ย้อนกลับไปเมื่อต้นเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ในช่วงที่สถานการณ์แพร่ระบาดของโควิด-19 เพิ่งเริ่มคุกคามชีวิตของผู้คนทั่วโลกจนส่งให้ประเทศไทยต้องเข้าสู่โหมดล็อกดาวน์ THE STANDARD POP ได้ติดต่อไปยังแฟชั่นดีไซเนอร์ไทยจำนวน 10 คน จาก 10 แบรนด์เพื่อไถ่ถามสารทุกข์สุกดิบ และไม่ลืมที่จะถามถึงแบรนด์ของพวกเขาว่าได้รับผลกระทบอย่างไรบ้างจากวิกฤตครั้งนี้ ซึ่งแน่นอนว่าไม่มีใครไม่ได้รับผลกระทบ
2 เดือนต่อมา หลายภาคส่วนรวมถึง THE STANDARD ในฐานะสื่อมวลชน ได้มีการเสนอทางแก้ วิธีการรับมือ องค์ความรู้ และกลยุทธ์ใหม่ๆ ที่จะมาช่วยให้เรารอดจากสงครามครั้งนี้ ราวกับคอร์สเรียนภาษาแบบเร่งรัดที่อัดแน่นด้วยเนื้อหาภายในไม่กี่ชั่วโมง และหลังจากนั้นเองที่ทำให้เรานึกถึงเหล่าดีไซเนอร์ที่เคยติดต่อไปอีกครั้งว่าพวกเขาได้ปรับตัวและรับมือกับสิ่งที่เกิดขึ้นอย่างไรกันบ้าง
แบรนด์แรกที่ติดต่อกลับไปคือ Vickteerut ซึ่งเราเคยได้รับเชิญให้ไปชมแฟชั่นโชว์เปิดคอลเล็กชัน Spring/Summer 2020 ไม่นานก่อนจะเข้าสู่ช่วงล็อกดาวน์
จำได้ว่าวันนั้นเราได้พูดคุยกับ แป้ง-อรประพันธ์ สุทธินรเศรษฐ์ กรรมการบริหารและดีไซเนอร์ของ Vickteerut และ Vick’s เพียงไม่กี่วินาที แต่วันนี้เราได้คุยกันผ่านโทรศัพท์ และเหมาะจะนับว่าเป็นการคุยกันครั้งแรกระหว่างเรามากกว่าครั้งก่อนหน้า ซึ่งความเป็นกันเองของเธอก็ได้ก่อให้เกิดเป็นบทสนทนาที่จริงใจมากกว่าการสัมภาษณ์ที่จริงจัง
พร้อมๆ เรื่องราวการปรับตัวของแบรนด์ การขาย การลองผิดลองถูก วิธีการบริหารคนที่ใช้ใจแลกใจ ทั้งหมดหลอมรวมกันเป็นสิ่งเธอได้เรียนรู้ตลอดช่วงเวลา 2 เดือนที่ยาวนานเหมือนว่าได้ผ่านไปแล้ว 2 ปี…
เป็นอย่างไรบ้างกับสถานการณ์ของแบรนด์ตลอด 2 เดือนที่ผ่านมา
ถ้าจะให้หาคำนิยามในช่วงโควิด-19 พี่ว่ามันแปลกดี เพราะเป็นสิ่งที่เราไม่เคยเจอ เหมือนเราต้องหาสกิลทั้งหมดที่เรามีรวมกับสปิริตของทุกคนในทีมมาใช้ช่วงนี้ ทั้งการบริหาร จัดการเรื่องเงิน ที่ปกติพี่แทบจะไม่ค่อยสนใจอะไรเลย
ไม่ใช่ว่าขายดีนะ แต่ตัวพี่เองจะดูเรื่องเงินไม่ค่อยเป็น มันก็เหมือนฝึกให้เราสนใจ เอาเงินมาดูซิว่ามันจะสามารถเลี้ยงออฟฟิศไปได้นานเท่าไร หรืออย่างเรื่องการจัดการซึ่งพี่ว่าสนุก เพราะว่าเราได้ลองอะไรใหม่ๆ เยอะมากในช่วง 2-3 เดือนที่ผ่านมา
มันยังมีอีกหลายคำถามในหัวนะที่พี่ยังตอบไม่ได้ เช่น New Normal จะเป็นอย่างไร คนจะซื้อเสื้อผ้าแบบนี้ไหม พี่ตอบไม่ได้เลย เพราะว่ามันคือเรื่องของอนาคต เราเดาคนไม่ค่อยได้
