×

สรุป 4 แนวทางจากรองหัวหน้าพรรคประชาชน รับมือภาษีสหรัฐฯ 36% ชี้รัฐบาลต้องมองไกลกว่าตัวเลข ช่วย SMEs และปราบสินค้าสวมสิทธิ์จริงจัง

โดย THE STANDARD TEAM
08.07.2025
  • LOADING...

วันนี้ (8 กรกฎาคม) วีระยุทธ กาญจน์ชูฉัตร รองหัวหน้าพรรคประชาชน ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก เสนอ 4 แนวทางสำคัญที่รัฐบาลไทยควรพิจารณา เพื่อรับมือกับสถานการณ์การเก็บ ภาษีนำเข้า 36% จาก สหรัฐอเมริกา ที่อาจนำไปสู่ผลกระทบที่รุนแรงต่อเศรษฐกิจไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากไม่มีการวางแผนและดำเนินการอย่างรอบคอบ วีระยุทธได้เปรียบสถานการณ์นี้ว่าเป็นการสร้าง ‘หลุมดำ’ ที่ดูดให้ประเทศคู่ค้าต้องเร่งยื่นข้อเสนอใหม่ให้สหรัฐฯ

 

1. ไม่ใช่แค่ลดตัวเลขภาษี แต่ต้องมองผลกระทบระยะยาว

 

วีระยุทธเน้นย้ำว่าสถานการณ์ปัจจุบันเป็นเพียง ‘สัญญาณเตือนภัย’ และ ความอันตรายกว่าจะเกิดขึ้นในการเจรจารอบต่อไปก่อนเส้นตาย 1 สิงหาคม หากรัฐบาลไทยไม่ตั้งหลักให้ดี อาจยอมทุ่มทุกอย่างเพื่อลดอัตราภาษีจาก 36% ซึ่งสิ่งที่นำไปแลกอาจไม่ใช่แค่การลดภาษีนำเข้าเพื่อเปิดตลาดไทย แต่ยังรวมถึงมาตรการควบคุมคุณภาพ ข้อกำหนดด้านสุขอนามัย และนโยบายความมั่นคงด้วย

 

วีระยุทธเตือนว่า รัฐบาลและรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องไม่ควรมองแค่การลดตัวเลขภาษี 36% และเป้าหมายระยะสั้นเท่านั้น แต่ต้องพิจารณาผลกระทบที่จะเกิดกับเศรษฐกิจไทยและคนไทยจากสิ่งที่นำไปแลก เพราะอาจสร้างผลเสียต่อเศรษฐกิจไทยทั้งด้านอุตสาหกรรมและการเกษตรในระยะยาว

 

“Worst case จะเกิดขึ้นก็เมื่อรัฐบาลเอาทุกอย่างไปแลก จนประเทศไทยเสียทั้งขึ้นทั้งล่อง กล่าวคือ ด้านส่งออกก็จะส่งไปได้น้อยลง ในขณะที่ด้านนำเข้าก็จะเพิ่มขึ้น ซ้ำเติมภาวะการผลิตถดถอยภายในประเทศ และลดอำนาจต่อรองของไทยในเวทีภูมิรัฐศาสตร์ เสี่ยงจะเกิดแผลเป็นทางเศรษฐกิจ ที่รุนแรงยิ่งกว่าตอนโควิด” วีระยุทธระบุ

 

2. เดินหน้าช่วยกลุ่มเสี่ยง SMEs และแรงงาน

 

รองหัวหน้าพรรคประชาชนชี้ว่ามาตรการที่ควรดำเนินการมานานแล้วแต่ยังไม่เริ่มคือ การเดินหน้าช่วยเหลือกลุ่มเสี่ยงที่จะได้รับผลกระทบจากภาษีทรัมป์ โดยไม่ใช่แค่การเปิดสายด่วน แต่ต้องเป็นแพทย์เคลื่อนที่ ที่เข้าไปรับฟังปัญหาและจ่ายยาให้ผู้ป่วยโดยตรง

 

ข้อมูลจากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ที่ได้จากการทำงานในอนุกรรมาธิการ Trade War ระบุว่าในบรรดา 30,000 บริษัทไทยที่ส่งออกไปสหรัฐฯ มี SMEs อยู่ 4,990 บริษัท ซึ่งทั้งหมดนี้จ้างงานรวมกันกว่า 500,000 คน โดยบริษัทเหล่านี้จำนวนมากอยู่ในอุตสาหกรรมเครื่องประดับ เกษตร โลหะ และสิ่งทอ

 

ผู้ประกอบการที่ได้รับฟังความคิดเห็นระบุว่า ซอฟต์โลน หรือเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ ไม่ได้ตอบโจทย์ทุกกลุ่ม บางกลุ่มต้องการการพยุงการจ้างงาน การลดต้นทุน หรือตลาดใหม่ บางกลุ่มชะตากรรมขึ้นอยู่กับบริษัทข้ามชาติที่กำลังย้ายฐานการผลิตไปเวียดนาม

 

วีระยุทธกล่าวถึงอุตสาหกรรมอย่างผู้ผลิตของเล่น เครื่องปั้นดินเผา และเครื่องประดับ ซึ่งเป็น Craft Industry ที่ฝีมือคนไทยเก่งกว่าชาติอื่น และผู้ประกอบการเหล่านี้ ‘เก่งจริง’ ที่อยู่รอดมาได้จนถึงปัจจุบัน การที่พวกเขาต้องเจอสงครามการค้าที่จะทำลายตลาดส่งออกจึงเป็นเรื่องไม่เป็นธรรม และจะส่งผลกระทบต่อการจ้างงานหลายแสนครอบครัว เขาเน้นย้ำว่าข้อมูลมีพร้อมแล้ว เหลือเพียงการทำงานเชิงรุกของผู้มีอำนาจ

 

3. จัดการสินค้าสวมสิทธิ์อย่างจริงจัง

 

วีระยุทธกล่าวถึงกรณีที่เมื่อเดือนเมษายนที่ทรัมป์ประกาศขึ้นภาษีสินค้าจากไทย โดยอ้างว่าเราได้ดุลการค้ากับสหรัฐฯ ฝั่งไทยได้พยายามชี้แจงว่าตัวเลขส่งออกที่สูงนั้นมีสินค้าสวมสิทธิ์แฝงอยู่และประกาศว่าจะตรวจสอบอย่างจริงจัง ทว่าผ่านไปสองเดือน กลับไม่มีการกวาดล้างโรงงานสวมสิทธิ์จริงจัง อีกทั้งยังมีการประชาสัมพันธ์ตัวเลขส่งออกที่พุ่งสูงด้านเดียว โดยไม่มีแนวทางจัดการกับด้านนำเข้าเลย

 

ปัจจุบัน มีสินค้ามูลค่าระดับพันหรือหมื่นล้านบาทที่เข้ามาใช้ไทยเป็นทางผ่าน โดยนำสินค้าจากประเทศแม่มา ‘ใส่โจงกระเบน’ แล้วส่งออกไปยังประเทศที่ 3 เพื่อปกปิดแหล่งกำเนิดเดิมที่โดนแบน รัฐบาลควรทราบว่าไม่ใช่สินค้าทุกอย่างที่ส่งไปสหรัฐฯ จะต้องขอใบรับรองถิ่นกำเนิดสินค้า (Certificate of Origin – CO) หากนับจากมูลค่าพบว่ามีสินค้าเพียง 28% เท่านั้นที่มาขอใบ C/O จึงมีโอกาสที่สินค้าสวมสิทธิ์จะหลุดรอดไปได้สูงมากในระบบปัจจุบัน

 

วีระยุทธเน้นย้ำว่า หากต้องการให้การส่งออกของไทยไปสหรัฐฯ เกิดจากผู้ผลิตไทยหรือโรงงานต่างชาติที่มาสร้างมูลค่าเพิ่มในไทยแบบชัดๆ รัฐบาลต้องเดินหน้าปราบปรามอย่างจริงจัง โดยเสนอให้การจัดการสินค้าสวมสิทธิ์ควรทำด้วยการ ‘เล่นใหญ่’ บุกไปจับโรงงานสวมสิทธิ์ให้เป็นข่าวสักครั้ง เพื่อส่งสัญญาณให้กลุ่มทุนเทาเห็นว่าประเทศไทยจะไม่ปล่อยให้พฤติกรรมสวมสิทธิ์ลอยนวลอีกต่อไป ในขณะที่การช่วย SMEs ต้องทำแบบเฉพาะเจาะจง

 

4. รื้องบประมาณใหม่ เตรียมรับแรงกระแทก

 

วีระยุทธย้ำว่า หน่วยงานราชการจะทำงานได้อย่างเต็มประสิทธิภาพย่อมต้องมีการจัดสรรกำลังคนและงบประมาณให้สอดคล้องกัน โดยพรรคประชาชนเคยเตือนในการอภิปรายงบประมาณ 2569 วาระหนึ่งเมื่อปลายเดือนพฤษภาคมแล้วว่า ไม่ควรจัดงบประมาณแบบเดิมๆ เพราะปีนี้เป็นปีเสี่ยงเผาจริงที่ปัจจัยภายนอกทุกด้าน ทั้งการท่องเที่ยวและการค้าจะส่งผลลบกับเศรษฐกิจไทยอย่างรุนแรง

 

“ถึงตอนนี้ ก็ยังไม่สายสำหรับการปรับทิศทาง เพราะขณะนี้ งบประมาณ 3.78 ล้านล้านบาท ยังอยู่ระหว่างการพิจารณาของกรรมาธิการงบประมาณ หากรัฐบาลพร้อมปรับใหญ่ กรรมาธิการของพรรคประชาชน 16 คนก็พร้อมทำงานด้วย ช่วยปรับการจัดสรรงบประมาณให้สอดคล้องกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนไป” วีระยุทธระบุ

 

อย่างไรก็ตาม วีระยุทธชี้ว่า รัฐบาลต้องตั้งเป้าหมายที่ชัดเจนว่าจะนำงบประมาณไปใช้กับอะไร มิเช่นนั้นจะกลายเป็นการตำน้ำพริกละลายแม่น้ำเหมือนที่เคยเกิดขึ้นมาแล้ว เขาปิดท้ายว่าเงิน 3.78 ล้านล้านบาทนี้คือ ‘เงินก้นถุง’ ของประเทศที่เราทุกคนมีร่วมกันในยามวิกฤต ถึงเวลาแล้วที่จะช่วยกันทำให้เงินทุกบาททุกสตางค์นี้กลายเป็น ผนังทองแดงกำแพงเหล็กที่คนไทยสามารถยืนพิง ตั้งหลักให้มั่นในช่วงเวลาที่พายุกำลังโหมกระหน่ำ

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising