×

วิชัย ศรีวัฒนประภา จากเด็กปั๊มสู่อาณาจักรแสนล้าน เปิดเรื่องราวการฝ่าฟันจากปากคนใกล้ชิด

29.10.2018
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

6 Mins. Read
  • วิชัย ศรีวัฒนประภา เริ่มประกอบธุรกิจร้านค้าปลอดอากรครั้งแรกเมื่อปี 2532 จากการเปิดกิจการในฮ่องกง เพราะเห็นว่าคนไทยมักซื้อของกลับมาฝากครอบครัวเสมอ ก่อนกลับมาทำธุรกิจในไทยภายใต้ชื่อบริษัท ดาวน์ทาวน์ ดี.เอฟ.เอส. (ไทยแลนด์) จำกัด แล้วเปลี่ยนเป็นคิง เพาเวอร์ ในเวลาต่อมา
  • มีศิลปะในการบริหารคน ครั้งหนึ่งสนามบินสุวรรณภูมิต้องปิดให้บริการชั่วคราว ส่งผลให้บริษัทได้รับผลกระทบขาดรายได้ 2 เดือนเต็ม แต่วิชัยก็ไปกู้เงินจากธนาคารมาจ่ายเงินเดือนพนักงานเต็มจำนวน
  • รักและชื่นชอบการทำงานพิเศษมาตั้งแต่เด็กๆ สมัยไปเรียนที่ไต้หวันตอนอายุ 11 ขวบเคยบอกคุณแม่เอาไว้ว่าโตขึ้นจะรวยแล้วเลี้ยงแม่เอง พอไปอยู่กับเพื่อนๆ ก็เช่าหนังจากร้านมาฉายบนผ้าปูที่นอนแล้วเก็บเงิน หลังจากนั้นเมื่อย้ายไปเรียนที่สหรัฐอเมริกาก็ยังไปทำงานที่ปั๊ม และร้านอาหาร

 

 

คืนวันเสาร์ที่ 27 ตุลาคมตามเวลาประเทศอังกฤษ ‘เจ้าสัววิชัย’ วิชัย ศรีวัฒนประภา ประธานสโมสรฟุตบอลเลสเตอร์ ซิตี้ กำลังเตรียมตัวเดินทางกลับบ้านด้วยเฮลิคอปเตอร์หลังเสร็จสิ้นภารกิจเข้าชมเกมการแข่งขันฟุตบอลพรีเมียร์ลีกนัดเปิดบ้านเสมอเวสต์แฮม 1-1 เหมือนที่เขาทำเป็นปกติในทุกๆ แมตช์เดย์

 

เคราะห์ร้ายที่เฮลิคอปเตอร์ลำดังกล่าวประสบอุบัติเหตุ สูญเสียการควบคุม ใบพัดด้านหลังไม่ทำงาน ตัวเครื่องร่วงหล่นจากฟ้าและเกิดไฟลุกไหม้ทันที ในเวลาต่อมาสโมสรฟุตบอลเลสเตอร์ ซิตี้ และทางการได้ออกมาเปิดเผยว่า วิชัยและผู้ติดตามพร้อมนักบินรวม 5 คนได้เสียชีวิตทันทีจากเหตุการณ์ครั้งดังกล่าว…

 

นี่คือการสูญเสียที่ยิ่งใหญ่ของครอบครัวศรีวัฒนประภา ครอบครัวคิง เพาเวอร์ ครอบครัวเลสเตอร์ ซิตี้ โลกฟุตบอล และวงการนักธุรกิจ ไม่มีใครอยากให้เรื่องน่าเศร้าเช่นนี้ต้องเกิดขึ้นกับคนที่ตัวเองรัก

 

หลังการจากไปในวัย 60 ปีของวิชัย เราพบว่าเรื่องราวชีวิตในฐานะนักธุรกิจของชายผู้นี้มีมุมน่าสนใจให้เก็บเกี่ยวอยู่มากมาย ความสำเร็จของเขาไม่เพียงแต่วัดได้จากการเป็นเจ้าของสินทรัพย์ระดับแสนล้านบาท หากแต่ในทุกๆ ย่างก้าวที่วิชัยเลือกเดินคือบทพิสูจน์ที่ว่าความสำเร็จ และ ‘ความพยายาม’ เป็นสองสิ่งที่ต้องเดินทางคู่กันอยู่เสมอ

 

เรื่องราวบางส่วนที่คุณจะได้อ่านต่อไปนี้มาจากบทสัมภาษณ์คนใกล้ตัวของวิชัยที่ทาง THE STANDARD เคยมีโอกาสได้ร่วมพูดคุย เพื่อบอกเล่าภาพของเขาในฐานะเจ้าสัวนักธุรกิจผู้ยิ่งใหญ่ พ่อของลูกๆ เด็กปั๊ม และชายผู้ไม่เคยก้มหัวให้อุปสรรคและความล้มเหลวใดๆ ในชีวิต

 

 

‘ศิลปะการซื้อใจคน และความมุมานะ’ สองในหลายๆ สิ่งที่เราเรียนรู้ได้จากเจ้าสัวธุรกิจ เจ้าของอาณาจักรสินค้าปลอดภาษีระดับแสนล้าน

วิชัยเริ่มต้นเข้าสู่เส้นทางการประกอบธุรกิจร้านค้าปลอดอากรครั้งแรกเมื่อปี 2532 จากการเปิดกิจการในฮ่องกง ก่อนจะกลับมาทำธุรกิจในไทยภายใต้ชื่อบริษัท ดาวน์ทาวน์ ดี.เอฟ.เอส. (ไทยแลนด์) จำกัด ที่อาคารมหาทุน พลาซ่า โดยได้ไอเดียธุรกิจ และแนวคิดจากช่วงที่เดินทางไปต่างประเทศอยู่เป็นประจำ แล้วเห็นคนไทยซื้อสินค้าจากร้านขายของปลอดภาษีที่สนามบินฮ่องกงกลับมาฝากครอบครัว

 

ในปี 2533 ธุรกิจจำหน่ายสินค้าปลอดอากรของวิชัยได้จดทะเบียนกับกรมพัฒนาธุรกิจการค้าในนามบริษัท คิง เพาเวอร์ แท็กซ์ฟรี จำกัด ด้วยทุนจดทะเบียน 300 ล้านบาท เพื่อจุดประสงค์ของการประกอบธุรกิจจำหน่ายสินค้าปลอดภาษี

 

กระทั่งในปี 2536-2545 คิง เพาเวอร์ ก็ได้รับสัมปทานจากการท่าอากาศยานแห่งประเทศไทย ให้เข้าบริหารร้านค้าปลอดภาษี จำหน่ายสินค้าทั่วไปที่ท่าอากาศยานดอนเมือง เชียงใหม่ ภูเก็ต และหาดใหญ่ และในปี 2549 ก็ได้รับสัมปทานเข้ามาบริหารจัดการพื้นที่จำหน่ายสินค้าปลอดภาษีและอากร รวมถึงพื้นที่เชิงพาณิชย์ในท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ เชียงใหม่ ภูเก็ต และหาดใหญ่ ก่อนขยายพื้นที่ประกอบธุรกิจในประเทศอื่นๆ รวมถึงบนเครื่องบินของการบินไทยและแอร์เอเชีย

 

 

จากข้อมูลของกรมพัฒนาธุรกิจการค้า พบว่าปัจจุบันคิง เพาเวอร์ มีการจดทะเบียนออกเป็น 11 บริษัทที่ยังดำเนินกิจการอยู่ ได้แก่

 

1. บริษัท คิง เพาเวอร์ แท็กซ์ฟรี จำกัด (จดทะเบียน 2533): จำหน่ายสินค้าปลอดภาษี

ผลประกอบการปี 2560: รายรับรวม 5,467,685,779 บาท กำไรสุทธิ 248,634,307 บาท

 

2. บริษัท คิง อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (จดทะเบียน 2538):

ร้านค้าขายปลีกและร้านค้าปลอดภาษีอากรบริการจัดการ

ผลประกอบการปี 2560: รายรับรวม 56,151,747,352 บาท กำไรสุทธิ 3,944,996,923 บาท

 

3. บริษัท คิง เพาเวอร์ ดิวตี้ฟรี จำกัด (จดทะเบียน 2539):

จำหน่ายสินค้าปลอดอากรให้บริการจุดส่งมอบสินค้าปลอดอากร ณ ท่าอากาศยานนานาชาติ

ผลประกอบการปี 2560: รายรับรวม 35,633,729,034 บาท กำไรสุทธิ 1,838,120,075 บาท

 

4. บริษัท คิง เพาเวอร์ ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (จดทะเบียน 2540):

ให้บริการจุดส่งมอบสินค้าปลอดอากร ณ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ

ผลประกอบการปี 2560: รายรับรวม 863,414,138 บาท กำไรสุทธิ 117,879,204 บาท

 

5. บริษัท คิง เพาเวอร์ มาเก็ตติ้ง แอนด์ เมเนจเมนท์ จำกัด (จดทะเบียน 2541):  

ประกอบกิจการจำหน่ายสินค้าปลอดอากรบนเครื่องบิน โดยสารระหว่างประเทศ

ผลประกอบการปี 2560: รายรับรวม 404,754,909 บาท ขาดทุนสุทธิ -144,125,217 บาท

 

6. บริษัท คิง เพาเวอร์ คลิก จำกัด (จดทะเบียน 2542):

ตัวแทนขายสินค้าทางเครือข่ายอินเทอร์เน็ต

ผลประกอบการปี 2560: รายรับรวม 38,403,124 บาท ขาดทุนสุทธิ -20,024,198 บาท

 

7. บริษัท คิง เพาเวอร์ โฮเทล แอนด์ เมเนจเมนท์ จำกัด (จดทะเบียน 2547):

โรงแรมและภัตตาคาร

ผลประกอบการปี 2560: รายรับรวม 665,310,294 บาท กำไรสุทธิ 42,597,904 บาท

 

8. บริษัท คิง เพาเวอร์ เอนเตอร์เทนเมนท์ จำกัด (จดทะเบียน 2548):

ให้บริการด้านการบริหาร และการจัดการด้านต่างๆ

ผลประกอบการปี 2560: รายรับรวม 9,105,387 บาท กำไรสุทธิ 703,535 บาท

 

9. บริษัท คิง เพาเวอร์ สุวรรณภูมิ จำกัด (จดทะเบียน 2548):

บริหารจัดการพื้นที่เชิงพาณิชย์

ผลประกอบการปี 2560: รายรับรวม 5,324,105,976 บาท กำไรสุทธิ 1,764,802,470 บาท

 

10. บริษัท คิง เพาเวอร์ เอวิเอชั่น จำกัด (จดทะเบียน 2557):  

ประกอบกิจการขนส่งคนโดยสาร ไปรษณีย์ สิ่งของและพัสดุภัณฑ์ทางอากาศ

ผลประกอบการปี 2560: รายรับรวม 216,701 บาท กำไรสุทธิ 162,083 บาท

 

11. บริษัท คิง เพาเวอร์ มหานคร จำกัด (จดทะเบียน 2557):

ประกอบกิจการค้า จัดสรร ปลูก สร้าง จำนอง โอน ขายฝาก ให้แลกเปลี่ยน เช่า ให้เช่า บริหารอสังหาริมทรัพย์

ผลประกอบการปี 2560: ‘ยังไม่ส่งงบการเงิน’

 

หมายเหตุ: ในกลุ่ม 11 บริษัทของคิง เพาเวอร์ เบื้องต้น มีอยู่ 4 บริษัทที่วิชัยไม่ได้ดำรงตำแหน่งกรรมการบอร์ดบริหารได้แก่ บริษัท คิง เพาเวอร์ ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด, บริษัท คิง เพาเวอร์ คลิก จำกัด, บริษัท คิง เพาเวอร์ เอนเตอร์เทนเมนท์ จำกัด และบริษัท คิง เพาเวอร์ มหานคร จำกัด

 

 

ขณะที่จากการเปิดเผยโดยนิตยสาร Forbes เมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมาพบว่าวิชัยอยู่ในลำดับที่ 5 ของเศรษฐีไทยประจำปี 2561 และจากข้อมูลล่าสุดเมื่อวันที่ 28 ตุลาคมพบว่า เขามีมูลค่าทรัพย์สินในครอบครองรวมกว่า 4,900 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 162,600 ล้านบาท

 

เรื่องเล่าที่น่าสนใจจาก เอมอร ศรีวัฒนประภา คู่ชีวิตของประธานบริหารกลุ่มคิง เพาเวอร์ และอัยยวัฒน์ ลูกชาย พบว่าในช่วงปี 2549 คือช่วงที่กิจการดิวตี้ฟรีของครอบครัวสั่นคลอนพอสมควร สืบเนื่องจากเหตุการณ์ปิดสนามบินสุวรรณภูมิ ที่ส่งผลกระทบต่อธุรกิจเป็นระยะเวลา 2 เดือน ทั้งๆ ที่เพิ่งเปิดให้บริการไม่นานด้วยซ้ำ

 

