์การหาเสียงในรูปแบบของทรัมป์ (Trumpism) แต่ก็ยังไม่อาจทดแทนเสน่ห์และความนิยมส่วนตัวของทรัมป์ได้ 

 

ดังนั้น หากพรรครีพับลิกันยังหวังจะชนะการเลือกตั้งโดยอาศัยการออกมาลงคะแนนเสียงของกลุ่มชนชั้นแรงงานผิวขาวอย่างถล่มทลาย (โดยเฉพาะในเขตมิดเวสต์) พวกเขาก็อาจจะต้องพิจารณาส่งทรัมป์ลงชิงชัยตำแหน่งประธานาธิบดีอีกครั้งใน 4 ปีข้างหน้า

 

แต่แบรนด์ของทรัมป์ก็ยังเป็นพิษในย่านชานเมือง

การสูญเสียความนิยมในย่านชานเมืองของพรรครีพับลิกันในยุคสมัยของทรัมป์ เป็นปัญหาเรื้อรังของพรรค ที่เกิดจากความไม่พอใจของคนชานเมือง (ที่เต็มไปด้วยชาวอเมริกันผิวขาวฐานะดี ที่มีการศึกษาในระดับปริญญา) ที่มีต่อพฤติกรรมหลายอย่างของทรัมป์ที่พวกเขามองว่าเป็นพฤติกรรมที่ไม่สง่างาม ไม่สมฐานะของการเป็นผู้นำประเทศ เช่น การพูดโอ้อวดเกินจริง การใช้คำพูดเหยียดคนผิวสีและผู้หญิง การใช้ความรุนแรงต่อผู้ประท้วง ซึ่งก่อนการเลือกตั้งในรอบสองนี้พรรครีพับลิกันคาดหวังกันว่า พวกเขาจะแพ้ในเขตชานเมืองแอตแลนตาน้อยลงเพราะตัวทรัมป์เองไม่ได้ลงเลือกตั้ง และผู้สมัครของพรรค (โดยเฉพาะในเคสของเพอร์ดู) ก็ไม่ได้มีชื่อเสียงในฐานะนักการเมืองขวาจัด

 

แต่ผลที่ออกมาไม่ได้เป็นอย่างที่พวกเขาคาดหวังไว้ ทั้งเพอร์ดูและเลฟเลอร์ ยังคงพ่ายแพ้ที่เขตชานเมืองมากพอๆ กับการเลือกตั้งในรอบแรก สิ่งนี้แสดงให้เห็นว่าชาวชานเมืองยังคงผูกแบรนด์ของพรรครีพับลิกันไว้กับภาพของทรัมป์ และก็เป็นไปได้ว่าภาพของทรัมป์ในสายตาของชาวชานเมืองจะยิ่งแย่ลงไปอีก หลังจากที่ทรัมป์ปฏิเสธไม่ยอมรับชัยชนะของโจ ไบเดน และกล่าวหาอย่างเลื่อนลอย (และฟ้องร้องแพ้ในทุกศาลรวมถึงศาลสูงสุด) ว่าไบเดนและเดโมแครตได้ทุจริตการเลือกตั้ง รวมถึงได้ทวีตและกล่าวปราศรัยสนับสนุนให้ฐานเสียงของเขาออกมาชุมนุม จนเกิดเหตุรุนแรงหลายครั้ง รวมถึงเหตุการณ์เมื่อวันที่ 6 มกราคม ที่กลุ่มผู้สนับสนุนของเขาบุกเข้ารัฐสภาไปขัดขวางการรับรองคะแนนคณะผู้เลือกตั้ง (Electoral College) 

 

ทางเดียวที่พรรครีพับลิกันจะกู้คืนภาพลักษณ์ของตัวเองในย่านชานเมืองออกมาได้คือจะต้องตีตนออกห่างจากทรัมป์ แต่นั่นก็หมายถึงการที่พรรคจะไม่สามารถชนะในเขตชนบทได้อย่างถล่มทลาย นี่เป็นทางสองแพร่งที่น่าสนใจว่า นักการเมืองรุ่นใหญ่ของพรรคจะมีท่าทีอย่างไรต่อการเลือกตั้งขั้นต้นในปี 2024

 

