×

‘วิรไท’ ชี้การปฏิรูปให้ไทยวัฒนา ต้องเริ่มจาก ‘ปฏิรูปกระบวนการปฏิรูป’

02.03.2021
  • LOADING...
‘วิรไท’ ชี้การปฏิรูปให้ไทยวัฒนา ต้องเริ่มจาก ‘ปฏิรูปกระบวนการปฏิรูป’

HIGHLIGHTS

21 mins. read
  • การเปลี่ยนแปลงกำลังเกิดขึ้นรอบๆ ตัวเราอย่างรวดเร็วและรุนแรง ทำให้ทุกคนต้องเปลี่ยนแปลงตัวเอง ซึ่งการเปลี่ยนแปลงเรามักนึกถึงคำว่า ‘ปฏิรูป’ แต่การปฏิรูปในหลายครั้งที่ผ่านมามักจบแบบครึ่งๆ กลางๆ ไม่เกิดผลในทางปฏิบัติ
  • การปฏิรูปแต่ละเรื่องต้องเผชิญแรงกดดันหลากหลาย โดยเฉพาะข้อจำกัดด้านเวลาและทรัพยากร ขาดการหารือกับประชาชนผู้มีส่วนได้เสีย ทำให้การปฏิรูปติดอยู่กับกรอบเป้าหมายของหน่วยงานหลัก 
  • การปฏิรูปถ้าให้เกิดประโยชน์อย่างจริงจัง อาจมีผลให้อำนาจหน้าที่ของผู้รับผิดชอบลดลง ดังนั้น ผลประโยชน์สังคมกับผู้จัดทำแผนอาจขัดแย้งกัน 
  • การปฏิรูปต้องมุ่งตอบโจทย์อนาคตอย่างน้อย 5-10 ปีข้างหน้า และต้องเอาประโยชน์ของประชาชนรวมทั้งสังคมเป็นที่ตั้ง 
  • หากจะให้เศรษฐกิจและสังคมไทยมั่นคงก้าวหน้า การปฏิรูปเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ จำเป็นต้องเร่งเปลี่ยนแปลงหลายอย่างให้เหมาะสมกับบริบทของโลกใหม่ การปฏิรูปเพื่อให้ไทยวัฒนาได้จริงนั้น อาจจะต้องเริ่มที่ ‘การปฏิรูปกระบวนการปฏิรูป’ ที่เราคุ้นชินและใช้อยู่ในปัจจุบัน

วิรไท สันติประภพ อดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ขึ้นกล่าวปาฐกถาในหัวข้อ ‘ปฏิรูปอย่างไรให้ไทยวัฒนา’ จัดโดยมหาวิทยาลัยมหิดล ว่า สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ได้ตอกย้ำสิ่งที่พูดกันมานานว่าโลกใหม่จะไม่เหมือนเดิม และเราจะอยู่แบบเดิมไม่ได้ 

 

นอกจากนี้ การเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นในอนาคตจะรวดเร็วและรุนแรงกว่าเดิมมาก การเปลี่ยนแปลงจะไม่ได้จำกัดอยู่เพียงด้านใดด้านหนึ่งเท่านั้น จะเกิดขึ้นในหลายมิติ เชื่อมโยง ซับซ้อน และส่งผลกระทบซึ่งกันและกันอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน

 

วิรไทระบุว่า สภาวะแวดล้อมรอบตัวเราที่กำลังเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วและรุนแรง จะทำให้เราอยู่แบบเดิมไม่ได้ เราทุกคนต้องเปลี่ยนแปลงให้เท่าทันกับความท้าทายและสภาวะแวดล้อมใหม่ๆ ซึ่งทำให้นึกถึงคำว่า ‘ปฏิรูป’ เพราะเป็นคำที่เราใช้กันบ่อยมากในสังคมไทย เมื่อเราไม่พอใจในเรื่องใดเรื่องหนึ่งหรือเห็นว่าต้องเปลี่ยนแปลง ก็จะพูดว่าต้อง ‘ปฏิรูป’ เราฝากความหวังสูงมากไว้กับการ ‘ปฏิรูป’ จนเชื่อกันว่าการ ‘ปฏิรูป’ มีมนต์วิเศษหรือมีปาฏิหาริย์ที่จะช่วยแก้ปัญหาต่างๆ ได้

 

“ถ้าเรากลับมาพิจารณาการปฏิรูปหลายเรื่องที่กำลังเกิดขึ้นในเศรษฐกิจสังคมไทย และเราฝากความหวังไว้มากว่าการ ‘ปฏิรูป’ จะมีมนต์วิเศษที่จะช่วยสร้างการเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้นได้จริง ที่ผ่านมาหลายหน่วยงาน หลายรัฐบาลมีแผนปฏิรูปมากมาย แต่ผมเชื่อว่าคนส่วนใหญ่ก็ยังไม่ค่อยพอใจกับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น การปฏิรูปหลายเรื่องจบลงเพียงแค่การทำแผนปฏิรูปเสร็จโดยไม่ได้เกิดผลในทางปฏิบัติ หลายเรื่องทำแบบครึ่งๆ กลางๆ หลายเรื่องไม่ได้คิดอย่างครบวงจรตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ ทำให้ไม่สามารถเกิดการเปลี่ยนแปลงได้จริง และหลายเรื่องไม่แน่ใจว่าผลที่เกิดขึ้นเหมาะสมหรือสมควรกับใคร เพราะขาดการปรึกษาหารือกับกลุ่มเป้าหมาย หรือกลุ่มที่ได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงเหล่านั้นอย่างรอบด้าน แม้ว่าการปฏิรูปหลายเรื่องได้สร้างการเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้นมากในสังคมไทย แต่เรามีการปฏิรูปอีกจำนวนมากที่ไม่สามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงที่เหมาะสมที่สมควรได้จริง”

 

วิรไทกล่าวด้วยว่า ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ผมเข้าไปเกี่ยวข้องกับการปฏิรูปเรื่องสำคัญหลายเรื่อง บางเรื่องก็ถือว่าได้ผลอย่างที่ตั้งใจ สามารถวางรากฐานใหม่ให้กับประเทศได้ เช่น การปฏิรูประบบการชำระเงินให้เข้าสู่ระบบอิเล็กทรอนิกส์ และการวางกลไกเพื่อดูแลเสถียรภาพระบบการเงิน ซึ่งส่งผลให้เราสามารถจัดการกับความปั่นป่วนในตลาดเงินตลาดทุนในช่วงเริ่มต้นของการแพร่ระบาดของโควิด-19 ได้ดี

 

การปฏิรูปบางเรื่องได้เริ่มต้นวางรากฐานที่สำคัญไว้ มีการเปลี่ยนแปลงดีในระดับหนึ่ง แต่จะต้องใช้เวลาและผลักดันต่อเนื่องเพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในวงกว้างอย่างแท้จริง เช่น การพัฒนาชนบทเชิงพื้นที่ตามศาสตร์ของพระราชา การปฏิรูปกฎเกณฑ์กฎหมายที่ล้าสมัยในภาคการเงิน การแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือน การให้การคุ้มครองผู้ใช้บริการทางการเงินอย่างเป็นธรรม และการใช้ข้อมูล Big Data ในการทำนโยบายเศรษฐกิจเพื่อให้นโยบายมีเป้าหมายชัดเจน ตั้งอยู่บนข้อมูลที่เป็นประจักษ์พยาน (Evidence Based) มากกว่าตั้งอยู่บนความเชื่อหรือความรู้สึก (Sentiment Based)  

 

ส่วนการปฏิรูปบางเรื่องเกิดผลน้อยมากหรือแทบจะไม่เกิดการเปลี่ยนแปลงเลย ห่างไกลจากที่ตั้งเป้าหมายกันไว้อยู่มาก ทั้งที่มีผู้รู้จำนวนมากลงแรงช่วยกันคิดช่วยกันทำ เช่น การปฏิรูปกรอบการกำกับดูแลรัฐวิสาหกิจ และการปฏิรูปกระบวนการทำงานของหน่วยงานภาครัฐบางแห่ง

 

เขากล่าวว่า สิ่งที่อยากนำเสนอในวันนี้ไม่ได้มากจากงานวิจัย แต่เป็นการนำเสนอมุมมองจากประสบการณ์ส่วนตัวที่ทำงานในสภาวะแวดล้อมแบบไทยๆ และจากการสังเกตการณ์สิ่งที่เกิดขึ้นรอบตัว เรื่องที่ผมจะนำเสนอจึงอาจจะเกี่ยวข้องกับการปฏิรูปในด้านการเงินและเศรษฐกิจเป็นหลัก  

  

สูตรสำเร็จการปฏิรูป เน้นทำผ่านองค์ประกอบ 3 ด้านหลัก 

 

ถ้าจะปฏิรูปเรื่องใดๆ ก็ตามให้เกิดผลสำเร็จ ผมคิดว่ามีองค์ประกอบอย่างน้อย 3 ด้านที่เราต้องตั้งหลักให้ถูก ถ้าเราสามารถบริหารจัดการ 3 องค์ประกอบนี้ได้ดี โอกาสที่การปฏิรูปจะเกิดผลสำเร็จก็จะมีสูง ในทางตรงกันข้าม ถ้าเราบริหารจัดการด้านใดด้านหนึ่งหนึ่งไม่ดี หรือมองข้ามบางประเด็นไป โอกาสที่การปฏิรูปจะไม่เกิดผลอย่างที่ตั้งใจก็จะสูงมาก องค์ประกอบ 3 ด้านนี้ได้แก่ 1. เป้าหมายของการปฏิรูป 2. ทิศทางของการปฏิรูป และ 3. การนำแผนปฏิรูปไปปฏิบัติให้เกิดผลได้จริง

 

เริ่มจากเป้าหมายของการปฏิรูป ซึ่งต้องพิจารณาให้ชัดเจนว่าเป้าหมายใดเป็นเป้าหมายที่สมควรและเหมาะสม ถ้าพูดถึงการปฏิรูปในระดับประเทศแล้ว เป้าหมายของการปฏิรูปจะต้องทำให้ ‘ไทยวัฒนา’ ขึ้น ในเรื่องนี้ผมนึกถึงพระราชดำรัสองค์หนึ่งเรื่องการพัฒนาของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ที่พระราชทานไว้ว่า “การพัฒนา หมายถึง ทำให้มั่นคง ทำให้ก้าวหน้า การพัฒนาประเทศก็ทำให้บ้านเมืองมั่นคงมีความเจริญ ความหมายของการพัฒนาประเทศนี้ ก็เท่ากับตั้งใจที่จะทำให้ชีวิตของแต่ละคนมีความปลอดภัย มีความเจริญ มีความสุข” (พระราชทานแก่เยาวชนจังหวัดปทุมธานี เมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม 2513) 

 

“สำหรับผมแล้ว พระราชดำรัสองค์นี้มีความหมายที่ลึกซึ้งมาก เพราะสะท้อนหลักการทรงงานของพระองค์ท่านเป็นอย่างดี และเราควรรับใส่เกล้าว่าการพัฒนา หรือการปฏิรูปเรื่องใดก็ตาม จะต้องทำให้เกิดความมั่นคง ความก้าวหน้าระดับประเทศ และที่สำคัญต้องทำให้เกิดความปลอดภัย ความเจริญ และความสุขในระดับคนไทยแต่ละคนด้วย ไทยจึงจะวัฒนาได้อย่างแท้จริง”