น่าจะถนัดเรื่องงานออกแบบมากกว่าใช่ไหม
ใช่ค่ะ แล้วอยู่ดีๆ เราต้องมาบริหารแบบรายวัน ปกติเราวางแผนล่วงหน้าเป็นเดือนว่าซีซันนี้จะทำอะไรบ้าง แต่ตอนนี้เราต้องถามเลยว่าเงินมีเท่าไร ทำอะไรได้บ้าง ตอนนี้หน้าร้านปิด ออนไลน์ขายได้ไปถึงไหน ทำอย่างไรให้ไลน์ไปถึงลูกค้าแล้วเขาไม่ปล่อยผ่าน แล้วพอของไปถึงลูกค้า แต่ลูกค้าแทบไม่ได้ลองเลย มันเหมือนเป็นการพัฒนาไปพร้อมกันว่าจะทำอย่างไรให้ลูกค้าคืนของน้อยที่สุด แล้วก็ต้องจัดการกับสต๊อกที่มีอยู่
อย่างคอลเล็กชัน Spring/Summer ที่ออกมาแล้วคนจะใส่ไปไหน เมื่อไม่มีการออกงานแล้ว เราก็นำชุดที่มีอยู่มาคิดใหม่ เราจะทำอย่างไรกับมันดี สมมติว่าเรามีเดรสยาว เอามาตัดสั้นไหม ทำเป็นเสื้อกับกระโปรงแยกชิ้นไป หรือว่าจะรอไปลดราคา แต่ถ้ารอลด เงินก็หมุนมาไม่ถึงเราอีก
ตอนนี้ต้องกลับไปดูแม้กระทั่งข้อมูล ซึ่งพี่มองว่าข้อมูลที่เราเก็บมาก่อนหน้านี้ไม่ดี เราต้องพัฒนาในอนาคต หมายถึงมันต้องบันทึกแล้วว่าแพตเทิร์นนี้คนใส่ แพตเทิร์นนี้คนไม่ใส่ กระโปรงความยาวประมาณนี้เขาไม่ใส่กันแล้ว เราต้องทำงานตอบโจทย์ข้อมูลมากกว่าที่จะเอาความพอใจของเรามาใช้ แต่มันก็ต้องควบคู่กันไปนะ ถ้าเอาข้อมูลอย่างเดียวมันก็ไม่มีอะไรใหม่เกิดขึ้น ซึ่งพี่ไม่อยากให้ Vickteerut กลายเป็นแบรนด์ที่ทำงานตามตลาดอย่างเดียว
แฟชั่นโชว์คอลเล็กชัน Spring/Summer 2020
ส่วนใหญ่ชุดของ Vickteerut จะเป็นชุดใส่ทำงานหรือชุดออกงาน เมื่อเจอกับวิกฤตแบบนี้ ทางแบรนด์มีแผนจะทำสินค้าที่เป็นเสื้อผ้าประจำวันบ้างไหม เช่น เสื้อยืด หรือกางเกงอยู่บ้านที่ใส่ง่ายๆ
ในอนาคตพี่คิดว่าคอลเล็กชัน Autumn/Winter เราคงไม่มี เราจะออกเป็น 1.1, 1.2, 1.3, 1.4 คืออยากทำให้มันเป็นกรุ๊ปเล็กๆ และไม่ได้เป็นคอลเล็กชันใหญ่เท่าเดิม อันดับหนึ่งคือเราไม่รู้ว่าแบบที่เราดีไซน์จะได้รับผลตอบจากลูกค้าอย่างไร เราก็เลยต้องปรับให้มันดูแคชวลมากขึ้น ใส่ได้ในชีวิตประจำวันมากขึ้น สบายมากขึ้น เนื้อผ้าไม่เป็นทางการเกินไป ไม่แข็งจนเป็นโครงเกินไป เน้นการสวมใส่มากขึ้น ไม่ต้องไปหวังให้คนออกงานแล้วต้องมาซื้อชุดที่เรา ซึ่งทั้งหมดเราหวังว่าจะเกิดขึ้นในช่วงปลายเดือนมิถุนายนหรือต้นเดือนกรกฎาคม
ต้องเปลี่ยนกระบวนการออกแบบและโปรดักชันของแบรนด์บ้างไหม
ปัญหาเยอะมาก ผ้าก็ไม่มี สมมติว่าเราออกแบบเสร็จจะไปหาผ้าที่ไหน หลังๆ เรารอเอเจนต์มาขายผ้า ทั้งผ้าจีน ผ้าญี่ปุ่น ผ้าเกาหลี แต่ตอนนี้มันไม่มี ถ้าอย่างนั้นเราไปดูสำเพ็งก็ได้ ร้านดีๆ ก็มี แพงหน่อย แต่ไม่เป็นไร แต่พอไปถึงเจอร้านปิด มันก็เลยเป็นปัญหาพันกันไปหมดเลย
