×

สร้างมูลค่าเพิ่ม (Value Creation) หัวใจสำคัญสู่ดีลสำเร็จ

02.11.2023
  • LOADING...

ปัจจุบันเศรษฐกิจของเราได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงและการหยุดชะงักหรือ Disruption จากหลายด้าน ส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการใช้ชีวิต การทำงาน สถานที่ทำงาน สังคม นอกจากนี้ ธุรกิจของเรายังถูกโจมตีโดยการหยุดชะงักของห่วงโซ่อุปทาน (Supply Chain Disruptions) ซึ่งส่งผลต่อห่วงโซ่อุปทานทั่วโลก ตลอดจนการกดดันราคาที่สูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ไม่เพียงเท่านั้น ขณะนี้ทั่วโลกกำลังปรับตัวกับอัตราเงินเฟ้อและระดับหนี้สินที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องเช่นกัน ผู้เขียนเชื่อว่าทุกวันนี้ สิ่งที่ท่านผู้อ่านหลายท่านมีความกังวลและกำลังจับตามองอย่างต่อเนื่องคือ ภาวะเศรษฐกิจถดถอย หรือ Recession ซึ่งผู้เขียนถือว่าเป็นความเสี่ยงใหม่ของทุกธุรกิจ อย่างไรก็ตาม ผู้เขียนเชื่อว่าผู้ประกอบการทุกท่านคงไม่ต้องการหยุดยั้งความเติบโตทางธุรกิจ และแนวทางหนึ่งที่จะสร้างความเติบโตทางธุรกิจของท่านได้อย่างต่อเนื่องคือ การลงทุนในธุรกิจที่อยู่ในธุรกิจเดิมเพื่อเสริมส่วนแบ่งการตลาด หรือลงทุนในธุรกิจใหม่ๆ ซึ่งจะช่วยกระจายความเสี่ยงได้ ดังนั้นการลงทุนหรือซื้อขายธุรกิจในยุคที่เศรษฐกิจต้องเผชิญผลกระทบหลายอย่าง การทำความเข้าใจตลาด การหาโอกาสและการเพิ่มมูลค่า (Upside Opportunities) ของบริษัทที่ผู้ซื้อกำลังเข้าไปซื้อ จึงเป็นเรื่องที่ผู้ซื้อควรให้ความสำคัญ 

 

การทำความเข้าใจตลาดเชิงลึก

 

ในปัจจุบันเทคโนโลยีทำให้ผู้บริโภคยุคใหม่สามารถเข้าถึงแหล่งข้อมูลที่มีอยู่อย่างมหาศาลได้ง่ายขึ้น ผู้บริโภคมีความฉลาดในการเลือกซื้อสินค้าและบริการ นอกจากนี้ ผู้บริโภคมีความต้องการที่ซับซ้อน และมีมาตรฐานในการตัดสินใจเลือกที่สูงขึ้น ปัจจัยเหล่านี้ล้วนทำให้การวางกลยุทธ์และแผนธุรกิจของเจ้าของธุรกิจยากและท้าทายมากขึ้น ดังนั้น การวิเคราะห์และการทำความเข้าใจตลาดอย่างลึกซึ้งจึงเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่งสำหรับธุรกิจทุกอุตสาหกรรม 

 

ผู้บริหารหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ควรศึกษาตลาดก่อนตัดสินใจขยายธุรกิจหรือลงทุนในธุรกิจใหม่ เพื่อให้แนวทางการเติบโตของธุรกิจมีความสอดคล้องกับจุดแข็งของบริษัทที่มีอยู่ เพื่อลดความผิดพลาดในการตัดสินใจซื้อธุรกิจหรือลงทุน ทั้งนี้ การตรวจสอบสถานะด้านตลาดหรือ Commercial Due Diligence จะทำให้ผู้บริหารเข้าใจตลาดและคู่แข่งในตลาดมากขึ้น ซึ่งสามารถนำไปสู่การตัดสินใจลงทุนหรือซื้อขายกิจการที่มีความสอดคล้องทางกลยุทธ์ (Strategic Fit) และสร้างโอกาสในการเพิ่มมูลค่า (Synergies) เพื่อต่อยอดกับธุรกิจเดิมที่มีอยู่ในปัจจุบันได้เป็นอย่างดี

 

ผลการดำเนินงานในอดีตไม่อาจเป็นข้อบ่งชี้ผลประกอบการในอนาคต

 

ในช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมา ผู้เขียนสังเกตเห็นว่า หลายบริษัท หลายธุรกิจ หลายอุตสาหกรรมมีการเปลี่ยนแปลงและปรับตัวเพื่อความอยู่รอดอย่างต่อเนื่อง และหลายบริษัทก็ยังคงปรับตัวอยู่จนถึงทุกวันนี้ ข้อสังเกตของผู้เขียน พบว่าหลายบริษัทได้เริ่มธุรกิจใหม่ที่อาจเกี่ยวข้องกับธุรกิจเดิม หลายบริษัทเปลี่ยนไปสร้างธุรกิจใหม่ที่ไม่เกี่ยวข้องกับธุรกิจเดิมอย่างสิ้นเชิง ดังนั้น ผลการดำเนินงานของธุรกิจในอดีตจึงอาจไม่สามารถบ่งบอกถึงผลการดำเนินธุรกิจในปัจจุบันและอนาคตได้อีกต่อไป หลายธุรกิจมีค่าใช้จ่ายเกิดขึ้นมากมายตลอดช่วงที่ผ่านมา ค่าใช้จ่ายบางประเภทยังคงเกิดขึ้นต่อไป แต่ค่าใช้จ่ายบางส่วนอาจเกิดขึ้นเพียงแค่ชั่วระยะเวลาหนึ่ง เช่นเดียวกันกับรายได้ของบริษัทหลังจากที่มีการเปลี่ยนแปลงในธุรกิจหลัก รายได้ที่เกิดขึ้นก่อนการเปลี่ยนแปลงก็อาจไม่เกิดขึ้นอีกต่อไปในอนาคต 

 

ดังนั้น การเข้าซื้อธุรกิจ โดยเฉพาะการซื้อหุ้น ผู้ซื้อควรจะพิจารณาถึงการเปลี่ยนแปลงธุรกิจที่สำคัญทั้งก่อนและหลังการลงทุน เนื่องจากผลกระทบดังกล่าวมีผลต่อการดำเนินงานในอนาคต ตลอดจนผลตอบแทนจากการลงทุนในการเข้าซื้อธุรกิจ กล่าวคือ ผู้ซื้อควรนำรายได้และค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นเพียงครั้งเดียว หรือไม่เกิดขึ้นแล้วในอนาคตหลังจากการเปลี่ยนแปลงทางธุรกิจออกจากการคำนวณคุณภาพของกำไรของบริษัท (Quality of Earnings) นอกจากนี้ รายการหนี้สินที่อาจเกิดขึ้นในอนาคตควรถูกนำมารวมเป็นรายการหนี้สินสุทธิ (Net Debt) เพื่อนำไปหักออกจากราคาซื้อขายกิจการด้วยเช่นกัน

 

การคำนึงถึงภาระและความเสี่ยงในอดีตทางด้านภาษีที่อาจกระทบต่อผู้ซื้อในอนาคต

 

สืบเนื่องจากการปรับเปลี่ยนรูปแบบการดำเนินธุรกิจของผู้ประกอบการเพื่อความอยู่รอด หรือเพื่อรักษาหรือสร้างธุรกิจที่ทำกำไรตลอดช่วงระยะเวลาที่ผ่านมา ซึ่งผู้เขียนได้กล่าวไว้นั้น ผู้เขียนยังมีข้อสังเกตถึงผลกระทบของภาระทางภาษีของกิจการดังกล่าว ทั้งนี้ ผู้ประกอบการอาจคาดไม่ถึงว่าการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวอาจมีผลกระทบต่อภาระภาษี ยกตัวอย่างเช่น ผู้ประกอบการอาจให้สิทธิประโยชน์บางประการแก่พนักงานเพื่อให้สามารถทำงานที่บ้านได้อย่างสะดวก ค่าใช้จ่ายเหล่านี้อาจไม่สามารถเป็นค่าใช้จ่ายของบริษัทได้ หากไม่มีการประกาศเป็นนโยบายไว้อย่างชัดเจน ส่งผลให้ผู้ประกอบการยื่นแบบแสดงรายการและเสียภาษีไม่ถูกต้อง ก่อให้เกิดเบี้ยปรับและเงินเพิ่ม 

 

ดังนั้น ในการเข้าซื้อกิจการ โดยเฉพาะการซื้อหุ้น ผู้ซื้อควรตรวจสอบภาระภาษีของบริษัทที่จะเข้าซื้ออย่างละเอียด เพื่อประเมินว่าบริษัทที่จะเข้าซื้อมีประเด็นทางภาษีหรือไม่ รวมถึงภาษีที่อาจถูกกรมสรรพากรประเมินเพิ่มในอนาคต เพื่อให้ผู้ซื้อประเมินราคาซื้อขายธุรกิจอย่างเหมาะสม หรือมีการเพิ่มข้อตกลงในสัญญาซื้อขายให้ผู้ขายเป็นผู้รับผิดชอบต่อค่าใช้จ่ายที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต

 

การหาโอกาสและการสร้างมูลค่าเพิ่ม (Value Creation) คือหนึ่งในหัวใจสำคัญของการซื้อธุรกิจ

 

ในภาวะเศรษฐกิจที่ไม่แน่นอนเช่นนี้ ผู้บริหารหรือนักลงทุนมักมองหาการสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่กิจการที่จะเข้าซื้อ เพื่อเป็นการต่อยอดสร้างศักยภาพของธุรกิจเดิม หนึ่งในวิธีที่จะระบุโอกาสในการสร้างมูลค่าเพิ่มของกิจการคือ การนำชุดข้อมูลและเครื่องมือการวิเคราะห์ข้อมูลเชิงลึก (Analytic Tools) มาใช้ประเมินมูลค่าเพิ่มของกิจการ และกำหนดเป็น Value Creation Initiative หรือแผนการดำเนินงานเบื้องต้นสำหรับผู้บริหารเพื่อปลดล็อกมูลค่าเพิ่มภายหลังการควบรวมกิจการ 

 

ประเภทของชุดข้อมูลและเครื่องมือที่นำมาใช้อาจเป็นข้อมูลจาก Global Positioning System (GPS หรือระบบนำทาง) หรือระบบเช็กการจราจรทางเท้า (Foot Traffic) เพื่อประเมินโอกาสในการขยายธุรกิจ ยกตัวอย่างเช่น ธุรกิจค้าปลีกที่มีสาขาหรือหน้าร้านอาจนำฐานข้อมูลลูกค้ามาวิเคราะห์โอกาสในการขยายสาขา การจัดทำแผนการตลาดหรือโปรโมชันเพื่อเพิ่มยอดขายเฉลี่ยต่อลูกค้า หรือนำข้อมูลสินค้าคงคลังและห่วงโซ่อุปทานมาวิเคราะห์เพื่อประเมินหาสินค้าที่ขายขาดทุนเพื่อปรับกลยุทธ์การจัดการกลุ่มผลิตภัณฑ์ หรือ Product Portfolio ให้มีความสามารถในการทำกำไรมากขึ้น นอกจากนี้ การวิเคราะห์วงเงินสดทั้งของลูกค้า ซัพพลายเออร์ และสินค้าคงคลังรายตัว ยังช่วยสร้างกระแสเงินสดเพิ่มเติมได้อีกเช่นกัน 

 

สุดท้ายนี้ หากท่านผู้อ่านได้พิจารณาข้อแนะนำข้างต้น และกำลังพิจารณาการสร้างความเติบโตทางธุรกิจโดยการซื้อธุรกิจหรือควบรวมกิจการ ผู้เขียนขอแนะนำเพิ่มเติมให้ท่านผู้อ่านควรมีการวางแผนให้ครบถ้วน และควรปรึกษาผู้เชี่ยวชาญให้ครอบคลุมทุกด้าน ทั้งด้านกฎหมาย ภาษี และบัญชี เนื่องจากการซื้อธุรกิจและการควบรวมกิจการมีความซับซ้อน และต้องพิจารณาเรื่องดังกล่าวให้ครบทุกด้าน

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising