นับตั้งแต่วันที่ Sony Pictures เริ่มเดินเครื่องจักรวาลภาพยนตร์ซูเปอร์ฮีโร่ของตัวเองด้วยการหยิบตัวละคร Anti-Hero ชื่อดังจาก Marvel Comics อย่าง เวนอม มาบอกเล่าผ่านภาพยนตร์เรื่อง Venom (2018) ซึ่งได้เสียงตอบรับที่ดีจากผู้ชมอย่างล้นหลามด้วยการกวาดรายได้รวมทั่วโลกไปกว่า 856 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
ไม่เพียงเท่านั้น หลังจากมีการปล่อยตัวอย่างของ Venom: Let There Be Carnage (2021) และ Mobius (2022) ที่มีการเปิดเผยฉากสำคัญๆ ให้แฟนๆ ได้เชื่อมโยงและคาดเดาเรื่องราวก็ยิ่งส่งให้จักรวาลซูเปอร์ฮีโร่ของ Sony Pictures น่าตื่นตาตื่นใจมากขึ้นเรื่อยๆ (ดังเช่นที่ทุกคนได้เห็นกันไปแล้วในฉากท้ายเครดิตของ Venom: Let There Be Carnage)
แต่หากมองในแง่ของตัวภาพยนตร์เพียงอย่างเดียว เรามีความรู้สึกว่า Venom: Let There Be Carnage ยังคงมีความสนุกสนานในแบบฉบับของภาพยนตร์ซูเปอร์ฮีโร่ แต่กลับไม่ได้เสน่ห์ที่น่าจดจำอยู่พอสมควร
Venom: Let There Be Carnage บอกเล่าเรื่องราวของ เอ็ดดี้ บร็อก (Tom Hardy) ที่เริ่มจะคุ้นชินกับการมาใช้ชีวิตร่วมกับ เวนอม ซิมไบโอตจากนอกโลกที่มาสิ่งสู่ตัวเขาในภาคแรกจนกลายเป็นเรื่องปกติ
กระทั่งวันหนึ่ง เอ็ดดี้ต้องเดินทางไปทำข่าวเกี่ยวกับ คลีตัส คาซาดี้ (Woody Harrelson) ฆาตกรต่อเนื่องที่ถูกตัดสินโทษประหารชีวิต แต่แล้วเหตุการณ์ไม่คาดฝันก็เกิดขึ้น เมื่อจู่ๆ คลีตัสได้เข้าทำร้ายเอ็ดดี้และดื่มเลือดของเขา ซึ่งส่งผลให้ คาร์เนจ ซิมไบโอตที่กำเนิดมาจากเวนอมได้เข้าไปในตัวของคลีตัส และช่วยเขาให้หนีออกมาจากเรือนจำได้สำเร็จ เอ็ดดี้และเวนอมจึงต้องร่วมมือกันเพื่อหยุดยั้งคลีตัสและคาร์เนจเอาไว้
จุดเด่นข้อหนึ่งที่เราชื่นชอบมากๆ คือการที่ผู้กำกับ Andy Serkis เลือกที่จะพาผู้ชมไปสำรวจความรู้สึกนึกคิดเอ็ดดี้และเวนอมให้มากยิ่งขึ้น เช่น ชีวิตประจำวันของพวกเขาเป็นแบบไหน การที่มีเวนอมอยู่ในร่างส่งผลต่อชีวิตของเอ็ดดี้อย่างไร รวมถึงการอยู่ในร่างของเอ็ดดี้ส่งผลต่อความคิดของเวนอมอย่างไร
หัวใจสำคัญของ Venom: Let There Be Carnage จึงเป็นการหยิบเรื่องราวในภาคแรกมาต่อยอดให้ผู้ชมได้ไปติดตามความสัมพันธ์ของเอ็ดดี้และเวนอมที่ค่อยๆ เรียนรู้ ปรับตัว และทำความเข้าใจในกันและกัน มันอาจจะไม่ได้ถึงขั้นประทับใจจนต้องเสียน้ำตา แต่ Andy Serkis ก็นำเสนอเรื่องราวของทั้งคู่ออกมาได้อย่างสนุกสนาน มีฉากให้ชวนหัวเราะและอมยิ้มไปกับพวกเขาได้ตลอดทาง
อีกหนึ่งจุดเด่นที่ภาพยนตร์นำเสนอออกมาได้ดีพอๆ กับภาคแรก คือการสร้างสรรค์ฉากแอ็กชันที่ดุเดือดสมกับชื่อเรื่องภาษาไทยว่า ศึกอสูรแดงเดือด โดยเฉพาะฉากเปิดตัวของคาร์เนจที่ทำให้ผู้ชมได้สัมผัสกับความร้ายกาจของมันได้เป็นอย่างดี รวมถึงฉากการเผชิญหน้ากันระหว่างเวนอมและคาร์เนจในช่วงท้ายเรื่องก็สนุกสนานชวนติดตามไม่แพ้กัน
แต่อย่างที่เรากล่าวไว้ในตอนต้น แม้ว่า Venom: Let There Be Carnage จะมีจุดเด่นในแง่ของการนำเสนอเรื่องราวความสัมพันธ์ของเอ็ดดี้และเวนอม รวมถึงฉากแอ็กชันที่สนุกสนาน แต่จุดด้อยสำคัญข้อหนึ่งที่ทำให้ความโดดเด่นของภาพยนตร์ลดน้อยลงอย่างเห็นได้ชัด คือตัวร้ายหลักของเรื่องอย่างคลีตัส ที่หากเราลองตัดความร้ายกาจออกไป คลีตัสแทบจะเป็นตัวร้ายที่ไม่มีความโดดเด่นให้เราจดจำเท่าไรนัก กล่าวคือ ภาพยนตร์พาเราไปทำความรู้จักตัวละครคลีตัสแบบคร่าวๆ ไม่ได้พาเราไปเจาะลึกถึงเรื่องราวมุมใดมุมหนึ่งของเขาเท่าไรนัก
รวมถึงบทบาทของคลีตัสที่ก็ไม่ได้ส่งผลกระทบต่อความสัมพันธ์ของเอ็ดดี้และเวนอมอย่างที่ควรจะเป็น มันจึงทำให้คลีตัสกลายเป็นตัวละครที่ไม่ได้มีบทบาทสำคัญไปกว่าการเป็นตัวร้ายที่พระเอกต้องจัดการ
เราจึงคิดว่าหากตัวบทภาพยนตร์นำเสนอเรื่องราวของคลีตัสให้มีมิติมากกว่านี้ หรือกลายเป็นปมปัญหาที่ส่งผลกระทบต่อความสัมพันธ์ของสองตัวละครหลักมากกว่านี้ มันจะทำให้เนื้อเรื่องของ Venom: Let There Be Carnage มีความเข้มข้นและชวนให้เราอยากติดตามมากกว่าเดิม
ในภาพรวมแล้ว Venom: Let There Be Carnage ยังคงอันแน่นไปด้วยความสนุกสนานในสไตล์ของภาพยนตร์ซูเปอร์ฮีโร่ และเสริมด้วยการพาเราไปสำรวจความสัมพันธ์ของเอ็ดดี้และเวนอมให้มากยิ่งขึ้น แต่เนื่องจากการสร้างสรรค์ตัวร้ายหลักของเรื่องที่ขาดเสน่ห์ มันจึงส่งผลให้พาร์ตเนื้อเรื่องดูขาดความน่าสนใจไปพอสมควร
Venom: Let There Be Carnage เข้าฉายแล้ววันนี้ในโรงภาพยนตร์
รับชมตัวอย่างได้ที่นี่
ภาพ: IMDb
อ้างอิง: