วันนี้ (5 กันยายน) ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ครั้งที่ 22 สมัยสามัญประจำปีครั้งที่ 1 วาระพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 ในมาตรา 29 งบประมาณรัฐวิสาหกิจ วีระ ธีระภัทรานนท์ ในฐานะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณางบประมาณปี 2568 ที่สงวนความเห็น ได้อภิปรายแสดงเหตุผลที่เสนอตัดงบประมาณรายจ่ายของรัฐวิสาหกิจลง 10% คิดเป็นประมาณ 3.4 พันล้านบาท โดยระบุว่า
ในชั้นกรรมาธิการก็ตัดทอนลงไปอย่างมหาศาลอยู่แล้ว แต่ตนเองสงวนความเห็นเพื่อชี้แจงว่า การตัดรายจ่ายดังกล่าวเป็นเรื่องที่ตนไม่เห็นด้วย งบดังกล่าวเดิมรัฐบาลเสนอมา 6.9 หมื่นล้านบาท ในชั้นกรรมาธิการตัดทอนไป 3.5 หมื่นล้านบาท คงเหลือ 3.4 หมื่นล้านบาท พร้อมระบุว่า ขณะนี้เรามีรัฐวิสาหกิจทั้งหมด 52 แห่ง ได้กำไร 35 แห่ง มีรายได้ประมาณ 4.4 ล้านล้านบาท มีกำไร 2.4 แสนล้านบาท นำส่งให้รัฐบาลล่าสุดเมื่อปี 2566 ประมาณ 1.7 แสนล้านบาท
แม้รัฐวิสาหกิจบางแห่งจะอยู่ได้ด้วยตนเอง เป็นสถาบันการเงิน แต่รัฐบาลมีภาระผูกพันต้องชดเชยรายได้ที่รัฐวิสาหกิจเสียไปเป็นเงินต้นและดอกเบี้ย แต่รัฐบาลกลับไม่ทำ และยังตัดลดรายการที่จะต้องให้รัฐวิสาหกิจ 5 แห่ง เป็นเงินประมาณ 3.5 หมื่นล้านบาท เพื่อโยกไปเป็นงบกลางสำหรับกระตุ้นเศรษฐกิจ
อย่างไรก็ตาม วีระยก พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังของรัฐ ที่กำหนดไว้ว่า อัตราส่วนระหว่างยอดค้างชำระที่สถาบันการเงินออกให้ก่อนอยู่ที่ 32% ปัจจุบันกรอบดังกล่าว เพดานในการชดใช้เงินจะอยู่ที่ 1.2 ล้านล้านบาท สถานะของยอดคงค้างปัจจุบันอยู่ที่ 1.004 ล้านล้านบาท หมายความว่าไม่ทะลุเพดาน แต่จำนวนค่อนข้างเยอะ
วีระชี้ว่า การดำเนินการขณะนี้ในงบประมาณรายจ่ายรัฐวิสาหกิจ ถ้าหากเราจะบริหารจัดการแบบนี้ อนาคตอาจเป็นปัญหาได้ เพราะส่วนหนึ่งอยู่ในรายการบริหารจัดการหนี้ของรัฐบาล 4.1 แสนล้านบาท มาแฝงไว้ในงบรายจ่ายรัฐวิสาหกิจที่จะต้องจ่ายคืน ทำให้เราไม่รู้สถานะหนี้สินและภาระค้างจ่ายของรัฐบาลอย่างแท้จริง
“ในอนาคตผมอยากเสนอให้ท่านสมาชิกลองทบทวนดูในการจัดทำงบประมาณปีต่อๆ ไป นอกเหนือจากการแยกให้ชัดเจนระหว่างการบริหารจัดการหนี้ภาครัฐ เป็นรายจ่ายที่ไม่สามารถเพิกถอนเปลี่ยนแปลงได้ กับรายจ่ายที่ต้องดำเนินการสำหรับการค้างจ่ายที่ค่อนข้างยืดหยุ่น แต่บางครั้งเป็นการยืดหยุ่นแบบไม่ค่อยมีเหตุผลเท่าไร หากในอนาคตสามารถแยกออกมาเป็นรายการให้ชัดเจนก็คงดี” วีระกล่าว
วีระเสนอให้เพิ่มเติมรายการชำระหนี้คงค้างของรัฐบาลที่มีต่อรัฐวิสาหกิจที่ให้ดำเนินการตามนโยบายของรัฐ ซึ่งต่อไปในอนาคต รัฐบาลมีโครงการรถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย ยอดหนี้จะเพิ่มมาอีกก้อน เพราะต้องชดเชยรายได้ที่สูญเสียไป และต้องตั้งกองทุน หรือจัดระบบให้รัฐวิสาหกิจใดออกเงินไปแทนก่อน เหมือนที่ทำกับสถาบันการเงินอยู่ในขณะนี้
“มันจะมาอีหรอบเดียวกัน ถ้าเราใช้โอกาสนี้ขยายให้เกิดผลในทางปฏิบัติที่เห็นชัดเจนว่า รัฐบาลบริหารเงินได้เหมาะสมสอดคล้องหรือไม่ ก็จะเป็นประโยชน์” วีระกล่าว