ช่วงนั้นคิง เพาเวอร์ ไม่มีรายรับเลย แต่เพราะต้องจ่ายเงินเดือนพนักงานตามปกติ วิชัยจึงไปดำเนินเรื่องกู้ยืมเงินจากธนาคารมาจ่ายเงินเดือนพนักงานกว่า 1,000 คน เพราะมองว่าพนักงานคือคนสำคัญขององค์กร และเข้าใจดีว่าทุกคนต่างก็มีภาระที่ต้องแบกรับ

 

ผลสุดท้ายครอบครัวคิง เพาเวอร์ ก็ผ่านวิกฤตในครั้งนั้นมาได้พร้อมกับได้ใจพนักงานในองค์กรทุกคนเป็นของแถม นี่คือศิลปะในการซื้อใจคนที่วิชัยเรียนรู้มาตั้งแต่สมัยต้องเดินทางไปเรียนหนังสือที่ต่างประเทศ และยังคงปฏิบัติเช่นเดิมมาตลอด แม้แต่มารดา ประภาศร รักศรีอักษร ก็ยังเคยบอกว่าเขามักจะนำเงินค่าขนมไปเลี้ยงเพื่อนๆ พี่ๆ น้องๆ อยู่ตลอด ส่วนเพื่อนๆ ที่ร่ำเรียนใน International Chinese School มาด้วยกันก็ยืนยันว่าเขาเป็นคนที่ใจกว้างมาก นำขนม เอาเงินมาเลี้ยงเพื่อนๆ อยู่เสมอ

 

 

นอกจากนี้ในสายตาของลูกๆ วิชัยยังเป็นคนทำงานที่โหมงานหนักอยู่เสมอ โดย อภิเชษฐ์ ศรีวัฒนประภา บุตรชายคนโตเคยบอกกับ THE STANDARD ว่า เขาเห็นพ่อทำงานหนักสมัยที่ตนยังเรียนอยู่ที่อังกฤษ​ ในช่วงปิดเทอมเขาเดินทางกลับมาบ้านที่ประเทศไทยแล้วพบว่าพ่อเข้าไปทำงานที่สนามบินสุวรรณภูมิจนถึงตี 1 และตี 2 ต้องตรวจไซต์งานด้วยตัวเองทั้งๆ ที่ยังก่อสร้างไม่เสร็จและเต็มไปด้วยฝุ่น

 

ด้วยความบากบั่นมุมานะและพยายาม และศิลปะในการบริหารคน จึงทำให้ทุกวันนี้วิชัยยังคงเป็นที่รักของเพื่อนๆ และลูกน้องในองค์กรไม่เปลี่ยนแปลง

 

 

ประธานสโมสรฟุตบอลเลสเตอร์ ซิตี้ ผู้พิชิตใจทุกคนด้วยการตั้งเป้าหมาย และลงมือทำให้เห็น

ภาพจำในช่วง 7-8 ปีหลังสุดที่คนส่วนใหญ่ทั้งไทยและชาวต่างชาติมีต่อวิชัยคือการเป็นเจ้าของและประธานสโมสรฟุตบอลเลสเตอร์ ซิตี้ พาทีมเล็กๆ จากเมืองเลสเตอร์ ย่านอีสต์มิดแลนด์ของอังกฤษก้าวขึ้นมาจากลีกฟุตบอลแชมเปี้ยนชิป เถลิงบัลลังก์แชมป์ฟุตบอลพรีเมียร์ลีกสมัยแรกของสโมสร สร้างประวัติศาสตร์ และตำนานบทใหม่ให้กับวงการฟุตบอลโลก

 

แต่กว่าจะมาถึงวันนี้ เป็นทั้งที่ ‘ยอมรับ’ และ ‘ที่รัก’ ของคนทุกคน เขาต้องฝ่าฟันอุปสรรคที่ถาโถมพุ่งเข้าใส่ชนิดไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อย เริ่มตั้งแต่วันแรกที่ประกาศเข้าเทกโอเวอร์สโมสรแบบ 100% ในปี 2011 กับสื่ออังกฤษที่ขึ้นชื่อในด้านการขุดคุ้ย และการตั้งประเด็นถกเถียงที่ไม่กลัวเกรงใครหน้าไหน

 

ครั้งแรกที่วิชัยตัดสินใจซื้อสโมสรฟุตบอล ภาพจำที่อาจจะไม่ค่อยดีสักเท่าไรที่สื่อมวลชนอังกฤษเคยมีต่อนักธุรกิจเอเชียที่ตบเท้าก้าวเข้ามาในวงการฟุตบอลก็ผุดขึ้นมาโดยทันที เขาถูกครหาและปรามาสว่าเป็นแค่นักธุรกิจที่ไม่จริงจังกับฟุตบอล มองทุกอย่างเป็นเงิน และทุกอย่างก็คงเกิดขึ้นประเดี๋ยวประด๋าว ไม่ช้าหรือเร็วก็อาจต้องลาจากกันไปเหมือนนายทุนรายอื่นๆ

 

แต่สิ่งที่วิชัยทำ และลงมือปฏิบัติให้เห็นกลับตรงกันข้าม เขาพิสูจน์แล้วว่ากีฬาฟุตบอลคือสิ่งที่รักและหลงใหลจริงๆ ครั้งหนึ่งในวันงานแถลงข่าวเข้ารับตำแหน่งประธานสโมสรต่อจากมิลาน แมนดาริช เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2011 เขาเคยกล่าวเอาไว้ว่า ความตั้งใจของเขากับเดอะฟ็อกซ์ คือการพาทีมประสบความสำเร็จ และกลับมาในที่ที่ควรอยู่อย่างพรีเมียร์ลีกให้ได้

 

“เรามีกลยุทธ์ที่ชัดเจนสำหรับสโมสร และรากฐานแห่งความสำเร็จที่ได้ถูกร่างเอาไว้ เหตุผลสำคัญลำดับต้นๆ ที่ผมตัดสินใจเข้าลงทุนในเลสเตอร์ไม่ใช่แค่เพราะแพสชันที่ผมมีกับกีฬาฟุตบอล แต่เป็นเพราะปรารถนาอันแรงกล้าที่ผมอยากจะพาสโมสรฟุตบอลแห่งนี้กลับขึ้นสู่พรีเมียร์ลีกให้ได้” วิชัย กล่าว

 

ณ เวลานั้น เชื่อว่าบางคนคงมองว่าฝันของวิชัยคือเรื่องลมๆ แล้งๆ ถึงทำได้แต่อย่างน้อยๆ อาจจะใช้เวลาไม่ต่ำกว่า 5-10 ปี แต่เพราะความตั้งใจ และความจริงจังของหัวเรือใหญ่ผู้นี้ จึงช่วยส่งให้เลสเตอร์กลายเป็นแชมป์ลีกฟุตบอลแชมเปี้ยนชิปในอีก 3 ปีให้หลัง (ฤดูกาล 2013/2014) และเลื่อนชั้นขึ้นสู่ลีกฟุตบอลพรีเมียร์ลีกได้สำเร็จในรอบ 10 ปี

 

พอเลื่อนชั้นมา ประธานสโมสรผู้นี้ก็เคยประกาศกร้าวเอาไว้ว่าจะพาทีมไปยูฟ่า แชมเปี้ยนส์ลีกให้ได้ภายใน 3 ปี ซึ่งทำให้คนอังกฤษจำนวนไม่น้อยกลั้นขำกันแทบไม่อยู่ น้อยคนนักจะเชื่อในวิสัยทัศน์ดังกล่าว

 

 

และแล้วในปี 2016 เลสเตอร์ ซิตี้ ก็สามารถคว้าแชมป์ประวัติศาสตร์ นำโทรฟีพรีเมียร์ลีกสมัยแรกของสโมสรพร้อมริบบิ้นผูกหูถ้วยสีฟ้า-เหลืองเข้ามาสู่ตู้เก็บถ้วยรางวัลของสโมสรได้จริง พร้อมคว้าตั๋วไปเตะฟุตบอลสโมสรยุโรปเหมือนที่วิชัยได้ประกาศเอาไว้ ทั้งๆ ที่ฤดูกาลก่อนเกือบจะตกชั้นอยู่รอมร่อ

 

ไม่เพียงแค่เป้าหมายชัดเจนที่ทั้งวิชัย และอัยยวัฒน์ ศรีวัฒนประภา ลูกชายมีร่วมกันตั้งแต่วันแรกที่เข้ามาบริหารสโมสร เพราะแนวทางการบริหารงานทีมฟุตบอลของทั้งคู่ก็สอดคล้องไปกับวิสัยทัศน์ดังกล่าวเช่นกัน พวกเขารื้อระบบการบริหารสโมสรใหม่ เปลี่ยนตั้งแต่ระบบการดูแลจัดการภายในให้เป็นมืออาชีพ นำวัฒนธรรมองค์กรแบบไทยมารื้อฟื้นความสัมพันธ์ระหว่างทีมงานให้เชื่อมติดกัน วางระบบไอที ระบบการจัดหาซื้อขายนักฟุตบอล การซ้อมฟุตบอล วิทยาศาสตร์การกีฬา