‘ใต้ใหม่’ กับกลยุทธ์การหาเสียงแบบใหม่ของเดโมแครต

ชัยชนะของไบเดน, ออสซอฟฟ์ และวอร์นอค น่าจะเป็นการเปิดศักราชใหม่ของการเมืองแบบ ‘ใต้ใหม่’ หรือ The New South ที่มลรัฐในภาคใต้อย่างจอร์เจีย เท็กซัส และนอร์ทแคโรไลนา จะกลายมาเป็นมลรัฐสนามรบที่ทั้งเดโมแครตและรีพับลิกันมีโอกาสจะชนะได้ทั้งคู่ ไม่ใช่มลรัฐสีแดงเข้มที่ริพับลิกันจะชนะแบบนอนมาอีกต่อไป 

 

แต่เดิมนั้นมลรัฐทางภาคใต้มักจะโหวตให้พรรครีพับลิกันเสมอ เพราะประชากรส่วนใหญ่ของรัฐเป็นคนขาว และจำนวนมากเป็นคนขาวเคร่งศาสนาที่มีแนวคิดทางการเมืองแบบอนุรักษนิยม ทำให้พรรคของฝั่งเสรีนิยมอย่างเดโมแครตแทบจะไม่มีโอกาสชนะในมลรัฐเหล่านี้เลย ซึ่งในช่วงสองทศวรรษที่ผ่านมา พรรคเองก็ทราบดีถึงข้อจำกัดของตัวเอง และพยายามจะแก้เกมด้วยการส่งผู้สมัครผิวขาวที่มีแนวคิดทางการเมืองแบบกลางๆ โดยหวังว่าผู้สมัครที่มีคุณลักษณะแบบนี้จะพอดึงดูดคะแนนจากคนอนุรักษนิยมได้บ้าง (แต่ส่วนใหญ่ก็จะพ่ายแพ้ในที่สุด)

 

อย่างไรก็ดี ด้วยการเติบโตอย่างรวดเร็วของหัวเมืองใหญ่หลายเมืองในภาคใต้ (อย่างในกรณีของมลรัฐจอร์เจียคือมหานครแอตแลนตา) ทำให้สัดส่วนของประชากรผิวสี และประชากรผิวขาวที่มีแนวคิดแบบเสรีนิยม (ที่มักจะอาศัยอยู่ตามเมืองใหญ่) มีจำนวนมากขึ้น ทำให้กลยุทธ์การหาเสียงของพรรคเดโมแครตในช่วง3-4 ปีที่ผ่านมาเปลี่ยนไป 

 

พรรคเริ่มหันมาสนใจที่จะกระตุ้นให้ฐานเสียงของตัวเอง (คนผิวสีและคนขาวเสรีนิยมในเมือง) ออกมาใช้สิทธิในจำนวนที่มากที่สุดแทนที่จะพยายามไปเปลี่ยนใจชาวผิวขาวหัวอนุรักษนิยม ซึ่งเราก็จะเห็นได้ว่า พรรคได้เลือกที่จะส่งคนผิวสีอย่าง สเตซี เอบรัมส์ ลงชิงชัยในตำแหน่งผู้ว่าการรัฐในปี 2018 และส่งคนผิวสีอย่างวอร์นอค และคนผิวขาวที่มีแนวคิดแบบเสรีนิยมชัดเจนอย่างออสซอฟฟ์ลงเลือกตั้งครั้งนี้ แทนที่จะเป็นชายผิวขาวที่มีแนวคิดแบบกลางๆ เหมือนทศวรรษก่อน เพื่อเป็นการส่งสัญญาณให้ฐานเสียงของพรรครู้ว่าพรรคกำลังให้ความสำคัญกับพวกตน ซึ่งเมื่อรวมกับการจัดตั้งทีมงานภาคสนาม (Ground Game) ในมหานครแอตแลนตาที่มีประสิทธิภาพ ทำให้พรรคสามารถผลักดันให้ฐานเสียงออกมาใช้สิทธิกันอย่างถล่มทลายจนพวกเขาสามารถเอาชนะที่จอร์เจียได้เป็นครั้งแรกในรอบกว่า 20 ปี

 

ชัยชนะของไบเดน วอร์นอค และออสซอฟฟ์ ในครั้งนี้อาจจะกลายเป็นโมเดลที่พรรคจะเอาไปใช้หาเสียงกับรัฐในกลุ่มใต้ใหม่อื่นๆ 

 

ไบเดนได้ Trifecta ที่เปราะบาง   

ชัยชนะที่จอร์เจียในครั้งนี้ ทำให้พรรคเดโมแครตได้ครองอำนาจเต็มทั้งฝ่ายบริหาร (ทำเนียบขาว) และสภาคองเกรส (สภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา) หรือที่เรียกกันว่า Trifecta ซึ่งในทางทฤษฎีแล้ว Trifecta จะทำให้พวกเขาออกกฎหมายและดำเนินนโยบายได้ตามชอบใจ โดยที่พรรครีพับลิกันไม่มีเสียงพอที่จะมาขัดขวางพวกเขาได้

 

แต่ในความเป็นจริงแล้ว Trifecta ของไบเดนเปราะบางกว่าที่คิดมาก โดยเฉพาะที่วุฒิสภาที่พวกเขามีเสียงอยู่ที่ 50 เสียงพอดี แต่ในพรรคโดเมแครตก็มีสมาชิกวุฒิสภาที่มีแนวคิดแบบอนุรักษนิยมอย่างเช่น โจ แมนชิน จากมลรัฐเวสต์เวอร์จิเนีย และ คริสติน ซินีมา จากรัฐแอริโซนา ซึ่งก็แปลว่าการที่ไบเดนจะผ่านร่างกฎหมายใดๆ เขาจำเป็นจะต้องได้ความเห็นชอบจากทั้งแมนชินและซินีมาเสมอ ซึ่งโอกาสที่ทั้งสองคนจะยอมโหวตผ่านร่างกฎหมายที่เสรีนิยมมากๆ นั้นแทบจะเป็นไปไม่ได้เลย นั่นหมายความว่าไบเดนไม่น่าจะสามารถผลักดันนโยบายหลายๆ อย่างที่เป็นความฝันของฝ่ายซ้ายในพรรค อย่างเช่นการให้สถานะมลรัฐแก่กรุงวอชิงตัน ดี.ซี. การปฏิรูปศาลสูง หรือนโยบายด้านสิ่งแวดล้อมอย่าง Green New Deal 

 

แต่อย่างไรก็ดี การที่ไบเดนได้ Trifecta ก็เป็นการการันตีในระดับหนึ่งว่า อย่างน้อยๆ นโยบายกลางๆ ของเขาจะสามารถดำเนินการได้ และจะไม่ถูกพรรครีพับลิกันเล่นการเมืองขัดขวาง เขาน่าจะสามารถผลักดันนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจมูลค่า 700,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ รวมถึงนโยบายปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมที่เป็นต้นเหตุของการประท้วง Black Lives Matter ที่เขาหาเสียงไว้ได้

 

นอกจากนี้ ไบเดนจะยังสามารถแต่งตั้งผู้พิพากษาได้ตามที่เขาเห็นสมควรโดยไม่ต้องกลัวการขัดขวางจากรีพับลิกัน ซึ่งก็เป็นที่คาดเดากันว่าผู้พิพากษาของศาลสูงสุดที่มีแนวคิดเสรีนิยมอย่าง สตีเฟน เบรเยอร์ (ที่มีอายุ 82 ปีในปีนี้) อาจจะตัดสินใจเกษียณตัวเอง เพื่อไม่ให้เกิดเหตุการณ์ซ้ำรอยแบบกรณีของ รูธ เบเดอร์ กินส์เบริกส์ ที่ดำรงตำแหน่งจนเสียชีวิต และถูกแทนที่ด้วยผู้พิพากษาฝ่ายขวาอย่าง เอมี โคนีย์ บาร์เรตต์ (เพราะประธานาธิบดีในขณะที่กินส์เบริกส์เสียชีวิตเป็นรีพับลิกันแบบทรัมป์)

 

แต่ไบเดนจะทำสิ่งที่มุ่งหวังได้ลุล่วงทั้งหมดหรือไม่นั้น เวลาจะเป็นเครื่องพิสูจน์ อย่างน้อยๆ ก็ช่วง 2 ปีข้างหน้า ก่อนการเลือกตั้งกลางเทอมที่ภูมิทัศน์การเมืองอเมริกาอาจเปลี่ยนแปลงไปอีก ซึ่งหนทางของเขาอาจไม่ราบเรียบอย่างที่คิด 

 

พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X