 

ดังนั้น ทุกครั้งที่เรากำหนดเป้าหมายของการปฏิรูปแต่ละเรื่อง เราจะต้องตั้งคำถามแรกว่าเราคาดหวังให้สังคมไทยและคนไทยแต่ละคนได้ประโยชน์อย่างไรบ้าง ท่านผู้มีเกียรติหลายท่านอาจสงสัยว่าทำไมต้องตั้งคำถามนี้ เพราะดูจะเป็นคำถามพื้นฐาน ทุกการปฏิรูปของประเทศควรมีเป้าหมายให้สังคมและประชาชนได้ประโยชน์อยู่แล้ว

 

วิรไทบอกว่า จากประสบการณ์ส่วนตัว คิดว่าไม่แน่เสมอไปที่การปฏิรูปเรื่องสำคัญของเราเอาประโยชน์ของสังคมและประชาชนเป็นศูนย์กลาง เพราะในสภาพแวดล้อมการทำงานแบบไทยๆ นั้น หน่วยงานที่รับผิดชอบการปฏิรูปแต่ละเรื่องต้องเผชิญแรงกดดันและข้อจำกัดหลากหลายด้าน โดยเฉพาะข้อจำกัดด้านเวลาและทรัพยากร ขาดการศึกษาวิจัยทั้งเชิงลึกและเชิงกว้างอย่างรอบด้าน ขาดการหารือกับประชาชนผู้มีส่วนได้เสียกลุ่มต่างๆ อย่างจริงจัง และที่สำคัญ หลายหน่วยงานไม่ชอบการเปลี่ยนแปลง และพยายามที่จะรักษากรอบอำนาจและวิธีการทำงานของตน 

 

ส่งผลให้เป้าหมายของการปฏิรูปติดอยู่กับกรอบเป้าหมายของหน่วยงานเป็นหลัก ไปไม่ถึงคำถามที่ว่าสังคมและประชาชนจะได้ประโยชน์อย่างไรจากการปฏิรูปแต่ละเรื่อง ในระดับนโยบาย ผู้ที่มีอำนาจตัดสินใจก็ไม่มีเวลาศึกษาให้เข้าใจสถานะและปัญหาแต่ละเรื่องได้อย่างลึกซึ้ง มักจะอนุมัติตามที่หน่วยงานเจ้าของเรื่องเสนอ แผนการปฏิรูปหลายเรื่องจึงถูกครอบงำโดยมุมมองและเป้าหมายของหน่วยงานเจ้าของเรื่องเป็นหลัก

 

การปฏิรูปหลายเรื่อง ถ้าจะให้เกิดประโยชน์ต่อสังคมและประชาชนอย่างจริงจังแล้ว อาจจะมีผลให้กรอบอำนาจหน้าที่และจำนวนบุคลากรของหน่วยงานที่รับผิดชอบลดลง ดังนั้น ผลประโยชน์ของสังคมและประชาชน กับผลประโยชน์ของหน่วยงานที่เป็นผู้จัดทำแผนปฏิรูปจึงอาจขัดแย้งกันได้ ถ้าเราไม่กำหนดเป้าหมายการปฏิรูป โดยยึดเอาผลประโยชน์ของสังคมและประชาชนเป็นเป้าหมายหลักเพียงเป้าหมายเดียวแล้ว เรามักจะได้แผนปฏิรูปที่คลุมเครือและประนีประนอม แม้ว่าอาจจะทำตามแผนปฏิรูปได้เสร็จ แต่ก็ไม่เกิดผลสำเร็จอย่างที่สังคมและประชาชนคาดหวัง เรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญที่ส่งผลให้การปฏิรูปหลายเรื่องในอดีตไม่ได้ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างที่สมควร อย่างที่เหมาะสม 

 

ในทางตรงกันข้าม การปฏิรูปหลายเรื่องกลับทำให้หน่วยงานราชการมีขนาดใหญ่ขึ้น มีจำนวนมากขึ้น มีอำนาจหน้าที่เพิ่มขึ้น สร้างภาระด้านงบประมาณ ไม่สอดคล้องกับบริบทของโลกอนาคต และที่สำคัญหน่วยงานที่มีขนาดใหญ่ขึ้น จำนวนมากขึ้น จะเป็นอุปสรรคทำให้การเปลี่ยนแปลงในอนาคตเกิดขึ้นได้ยากอีกด้วย

 

การปฏิรูปแต่ละเรื่องจะสร้างประโยชน์ให้สังคมและประชาชนในอนาคตได้อย่างไร

 

คำถามที่สองเกี่ยวกับเป้าหมายของการปฏิรูปที่เราต้องช่วยกันถาม คือ การปฏิรูปแต่ละเรื่องจะสร้างประโยชน์ให้สังคมและประชาชนในอนาคตได้อย่างไร โดยเฉพาะการวางรากฐานที่สำคัญสำหรับอย่างน้อยอีก 5-10 ปีข้างหน้า การปฏิรูปหลายเรื่องที่ผ่านมาเน้นการแก้ปัญหาในอดีตและปัญหาเฉพาะหน้า แต่โลกกำลังเปลี่ยนแปลงเร็วมาก ความท้าทายใหม่ๆ จะเกิดขึ้นตลอดเวลา และจะรุนแรงมากขึ้น กระบวนการปฏิรูปเรื่องใหญ่ๆ ของเราใช้เวลานานมาก โดยเฉพาะถ้าต้องออกกฎหมายใหม่ ต้องแก้ไขกฎหมาย หรือต้องจัดการโครงสร้างผลประโยชน์ที่ฝังรากลึกไว้แต่เดิม ทำให้แผนปฏิรูปหลายเรื่องกว่าที่จะเริ่มดำเนินการได้จริงก็กลายเป็นแผนล้าสมัย หรือไม่ปัญหาที่สะสมไว้นานก็ปะทุขึ้นเป็นวิกฤตก่อนที่จะปฏิรูปแก้ไขได้ทัน

 

 

การกำหนดเป้าหมายของการปฏิรูปโดยมองไปในอนาคตอย่างน้อยอีก 5-10 ปีข้างหน้า ก็ดูจะเป็นเรื่องพื้นฐานที่เราคาดหวังจากการปฏิรูปด้านต่างๆ อยู่แล้ว แผนปฏิรูปประเทศของรัฐบาลก็ตั้งเป้าหมายไว้สำหรับ 20 ปี แต่ในทางปฏิบัติแล้ว การมองไปในอนาคตไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะไม่มีใครคาดเดาได้แม่นยำว่าจะเกิดอะไรขึ้นบ้าง นอกจากนี้ ผู้ที่มีส่วนกำหนดแผนปฏิรูปมักจะติดกับกรอบความคิดเดิมที่ตนได้สร้างไว้ หรือคุ้นชินในการทำงานมายาวนาน ยากที่จะเข้าใจสถาปัตยกรรมหรือ Architecture ของโลกใหม่ในอนาคตที่จะต่างจากเดิมมาก

 

มีตัวอย่างหลายเรื่องที่พัฒนาการด้านเทคโนโลยีและความหลากหลายของสังคม จะทำให้สถาปัตยกรรมของโลกในอนาคตต่างไปจากโลกใบเดิมที่เราคุ้นชินมาก เทคโนโลยีที่กำลังเปลี่ยนแปลงแบบทวีคูณจะทำให้ความสำคัญของพรมแดนลดลง เส้นแบ่งพรมแดนจะบางลงมาก ไม่ว่าจะเป็นพรมแดนระหว่างประเทศ หรือพรมแดนระหว่างประเภทธุรกิจและสินค้า ในขณะที่กรอบกฎเกณฑ์ กฎหมาย และการแบ่งอำนาจหน้าที่ของเรา ยังยึดติดกับการตีเส้นแบ่งกล่องแบ่งพรมแดนในกรอบของโลกเก่า อีกเรื่องหนึ่งที่เทคโนโลยีจะเปลี่ยนแปลงวิธีการทำงานมาก โลกเก่าถูกออกแบบการบริหารจัดการแบบรวมศูนย์ กลไกต่างๆ ต้องอาศัยทะเบียนกลางหรืออำนาจจากส่วนกลาง และทำงานตามลำดับขั้นตอน ในขณะที่โลกใหม่ที่คนแต่ละกลุ่มจะหลากหลายมากขึ้น ปัญหาของคนกลุ่มต่างๆ จะซับซ้อนมากขึ้น การบริหารจัดการต้องกระจายอำนาจมากกว่าการรวมศูนย์ และที่สำคัญ เทคโนโลยี Distributed Ledger และ Blockchain จะมีบทบาทเพิ่มขึ้นมาก ทำให้เราสามารถทำงานได้โดยไม่ต้องมีทะเบียนกลาง การทำงานโดยอาศัยคลาวด์และแแพลตฟอร์ม ก็จะช่วยให้เราสามารถทำงานได้พร้อมกันหลายคน ไม่ต้องทำงานทีละขั้นตอนแบบเดิม

 

การกำหนดเป้าหมายของการปฏิรูป โดยมุ่งเอาโจทย์ของอนาคตอย่างน้อยในอีก 5-10 ปีข้างหน้าเป็นหลักนั้น จะท้าทายมากขึ้นในสังคมที่โครงสร้างประชากรกำลังเปลี่ยนไปสู่สังคมสูงอายุ เพราะทั้งฐานเสียงของประชาชน นักการเมืองที่กำหนดนโยบาย และบุคลากรภาครัฐที่เป็นผู้รับผิดชอบการปฏิรูปเรื่องต่างๆ มีแนวโน้มเป็นผู้สูงอายุมากขึ้น ยากที่จะเข้าใจบริบทของโลกใหม่ที่จะต่างไปจากเดิมมาก 

 

โดยธรรมชาติ ผู้สูงอายุมักจะไม่ชอบการเปลี่ยนแปลงและอยากรักษาสถานะแบบเดิมไว้ การปฏิรูปที่มุ่งตอบโจทย์สำหรับอนาคตจะยิ่งยากขึ้นอีก ถ้าจะต้องแย่งทรัพยากรที่มีอยู่จำกัด ระหว่างการทำเรื่องใหม่สำหรับอนาคตกับผลประโยชน์ของคนรุ่นเดิม โดยเฉพาะถ้าจะกระทบต่อสวัสดิการที่รัฐเคยจัดให้ ความเห็นต่างทางความคิดของคนระหว่างรุ่นจะมีแนวโน้มสูงขึ้น ส่งผลให้การเปลี่ยนแปลงเรื่องต่างๆ ที่สำคัญสำหรับอนาคตทำได้ยากขึ้นด้วย

 

คำถามที่สามสำหรับการกำหนดเป้าหมายของการปฏิรูปเพื่อให้ตอบโจทย์ในอนาคต คือ การปฏิรูปจะช่วยสร้างการเปลี่ยนแปลงแบบต่อเนื่องเป็นพลวัตร (Dynamic Momentum) ให้เกิดขึ้นได้หรือไม่ อย่างไร เป้าหมายเชิงปริมาณที่เรามักกำหนดกันล่วงหน้าตายตัวแบบปีต่อปีจะสำคัญน้อยลง เพราะโลกกำลังเปลี่ยนแปลงเร็ว เราต้องเผชิญกับความไม่แน่นอนสูง เป้าหมายของการปฏิรูปจึงต้องเน้นที่การสร้างรากฐานที่จะทำให้เกิด Dynamic Momentum หรือต้องส่งเสริมให้เกิดการปรับตัวได้อย่างคล่องตัวทันการณ์ (Agility) สอดคล้องกับบริบทและสภาวะแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงได้อย่างรวดเร็ว ที่ผ่านมาการปฏิรูปหลายเรื่องจะให้น้ำหนักไปที่การกำหนดเป้าหมายเชิงปริมาณปีต่อปีแบบมีตัวเลขตายตัว เราอาจจะดำเนินการได้เสร็จตามเป้าหมายที่วางไว้ แต่ไม่เกิดผลสำเร็จอย่างที่ตั้งใจ เพราะเป้าหมายตัวเลขเหล่านั้นอาจไม่เหมาะสมแล้ว เมื่อบริบทและสภาวะแวดล้อมเปลี่ยนแปลงไปจากที่คิดไว้เดิม

 

ในกระบวนการปฏิรูปใดๆ ก็ตาม ผมคิดว่าคำถามที่เราต้องถามตัวเองตลอดเวลาคือ แผนปฏิรูปที่เราจะดำเนินการนั้น จะช่วยสร้างกลไกให้เกิดการปรับตัวโดยต่อเนื่องในอนาคตได้อย่างไร เพราะการปฏิรูปทุกเรื่องนั้นไม่มีวันจบสิ้น การปฏิรูปที่พึงประสงค์ต้องนำไปสู่กระบวนการที่มีชีวิต มีโมเมนตัมของตัวเองได้ตลอดเวลา หรืออาจจะกล่าวได้ว่า เป้าหมายที่เราควรมุ่งหวังจากการปฏิรูปในวันนี้ คือ จะต้องนำไปสู่การสร้างรากฐานใหม่ๆ เพื่อส่งเสริมให้เกิดการปรับตัวในอนาคตได้โดยง่าย ไม่ติดอยู่กับกับดักตัวชี้วัดเชิงปริมาณ (KPIs) ที่อาจจะทำได้เสร็จ แต่ไม่เกิดผลสำเร็จในระยะยาวอย่างที่ทุกคนคาดหวัง

 

การปฎิรูปต้องมุ่งตอบโจทย์อนาคตอย่างน้อย 5-10 ปีข้างหน้า 

 

วิรไทย้ำว่า เป้าหมายของการปฏิรูปที่พึงประสงค์นั้น ต้องเอาประโยชน์ของประชาชนและสังคมเป็นตัวตั้ง จะต้องมุ่งตอบโจทย์ของอนาคตอย่างน้อยในอีก 5-10 ปีข้างหน้า และจะต้องมุ่งสร้าง Dynamic Momentum ที่จะสนับสนุนการเปลี่ยนแปลงในอนาคตให้เกิดขึ้นได้ง่ายและต่อเนื่อง เพราะโลกจะเปลี่ยนแปลงรวดเร็วและรุนแรงกว่าเดิมมาก

 

ในส่วนของทิศทางการปฏิรูป ถ้าจะให้สังคมไทยวัฒนา มีความก้าวหน้า มีความมั่นคง และชีวิตคนไทยแต่ละคนมีความปลอดภัย มีความเจริญ และมีความสุขแล้ว เชื่อว่าการปฏิรูปเรื่องใหญ่ๆ ของเราจะต้องให้ความสำคัญกับสามมิติต่อไปนี้ คือ ต้องทำให้ผลิตภาพของประชาชนและสังคมไทยสูงขึ้น ต้องลดปัญหาความเหลื่อมล้ำ และต้องสร้างภูมิคุ้มกันให้ดีขึ้นทั้งในระดับสังคมและประชาชน ถ้าจะสรุปด้วยคำสั้นๆ 3 คำก็คือ Productivity, Inclusivity และ Immunity ต้องดีขึ้น เราสามารถใช้สามคำนี้ตรวจสอบการปฏิรูปทุกเรื่องได้ว่ากำลังเดินไปในทิศทางที่เหมาะสมหรือไม่

 

มิติแรกคือ Productivity หรือผลิตภาพ เรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่มากของประเทศไทย เพราะในขณะที่หลายประเทศคู่แข่งของเรามีผลิตภาพสูงขึ้นเรื่อยๆ ผลิตภาพหลายด้านของเรากลับอยู่ในระดับต่ำต่อเนื่องมานาน ไม่ว่าจะเป็นผลผลิตต่อไร่ในภาคเกษตร ผลิตภาพของบริการสาธารณะ โดยเฉพาะรัฐวิสาหกิจ ผลิตภาพของระบบราชการ ตลอดจนผลิตภาพของระบบการศึกษา ที่ไม่สามารถผลิตบุคลากรออกมาได้เท่าทันกับการเปลี่ยนแปลงของบริบทสังคมและความต้องการของตลาดแรงงาน ผลิตภาพแรงงานของเราก็อยู่ในระดับต่ำ เพราะขาดการพัฒนาทักษะโดยต่อเนื่อง ส่งผลให้ผลิตภาพแรงงานไม่สอดคล้องกับค่าแรงที่สูงขึ้น ผลิตภาพจะมีผลโดยตรงต่อความสามารถในการแข่งขันของประเทศ ถ้าเศรษฐกิจไทยโดยรวมมีผลิตภาพต่ำ ความสามารถในการหารายได้ของคนไทยก็จะอยู่ในระดับต่ำ ในขณะที่ค่าครองชีพของคนไทยสูงขึ้นเรื่อยๆ ส่วนหนึ่งก็เป็นเพราะเรามีต้นทุนสูงจากบริการสาธารณะที่มีผลิตภาพต่ำ ผลิตภาพต่ำเป็นทั้งต้นทุนทางตรงและต้นทุนแฝงที่กระทบกับคุณภาพชีวิตของเราทุกคน

 

“ถ้าเราเห็นตรงกันว่าทุกเรื่องที่เราปฏิรูปจะต้องยกระดับผลิตภาพให้สูงขึ้นแล้ว ผมเชื่อว่าจะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงได้มาก แต่ต้องเริ่มจากวิธีคิดที่จะต้องเปลี่ยนจากการตั้งเป้าหมายที่เน้นปริมาณ มาเป็นเป้าหมายที่เน้นคุณภาพและการสร้างมูลค่าเพิ่มแทน”

 

วิรไทบอกด้วยว่า เรามักลืมไปว่าการปฏิรูปที่จะส่งผลให้เกิดผลิตภาพสูงขึ้นได้นั้น ไม่จำเป็นต้องใช้เงินลงทุนจำนวนมากเพื่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานใหม่เสมอไป แต่อาจจะทำได้ด้วยการปรับวิธีการบริหารจัดการ เพิ่มความโปร่งใสให้สามารถตรวจสอบได้โดยง่าย และที่สำคัญ ยกเลิกกฎเกณฑ์ กติกา กระบวนการทำงานที่ซ้ำซ้อน ล้าสมัย และเป็นอุปสรรคต่อการทำงานในโลกยุคใหม่ มีงานวิจัยหลายชิ้นที่แสดงให้เห็นว่าประเทศไทยมีกฎหมายและกฎเกณฑ์กำกับดูแลที่ล้าสมัยไม่จำเป็นอยู่จำนวนมาก เพียงแค่เรายกเลิก และปรับลดกฎหมายและกฎเกณฑ์ที่ไม่จำเป็น ล้าสมัยเหล่านี้ ก็จะช่วยให้ผลิตภาพของเราเพิ่มขึ้นได้มากโดยไม่ต้องใช้เงินลงทุน

 

มิติที่สอง คือ Inclusivity หรือการลดความเหลื่อมล้ำ อีกนัยหนึ่งก็คือ การสร้างโอกาสให้คนตัวเล็กตัวน้อยในสังคมได้รับประโยชน์เพิ่มขึ้นจากการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ การปฏิรูปทุกเรื่องควรมีผลที่จะช่วยลดความเหลื่อมล้ำในสังคม หรืออย่างน้อยจะต้องแน่ใจว่าไม่ส่งผลให้คนตัวเล็กตัวน้อยในสังคมเสียเปรียบเพิ่มขึ้น

 

“ผมเชื่อว่าระบบเศรษฐกิจทุนนิยมสอดคล้องกับสัญชาตญาณของมนุษย์ และส่งผลให้เกิดการยกระดับคุณภาพชีวิตในระยะยาวได้ดีกว่าระบบเศรษฐกิจแบบอื่น ในระบบเศรษฐกิจทุนนิยม ไม่ใช่เรื่องประหลาดที่ปลาใหญ่จะกินปลาเล็ก หรือคนตัวใหญ่จะสามารถหาประโยชน์จากการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจได้มากกว่าคนตัวเล็ก แต่ในวันนี้ไม่ว่าเราจะดูเครื่องชี้วัดใดๆ ก็ตาม จะพบว่าปัญหาความเหลื่อมล้ำในสังคมไทยรุนแรงขึ้น ทั้งความเหลื่อมล้ำด้านสินทรัพย์ ความเหลื่อมล้ำด้านรายได้ และที่สำคัญมากคือ ความเหลื่อมล้ำด้านโอกาสในการแข่งขัน และโอกาสที่จะพัฒนาคุณภาพชีวิตและฐานะทางเศรษฐกิจและสังคมให้สูงขึ้น ถ้าเราปล่อยให้ปัญหาความเหลื่อมล้ำรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ หนีไม่พ้นที่สังคมเราจะเปราะบางและแตกแยกมากขึ้น ซึ่งจะสร้างปัญหาอื่นๆ ตามมาอีกมาก”

 

ในโลกปัจจุบันที่เทคโนโลยีกำลังเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว คนตัวใหญ่หรือธุรกิจขนาดใหญ่ที่เข้าถึงเทคโนโลยีสมัยใหม่ได้เร็ว จะสามารถปรับตัว สร้างรายได้ และขยายธุรกิจได้เร็วด้วย ในขณะที่ธุรกิจแบบดั้งเดิมจะล้มหายตายจากเร็วขึ้น ซึ่งกำลังเกิดขึ้นกับธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อมจำนวนมาก โดยเฉพาะในต่างจังหวัดที่เป็นเมืองรอง เพราะมีตลาดจำกัดและมีต้นทุนการดำเนินงานสูง ผลเสียที่เกิดขึ้นไม่ได้กระทบเพียงเจ้าของกิจการ SMEs เหล่านี้เท่านั้น แต่ยังกระทบไปถึงแรงงานจำนวนมากที่เป็นลูกจ้างธุรกิจ SMEs เหล่านี้ด้วย

  

มิติที่สามที่ทิศทางการปฏิรูปจะต้องให้ความสำคัญ คือ Immunity ซึ่งหมายถึงการสร้างภูมิคุ้มกันหรือสร้างความทนทานต่อเหตุการณ์ต่างๆ ที่จะเกิดขึ้น  

 

“ผมมักจะพูดว่าโลกที่เราอยู่มีลักษณะเป็น VUCA มากขึ้นเรื่อยๆ หมายถึงโลกที่ V-Volatile ผันผวนสูง U-Uncertain มีความไม่แน่นอนสูง C-Complex มีความซับซ้อนสูง และ A-Ambiguous คลุมเครือ ผลกระทบต่างๆ ที่เกิดขึ้นไม่ชัดเจน ไม่เป็นไปอย่างที่เราคุ้นชิน สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 เป็นตัวอย่างที่ชี้ให้เห็นความสำคัญของเรื่องนี้ได้ดีที่สุด คนที่จะสามารถทนทานต่อการแพร่ระบาดของโควิด-19 ได้นั้น จะต้องมีภูมิคุ้มกันที่ดี ทั้งภูมิคุ้มกันด้านสุขภาพ ภูมิคุ้มกันด้านการเงิน มีกลไกของสังคมที่จะช่วยดูแลรักษาถ้าเกิดเจ็บป่วยขึ้น และที่สำคัญต้องมีภูมิคุ้มกันด้านจิตใจที่เข้มแข็งด้วย”

 

ถ้าเราศึกษาเรื่องปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงที่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร พระราชทานเป็นหลักในการดำเนินชีวิตให้แก่คนไทยมาหลายสิบปีแล้ว จะพบว่าหนึ่งในสามเสาหลักสำคัญของหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง คือการสร้างภูมิคุ้มกันเพื่อให้เราสามารถปรับตัวและรับมือกับการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นในอนาคตได้ ไม่ว่าจะเป็นการเปลี่ยนแปลงจากภายในหรือภายนอกตัวเรา ครอบครัวของเรา สังคมของเรา หรือประเทศของเรา ไม่ว่าจะเป็นการเปลี่ยนแปลงที่คาดคิดหรือไม่คาดคิด หลักของการสร้างภูมิคุ้มกันนี้สอดคล้องกับหลักการบริหารองค์กรสมัยใหม่ ที่ให้ความสำคัญกับการบริหารจัดการองค์กรอย่างยั่งยืน ให้สามารถทนทานต่อการเปลี่ยนแปลงต่างๆ ได้ดี (Resilience) และให้องค์กรสามารถปรับตัวได้อย่างคล่องตัวทันการณ์ (Agility)  

 

 

วิรไทย้ำว่า ในโลกข้างหน้า เราจะต้องเผชิญกับความไม่แน่นอนรูปแบบใหม่ๆ อีกมาก โลกกำลังก้าวไปในสภาวะแวดล้อมใหม่ที่เราไม่เคยเผชิญมาก่อน โดยเฉพาะสภาวะโลกร้อน การเปลี่ยนแปลงของสภาวะอากาศจะส่งผลกระทบรุนแรงหลายด้าน ทั้งการเกิดโรคอุบัติใหม่ในคน สัตว์ และพืช ผลิตภาพในหลายภาคเกษตรจะลดลง เราจะต้องเผชิญกับภัยธรรมชาติที่รุนแรงขึ้น ต้องเผชิญกับการขาดแคลนน้ำสะอาด ผลกระทบเหล่านี้ได้ส่งผลให้เกิดการอพยพย้ายถิ่นของคนจำนวนมากในตะวันออกกลางและแอฟริกาเหนือ ส่งผลให้เกิดปัญหาสังคมและปัญหาการเมืองระหว่างประเทศตามมา

 

ความท้าทายจากสภาวะโลกร้อนได้ส่งผลให้กระแสการพัฒนาอย่างยั่งยืน หรือ Sustainability ได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวาง ได้ถูกรวมเข้าไปอยู่ในกลยุทธ์ นโยบาย หรือแนวทางการพัฒนาทั้งระดับโลก ระดับประเทศ ชุมชน องค์กรทางธุรกิจ ตลอดจนพฤติกรรมการใช้ชีวิตของคน โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ ผมคิดว่าเราไม่มีทางปฏิเสธกระแสการพัฒนาอย่างยั่งยืนได้ และจะต้องเร่งนำเรื่องความยั่งยืนนี้เข้ามาเป็นหลักสำคัญของการปฏิรูปและการดำเนินงานในทุกระดับ เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันให้กับเราทุกคน

 

ถ้าเราตรวจดูภูมิคุ้มกันโดยรวมของสังคมไทยในวันนี้ จะพบว่าอยู่ในระดับที่ใช้ได้ เรามีกลไกที่จะช่วยเหลือดูแลผู้ที่ประสบปัญหาและภัยธรรมชาติต่างๆ ได้ระดับหนึ่ง ทั้งจากความช่วยเหลือของรัฐบาล ชุมชน ครอบครัว หรือแม้แต่คนไทยทั่วไปที่มีน้ำใจช่วยดูแลซึ่งกันและกัน ในระดับเศรษฐกิจมหภาค หนี้สาธารณะอยู่ในระดับที่บริหารจัดการได้ ยังไม่มีความเสี่ยงที่จะเกิดวิกฤตเหมือนกับบางประเทศ เรามีทุนสำรองระหว่างประเทศในระดับสูง และดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุลเป็นกันชนรองรับแรงปะทะจากความผันผวนของเศรษฐกิจโลกไม่ให้กระแทกกับเราได้แรง นอกจากนี้ ระบบสถาบันการเงินมีเงินกองทุนในระดับสูง มีฐานะมั่นคง แม้ว่าจะได้รับผลกระทบจากหนี้เสียที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นสูงจากการแพร่ระบาดของโควิด-19

 

แต่ถ้าเราดูในระดับจุลภาค จะพบว่ามีจุดที่น่าเป็นห่วงหลายจุด ครัวเรือนไทยมีภูมิคุ้มกันด้านการเงินต่ำ หนี้ครัวเรือนของเราอยู่ในระดับสูงเป็นอันดับต้นๆ ของโลกเมื่อเทียบกับประเทศอื่นที่มีรายได้ต่อหัวอยู่ใกล้เคียงกัน การแพร่ระบาดของโควิด-19 ได้ส่งผลให้สถานการณ์หนี้ครัวเรือนแย่ลงไปอีก โดยเฉพาะครัวเรือนที่มีรายได้น้อย และครัวเรือนที่อยู่ในภาคบริการ ธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อมจำนวนมากก็มีสถานะการเงินเปราะบาง ความสามารถในการแข่งขันลดลงตั้งแต่ก่อนเกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19 และได้รับผลกระทบจากการระบาดรุนแรงมาก ถ้าการระบาดลากยาวต่อไปนาน ภูมิคุ้มกันของครัวเรือน และ SMEs ไทยจะลดลงมาก ไม่สามารถรับมือกับภัยใหม่ๆ ในอนาคตได้ จำเป็นอย่างยิ่งที่เราจะต้องช่วยกันเร่งสร้าง Resilience และ Agility ให้กับกลุ่มครัวเรือน และ SMEs โดยเร็ว

 

นอกเหนือจากภูมิคุ้มกันด้านสุขภาพและภูมิคุ้มกันทางเศรษฐกิจแล้ว ผมคิดว่าภูมิคุ้มกันที่สำคัญมากอีกด้านหนึ่งสำหรับสังคมไทยและคนไทยในอนาคต คือภูมิคุ้มกันด้านจิตใจ เพราะสังคมไทยจะประกอบด้วยคนกลุ่มต่างๆ ที่หลากหลายมากขึ้น ความขัดแย้งและเหตุการณ์รุนแรงที่เกิดขึ้นหลายครั้งได้ส่งผลให้สังคมอ่อนไหวมากขึ้น ศรัทธาและความไว้วางใจในโครงสร้างหลักของประเทศลดลง สังคมไทยขาดกลไกและเวทีที่จะนำไปสู่การพูดคุยกันเพื่อหาทางออกได้อย่างสันติเมื่อเกิดความขัดแย้ง ปรากฏการณ์ Anti-establishment ลักษณะนี้ไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะในประเทศไทย แต่เกิดขึ้นในหลายประเทศทั่วโลก และมีแนวโน้มที่จะรุนแรงมากขึ้นจากอิทธิพลของโซเชียลมีเดียที่เปลี่ยนพฤติกรรมการรับ-ส่งข้อมูลของคนในสังคม ข้อมูลต่างๆ ที่ส่งถึงกันตรวจสอบข้อเท็จจริงได้ยากขึ้น การปฏิรูปที่จะเกิดขึ้นในสังคมไทยจึงควรให้ความสำคัญกับการสร้างภูมิคุ้มกันด้านจิตใจไปพร้อมๆ กับภูมิคุ้มกันด้านอื่น จึงจะส่งผลให้ไทยวัฒนาได้อย่างยั่งยืน

 

สององค์ประกอบสำคัญที่ช่วยให้การปฎิรูปเกิดผลสำเร็จระยะยาว คือ การกำหนดเป้าหมายการปฎิรูปที่เอาประโยชน์สังคมและประชาชนเป็นตัวตั้ง 

 

นอกจากนี้ วิรไทยังได้นำเสนอมุมมองเกี่ยวกับสององค์ประกอบสำคัญของกระบวนการปฏิรูปที่จะช่วยให้เกิดผลสำเร็จในระยะยาว คือ การกำหนดเป้าหมายของการปฏิรูปที่ต้องเอาประโยชน์ของประชาชนและสังคมไทยเป็นตัวตั้ง ต้องมุ่งตอบโจทย์ในอนาคตอย่างน้อยในอีก 5-10 ปีข้างหน้า และต้องมีเป้าหมายที่จะวางรากฐาน วางกลไก เพื่อส่งเสริมให้เกิดการเปลี่ยนแปลง (Dynamic Momentum) ในอนาคตด้วย เพราะการปฏิรูปไม่มีวันจบ ต้องทำโดยต่อเนื่อง นอกจากการกำหนดเป้าหมายของการปฏิรูปให้ถูกต้องแล้ว การกำหนดทิศทางของการปฏิรูปจะต้องให้ความสำคัญกับอย่างน้อยสามมิติ คือ การยกระดับผลิตภาพ (Productivity) การลดความเหลื่อมล้ำ (Inclusivity) และการสร้างภูมิคุ้มกัน (Immunity) เพื่อที่เราจะสามารถรับมือกับโลกที่กำลังเปลี่ยนแปลงรวดเร็ว และมีลักษณะเป็น VUCA เพิ่มสูงขึ้น

 

องค์ประกอบที่สามของการปฏิรูป ซึ่งสำคัญไม่น้อยไปกว่าการกำหนดเป้าหมายและทิศทางของการปฏิรูป คือ วิธีนำแผนปฏิรูปไปปฏิบัติให้เกิดผลได้จริง เรื่องนี้มีหลักคิด หลักทฤษฎีเกี่ยวกับการบริหารการเปลี่ยนแปลง หรือ Transformation อยู่มากที่เราควรพิจารณานำมาใช้ประโยชน์ แต่สิ่งที่ผมจะนำเสนอในวันนี้ เป็นข้อสังเกตจากประสบการณ์ส่วนตัวที่ได้เข้าไปเกี่ยวข้องกับการปฏิรูปแบบไทยๆ ในช่วงที่ผ่านมา ผมคิดว่ามีอย่างน้อย 8 ประเด็นที่เราต้องให้ความสำคัญ ถ้าจะให้การปฏิรูปในสังคมเศรษฐกิจไทยเกิดผลสำเร็จอย่างที่ต้องการ