 

แม้แต่โนว์ฮาวจากการเป็นเจ้าของกิจการดิวตี้ ฟรี คิง เพาเวอร์ และบุคลากรในบริษัท ทั้งคู่ก็ดึงเข้ามาทำงานร่วมกับร้านจำหน่ายสินค้าที่ระลึกของสโมสร จนทุกอย่างได้กลายเป็นจุดเริ่มต้นความสำเร็จที่ยิ่งใหญ่ของจิ้งจอกสีน้ำเงิน และทำให้ตัววิชัยและอัยยวัฒน์ กลายเป็นที่ยอมรับจากโลกลูกหนังจนถึงทุกวันนี้

 

 

เด็กปั๊ม เจ้าของโรงฉายหนังจากผ้าปูที่นอน ผู้ช่วยเชฟ คนธุรกิจที่รักการทำงานตั้งแต่เล็กๆ

น้อยคนจะรู้ว่าเจ้าสัววิชัยเริ่มหลงใหล และมีแพสชันการทำธุรกิจ หาลำไพ่พิเศษมาตั้งแต่เล็กๆ คุณแม่ประภาศรเล่าว่าเดิมทีบ้านของตนประกอบธุรกิจ ‘หล่อตัวพิมพ์’ ในสมัยที่วิชัยยังเด็ก เป็นเด็กเรียบร้อย ชอบอ่านหนังสือ มีพี่น้องทั้งหมด 4 คน เป็นลูกคนที่ 3 ถูกส่งไปเรียนที่ไต้หวันตั้งแต่อายุ 11 ขวบ

 

ครั้งต้องเดินทางไปเรียนต่อจริงๆ คุณแม่ก็กลั้นน้ำตาความคิดถึงลูกชายเอาไว้ไม่อยู่ วิชัยจึงปลอบแม่ว่า “แม่ไม่ต้องร้องไห้ เดี๋ยวไปเรียนพอโตขึ้นรวยแล้วจะทำงานเลี้ยงแม่เอง”

 

วิชัยมักจะเกิดไอเดียหยิบจับสิ่งของรอบตัวมาปั้นเป็นธุรกิจได้เสมอ ตัวอย่างเช่น ครั้งหนึ่งเขาเคยไปเช่าหนังจากร้านเช่าวิดีโอแล้วนำมาฉายขึ้นผ้าปูที่นอนให้เพื่อนๆ ได้ดูแล้วเก็บเงินทุกคน เมื่อย้ายมาเรียนต่อที่สหรัฐอเมริกา ก็ไปทำงานที่ร้านอาหารเป็นเด็กเสิร์ฟ พนักงานทำความสะอาดโต๊ะ และผู้ช่วยเชฟโดยไม่เกี่ยงงาน

 

พอคุณพ่อ (วิวัฒน์ รักศรีอักษร) ทราบเรื่องเข้าก็ถูกบังคับให้ลาออกจากงาน เพราะห่วงว่าจะเรียนได้ไม่เต็มที่ แต่จนแล้วจนรอด วิชัยก็ยังหาโอกาสกลับไปทำงานพิเศษในที่สุด โดยไปสมัครงานเป็นเด็กปั๊มที่สถานีบริการน้ำมันแห่งหนึ่ง

 

ถึงวันนี้ วิชัยจะจากโลกนี้ไปแล้วด้วยวัย 60 ปี แต่เมล็ดพันธ์ุความเป็นคนขยัน รู้จักสรรหาแนวคิดใหม่ๆ ที่ต่างจากคนอื่นมาประกอบธุรกิจตั้งแต่เล็กๆ จนผลของการเรียนรู้ และประสบการณ์ที่สั่งสมออกดอกออกผลงอกเงยสุกงอมเต็มที่พร้อมแก่การเก็บเกี่ยว คือบทเรียนที่ใครต่อใครก็สามารถนำมาปรับใช้กับชีวิตของตัวเองได้เสมอ ทั้งยังเป็นบทเรียนที่ส่งต่อให้กับคนรุ่นหลังได้ไม่รู้จบ…

 

พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising