×

โจทย์ท้าทายของกองทุนรวมวายุภักษ์ หนึ่ง ในฐานะตัวจุดกระแสหุ้นไทย

15.09.2024
  • LOADING...
กองทุนรวมวายุภักษ์

ตั้งแต่รัฐบาลประกาศว่าจะเปิดระดมทุนรอบใหม่จากประชาชนผ่านกองทุนรวมวายุภักษ์ หนึ่ง ตลาดหุ้นไทยก็เริ่มกลับมาคึกคักและฟื้นตัวได้อย่างต่อเนื่อง

 

หุ้นไทยพุ่งจาก 1,300 จุด จนไปถึงเกือบ 1,440 จุด ภายในเวลา 1 เดือน แต่คำถามที่ตามมาคือ กองทุนรวมวายุภักษ์จะเป็นแค่ ‘ตัวจุดกระแส’ หุ้นไทยให้ร้อนแรงชั่วคราว หรือจะเป็นจุดเริ่มต้นให้กับการเติบโตของหุ้นไทยได้ในระยะยาว

 

“จากวันนี้ไปอีก 10 ปีข้างหน้า สิ่งที่เรามองคือ ทำอย่างไรที่จะสร้างผลตอบแทนระยะยาวให้ได้ดีที่สุดสำหรับนักลงทุนทั้งสองกลุ่ม” คำกล่าวของ ธนโชติ รุ่งสิทธิวัฒน์ กรรมการผู้จัดการ และประธานเจ้าหน้าที่บริหารการลงทุน บลจ.เอ็มเอฟซี (MFC) หนึ่งในผู้รับผิดชอบบริหารกองทุนรวมวายุภักษ์ หนึ่ง ร่วมกับ บลจ.กรุงไทย (KTAM)

 

ย้อนรอยกองทุนรวมวายุภักษ์ หนึ่ง

 

กองทุนรวมวายุภักษ์ หนึ่ง ตั้งขึ้นตั้งแต่ปี 2546 หลังจากที่ตลาดหุ้นไทยเพิ่งจะผ่านวิกฤตต้มยำกุ้งปี 2540 ซึ่งหุ้นไทยร่วงจาก 1,700 จุด มาอยู่ที่เพียง 300-400 จุด

 

วัตถุประสงค์ที่สำคัญอย่างหนึ่งของกองทุนรวมวายุภักษ์ หนึ่ง ในเวลานั้น คือการระดมทุนจากทั้งประชาชนและรัฐบาล โดยมีวงเงินเบื้องต้น 1 แสนล้านบาท ซึ่งระดมทุนจากผู้ถือหน่วยลงทุน 2 กลุ่ม ได้แก่

  • ผู้ถือหน่วยลงทุนประเภท ก. ได้แก่ นักลงทุนทั่วไป มูลค่า 7 หมื่นล้านบาท
  • ผู้ถือหน่วยลงทุนประเภท ข. ได้แก่ กระทรวงการคลัง มูลค่า 3 หมื่นล้านบาท

 

โดยหน่วยลงทุนประเภท ก. ในเวลานั้น ก็มีนโยบายคุ้มครองเงินลงทุนคล้ายกับการระดมทุนรอบใหม่ในปัจจุบัน

 


ข่าวที่เกี่ยวข้อง:

 


 

ในมุมมองของ ดร.พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร (KKP) มองว่า กองทุนรวมวายุภักษ์ หนึ่ง ในอดีตเป็นโครงสร้างการลงทุนที่ตอบโจทย์สมัยนั้นเป็นอย่างยิ่ง เพราะช่วงที่ออกกองทุน ดัชนีหุ้นไทยอยู่บริเวณ 500-600 จุด แต่เมื่อครบ 10 ปี ดัชนีหุ้นไทยเพิ่มขึ้นไปอยู่บริเวณ 1,500-1,600 จุด

 

และระหว่างทางนักลงทุนได้ผลตอบแทนปีละ 3-7% ของเงินลงทุนเริ่มต้น เพราะกำไรของบริษัทจดทะเบียนโตขึ้นต่อเนื่อง จนมีเงินมาจ่ายเงินปันผลได้ ก่อนที่กองทุนจะคืนเงินหน่วยลงทุน ประเภท ก. หมดตั้งแต่ปี 2556

 

หลังจากนั้นกองทุนรวมวายุภักษ์ หนึ่ง แปรสภาพเป็นกองทุนเปิด และเหลือเพียงผู้ถือหน่วยลงทุนประเภท ข. คือรัฐบาลถือหุ้น 100%

 

ผ่านมาอีก 10 ปี ตลาดหุ้นไทยเพิ่งจะผ่านวิกฤตโควิด-19 และยังไม่สามารถที่จะฟื้นตัวกลับไปสู่ระดับเดิมอย่างที่หลายๆ ตลาดสามารถทำได้

 

แล้วการปัดฝุ่นเอากองทุนรวมวายุภักษ์ หนึ่ง มาระดมทุนจากประชาชนและนักลงทุนสถาบันในรอบใหม่นี้ จะช่วยพลิกฟื้นตลาดหุ้นไทยอย่างที่เคยทำได้ในอดีตหรือไม่

 

โจทย์ท้าทายของ ‘กองทุนรวมวายุภักษ์ หนึ่ง’ เวอร์ชัน 2567

 

“จากวันนี้ไปอีก 10 ปีข้างหน้า สิ่งที่เรามองคือ ทำอย่างไรที่จะสร้างผลตอบแทนระยะยาวให้ได้ดีที่สุดสำหรับนักลงทุนทั้งสองกลุ่ม” คำกล่าวของ ธนโชติ รุ่งสิทธิวัฒน์ กรรมการผู้จัดการ และประธานเจ้าหน้าที่บริหารการลงทุน บลจ.เอ็มเอฟซี (MFC) หนึ่งในผู้รับผิดชอบบริหารกองทุนรวมวายุภักษ์ หนึ่ง ร่วมกับ บลจ.กรุงไทย (KTAM)

 

ระหว่างกองทุนเดิมในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา กับกองทุนหลังเปิดระดมทุนรอบใหม่ สิ่งที่จะแตกต่างไปจากเดิมคือ โครงสร้างการถือหน่วยลงทุนที่เปลี่ยนไป จากที่มีรัฐบาลผู้ถือหน่วยหลัก ก็จะมีนักลงทุนทั่วไปและสถาบันเข้ามาร่วมลงทุนด้วย

 

สิ่งหนึ่งที่ต้องยอมรับในช่วงที่ผ่านมาคือ ผลตอบแทนของกองทุนรวมวายุภักษ์ หนึ่ง ต่ำกว่าดัชนีอ้างอิง (Benchmark) เล็กน้อย แต่ในอนาคต “แน่นอนว่าผู้จัดการกองทุนคงต้องพยายามเอาชนะ Benchmark ให้ได้” ธนโชติกล่าว

 

แม้ว่าสัดส่วนของสินทรัพย์ที่กองทุนจะลงทุน ทั้งหุ้นไทยและตราสารหนี้อื่นๆ อาจไม่ได้แตกต่างไปจากพอร์ตโฟลิโอปัจจุบันมากนัก โดยส่วนใหญ่จะยังคงเป็นหุ้นไทย แต่จะเน้นการบริหารแบบ Active Management มากขึ้น

 

“ประเภทของหุ้นอาจจะแตกต่างกันออกไป ในอดีตกองทุนถือหุ้นกึ่งรัฐวิสาหกิจขนาดใหญ่เป็นสัดส่วนมากในพอร์ต แต่ในอนาคตอาจไม่จำเป็นต้องถือหุ้นตัวใดตัวหนึ่งในสัดส่วนที่มากขนาดนั้น และจะเน้นไปที่หุ้นที่มีเรตติ้ง ESG สูงมากขึ้น”

 

อีกหนึ่งความท้าทายที่ผู้จัดการกองทุนต้องเผชิญในระยะสั้นคือ หุ้นไทยที่วิ่งขึ้นมาอย่างร้อนแรง จนทำให้หุ้นหลายตัวที่เคยอยู่ในโซน ‘ถูก’ อาจจะไม่ได้ถูกอีกต่อไป

 

“ถามว่าวันนี้เรายังเห็นหุ้นที่ต่ำกว่ามูลค่าหรือไม่ คิดว่ายังมีอยู่บ้าง หุ้นที่เราจะลงทุนต้องผ่านการวิเคราะห์ในเชิงปัจจัยพื้นฐานว่าราคาสมเหตุสมผลหรือไม่ หากราคาหุ้นวิ่งขึ้นไปจนเกินพื้นฐาน เราก็คงจะยังไม่ลงทุน” ธนโชติกล่าว

 

หุ้นไทยจะกลับมาเติบโตในระยะยาว?

 

ช่วงที่ผ่านมาเงินทุนไหลออกจากกองทุนหุ้นไทยไปหากองทุนหุ้นต่างประเทศมากขึ้น ขณะที่การเริ่มต้นของกองทุน ThaiESG และกองทุนรวมวายุภักษ์ หนึ่ง ช่วยให้นักลงทุนกลับมาสนใจตลาดหุ้นไทยมากขึ้นในระยะสั้น

 

“แต่แน่นอนว่าหุ้นไทยจะเติบโตต่อไปได้ ต้องมาพร้อมกับผลประกอบการและบริษัทที่มีคุณภาพ และหากนโยบายรัฐบาลตอบโจทย์ได้ ก็มีโอกาสที่นักลงทุนจะกลับมาสนใจหุ้นไทยมากขึ้นได้” ธนโชติกล่าว

 

กองทุนรวมวายุภักษ์ หนึ่ง เหมาะกับใคร?

 

แม้จะเป็นกองทุนที่เน้นลงทุนในหุ้นเป็นหลัก แต่ด้วยกลไกที่ถูกออกแบบมา ทำให้กองทุนคล้ายคลึงกับตราสารหนี้มากกว่า หากเทียบกับพันธบัตรรัฐบาลและหุ้นกู้เอกชน กองทุนรวมวายุภักษ์ หนึ่ง น่าจะเป็นตัวเลือกที่อยู่ตรงกลาง

 

“ถ้าอยากได้การลงทุนที่ประกันความเสี่ยง ก็ต้องเลือกพันธบัตรรัฐบาล แต่ดอกเบี้ยจะต่ำกว่า ขณะที่หุ้นกู้เอกชนอาจให้ผลตอบแทนคงที่ที่สูงกว่าได้ ส่วนกองทุนรวมวายุภักษ์ หนึ่ง คาดว่าจะได้ผลตอบแทน 3% ต่อปีเป็นอย่างน้อย แต่หากปีนั้นทำได้ดีก็มีโอกาสจะได้ผลตอบแทนสูงขึ้น” ธนโชติกล่าว

 

นักลงทุนควรคาดหวังผลตอบแทนอย่างไร?

 

สำหรับกองทุนรวมวายุภักษ์ หนึ่ง ในฐานะผู้จัดการกองทุนคงไม่สามารถชี้นำได้ว่ากองทุนจะให้ผลตอบแทนเท่าใด แต่หากพูดถึงการลงทุนโดยทั่วไป ธนโชติมองว่านักลงทุนควรคาดหวังผลตอบแทนที่เอาชนะเงินเฟ้อได้

 

“เงินเฟ้อที่พูดถึงไม่ใช่เงินเฟ้อตามเว็บไซต์ของกระทรวงพาณิชย์ แต่เป็นเงินเฟ้อในชีวิตประจำวันของแต่ละคนซึ่งจะแตกต่างกัน หากเงินเก็บที่นำไปลงทุนได้ผลตอบแทนต่ำกว่าค่าใช้จ่ายของเราในอนาคต แสดงว่าความมั่งคั่งของเราลดลง”

 

สมมติว่าค่าใช้จ่ายของเราโดยรวมจะเพิ่มขึ้น X% เราก็ควรจะลงทุนให้ได้ผลตอบแทนอย่างน้อย X% แต่สิ่งสำคัญคือ เราต้องไม่ตั้งสมมติฐานที่มากเกินความเป็นจริง รวมทั้งคำนึงถึงปัจจัยอื่นด้วย เช่น อายุที่มากขึ้น 

 

สินทรัพย์ใดน่าสนใจสำหรับการลงทุนหลังจากนี้

 

ธนโชติกล่าวทิ้งท้ายว่า หากมองไปยังหลายสินทรัพย์ที่น่าสนใจ หนึ่งในนั้นคือกองทรัสต์เพื่อการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ (REITs) ซึ่งราคาลดลงค่อนข้างมากในช่วงที่ดอกเบี้ยเป็นขาขึ้น

 

“ปัจจุบัน REITs หลายแห่งยังซื้อขายต่ำกว่าราคาที่ควรจะเป็น ในบางประเทศการซื้อ REITs ในตลาดให้ราคาที่ต่ำกว่าสินทรัพย์จริง แต่ต้องพิจารณา REITs ที่ตอบโจทย์โลกยุคใหม่มากขึ้น เช่น ศูนย์วิจัยให้เช่า แทนที่จะเป็น REITs อย่างอาคารสำนักงานที่แม้จะราคาถูก แต่ได้รับผลกระทบจากพฤติกรรมของคนที่เปลี่ยนแปลงไปหรืออุปทานที่ล้น

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X
Close Advertising