เพราะวัฒนธรรมป๊อปที่สื่อสารผ่านทางเพลง โทรทัศน์ หรือภาพยนตร์ เป็นวัฒนธรรมมวลชนที่เข้าถึงได้ง่าย ทำให้ส่วนประกอบของเรื่องราวหรือเนื้อหาเหล่านั้นเชื่อมโยงกับความทรงจำและความรู้สึกของผู้ชมได้ดี ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมาอุปกรณ์ประกอบฉากจากหนัง ซีรีส์ และเครื่องดนตรีจากคอนเสิร์ต กลายเป็นของสะสมที่ทำราคาได้สูงมาก จนกลายเป็นสินทรัพย์ประเภทหนึ่งที่มีมูลค่าเทียบเท่าหรือสูงกว่างานศิลปะคลาสสิกเลยทีเดียว
ปัจจุบันตลาดของสะสมทุกรูปแบบทั่วโลกคาดว่าจะมีมูลค่า173.6 ล้านล้านบาท และคาดว่าจะเติบโตเป็น 174.2 ล้านล้านบาทภายในอีก 5 ปีข้างหน้า ขณะที่ตลาดของที่ระลึกจากวงการบันเทิง (อุปกรณ์ประกอบฉาก เครื่องแต่งกาย และเครื่องดนตรี) คาดว่ามีมูลค่าระหว่าง 1.39-2.78 หมื่นล้านบาท ซึ่งก่อนหน้านี้เคยถูกมองว่าเป็นตลาดเฉพาะกลุ่มที่ขับเคลื่อนโดยนักสะสมฮาร์ดคอร์ที่หลงใหลในหนัง เพลง ซีรีส์ ที่มีการพูดคุยกันเฉพาะในกลุ่มนักสะสมและสื่อที่เกี่ยวข้องกับแฟนคลับเท่านั้น แต่ต่อมาได้ขยายตัวออกไปเรื่อยๆ โดยเฉพาะเมื่อมีการเผยแพร่คอนเทนต์ผ่านโลกออนไลน์ ทำให้ผู้ซื้อจำนวนมากหลั่งไหลเข้าสู่ตลาดอย่างสม่ำเสมอ
ทรัพย์สินที่ใช้ในภาพยนตร์ รายการทีวี วงดนตรีตอนออกทัวร์หรือมิวสิกวิดีโอ ถือเป็นผลพลอยได้จากกระบวนการผลิตในช่วงยุค 60 ถึงต้นยุค 2000 ของใช้เหล่านี้ส่วนใหญ่มักถูกขายให้กับนักแสดงและทีมงาน ซึ่งเน้นนำไปใช้สอยจริงๆ มากกว่ามูลค่าการสะสมในอนาคต อย่างเช่นขวานของ Jack Nicholson จากภาพยนตร์เรื่อง The Shining ของ Stanley Kubrick ที่เคยถูกขายไปให้ทีมงานในราคา 200 บาท โดยคนที่ซื้อไปก็เอาไปตัดต้นไม้จริงๆ ต่อมาในปี 2019 ขวานเล่มนี้มีราคาสูงถึง 7.38 ล้านบาท หรืออย่างทีมงานของหนังเรื่อง James Bond 007 ซื้อชุดสูทของ Roger Moore ในราคาตัวละ 40 กว่าบาท เพราะคิดว่ามันทันสมัยมากสำหรับยุคนั้น แต่เมื่อเวลาผ่านไปชุดเหล่านั้นมีราคาหลักแสนถึงหลักล้านบาทเลยทีเดียว ส่วนในปัจจุบันผู้ผลิตเริ่มรู้ถึงมูลค่าของสิ่งเหล่าจึงมีการจัดการเป็นระบบมากขึ้น
อุปกรณ์ประกอบฉากหรือพร็อพต่างๆ นอกจากจะมีการซื้อขายในหมู่นักสะสมแล้วก็ยังมีนักลงทุน พิพิธภัณฑ์ สถาบันการเงิน เข้ามาลงทุนในสินทรัพย์ประเภทนี้ โดยสิ่งของที่ได้รับความนิยมและทำราคาได้ดีมักจะมาจากคอนเทนต์แนววิทยาศาสตร์ แอ็กชัน และซูเปอร์ฮีโร่ เนื่องจากของเหล่านี้ได้รับการออกแบบและสั่งทำขึ้นโดยเฉพาะ อีกทั้งสามารถระบุได้อย่างชัดเจนผ่านฉากต่างๆ ที่คนได้ชม ส่วนใหญ่จะมาจากหนังหรือซีรีส์แฟรนไชส์ที่ได้รับความนิยมอย่างสูงทั่วโลกอย่างเช่น Batman, Aliens, Star Wars, James Bond, Star Trek
สำหรับหลักในการสะสมคือควรเลือกซื้อจากแหล่งที่เชื่อถือได้ มีใบรับรองว่าเป็นของแท้ มีรายละเอียดที่มาและประวัติที่เฉพาะเจาะจง และอย่าคิดว่าจะซื้อเพื่อการลงทุนเพียงอย่างเดียว แต่ต้องมีความสุขที่ได้เป็นเจ้าของสิ่งเหล่านี้ด้วย ทางที่ดีควรซื้อชิ้นดีๆ ชิ้นหายากที่สุดเพียงชิ้นเดียวดีกว่าซื้อแบบกระจัดกระจาย และต้องไม่ลืมหลักในการสะสมของทุกชนิดนั้น คือการศึกษาหาข้อมูล ส่วนข้อควรระวังคือของบางชิ้นถ้าราคาถูกเกินไปก็เชื่อได้ยากว่ามันจะเป็นของจริง
ด้วยความที่ภาพยนตร์และโทรทัศน์เป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมบันเทิงที่ใหญ่ที่สุดในโลก ทำให้การเติบโตของมูลค่าสำหรับนักลงทุนก็ยังคงมีอยู่มาก ยิ่งผนวกกับความมีเอกลักษณ์เฉพาะตัวและมีจำนวนจำกัด ทำให้ศักยภาพของราคาเติบโตแบบทวีคูณ และนี่คือตัวอย่างการเพิ่มขึ้นของราคาของที่ระลึกจากภาพยนตร์ที่มีความโดดเด่น
หน้ากากของ Darth Vader จาก Star Wars: The Empire Strikes Back
อัตราการเติบโตต่อปี (CAGR): 68.3%
- 2003 – 3.99 ล้านบาท
- 2017 – 26 ล้านบาท
- 2020 – 124.2 ล้านบาท
ชุดเอลฟ์ของ Will Ferrell จากเรื่อง Elf
- อัตราการเติบโตต่อปี (CAGR): 70.9%
2003 – 261,000 บาท
2017 – 1.21 ล้านบาท
2021 – 10.5 ล้านบาท
ชุดของ Christopher Reeve จาก Superman
- อัตราการเติบโตต่อปี (CAGR): 25.02%
2005 – 652,000 บาท
2018 – 6.95 ล้านบาท
2022 – 13.58 ล้านบาท
อ้างอิง: