วันนี้ (26 กันยายน) นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวว่า เทศกาลกินเจ หรือประเพณีถือศีลกินผัก เป็นเทศกาลที่คนจีนหรือคนไทยเชื้อสายจีนที่อาศัยอยู่ในประเทศไทยจะงดรับประทานเนื้อสัตว์ และเครื่องเทศหรือผักที่มีกลิ่นฉุน แล้วหันมารับประทานอาหารที่ทำจากแป้ง ธัญพืช ผักและผลไม้สด ผักแปรรูป และปีนี้เทศกาลกินเจตรงกับวันที่ 26 กันยายน – 4 ตุลาคม 2565 ฉะนั้นการตรวจเพื่อเฝ้าระวังความปลอดภัยอาหารจึงเป็นสิ่งสำคัญ มุ่งหมายให้ผู้บริโภคมั่นใจว่าได้ถือศีลกินเจอย่างปลอดภัย ซึ่งกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ได้ดำเนินงานมาอย่างต่อเนื่อง
นพ.ศุภกิจกล่าวต่อไปว่า กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ โดยสำนักคุณภาพและความปลอดภัยอาหาร ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ตรวจเฝ้าระวังความปลอดภัยอาหารที่นิยมรับประทานในช่วงเทศกาลกินเจ โดยเก็บข้อมูลตั้งแต่เดือนตุลาคม 2564 – กันยายน 2565 จากการสุ่มเก็บตัวอย่างผักสดจากตลาดสด 5 ภาคทั่วประเทศ เป็นผักที่นิยมรับประทานช่วงเทศกาลกินเจ 10 ชนิด ได้แก่
- แครอต
- หัวไชเท้า
- กะหล่ำปลี
- กวางตุ้ง
- คะน้า
- ผักกาดขาว
- มะระ
- เห็ด
- ผักบุ้ง
- ถั่วงอก
ทั้งนี้ จากจำนวนทั้งหมด 218 ตัวอย่าง ตรวจพบสารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูพืชตกค้างในคะน้า กวางตุ้ง มะระ เห็ด ผักบุ้ง และถั่วงอก จำนวน 35 ตัวอย่าง คิดเป็นร้อยละ 16.1 อาหารเลียนแบบเนื้อสัตว์ จำนวน 75 ตัวอย่าง ตรวจไม่พบการปลอมปนของ DNA เนื้อสัตว์ทุกตัวอย่าง และตรวจวัตถุกันเสีย (กรดเบนโซอิกและกรดซอร์บิก) ในอาหารประเภทเส้น ได้แก่ เส้นก๋วยเตี๋ยว วุ้นเส้น บะหมี่ไม่ใส่ไข่ เส้นบุก จำนวน 14 ตัวอย่าง ตรวจไม่พบกรดเบนโซอิกทุกตัวอย่าง ส่วนกรดซอร์บิกพบเพียง 1 ตัวอย่าง