ดูเหมือนสิ่งที่ผู้คนในโลกฟุตบอลอังกฤษกำลังเห็นตรงกันโดยไม่ได้นัดหมายในเวลานี้คือการที่เราทุกคนไม่สามารถเห็นด้วยกับการตัดสินของ VAR
ทุกสัปดาห์ที่ผ่านพ้น สิ่งที่กลับเป็นประเด็นใหญ่และถูกนำมาเป็นหัวข้อสนทนามากกว่าผลการแข่งขันที่เกิดขึ้น สถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไม่ว่าจะที่หัวตารางหรือท้ายตาราง ประตูสวยๆ ลูกเล่นลีลามหัศจรรย์ของนักเตะในสนาม หรืออื่นๆ แต่กลับเป็นเรื่องการตัดสินของ VAR
เช่นในสัปดาห์นี้ เหตุการณ์ที่ถูกกล่าวถึงอย่างมากคือประตูของ โรแบร์โต เฟอร์มิโน ในเกมระหว่างลิเวอร์พูลกับแอสตัน วิลล่า ซึ่ง VAR ถูกนำมาใช้เพื่อพิจารณาการตัดสินว่าจังหวะนี้กองหน้าชาวบราซิลอยู่ในตำแหน่งล้ำหน้าหรือไม่
จากภาพที่ปรากฏ หลายคนเชื่อว่าเฟอร์มิโนไม่ได้อยู่ในตำแหน่งล้ำหน้า แต่ผู้ตัดสินที่คุม VAR ในเกมคือ มาร์ติน แอตกินสัน ชี้ว่ากองหน้าลิเวอร์พูลล้ำหน้า
โดยตำแหน่งที่ล้ำหน้าคือ Armpit หรือรักแร้ และทำให้เฟอร์มิโนกลายเป็นนักเตะคนแรกในประวัติศาสตร์ที่ถูกตัดสินไม่ให้ประตู เพราะล้ำหน้าด้วยรักแร้
เรื่องนี้ แอนดี้ เกรย์ ผู้ดำเนินรายการฟุตบอลชื่อดังของสถานีกีฬา beIN SPORTS ถึงกับรับไม่ได้ และตั้งคำถามกลับคำถามเดียวว่า “เคยมีใครใช้รักแร้ในการทำประตูได้บ้าง”
นอกจากนี้เกรย์ยังย้อนกลับให้ดูถึงความพยายามของแอตกินสันในการตัดสินจังหวะนี้ให้เป็นลูกล้ำหน้าด้วยการลากเส้นกำหนดจุดใหม่เป็นครั้งที่ 2 หลังจากที่การลากเส้นครั้งแรก เฟอร์มิโนไม่ได้อยู่ในตำแหน่งที่ล้ำหน้า (ซึ่งเรื่องนี้มีการพยายามอธิบายในเวลาต่อมาจากผู้รู้ว่าการลากเส้นรอบแรกเป็นการคำนวณของระบบที่ยังไม่เสร็จดี)
ไม่นับลูกที่ อเล็กซ์ ออกซ์เลด-เชมเบอร์ลิน ยิงบอลไปโดนแขนของผู้เล่นแอสตัน วิลล่า ในเขตโทษ ซึ่งไม่มีการเรียก VAR มาพิจารณา
ถึงสุดท้ายทีมจะชนะ แต่ เจอร์เกน คล็อปป์ ก็ไม่สบอารมณ์นัก เพราะการตัดสินแบบนี้สามารถส่งผลถึงอนาคตหน้าที่การงานของผู้จัดการทีมได้เลยทีเดียว
มาถึงในเกมระหว่างเชลซีกับวัตฟอร์ดเมื่อคืนวันอาทิตย์ที่ผ่านมา ก็มีเหตุการณ์ที่ทีมเจ้าบ้าน ‘แตนอาละวาด’ ได้จุดโทษแบบที่ตัวเขาก็งง
จังหวะนั้นเกิดจากการที่ จอร์จินโญ พยายามเข้าสกัด เคราร์ด เดวโลเฟว ก่อนล้มลงในเขตโทษ ซึ่งในความรู้สึกของ แฟรงก์ แลมพาร์ด ผู้จัดการทีมเชลซี ลูกนี้ไม่น่าจะเป็นจุดโทษได้ และสิ่งที่ตอกย้ำคือการที่ผู้ตัดสินใช้เวลาในการพิจารณาจังหวะนี้ค่อนข้างนาน
นั่นแปลว่าตัวผู้ตัดสินเองก็ไม่แน่ใจ เพราะความจริง แอนโธนี เทย์เลอร์ ผู้ตัดสินในสนามนั้นไม่ได้ให้จุดโทษในทีแรก แต่ผู้ตัดสิน VAR ส่งสัญญาณมาเพื่อขอกลับคำตัดสิน
คำถามจากแลมพาร์ดคือถ้าหากผู้ตัดสินไม่มั่นใจในสิ่งที่ผู้ตัดสิน VAR บอก แล้วทำไมจึงไม่ยอมเดินมาดูภาพที่หน้าจอเพื่อใช้วิจารณญาณของตัวเองตัดสิน?
“การตัดสินใจใดๆ ก็ตามที่ใช้เวลานาน นั่นแปลว่าพวกเขาก็ไม่แน่ใจ แล้วทำไมพวกเขาไม่ใช้จอที่อยู่ข้างสนาม
“ผมรู้ว่าการใช้จอข้างสนามจะส่งผลต่อความต่อเนื่อง ผมรู้ว่าแฟนๆ จะเรียกร้องและทำให้ผู้ตัดสินรู้สึกกดดันมากขึ้น แต่เมื่อเราบอกว่ามันมีพื้นที่สีเทา และเรากำลังจะกลับคำตัดสินเพราะมีผู้ตัดสินอีกคนที่คิดว่าลูกนี้มันน่าจะเป็นจุดโทษมากกว่าผู้ตัดสินที่อยู่ในสนาม สำหรับผมนั่นแปลว่าเรากำลังอยู่ในพื้นที่อันตราย
“ไม่ต่างอะไรจากที่เราต้องเสี่ยงทายเหรียญทุกวัน”
แลมพาร์ดเปิดเผยว่าตอนนี้มีความพยายามเปลี่ยนนโยบายของ VAR หลังจากที่เกิดปัญหาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเริ่มจากการที่ผู้ตัดสินในสนามปฏิเสธจะกลับคำตัดสินตามที่ VAR ได้พยายามชี้ให้เห็น
ปัญหาคือยิ่งพยายามปรับ ยิ่งพยายามให้คำแนะนำ การตัดสินของผู้ตัดสินในพรีเมียร์ลีกก็ยิ่งผิดพลาด
นอกจากเกรย์แล้วยังมี แกรี ลินิเกอร์ ตำนานดาวยิงทีมชาติอังกฤษ ซึ่งเป็นพิธีกรหลักของรายการ Match of the Day ทางสถานีโทรทัศน์ BBC รวมถึง เจมี คาร์ราเกอร์ อดีตกองหลังขวัญใจทีมลิเวอร์พูล ซึ่งเป็นคอมเมนเตเตอร์หลักของสถานี Sky Sports ที่ขอเปลี่ยนจุดยืนจากการสนับสนุนให้มีการใช้ VAR เป็นการต่อต้านแทน
การที่บุคคลระดับแถวหน้าของวงการฟุตบอลอังกฤษออกมาโจมตี VAR พร้อมกันเช่นนี้ แปลว่ามาตรฐานการตัดสินของพรีเมียร์ลีกมีปัญหาจริง
ลูกที่ไม่ล้ำหน้าถูกตัดสินว่าล้ำหน้า
ลูกที่ไม่ฟาวล์ถูกตัดสินว่าฟาวล์
ลูกที่แฮนด์บอลถูกตัดสินว่าไม่เป็นไร ปล่อยผ่าน
VAR ที่ควรจะเป็นผู้ที่ช่วยทำให้เกมฟุตบอลเป็นไปอย่าง ‘บริสุทธิ์’ และ ‘ยุติธรรม’ กลายเป็นสิ่งที่ทำให้เกมฟุตบอล – โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับเกมฟุตบอลอังกฤษ – ซึ่งเป็นที่รักของทุกคนแปดเปื้อนด้วยการตัดสินที่ผิดพลาด คลุมเครือ ไม่มีความชัดเจน
อย่างไรก็ดี การจะโทษ VAR ก็ไม่ถูกเสียทีเดียวครับ
เพราะความแปลกคือลีกอื่นเขาไม่ได้มีปัญหาแบบเดียวกัน ยกตัวอย่างเช่น บุนเดสลีกา ทุกการตัดสินด้วย VAR จะเป็นไปอย่างชัดเจน โปร่งใส และที่สำคัญคือถูกต้อง (หากจะมีผิดพลาดหรือคลุมเครือบ้างก็น้อยมาก)
ส่วนหนึ่งที่เป็นปัญหาที่ชัดเจนคือการที่พรีเมียร์ลีกพยายามที่จะมีกฎ VAR ในแบบของตัวเองที่แตกต่างจากชาวบ้านอย่างละนิดละหน่อย เพื่อให้เกมฟุตบอลอังกฤษซึ่งขึ้นชื่อในเรื่องของความไหลลื่นต่อเนื่องไม่เสียตัวตนในด้านนี้ไป
หลักใหญ่ใจความคือการที่ผู้ตัดสินได้รับคำแนะนำว่า ‘ให้หลีกเลี่ยงการรีวิวเหตุการณ์ในสนาม’ เพราะเชื่อว่าการรีวิวเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นที่จอข้างสนามนั้นจะทำให้เกมล่าช้า ขาดความต่อเนื่อง โดยขอให้ผู้ตัดสิน ‘เชื่อใจ’ ผู้ตัดสิน VAR
เรื่องอื่นๆ ก็อย่างเช่นการตีความกฎให้ ‘เบาลง’ ไม่ต้องเคร่งครัดตามกฎที่ IFAB หรือผู้คุมกฎของเกมฟุตบอลบัญญัติไว้ เพื่อไม่ให้เสีย ‘อรรถรส’ ของเกมการแข่งขันฟุตบอลอังกฤษที่เร้าใจและเต็มไปด้วยการคาดเดาอะไรไม่ได้
รวมถึงการพยายามให้ผู้ตัดสินตัดสินไปตามเนื้อผ้า ไม่พยายามใช้ VAR มากเท่าที่ควร โดยจะใช้ต่อเมื่อจำเป็นจริงๆ ในเหตุการณ์ที่เกิดการตัดสินที่ผิดพลาดอย่างชัดเจนเท่านั้น
แต่เห็นได้ชัดว่าการกระทำเช่นนั้นมันไม่ได้ช่วยให้อะไรดีขึ้น และยังสร้างปัญหาให้เกิดขึ้นมากกว่าเดิมด้วย
ดังนั้นสิ่งที่พรีเมียร์ลีกและเหล่าผู้ตัดสินควรจะทำคือการหันกลับมาพูดคุยหารือและหาจุดลงตัวร่วมกันในการนำ VAR มาช่วยตัดสินเพื่อยกระดับการทำหน้าที่ให้ดีขึ้น
ผมเองไม่ใช่แฟนของ VAR มาตั้งแต่ต้นครับ เพราะไม่ชอบที่มันทำลายความต่อเนื่องของเกมฟุตบอล โดยเฉพาะการกระชากอารมณ์หลังประตูที่ต้องมาคอยรีวิวกันทุกช็อตจนทำให้เฮได้ไม่สุด แต่กับสิ่งที่เกิดขึ้นในพรีเมียร์ลีกนั้น เห็นได้ชัดว่าไม่ได้เกิดขึ้นจากตัวของระบบ
ความผิดพลาดที่เกิดขึ้นมาจากการทำหน้าที่ของผู้ตัดสิน ทั้งผู้ตัดสินในสนาม และผู้ตัดสิน VAR
ปัญหานี้ไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะแก้ครับ แต่ก็ไม่ใช่เรื่องที่ยากจนเป็นไปไม่ได้ เพราะตัวอย่างที่ดีก็มีให้เห็นเยอะแยะไปที่สามารถนำ VAR มาช่วยตัดสินได้อย่างถูกต้องแม่นยำ โดยที่ไม่ได้กินเวลา ไม่ทำลายอรรถรสในเกมการแข่งขัน
แค่ทุกฝ่ายต้องเปิดใจ ยอมรับในสิ่งที่ผิดพลาด และร่วมกันแก้ไขอย่างสร้างสรรค์ เพื่อให้ VAR ได้ทำหน้าที่ในสิ่งที่มันควรจะเป็น
อาจจะต้องใช้เวลาบ้าง แต่หากทุกอย่างกลับมาดำเนินไปในทิศทางที่ถูกต้อง ผมเชื่อว่าแฟนบอลทุกคนนั้นพร้อมจะเข้าใจ
ดีกว่าต้องคาใจพร้อมใส่ #อีหยังวะ กันทุกสัปดาห์
พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์