×

‘วิรไท’ ห่วงความเหลื่อมล้ำยิ่งถ่าง จี้ภาครัฐเร่งปรับโครงสร้าง ผสานการทำงานร่วมกันทุกฝ่าย รับมือโลกที่เปลี่ยนไปจากวิกฤตโควิด

14.09.2021
  • LOADING...
วิรไท สันติประภพ

อดีตผู้ว่าแบงก์ชาติจี้ ‘ภาครัฐ’ ปรับโครงสร้างอย่างจริงจัง เน้นรูปแบบการทำงานร่วมกันระหว่างภาครัฐ-เอกชน-ภาคประชาสังคม-สถาบันการศึกษา เพื่อรองรับโลกที่เปลี่ยนไปจากปัญหาโควิด-19 ห่วงหลังวิกฤตความเหลื่อมล้ำยิ่งถ่าง

 

วิรไท สันติประภพ อดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย และกรรมการมูลนิธิปิดทองหลังพระ สืบสานแนวพระราชดำริ กล่าวในการเสวนา ‘ฝ่าวิกฤตโควิด-19 พลิกฟื้นเศรษฐกิจและสังคมฐานราก ออกแบบอนาคตไทยที่ยั่งยืน’ จัดขึ้นโดยกระทรวงมหาดไทย เพื่อร่วมสร้างเข็มทิศประเทศไทยในอนาคต ว่าประเทศไทยโดยเฉพาะภาครัฐต้องเร่งปรับโครงสร้างเศรษฐกิจและสังคม รวมทั้งปรับรูปแบบการทำงานอย่างจริงจัง (Transformation) เพื่อรับมือกับความท้าทายหลายประการที่เกิดขึ้นจากวิกฤตโควิด 

 

วิรไท อธิบายว่า ก่อนเกิดวิกฤตโควิด ประเทศไทยประสบปัญหาโครงสร้างหลายอย่างที่รุนแรงอยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็นด้านผลิตภาพ (Productivity) ที่อยู่ในระดับต่ำและเพิ่มขึ้นช้ากว่าประเทศอื่น โดยเฉพาะภาคการเกษตรและภาคบริการที่ส่วนใหญ่เป็นบริการแบบดั้งเดิม เช่น การท่องเที่ยว 

 

นอกจากนี้พบว่าแรงงานส่วนหนึ่งได้เคลื่อนย้ายจากภาคอุตสาหกรรมไปสู่ภาคท่องเที่ยวและภาคบริการ ส่งผลให้แรงงานมีรายได้และผลิตภาพลดลง แม้ว่าตัวเลขอัตราการว่างงานในภาพรวมอยู่ในระดับต่ำ

 

นอกจากนี้ยังมีปัญหาความเหลื่อมล้ำในหลายมิติ รวมถึงการเกิดเทคโนโลยีดิสรัปชัน (Technology Disruption) ซึ่งกระทบต่อวิธีการทำงาน โดยเฉพาะวิธีการทำงานของแรงงานทั่วไป เพราะมีการใช้กลไกหุ่นยนต์แทนการทำงานมากขึ้น 

 

และที่สำคัญคือ ภาครัฐยังมีกฎเกณฑ์ ระเบียบการดำเนินงานที่ล้าสมัย ไม่ทันต่อความท้าทายและบริบทปัจจุบัน ทำให้ไม่สามารถให้บริการประชาชนได้อย่างคล่องตัว และไม่สามารถตอบโจทย์ความต้องการที่แท้จริงของประชาชนและธุรกิจได้

 

วิรไท อธิบายต่อไปว่า ปรากฏการณ์เช่นนี้ เมื่อถูกกระตุ้นให้รุนแรงขึ้นด้วยวิกฤตโควิด จึงทำให้เกิดการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไปในรูปแบบตัว K กล่าวคือ ผู้ที่ร่ำรวยและมีทรัพยากรมากกว่าจะยิ่งมีโอกาสได้ประโยชน์สูงขึ้น ในขณะที่คนยากจน หรือคนตัวเล็กตัวน้อย จะเสียเปรียบ แข่งขันได้ยากขึ้น และจะยิ่งยากจนลง

 

วิรไท ชี้ให้เห็นการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญจากวิกฤตโควิด คือ มีคนวัยทำงานตกงาน ต้องออกจากเมืองใหญ่และเมืองอุตสาหกรรมกลับสู่ชนบทหลายล้านคน และมีแนวโน้มว่าคนเหล่านั้นจะไม่สามารถกลับมาทำงานในเมืองได้อีกเมื่อสถานการณ์โควิดคลี่คลายลง เพราะหลายอุตสาหกรรมมีกำลังการผลิตส่วนเกินอยู่สูง และรูปแบบการทำงานจะเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม จะใช้หุ่นยนต์และเทคโนโลยีสมัยใหม่เข้ามามากขึ้น  

 

“โจทย์สำคัญของประเทศไทยขณะนี้ คือเราจะทำอย่างไรให้คนในวัยทำงานนับล้านคนเหล่านี้สามารถมีอาชีพอยู่ในชนบทได้อย่างยั่งยืน คนวัยทำงานที่กลับบ้านจะสามารถสร้างความเข้มแข็ง และสร้างการเปลี่ยนแปลงในเศรษฐกิจและสังคมชนบทได้ด้วย แก้ปัญหาผลิตภาพต่ำในภาคการเกษตร แก้ปัญหาครอบครัวโหว่กลาง และสังคมชนบทที่อ่อนแอลงเรื่อยๆ ตลอดช่วงสองทศวรรษที่ผ่านมา ในรอบนี้ คนวัยทำงานที่กลับบ้านพอเข้าใจเรื่องการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีดิจิทัลระดับหนึ่ง มีทักษะการทำงาน การติดต่อสื่อสาร การหาข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาท้องถิ่นได้ ถ้าช่วยกันสร้างโอกาส และพัฒนาทักษะที่เหมาะสม เขาจะช่วยสร้างการเปลี่ยนแปลง เป็น Change Agent ที่จะสร้างความเข้มแข็งให้กับชนบทไทยได้”

 

นอกจากนี้ วิรไท ได้เสนอแนวทางการปฏิบัติงานของข้าราชการในพื้นที่เพื่อฝ่าวิกฤตโควิคไว้ดังนี้

 

  1. ภาครัฐควรให้ความสำคัญกับการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจและสังคมมากกว่าการเยียวยาในช่วงสั้นๆ เพียงอย่างเดียว เพื่อรองรับความท้าทายใหม่ๆ ที่จะมีมากขึ้น

 

  1. ต้องเน้นการทำงานในลักษณะล่างขึ้นบนให้มากขึ้น มากกว่าการกำหนดสูตรสำเร็จจากส่วนกลาง เพราะแต่ละพื้นที่มีปัญหาต่างกัน มีบริบทต่างกัน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องทรัพยากร บุคคลากร สภาพพื้นที่ และการบริหารจัดการ

 

  1. ควรต้องเน้นการสร้างงานในชนบทนับล้านตำแหน่ง ไปพร้อมๆ กับการพัฒนาทักษะใหม่ หรือ Reskilling ให้ตอบโจทย์ของโลกใหม่ 

 

โดยหน่วยงานภาครัฐไม่จำเป็นต้องลงมือทำเอง แต่ต้องทำงานร่วมกันระหว่าง ภาครัฐ ภาคการศึกษา ธุรกิจ ประชาสังคม และชุมชน โดยหน่วยงานภาครัฐควรมีบทบาทเป็นผู้สนับสนุนให้เกิดความร่วมมือได้อย่างมีประสิทธิภาพ และติดตามประเมินผล เมื่อมองไปข้างหน้าพบว่าประชาชนมีความเดือดร้อนอีกมากที่ต้องได้รับการแก้ไข ถ้าให้หน่วยงานภาครัฐเป็นผู้ลงมือทำเอง จะไม่สามารถตอบโจทย์ได้อย่างเท่าทัน และอาจจะไม่เกิดประสิทธิผลเมื่อเทียบกับการทำงานร่วมกับหน่วยงานอื่นที่มีประสบการณ์และความชำนาญเฉพาะด้านสูงกว่าหน่วยงานภาครัฐ

 

วิรไท ได้ยกตัวอย่างการทำงานของมูลนิธิปิดทองหลังพระ สืบสานแนวพระราชดำริ ที่เข้าไปเติมเต็มช่องว่างในการประสานงานระหว่างหน่วยงานภาครัฐต่างๆ และระหว่างหน่วยงานภาครัฐกับชุมชน โดยหนึ่งปีที่ผ่านมาตั้งแต่เกิดวิกฤตโควิด ได้จัดทำโครงการพิเศษเพื่อซ่อมแซมแหล่งน้ำขนาดเล็กกว่า 650 โครงการใน 9 จังหวัดใช้เงินลงทุนประมาณ 250 ล้านบาท หรือตกโครงการละประมาณ 4 แสนบาท สามารถจ้างแรงงานที่ตกงานกลับบ้านได้ประมาณ 1,000 คน 

 

แหล่งน้ำขนาดเล็กเหล่านี้สามารถกลับมาเก็บกักน้ำได้มากกว่า 120 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือรวมกันแล้วมีขนาดใกล้เคียงกับความจุของเขื่อนกิ่วลม ส่งผลให้ประชาชนมีรายได้เพิ่มขึ้นมากกว่า 1,400 ล้านบาท หลักการทำงานที่สำคัญคือ การให้ชาวบ้านแสดงความต้องการที่จะร่วมกันซ่อมแซมแหล่งน้ำเหล่านี้โดยต้องอาสาลงแรงร่วมกัน ไม่มีการจ้างเหมาผู้รับเหมามาดำเนินโครงการ 

 

การเริ่มจากให้ชาวบ้านอาสาลงแรงร่วมกัน เป็นวิธีหนึ่งที่จะแสดงว่าโครงการเหล่านี้เป็นโครงการที่ชาวบ้านเห็นว่ามีประโยชน์อย่างแท้จริง เป็นโครงการที่มาจากความต้องการของชุมชน เป็นการกำหนดจากล่างขึ้นบน โดยมูลนิธิปิดทองหลังพระฯ สนับสนุนองค์ความรู้ และวัสดุอุปกรณ์ในการซ่อมแซม และประสานงานกับหน่วยงานภาครัฐที่เป็นผู้ดูแลแหล่งน้ำเหล่านี้เพื่อให้ชาวบ้านเข้าซ่อมแซมได้ 

 

วิรไท กล่าวทิ้งท้ายว่า เนื่องจากโลกในอนาคตจะมีลักษณะVUCA (Volatile – ผันผวน, Uncertain – ไม่แน่นอน, Complex – ซับซ้อน, Ambiguous – คลุมเครือ) โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากภาวะโลกร้อนและการเปลี่ยนแปลงสภาวะอากาศ ซึ่งประเทศไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่จะได้รับผลกระทบอย่างรุนแรง และผลกระทบในแต่ละพื้นที่จะต่างกัน ดังนั้นหน่วยงานภาครัฐจึงต้องทำงานในลักษณะล่างขึ้นบนมากขึ้น ไปในทิศทางของ Decentralization และต้องทบทวนการแบ่งบทบาทระหว่างส่วนกลางกับท้องถิ่นเพื่อให้สอดคล้องกับความท้าทายของอนาคต  

 

นอกจากนี้ วิรไท ยังได้ฝากสามคำถามสำคัญไว้ให้กระทรวงมหาดไทยและหน่วยงานภาครัฐพิจารณาก่อนที่จะเริ่มทำโครงการใดๆ ต้องถามตัวเองว่า 

 

  1. โครงการต่างๆ ที่จะทำจะมีผลช่วยปรับโครงสร้างและสร้างความยั่งยืนในระยะยาวหรือไม่ จะตอบโจทย์ความท้าทายในอนาคตอย่างไร

 

  1. หน่วยงานภาครัฐจำเป็นต้องเป็นคนลงมือทำโครงการเหล่านี้เอง หรือควรมีบทบาทสนับสนุนให้ภาคเอกชน ประชาสังคม ชุมชน หรือท้องถิ่นที่เก่งกว่า มีความชำนาญเฉพาะด้านมากกว่าเป็นคนลงมือทำ

  

  1. ใช้เทคโนโลยี โดยเฉพาะเทคโนโลยีดิจิทัลเป็นกลไกในการดำเนินการหลักหรือไม่ในโลกปัจจุบัน ทุกเรื่องที่หน่วยงานภาครัฐคิดจะทำควรต้องให้ความสำคัญกับการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีดิจิทัลก่อน (Digital First) เสมอ
  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X