สิ่งหนึ่งที่เราจัดการได้คือเราต้องเอาของที่พอมีอยู่มาออกแบบให้เกิดเป็นสินค้าใหม่ ดีเทลใหม่ ใช้ทรัพยากรที่เรามีอยู่ให้คุ้มค่ามากที่สุด แต่ก่อนดีไซเนอร์อาจจะออกมา 10 แบบแล้วจบเลย แต่ตอนนี้เราเขียนเป็นร้อยแบบ คิดเยอะมากว่าผ้าชนิดนี้ต้องอยู่กับชุดนี้ ชุดนี้ใส่ไปไหน เราทำงานยากขึ้นเยอะ ทำอย่างไรให้มันดูแคชวล แต่ยังไม่เป็น Modern Tailored อยู่ ซึ่งพี่ว่ายาก การออกแบบเหล่านี้มันจะไปอยู่ที่ออนไลน์ ปกติลูกค้าที่ซื้อเขาจะไปเดินดูหน้าห้าง เข้าไปลอง ใส่สวยแล้วค่อยซื้อ แต่ปัจจุบันนี้คือการทำอย่างไรก็ได้ให้คนเห็นรูปแล้วอยากใส่ ซึ่งมันโคตรยากเลยสำหรับแบรนด์ที่เน้นความเรียบ โมเดิร์น และคลาสสิกแบบเรา
พอเป็นอย่างนี้ คิดว่าต่อไปทางแบรนด์จะมีวิธีสื่อสารใหม่ๆ ไปยังลูกค้าไหม เช่น วิดีโออธิบายรายละเอียดสินค้า ฯลฯ
ถ้าเราจะอยู่แค่หน้าจออินสตาแกรมจริงๆ โจทย์คือทำอย่างไรให้คนรู้ถึงความแตกต่างระหว่างแบรนด์เรากับแบรนด์ออนไลน์ทั่วไป เมื่อก่อนไม่ว่าเราจะทำเสื้อผ้าขาย ไม่ว่าจะเป็นรูปอะไรก็ตาม เราจะเอาลุคบุ๊กมาลง รูปออนไลน์ก็คือรูปเราเองที่เอามาใช้ ซึ่งมันจะเป็นรูปที่เห็นว่านางแบบใส่แล้วสวย ทีนี้ต้องมาคิดกันว่ารูปภาพแบบไหนที่มันทำให้คนเห็นแล้วอยากใส่มากขึ้น รูปที่คนมองแล้วเกิดความคิดว่า เออ ฉันใส่แบบนี้ได้ ไม่ใช่แค่นางแบบใส่
เราพยายามปรับให้รูปมันมีความเป็นไลฟ์สไตล์มากขึ้น และมองว่าอะไรคือตัวตนของผู้หญิง Vickteerut จริงๆ เธอจะทำท่าอะไรถ้าต้องเซลฟีตัวเอง มันยากตรงที่เราต้องดึงเอาความเป็นแบรนด์ของเราออกมาเป็นรูปแนวไลฟ์สไตล์ให้ได้ นี่คือสิ่งใหม่ที่พี่พยายามจะทำ มันอาจจะไม่ได้มีวิดีโออะไร เป็นรูปถ่ายปกตินี่แหละ แต่ต้องดึงคาแรกเตอร์ของเราออกมาให้ตรงที่สุด
เห็นว่า Vickteerut ลงมาเล่นสนาม Marketplace มากขึ้น ทำไมทางแบรนด์จึงสนใจช่องทางนี้มากกว่าการทำ Official Webstore
คือก่อนหน้าที่จะมีโควิด-19 พี่เตรียมตัวที่จะเข้า Lazada อยู่แล้ว เพราะตั้งใจที่จะขายเฉพาะของลดราคาที่นั่น คือพี่ไม่อยากให้ลูกค้าคิดว่า Lazada เท่ากับหน้าร้านของเรา อย่างไรก็ตามเว็บไซต์ อินสตาแกรม หรือ LINE Official ยังคงเป็นหน้าร้านหลักอยู่ แต่ในนั้นก็เป็นของเราแหละ เพียงแต่ว่าในนี้คือคนเข้ามาก็จะรู้เลยว่ามีของลดราคา แต่เราต้องมาเรียนรู้ใหม่ว่าจะจัดสต๊อกอย่างไรให้ใน Lazada ไม่ดึงของจากหน้าเว็บไซต์ จริงๆ แล้วเราควรมีทั้งสองอย่าง และเว็บไซต์ของ Vickteerut เองก็กำลังจะปรับรูปแบบให้ซื้อง่ายขายคล่องขึ้น
กลัวไหมว่าลูกค้าจะติดของลดราคามากกว่าของใหม่
กลัวนะ แต่เรื่องลูกค้าติดของลดราคาคือเราลองมา 5-6 ปีแล้ว ตัดเรื่อง Lazada ไปก่อน หลังๆ แค่ Vickteerut อย่างเดียว พี่พยายามจะลดราคาแค่ปีละ 2 ครั้ง คือพยายามที่จะไม่ลดราคาเลยหรือนานๆ ที เราเข้าใจว่านี่เป็นช่วงที่เป็นปัญหา จึงต้องมีโปรโมชันออกมาเพื่อดึงดูดการซื้อขาย แต่ว่าช่วงหลังจากนี้ถ้าอยู่ในสภาพปกติแล้ว พี่คิดว่าเอาจริงๆ สถานการณ์ก็จะยังไม่ปกติ พี่ยังไม่คิดว่าคนจะซื้อของราคาเต็ม เพราะอย่างที่รู้กันว่าเสื้อผ้าอาจจะเป็นเรื่องรอง ถ้าถามจริงๆ ว่ากลัวไหม ‘กลัว’ แต่ถ้าหากว่า Lazada จะมาทำให้สินค้าราคาเต็มหน้าร้านยอดขายลดลง อันนี้พี่ว่าไม่เกี่ยว เพราะว่ามันเป็นคนละกลุ่มกัน ขนาดพี่ยังรอของลดราคาเลย ทุกคนรอการลดราคาเสมอ ตัวเราก็เป็น
แป้ง อรประพันธ์ และจูน สาวิตรี ที่สาขาเซ็นทรัล ชิดลม
ตอนนี้ทางรัฐบาลกำลังอยู่ในช่วงวางแผนที่จะให้ห้างสรรพสินค้ากลับมาเปิดอีกครั้ง ซึ่งคาดว่าน่าจะเป็นช่วงวันที่ 17 พฤษภาคมนี้ ข่าวนี้พอจะทำให้เจ้าของแบรนด์โล่งใจขึ้นมาบ้างไหม
พี่ไม่ค่อยอยากให้เปิดเลย อันดับหนึ่งคือโชคดีที่เราเป็น GP ถ้าขายไม่ได้ก็ไม่เป็นไร แต่พวกร้านที่มีค่าเช่า ค่าใช้จ่ายเยอะๆ ถ้ามันไม่มีคนเข้า เขาเจ็บกว่าเดิม ไหนจะค่าพนักงาน ค่าเช่าร้าน แต่มันก็ต้องค่อยๆ เปิดแหละ พี่เข้าใจ ปิดไปนานก็แย่ เปิดเร็วก็แย่ มันก็ต้องค่อยๆ เปิด เราก็ต้องอดทนกันต่อ ไม่รู้ว่าจะขายดีขึ้นหรือเปล่า
อย่างไรก็ตาม ต่อไปนี้พี่ต้องเน้นออนไลน์ให้หนักกว่าการพึ่งพาหน้าร้าน แต่มันก็ดีนะ แผนออนไลน์คือแผนที่เราอยากทำมานานแล้ว แต่เราคิดว่าเดี๋ยวค่อยทำ พอเกิดเหตุการณ์นี้เราต้องทำเลย แล้วเราก็ดีใจที่ได้ทำเลย ไม่ต้องคิดอะไรเยอะ ทำไปเลย
วิกฤตนี้สอนอะไรในฐานะดีไซเนอร์ หัวหน้าองค์กร และเจ้าของธุรกิจ
สอนเยอะเลยนะ มันสอนให้รู้สึกว่าเราต้องลองทำอะไรใหม่ๆ ลองไปเลย ไม่ต้องกลัว ถ้ามันเจ๊งก็คือเราทำเจ๊งเอง มันสอนให้เรารู้จักการยอมรับความคิดของคนอื่น แล้วมันก็สอนให้เราอดทน ข้อดีอีกอย่างหนึ่งคือมันเตือนให้เรารู้ว่าจริงๆ แล้วลูกน้องหรือคนที่ทำงานกับเรา เขารักเรา เขารักบริษัท ความจริงทุกคนโดนลดเงินเดือนนะ แต่ว่าเขาเดินมาบอกพี่ว่าไม่เป็นไรเลย เข้าใจ เพราะถ้าไม่มีบริษัท เขาก็ไม่มีงานทำ ตรงนี้มันทำให้เรารู้สึกดีมาก อย่างน้อยคือเรามีกันและกัน ช่วยเรื่องพลังใจกันเสมอ เป็นอีกหนึ่งกำลังใจที่สอนว่าเราไม่ต้องกลัวอะไรหรอก ลองทำ ลองผิดลองถูกไปด้วยกัน
ภาพ: Vickteerut
พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์