 

ประเด็นแรก การปฏิรูปจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อคนที่เกี่ยวข้องเห็นร่วมกันว่าต้องเปลี่ยนแปลง อยู่แบบเดิมไม่ได้ การทำให้คนที่เกี่ยวข้องเห็นความจำเป็นของการเปลี่ยนแปลงเป็นบันไดขั้นแรกของการปฏิรูปทุกเรื่อง และต้องใช้เวลาและพลังของผู้นำมากก่อนที่จะข้ามไปได้ เพราะธรรมชาติของคนไม่ชอบการเปลี่ยนแปลง โดยเฉพาะคนรุ่นผู้ใหญ่และคนที่อยู่สบายในคอมฟอร์ตโซนมานาน การทำให้คนที่เกี่ยวข้องเห็นความจำเป็นของการเปลี่ยนแปลงนั้น จะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อเราเห็นเป้าหมายใหญ่ในอนาคตร่วมกัน และตระหนักถึงผลเสียของการนิ่งเฉย ไม่กล้าที่จะเปลี่ยนแปลง

 

เรามีหลากหลายปัญหาสะสมมานาน และหลายเรื่องเราเห็นตรงกันว่าปล่อยไว้แบบเดิมไม่ได้ เราจึงใช้คำว่า ‘ปฏิรูป’ บ่อยครั้งมากในสังคมไทย แต่เราก็มักจะชอบให้คนอื่นมาจัดการปัญหาเหล่านี้ หลายครั้งการพูดคุยเรื่องการปฏิรูปมักจะจบลงด้วยประโยคที่ว่า “เห็นด้วยว่าต้องปฏิรูป แต่ฝากด้วยนะ เพราะผมคงอยู่ไม่นาน” หรือ “ปีหน้าผมจะเกษียณแล้ว คงต้องรอให้ผู้บริหารท่านใหม่มาดำเนินการ” คำพูดลักษณะนี้สำนวนฝรั่งจะใช้คำว่า Kick the can down the road หรือเตะกระป๋องตามถนนไปเรื่อยๆ โดยไม่ได้ตระหนักว่ายิ่งปล่อยให้เวลาผ่านไป ผลข้างเคียงจากปัญหาเหล่านั้นจะเพิ่มขึ้น ต้นทุนของการปฏิรูปในอนาคตจะยิ่งสูงขึ้น รวมทั้งโลกไม่ได้อยู่นิ่ง ประเทศอื่นพัฒนาตลอดเวลา ที่น่ากลัวที่สุดคือ ถ้าเราเตะกระป๋องตามถนนไปเรื่อยๆ อาจจะตกอยู่ในสภาวะ ‘กบต้ม’ โดยไม่ได้ตั้งใจ เป็นสภาวะที่ไม่รู้สึกว่าภัยมาถึงตัว เพราะกบสามารถปรับตัวเข้ากับอุณหภูมิน้ำที่ค่อยๆ ร้อนขึ้น แต่ถ้าปล่อยไว้จนกระทั่งน้ำเดือด กบก็จะไม่สามารถกระโดดหนีออกจากหม้อได้ เพราะกล้ามเนื้อต่างๆ อ่อนแรงจนเกินกำลัง

 

การปฏิรูปเรื่องใหญ่ๆ ของประเทศจึงต้องสร้างการตระหนักรู้ถึงปัญหาเพื่อให้เกิด Sense of Urgency รวมทั้งต้องสร้างวิสัยทัศน์และเป้าหมายร่วมกันตั้งแต่ระดับบนลงล่าง และระดับล่างขึ้นบน คือตั้งแต่ผู้ที่มีอำนาจตัดสินนโยบาย ผู้ที่มีส่วนได้เสีย ตลอดมาจนถึงเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานที่จะต้องดำเนินการให้เกิดผลในทางปฏิบัติ โดยผู้กำหนดนโยบายจะต้องเปิดใจรับฟังปัญหาและอุปสรรคในการทำงานจากผู้ที่มีส่วนได้เสียและผู้ปฏิบัติงานอย่างจริงใจและจริงจัง

 

ประเด็นที่สอง เราปฏิเสธไม่ได้ว่าการปฏิรูปเรื่องสำคัญทุกเรื่องต้องอาศัยหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องเป็นกลไกหลัก แต่กลไกของระบบราชการที่ผ่านมาไม่เอื้อต่อการปฏิรูป หรืออาจจะพูดว่าเป็นอุปสรรคต่อการปฏิรูปก็คงไม่ผิดนัก ในฐานะที่ผมเป็นนักเศรษฐศาสตร์ ผมคิดว่าสาเหตุหลักมาจากโครงสร้างแรงจูงใจกับความเสี่ยง (Risk Reward Structure) ในระบบราชการไม่สนับสนุนให้เกิดการเปลี่ยนแปลง เรามักจะได้ยินข้าราชการชั้นผู้ใหญ่แนะนำข้าราชการรุ่นหลังที่มีอนาคตไกลว่า “รักษาตัวไว้ดีๆ นะ” ซึ่งอาจจะแปลได้ว่า ถ้าไม่จำเป็นก็อย่าไปทำเรื่องอะไรที่จะสร้างปัญหาให้กับตัวเองได้ในอนาคต อย่าแกว่งเท้าหาเสี้ยน นิ่งเฉยไว้จะได้ประโยชน์มากกว่าในระยะยาว

 

ในภาครัฐ ผู้บริหารคนใดที่ต้องการสร้างการเปลี่ยนแปลง มักต้องต่อสู้กับแรงต้านจากผู้บริหารและบุคลากรของทั้งภายในหน่วยงานของตนและหน่วยงานอื่นที่ทำงานเกี่ยวข้องกัน ต้องเผชิญกับข้อจำกัดโดยกรอบกฎหมายและกฎเกณฑ์ที่ล้าสมัย มีโอกาสสูงที่จะไม่ประสบความสำเร็จ จึงมักจะตั้งเป้าหมายของการปฏิรูปแบบค่อยเป็นค่อยไป ไม่สามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงได้จริง ถ้าทำได้เสร็จตามเป้าหมายก็อาจจะได้ผลตอบแทนที่ดีกว่าเสมอตัวเล็กน้อย แต่ถ้าทำไม่สำเร็จ มีความเสี่ยงสูงที่จะถูกตรวจสอบและต้องรับผิดชอบปัญหาต่างๆ ตามมาอีกมาก วัฒนธรรมที่สืบทอดต่อกันมาลักษณะนี้ ทำให้ผู้บริหารเลือกที่จะไม่ทำอะไรมากกว่าลุกขึ้นมาสร้างการเปลี่ยนแปลง (Inaction Bias) ทำให้การปฏิรูปในองค์กรภาครัฐยากกว่าในภาคเอกชนมาก

 

การปฏิรูปทุกเรื่องมีความเสี่ยง ดังนั้นการปรับโครงสร้างแรงจูงใจกับความเสี่ยง (Risk Reward Structure) และวัฒนธรรมองค์กรในภาครัฐให้สนับสนุนการปฏิรูปจะเป็นเรื่องสำคัญมาก เวลาที่เราพูดถึงการปรับโครงสร้างแรงจูงใจกับความเสี่ยง เรามักจะสรุปกันว่าเราต้องให้รางวัลหรือแรงจูงใจสูงขึ้น ซึ่งไม่ผิด แต่ผมเชื่อว่าที่สำคัญไม่น้อยไปกว่ากันคือ เราต้องมีระบบที่เอื้อให้ผู้บริหารองค์กรภาครัฐกล้าที่จะรับความเสี่ยงเพิ่มขึ้น เราปฏิเสธไม่ได้ว่า กรอบกฎหมาย กลไกการตรวจสอบ และการพิจารณาความดีความชอบในปัจจุบัน ส่งผลให้ผู้บริหารและผู้ปฏิบัติงานเลือกที่จะหลีกเลี่ยงความเสี่ยง มากกว่าที่จะบริหารความเสี่ยง

 

นอกจากนี้ ในการทำงานร่วมกับภาคเอกชน เรามักจะได้ยินคำพูดที่ว่า ภาครัฐจะเสียเปรียบภาคเอกชนไม่ได้ และเงินของรัฐจะเสียหายไม่ได้ ส่งผลให้โครงการความร่วมมือระหว่างภาครัฐกับเอกชนหลายโครงการไม่สามารถเกิดขึ้นได้ เพราะหน่วยงานของรัฐหลีกเลี่ยงความเสี่ยง และให้ภาคเอกชนรับความเสี่ยงเป็นหลัก กรณีการสั่งจองวัคซีนเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด-19 เป็นตัวอย่างหนึ่ง 

 

ในขณะที่รัฐบาลหลายประเทศสามารถสั่งจองวัคซีนจากผู้ผลิตที่หลากหลายได้เร็วกว่าเรามาก ตั้งแต่ในช่วงแรกของการพัฒนาวัคซีนที่ยังไม่ทราบประสิทธิผลของวัคซีน กรอบกฎหมายและกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างของเราไม่เปิดโอกาสให้หน่วยงานรัฐทำสัญญาล่วงหน้าแบบรับความเสี่ยงได้เหมือนกับประเทศอื่น กรอบกฎหมายและกลไกการทำงานเช่นนี้อาจจะทำให้เงินของรัฐไม่เสียหาย แต่สังคมไทยโดยรวมเสียโอกาสมากมาย ทั้งมิติด้านสุขภาพของประชาชนและมิติด้านเศรษฐกิจ เรามีอีกหลายตัวอย่างของการเปลี่ยนแปลงที่จำเป็นสำหรับอนาคตของประเทศที่ล่าช้า หรือเกิดขึ้นไม่ได้ เพราะกรอบกฎหมายและกลไกการทำงานของภาครัฐส่งผลให้ผู้บริหารหลีกเลี่ยงความเสี่ยง มากกว่าที่จะบริหารความเสี่ยง

 

ประเด็นที่สาม การปฏิรูปเรื่องสำคัญที่เป็นประโยชน์ต่อสาธารณะ ผู้เสียประโยชน์มักกระจุกอยู่ตัวอยู่ในกลุ่มผู้มีอำนาจเดิมและผู้ที่ทำธุรกิจที่เกี่ยวข้องอยู่เดิม กลุ่มผู้เสียประโยชน์จะคำนวณผลประโยชน์ที่จะเสียไปได้ชัดเจน ในขณะที่ผู้ที่จะได้รับประโยชน์มักเป็นประชาชนทั่วไป ผลประโยชน์จะกระจายตัว ประชาชนแต่ละคนมองประโยชน์ที่จะได้รับไม่ออก ดังนั้นการปฏิรูปเรื่องสำคัญจึงถูกต่อต้านหรือบิดเบือนได้โดยง่าย การปฏิรูปหลายเรื่องที่แม้ว่าจะเริ่มต้นไว้ดีก็ต้องหยุดชะงัก หรือค่อยๆ เลือนหายไป เพราะแรงต้านจากกลุ่มผู้เสียประโยชน์ที่ค่อนข้างกระจุกตัว

 

วิธีการหนึ่งที่อาจจะช่วยแก้ปัญหานี้ได้คือ ต้องคำนวณผลประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับจากการปฏิรูปให้เป็นตัวเลขที่ชัดเจน ตั้งแต่ตอนกำหนดเป้าหมายและออกแบบแผนปฏิรูป และต้องสื่อสารตัวเลขเหล่านี้ให้ภาคประชาสังคม ผู้นำทางความคิด และผู้ที่คาดว่าจะได้รับประโยชน์จากการปฏิรูปทราบตั้งแต่ต้น รวมทั้งจะต้องมีกระบวนการเปิดเผยข้อมูลและความคืบหน้าของการปฏิรูปอย่างโปร่งใสและต่อเนื่องให้ภาคประชาสังคมและประชาชนติดตามได้ง่าย เพื่อสร้างเกราะป้องกันให้กับกระบวนการปฏิรูป ป้องกันไม่ให้กลุ่มที่เสียประโยชน์ล้มหรือบิดเบือนแผนปฏิรูปได้ง่าย

 

นอกจากนี้ ในกรณีที่ผู้เสียประโยชน์หรือได้รับผลกระทบจากการปฏิรูปเป็นคนตัวเล็กตัวน้อยในสังคม เราจำเป็นต้องมีแผนดูแลเยียวยาคนกลุ่มนี้ให้เหมาะสมตั้งแต่แรกด้วย บ่อยครั้งกลุ่มคนที่ได้รับผลกระทบจากการปฏิรูปไม่ได้หมายถึงเฉพาะกลุ่มคนภายนอกองค์กรเท่านั้น แต่ยังรวมถึงบุคลากรภายในองค์กรที่จะมีหน้าที่น้อยลง มีความรับผิดชอบลดลง จนอาจจะสร้างความกังวลเรื่องความมั่นคงของงานในอนาคตได้ เพราะเจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานส่วนใหญ่อาจจะมีทักษะไม่สอดคล้องกับกระบวนการทำงานรูปแบบใหม่ที่กำลังจะเกิดขึ้น

 

ประเด็นที่สี่ เราต้องยอมรับกันว่าปัญหาและความท้าทายต่างๆ ที่เราต้องจัดการในอนาคตนั้นจะซับซ้อนและเชื่อมโยงกันสูงมาก การปฏิรูปเรื่องหนึ่งจะมีผลเชื่อมโยงหรือผลกระทบไปอีกหลายเรื่อง และที่สำคัญ การปฏิรูปทุกเรื่องจะไม่สามารถทำได้สำเร็จภายใต้กรอบอำนาจหน้าที่ของหน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่งเท่านั้น การเปลี่ยนแปลงจะต้องเกิดขึ้นทั้งห่วงโซ่การทำงาน (Value Chain) จึงจะเกิดผลสำเร็จได้ตามที่คาดหวัง ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงเฉพาะโซ่ข้อใดข้อหนึ่งได้

 

ปัญหาหนึ่งที่ทำให้การปฏิรูปหลายเรื่องของเราไม่สำเร็จ หรือเสร็จแบบครึ่งๆ กลางๆ มาจากการที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องยึดเอากรอบกฎหมายและกรอบอำนาจหน้าที่ของตนเป็นที่ตั้ง ซึ่งไม่ใช่เรื่องผิด เพราะ Risk Reward Structure ในระบบราชการ ทำให้คนกังวลเรื่องความเสี่ยงและอำนาจหน้าที่ของตนเป็นใหญ่ แม้แต่ในระดับผู้กำหนดนโยบายก็ยังกังวลและเกรงใจกันมากเวลาที่มีเรื่องที่เกี่ยวเนื่องกันข้ามกระทรวง หรือข้ามพรรคการเมืองร่วมรัฐบาลที่ได้แบ่งความรับผิดชอบกันไว้ 

 

แต่การที่แต่ละหน่วยงานยึดเอากรอบกฎหมายและกรอบอำนาจหน้าที่ของตนเป็นหลักในการปฏิรูป มากกว่าการมองภาพใหญ่ว่าสังคมและประชาชนจะได้ประโยชน์อะไร ทำให้การปฏิรูปเรื่องสำคัญของประเทศเกิดขึ้นได้ยากมาก หลายเรื่องได้ทางออกที่ตอบโจทย์ของหน่วยงานมากกว่าตอบโจทย์ของสังคมและประชาชน และหลายเรื่องได้ทางออกที่มีลักษณะเป็นทางออกชั่วคราว หรือ Stop Gap ไม่สามารถที่จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่แท้จริงที่จะเป็นรากฐานใหม่สำหรับอนาคตได้ ผลที่เกิดขึ้นจึงเป็นลักษณะว่าทำได้เสร็จตามแผน แต่เป็นแผนแบบครึ่งๆ กลางๆ ไม่เกิดผลสำเร็จตามที่สังคมและประชาชนคาดหวัง

 

ในกระบวนการทำงานของภาครัฐ เรามักแก้ปัญหาที่ต้องอาศัยความร่วมมือจากหลายหน่วยงานด้วยการตั้งคณะกรรมการที่มีผู้แทนจากทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาร่วมประชุม เรามีคณะกรรมการลักษณะนี้จำนวนมาก ซึ่งในทางปฏิบัติขาดประสิทธิภาพในการทำงาน ถ้าเป็นคณะกรรมการระดับนโยบายที่มีนายกรัฐมนตรี หรือรองนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน นอกจากจะหาเวลาประชุมได้ยากมากแล้ว ยังประกอบด้วยผู้หลักผู้ใหญ่จำนวนมาก ไม่สามารถพูดคุยถกแถลงประเด็นต่างๆ กันได้อย่างตรงไปตรงมา ผู้ใหญ่แต่ละท่านมักจะพูดเฉพาะเมื่อมีประเด็นเกี่ยวข้องกับหน่วยงานของตน ในคณะทำงานระดับรองลงมาก็จะประกอบด้วยผู้แทนของหน่วยงานจำนวนมาก บางหน่วยงานก็สลับคนกันมา ซึ่งผู้แทนแต่ละหน่วยงานมักแสดงจุดยืนที่จะรักษาอำนาจหน้าที่ของตนแต่เดิม ยากที่จะเกิดเวทีที่จะร่วมกันคิด ร่วมกันถกแถลง และร่วมกันผลักดันเรื่องใหม่ๆ ที่จำเป็นสำหรับอนาคต

 

ภาคเอกชนต้องเผชิญกับโจทย์ลักษณะนี้เช่นกัน และได้ใช้เครื่องมือใหม่ๆ หลายอย่างในการพัฒนากระบวนการทำงาน เช่น การทำ Design Thinking, การทำ User Experience, การใช้ Scenario Analysis, การบริหารงานเป็น Matrix และ Cluster เพื่อลดความเป็นกล่อง หรือการช่วยกันคิดช่วยกันทำไปพร้อมกันผ่านดิจิทัลแพลตฟอร์ม โจทย์สำคัญคือ ทำอย่างไรที่เราจะสามารถให้หน่วยงานภาครัฐใช้เครื่องมือเหล่านี้ในกระบวนการทำงานและกระบวนการปฏิรูปได้จริง

 

นอกจากนี้ เราต้องยอมรับกันว่ากรอบกฎหมายและกรอบอำนาจหน้าที่ของหน่วยงานต่างๆ นั้นถูกออกแบบมาในอดีต และกฎหมายของหลายหน่วยงานไม่ได้ถูกแก้ไขมานานมากแล้ว ในขณะที่บริบทของโลกและของประเทศเปลี่ยนไปมาก ไม่สอดคล้องกับเจตนารมณ์เดิมของกฎหมายเหล่านี้ การปฏิรูปเพื่อตอบโจทย์ของอนาคตหลายเรื่องจึงไม่สามารถคิดในกรอบกฎหมายและกรอบอำนาจหน้าที่ของหน่วยงานที่มีอยู่เดิมได้ การร่วมกันคิดใหม่โดยไม่ติดกับกรอบกฎหมายเดิมนั้นจึงสำคัญมาก

 

เราหลีกเลี่ยงไม่ได้ว่าการปฏิรูปหลายเรื่องต้องนำไปสู่การแก้ไขกฎหมายหรือออกกฎหมายใหม่ แต่กระบวนการออกกฎหมายใหม่ของเราใช้เวลานานมาก และมีโอกาสสูงมากที่หลักสำคัญของการปฏิรูปจะถูกบิดเบือนหรือประนีประนอมในกระบวนการแก้ไขหรือออกกฎหมาย ถ้าจะทำให้การปฏิรูปต่างๆ เกิดผลสำเร็จแล้ว จะต้องช่วยกันคิดว่ามีวิธีใดบ้างที่จะทำให้กระบวนการการแก้ไขหรือออกกฎหมายใหม่ทำได้เร็ว โดยเฉพาะเรื่องที่เกี่ยวข้องกับหลายหน่วยงาน และต้องสามารถรักษาเป้าหมายของการปฏิรูปไว้ได้โดยไม่ถูกบิดเบือน

 

ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ภาคการเงินต้องเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วของเทคโนโลยีทางการเงิน (Fintech) และเกิดผู้ให้บริการการเงินรูปแบบใหม่ๆ ที่ไม่ใช่ธนาคารพาณิชย์ ผู้กำกับดูแลภาคการเงินในหลายประเทศ รวมทั้งธนาคารแห่งประเทศไทย ได้นำแนวคิด กระบะทราย หรือ Regulatory Sandbox มาใช้ แนวคิดนี้เป็นแนวคิดที่ส่งเสริมให้เกิดการพัฒนานวัตกรรมหรือผลิตภัณฑ์ทางการเงินใหม่ๆ ในกระบะทราย หรืออยู่ในขอบเขตจำกัดที่สามารถควบคุมความเสี่ยงได้ การทำงานใน Sandbox นั้น ผู้กำกับดูแลอาจผ่อนผันหลักเกณฑ์การกำกับดูแลบางเรื่องที่เป็นอุปสรรคต่อการพัฒนานวัตกรรม และผู้กำกับดูแลจะเรียนรู้ไปพร้อมกับผู้ที่พัฒนานวัตกรรม ซึ่งจะช่วยให้สามารถออกกฎเกณฑ์กำกับดูแลใหม่ที่เหมาะสมได้ ก่อนที่จะอนุญาตให้บริการประชาชนได้เป็นการทั่วไป

 

แนวคิดเรื่องกระบะทรายนี้ไม่ได้ถูกจำกัดอยู่เพียงภาคการเงินเท่านั้น รัฐบาลได้เริ่มนำไปใช้ในการจัดทำเขตพัฒนานวัตกรรมการศึกษา ให้ตอบโจทย์ความต้องการและบริบทของนักเรียนในแต่ละเขตพื้นที่ ซึ่งเรื่องนี้เป็นตัวอย่างของการกระจายอำนาจเพื่อแก้ปัญหาของประเทศที่ซับซ้อนมากขึ้น ไม่สามารถแก้ไขด้วยนโยบายที่คิดแบบ Top-down อย่างเดียวได้ ผมเชื่อเป็นอย่างยิ่งว่าเราสามารถใช้แนวคิด Regulatory Sandbox และแนวคิดเรื่องการกระจายอำนาจส่งเสริมให้เกิดการเปลี่ยนแปลงได้อีกหลายด้าน

 

ประเด็นที่ห้า ในปัจจุบันเราเห็นการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีแบบทวีคูณ โดยเฉพาะเทคโนโลยีดิจิทัลและปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence) ในอีก 5-10 ปีข้างหน้า เราจะยิ่งเห็นการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีหลากหลายด้านที่รวดเร็วและมีผลกว้างไกลขึ้นกว่าเดิมมาก วิถีการใช้ชีวิต วิถีการทำธุรกิจ และรูปแบบการทำงานของเราทุกด้านจะถูกกระทบจากการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีแบบที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ องค์กรใดก็ตามที่ไม่ปรับตัวตามการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี จะถูก Disrupt โดยองค์กรรูปแบบใหม่ๆ แต่ถ้าองค์กรใดสามารถปรับตัวใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่เป็นกลไกหลักในการทำงานได้ จะมีผลิตภาพเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดด เปิดโอกาสการทำงานและการเรียนรู้ใหม่ๆ ขึ้นอีกมาก การแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้เราเห็นประโยชน์ของการใช้เทคโนโลยีชัดเจนขึ้น และเร่งให้เกิด Digital Transformation เร็วขึ้นในหลายวงการ ไม่ว่าจะเป็นการทำงานอยู่บ้าน การเรียนทางไกล การรักษาพยาบาลทางไกล หรือการสั่งอาหารผ่านแพลตฟอร์มต่างๆ

 

เนื่องจากโลกกำลังเข้าสู่สังคมและเศรษฐกิจดิจิทัลด้วยความรวดเร็ว ดังนั้นการปฏิรูปทุกเรื่องต้องใช้เครื่องมือทางเทคโนโลยี โดยเฉพาะเทคโนโลยีดิจิทัลเป็นหลัก หรือเรียกว่า Digital First ผมเชื่อว่าทุกเรื่องที่เราต้องการเปลี่ยนแปลงมีตัวอย่างจากหลากหลายประเทศ หลากหลายองค์กรที่ใช้เครื่องมือดิจิทัลเป็นเครื่องมือหลักในทุกขั้นตอนของกระบวนการทำงาน ตั้งแต่การหาข้อมูลเพื่อกำหนดเป้าหมายและออกแบบแผนปฏิรูป การปรับรูปแบบขั้นตอนการทำงานใหม่ๆ ไปจนถึงการติดตามประเมินผล เทคโนโลยีดิจิทัลจะช่วยลดต้นทุนการทำงาน สามารถติดตามผลการทำงานได้อย่างทันทีทันใด เข้าถึงประชาชนในวงกว้างได้โดยง่ายไม่ว่าจะอยู่จุดไหนของประเทศ และสร้างฐานข้อมูลขนาดใหญ่ที่จะเป็นประโยชน์สำหรับการติดตาม ปรับแผนการดำเนินงานให้เหมาะสม สามารถที่จะสร้างโมเมนตัมของการปฏิรูปให้เกิดขึ้นต่อเนื่องได้ รวมทั้งช่วยรวบรวมและเปิดเผยข้อมูลเพื่อสร้างความโปร่งใสของการทำงาน ให้สามารถตรวจสอบได้โดยง่ายด้วย

 

 

การใช้เครื่องมือดิจิทัลเป็นเครื่องมือหลักในการปฏิรูปนี้ จำเป็นต้องมีโครงสร้างพื้นฐานกลางด้านดิจิทัลมารองรับ ที่สำคัญที่สุดคงหนีไม่พ้นระบบการพิสูจน์และยืนยันตัวตนผ่าน Digital ID ที่จะต้องสามารถใช้ร่วมกันทั้งภาครัฐและเอกชน ระบบนี้เป็นด่านแรกและด่านสำคัญที่สุดของการเข้าสู่ระบบสังคมและเศรษฐกิจดิจิทัล เราจำเป็นต้องเร่งสร้างระบบ Digital ID ที่ใช้ประโยชน์ได้อย่างกว้างขวาง ไม่ใช่ถูกจำกัดอยู่เพียงกรอบกฎหมายของบัตรประชาชนที่มีอยู่ในปัจจุบัน

 

การเร่งพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัลของประเทศเป็นเรื่องสำคัญมาก เพราะถ้าเราขาดโครงสร้างพื้นฐานเหล่านี้ นอกจากจะเป็นอุปสรรคต่อการเปลี่ยนแปลงไปสู่ระบบสังคมและเศรษฐกิจดิจิทัลแล้ว ยังจะสร้างเส้นแบ่งด้านดิจิทัล (Digital Divide) ระหว่างคนที่มีทรัพยากรและมีความรู้สามารถเข้าถึงเทคโนโลยีสมัยใหม่ได้ กับคนที่ขาดทรัพยากรและความรู้ ส่งผลให้ปัญหาความเหลื่อมล้ำในสังคมเศรษฐกิจไทยรุนแรงขึ้นอีก นอกจากตัวโครงสร้างพื้นฐานแล้ว ยังจำเป็นที่จะต้องสร้างระบบนิเวศที่จะเอื้อให้ประชาชนใช้โครงสร้างพื้นฐานเหล่านั้นด้วยความมั่นใจและสบายใจด้วย ไม่ว่าจะเป็นกรอบกฎหมายที่เกี่ยวข้อง กลไกที่จะดูแลผู้ใช้บริการถ้าเกิดปัญหาขึ้น และการกำหนดค่าธรรมเนียมให้เหมาะสม

 

เทคโนโลยีดิจิทัลได้กลายเป็นเครื่องมือหลักในการทำงานขององค์กรสมัยใหม่ และยังจะต่อยอดได้อีกมาก เราจำเป็นที่จะต้องผลักดันให้เทคโนโลยีดิจิทัลเข้าไปเป็นกลไกหลักในการทำงานของภาครัฐ โดยเฉพาะกระบวนการทำงานที่เกี่ยวข้องกับประชาชนจำนวนมาก จึงเชื่อว่าเราจะสามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงได้อย่างเป็นรูปธรรม ถ้าการปฏิรูปตำรวจสามารถเปลี่ยนบันทึกประจำวันของโรงพักทั่วประเทศให้เข้าสู่ระบบดิจิทัล ที่ประชาชนสามารถติดตามความคืบหน้าของคดีที่ตนเกี่ยวข้องได้ หรือสามารถดูสถิติคดีแต่ละประเภทในเขตหรือจังหวัดของตนได้ตลอดเวลา หรือถ้าการปฏิรูประบบภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างจะทำให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทุกแห่งสามารถแสดงผลการประเมิน และการจัดเก็บภาษีที่ดินแต่ละแปลงผ่านระบบดิจิทัลได้อย่างโปร่งใส ผมเชื่อมั่นว่าเราจะเก็บภาษีได้เพิ่มขึ้นมาก และระบบการบริหารภาษีของเราจะเป็นธรรมขึ้นมาก

 

นอกจากนี้ ในยุคที่เรากำลังเข้าสู่เทคโนโลยี 5G และ Internet of Things (IOTs) กระบวนการทำงานที่ใช้เทคโนโลยีดิจิทัล จะช่วยลดต้นทุนการทำงาน ลดการสูญเสียทรัพยากร ตลอดจนเพิ่มประสิทธิภาพของกระบวนการทำงานต่างๆ ได้มากอย่างที่เราอาจจะคาดไม่ถึงมาก่อน

 

การตั้งเป้า Digital First ในทุกเรื่องที่เราต้องการปฏิรูป จะยังช่วยให้เราคิดออกนอกกรอบกฎหมายและกระบวนการทำงานแบบเดิม และช่วยให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเร็วขึ้น เพราะเทคโนโลยีสมัยใหม่ทำให้เราไม่ต้องทำงานทีละขั้นตอน (Sequencing) เหมือนการทำงานผ่านกระดาษ กระบวนการทำงานสามารถเชื่อมต่อกับหน่วยงานอื่นได้โดยง่าย และมีข้อมูลแบบเรียลไทม์ที่จะใช้ติดตามการทำงานและบริหารความเสี่ยงได้รวดเร็ว รวมทั้งจะเป็นรากฐานที่จะนำไปสู่การเปิดเผยข้อมูลการปฏิบัติงานของภาครัฐอย่างโปร่งใส (Open Government) ซึ่งถ้าเราทำได้ จะสร้างการเปลี่ยนแปลงใหญ่มากในสังคมไทย

 

ประเด็นที่หก เราจะต้องสร้างกลไกที่เปิดโอกาสให้ผู้ที่มีความรู้ความสามารถในภาคธุรกิจ ภาคประชาสังคม และสถาบันการศึกษา เข้ามาเป็นพันธมิตรในการปฏิรูปร่วมกับหน่วยงานภาครัฐ โดยเฉพาะในการพัฒนาเครื่องมือหรือกระบวนการทำงานใหม่ๆ เราต้องยอมรับความจริงว่าหน่วยงานภาครัฐขาดงบประมาณและขาดบุคลากร รวมทั้งกระบวนการทำงานของภาครัฐไม่เอื้อให้เกิดการพัฒนาเครื่องมือการทำงานใหม่ๆ ได้อย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะถ้าต้องอาศัยเทคโนโลยีสมัยใหม่ มีตัวอย่างมากมายที่เทคโนโลยีที่หน่วยงานภาครัฐพัฒนาขึ้นใช้เวลาในการพัฒนานาน ขาดประสิทธิภาพ ล้าสมัย หรือให้บริการได้ในวงจำกัด ไม่สามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้นได้จริง ส่วนหนึ่งคงเป็นเพราะหน่วยงานภาครัฐเชี่ยวชาญเฉพาะการออกนโยบายและการออกคำสั่งการ ขาดประสบการณ์ในการปฏิบัติให้เกิดผลจริง

 

การเปิดโอกาสให้ผู้ที่มีความรู้ความสามารถในภาคธุรกิจ ภาคประชาสังคม และสถาบันการศึกษาที่มีประสบการณ์ในการปฏิบัติจริงเข้ามาเป็นพันธมิตรร่วมพัฒนาเครื่องมือต่างๆ นั้น ไม่ใช่การจ้างผู้รู้เหล่านั้นมาเป็นที่ปรึกษา หรือมารับจ้างพัฒนาระบบต่างๆ ให้เหมือนกับที่ปฏิบัติกันอยู่ในปัจจุบัน แต่จะหมายถึงการร่วมกันคิดร่วมกันทำ หรือต่อยอดใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีหรือแพลตฟอร์มต่างๆ ที่มีอยู่แล้ว โดยที่หน่วยงานภาครัฐไม่ต้องเป็นเจ้าของเอง เช่น บริการขนส่งสาธารณะสามารถใช้ประโยชน์จากระบบการชำระเงินอิเล็กทรอนิกส์ที่เปิดกว้างแทนระบบตั๋วร่วม ที่หน่วยงานภาครัฐหลายแห่งได้พัฒนากันมานานมากแต่ก็ยังไม่เกิดขึ้น

 

ตัวอย่างที่น่าสนใจมากของการทำงานแบบพันธมิตรร่วมกันระหว่างภาครัฐและภาคเอกชน คือ Digital Transformation ในอินเดีย ที่ผ่านมาเรามักคิดว่าการเปลี่ยนแปลงในอินเดียเกิดขึ้นได้ช้ามาก เพราะกลไกการทำงานของภาครัฐขาดประสิทธิภาพ และติดกรอบกฎหมาย กฎเกณฑ์ที่ซับซ้อนมาก แต่ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา Digital Transformation ในอินเดียเกิดขึ้นเร็วมาก เกิด Application Programming Interface (API) เป็นโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัลใหม่ที่เรียกว่า ‘India Stack’ เพื่อตอบโจทย์ประชากรมากกว่าหนึ่งพันล้านคน คนที่คิดโครงสร้างพื้นฐานเหล่านี้มาจากทั้งภาครัฐและเอกชน คิดไกล ทำให้เกิดผลในวงกว้าง สามารถต่อยอดกับเครื่องมือใหม่ๆ ได้หลากหลาย เพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อการทำงานของทั้งภาครัฐ ภาคธุรกิจ ตลอดจนสตาร์ทอัพใหม่ๆ ด้วย โครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัลของอินเดียหลายเรื่องจึงมีประสิทธิภาพสูงกว่าในประเทศพัฒนาแล้วมาก ไม่ว่าจะเป็นระบบ Digital ID ระบบการชำระเงินอิเล็กทรอนิกส์ ระบบเอกสารอิเล็กทรอนิกส์ หรือระบบการให้ Consent ข้ามแพลตฟอร์มต่างๆ

 

ในการพัฒนาระบบเหล่านี้ รัฐบาลอินเดียใจกว้าง เปิดโอกาสให้บุคลากรจากภาคธุรกิจ ภาคประชาสังคม และสถาบันการศึกษา เข้ามานำเสนอแนวคิดและร่วมกันพัฒนา โดยรัฐบาลให้การสนับสนุน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องทุน หรือการอนุญาตให้สามารถทำหน้าที่เป็นตัวแทนหน่วยงานภาครัฐในบางเรื่องได้ และเมื่อพัฒนาโซลูชันต่างๆ เสร็จแล้ว รัฐบาลอินเดียจะตั้งหน่วยงานใหม่ขึ้นมารองรับโซลูชันเหล่านี้ โดยให้ผู้ที่มีความรู้ความสามารถจากภายนอกมีบทบาทที่จะช่วยพัฒนาต่อยอดและยกระดับประสิทธิภาพการทำงานต่อเนื่อง ผลผลิตที่ได้จากการพัฒนาภายใต้โครงการ India Stack จะต้องเปิดกว้างให้หน่วยงานภาครัฐและธุรกิจใช้ประโยชน์ได้ทั่วไป และมีกรอบการทำงาน เพื่อป้องกันความขัดแย้งทางผลประโยชน์ของกลุ่มคนที่เข้ามาช่วยออกแบบและพัฒนาด้วย

 

ในประเทศไทย การแพร่ระบาดของโควิด-19 ช่วยให้เกิดความร่วมมือระหว่างหน่วยงานภาครัฐและผู้ที่มีความรู้ความสามารถในภาคธุรกิจและสถาบันการศึกษาที่ช่วยกันพัฒนาเครื่องมือใหม่ๆ หลายเรื่องให้เกิดขึ้นได้เร็วมากและได้นำมาใช้ประโยชน์ได้จริง ไม่ว่าจะเป็นแพลตฟอร์มเราเที่ยวด้วยกัน, ไทยชนะ, หมอชนะ หรือคนละครึ่ง แต่ก็มีหลายเรื่องที่ลงทุนลงแรงพัฒนากันมาก แต่ไม่ได้ถูกใช้ประโยชน์เต็มที่ เพราะติดกรอบกฎเกณฑ์ต่างๆ ของบางหน่วยงาน ผมคิดว่าคงจะเป็นการดี ถ้าเราจะเรียนรู้จากรูปแบบการทำงานร่วมกันในช่วงวิกฤตที่ผ่านมา และพัฒนารูปแบบการทำงานใหม่ที่เปิดกว้างระหว่างหน่วยงานภาครัฐกับผู้ที่มีความรู้ความสามารถด้านเทคโนโลยี ในลักษณะเป็นพันธมิตรกัน เพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้นในอีกหลากหลายด้าน

 

นอกจากเรื่องเทคโนโลยีแล้ว อีกวิธีหนึ่งของการสร้างรูปแบบการทำงานในลักษณะพันธมิตรร่วมกับภาคธุรกิจเพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้นเร็ว คือการใช้หลักกลไกตลาดที่เปิดกว้าง โดยรัฐต้องมีนโยบายชัดเจนที่จะไม่แข่งขันกับภาคเอกชนในบริการที่เอกชนสามารถทำได้ดี หน่วยงานภาครัฐเป็นเพียงผู้ให้เงินอุดหนุนและควบคุมคุณภาพ แต่ไม่ต้องให้บริการเอง บุคลากรของภาครัฐหรือประชาชนที่ได้รับสวัสดิการ ได้รับเงินอุดหนุนจากภาครัฐ สามารถเลือกใช้บริการจากผู้ให้บริการเอกชนรายใดก็ได้ที่ได้รับการรับรองคุณภาพหรือขึ้นทะเบียนไว้ กลไกตลาดที่ให้สิทธิ์เลือกใช้บริการจากผู้ประกอบการเอกชนได้นี้สามารถนำมาใช้ได้กับบริการหลายประเภท เช่น การให้โรงพยาบาลเอกชนเข้าร่วมโครงการสวัสดิการรักษาพยาบาลของรัฐ ระบบคูปองโรงเรียน หรือระบบคูปองสำหรับการฝึกอบรมบุคลากร ถ้าเรามีระบบการทำงานที่มีประสิทธิภาพและโปร่งใส ผู้ให้บริการเอกชนจะต้องแข่งขันกันเพิ่มคุณภาพโดยต่อเนื่อง จะช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายในระยะยาวของภาครัฐ และจะช่วยแก้ปัญหาคอขวดที่หน่วยงานภาครัฐมักมีข้อจำกัด ไม่สามารถเพิ่มความสามารถในการให้บริการได้อย่างรวดเร็ว

 

ประเด็นที่เจ็ด ได้กล่าวไว้แต่ต้นว่า การปฏิรูปใดๆ ก็ตามต้องตั้งเป้าหมายที่จะสร้างประโยชน์ให้คนไทยและสังคมไทย โดยมองไกลไปในอนาคตอย่างน้อย 5-10 ปีข้างหน้า ต้องวางรากฐานให้สมควร ให้เหมาะสมกับสภาพแวดล้อมและเทคโนโลยีที่กำลังเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว เราคงต้องยอมรับความจริงว่าคนรุ่นผู้ใหญ่ที่มีอำนาจตัดสินใจการปฏิรูปเรื่องต่างๆ มักจะตามการเปลี่ยนแปลงไม่ทัน และบ่อยครั้งมีแนวโน้มที่จะรักษาสถานะเดิม มากกว่าที่ต้องการส่งเสริมการเปลี่ยนแปลง 

 

“ผมเองก็รู้สึกว่าคนรุ่นผมที่มีอายุ 50 ปีต้นๆ ก็ตามพัฒนาการใหม่ๆ หลายเรื่องไม่ทัน และเริ่มที่จะตกรุ่น ต้องเรียนรู้วิธีคิด วิธีการทำงาน และเทคโนโลยีจากรุ่นน้องๆ และรุ่นหลานๆ อยู่เป็นประจำ ดังนั้น จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่เราต้องเปิดโอกาสและผลักดันให้คนรุ่นอายุ 40 ปีหรือน้อยกว่านั้น เข้ามามีบทบาทสำคัญในการออกแบบ และขับเคลื่อนการปฏิรูปเรื่องสำคัญของประเทศ” 

 

วิรไทกล่าวว่า คนรุ่นนี้มีประสบการณ์การทำงานและการบริหารมามากระดับหนึ่ง สามารถเป็นสะพานเชื่อมต่อคนหลากหลายรุ่นได้ดี สามารถสานต่อสิ่งดีๆ ที่มีอยู่ในปัจจุบันเข้ากับการเปลี่ยนแปลงที่จำเป็นสำหรับอนาคตได้ และที่สำคัญ คนรุ่นนี้ยังต้องมีอายุการทำงานอีกนาน อนาคตของเขาจึงขึ้นอยู่กับความสำเร็จของการปฏิรูปมากกว่าคนรุ่นผู้ใหญ่ 

  

ประเด็นสุดท้าย ทุกครั้งเวลาที่เราคิดถึงการจัดทำแผนปฏิรูป เรามักจะคิดถึงเรื่องใหม่ๆ ที่อยากทำ สิ่งที่สำคัญไม่น้อยไปกว่ากันคือ เราต้องคิดว่าจะต้องลดและเลิกทำเรื่องใดบ้าง เพื่อที่จะได้มีพลังและทรัพยากรเพียงพอสำหรับทำเรื่องใหม่ การกำหนดแผนให้ชัดเจนว่าจะลดและเลิกทำเรื่องใดบ้างสำคัญมาก เพราะทรัพยากรของเรามีจำกัด รวมทั้งจะช่วยสร้างความชัดเจนให้ผู้ที่ปฏิบัติงานและผู้ที่เกี่ยวข้องทราบว่าอนาคตจะไม่เหมือนเดิม ถ้าเราไม่มีแนวทางลดและเลิกให้ชัดเจนแล้ว ธรรมชาติของมนุษย์ที่ไม่ชอบการเปลี่ยนแปลง จะทำให้ผู้ปฏิบัติงานมักมีข้ออ้างว่ากำลังยุ่งกับเรื่องเดิม ต้องทำแบบเดิม มากกว่าที่จะปรับตัวหรือให้ความสำคัญกับเรื่องใหม่ หรือไม่ก็จะเกิดปัญหาว่าเราต้องเพิ่มบุคลากร เพิ่มกล่อง เพิ่มหน่วยงานทุกครั้งที่มีแผนปฏิรูปใหม่ สร้างภาระให้กับงบประมาณในระยะยาว รวมทั้งจะทำให้การทำงานและการปรับตัวในอนาคตยากขึ้นไปอีก จากการที่มีหน่วยงาน มีกล่องที่ทำงานในเรื่องใกล้เคียงกันเพิ่มขึ้น

 

วิรไทย้ำว่า ถ้าจะให้เศรษฐกิจและสังคมไทยมั่นคงก้าวหน้า และชีวิตของคนไทยแต่ละคนมีความปลอดภัย มีความเจริญ และมีความสุขแล้ว การปฏิรูปเป็นสิ่งที่เราหลีกเลี่ยงไม่ได้ เราจำเป็นต้องเร่งเปลี่ยนแปลงหลายอย่างให้สมควร ให้เหมาะสมกับบริบทของโลกใหม่ การปฏิรูปเพื่อให้ไทยวัฒนาได้จริงนั้นอาจจะต้องเริ่มที่ ‘การปฏิรูปกระบวนการปฏิรูป’ ที่เราคุ้นชินและใช้อยู่ในปัจจุบัน

 

พิสูจน์อักษร: วรรษมล สิงหโกมล

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising