วันนี้ (18 มกราคม) อรรษิษฐ์ สัมพันธรัตน์ อธิบดีกรมการปกครอง กล่าวถึงการตรวจสอบใบอนุญาตเหตุโรงงานพลุระเบิดที่จังหวัดสุพรรณบุรีจนมีผู้เสียชีวิตหลายรายว่า โรงงานได้ใบอนุญาตถูกต้องตามกฎหมายตั้งแต่ปี 2564 และต่อใบอนุญาตทุกปี โดยผ่านการอนุมัติจากนายอำเภอเมืองสุพรรณบุรีหลังผ่านหลักเกณฑ์ เช่น ผู้ขออนุญาตไม่มีประวัติอาชญากรรม สถานที่ตั้งโรงงานเป็นไปตามระเบียบของกฎหมายผังเมือง รวมถึงผ่านการทำประชาคมจากชาวบ้านในพื้นที่ โดยได้สั่งให้ตรวจสอบโรงงานในพื้นที่ กทม. ด้วย
ส่วนสาเหตุพลุระเบิดนั้น อธิบดีกรมการปกครองกล่าวว่า ยังไม่ทราบ แต่ขณะนี้มีการยืนยันแล้วว่ามีผู้เสียชีวิต 23 คน และล่าสุดเมื่อเช้าพบเพิ่มอีก 2 คนที่ไม่สามารถยืนยันตัวตนได้ โดยเช้าวันนี้ทางนิติวิทยาศาสตร์ได้เข้าไปตรวจสอบพื้นที่ ก่อนนำร่างไปพิสูจน์อัตลักษณ์ ทั้งนี้ หลังเกิดเหตุพลุระเบิดที่บ้านมูโนะ อำเภอสุไหงโก-ลก จังหวัดนราธิวาส ได้ให้เจ้าหน้าที่เข้าไปตรวจสอบตลอด
ส่วนเหตุการณ์ระเบิดที่จังหวัดสุพรรณบุรี จะสามารถดำเนินการเอาผิดทางกฎหมายผู้ใดนั้น อธิบดีกรมการปกครองกล่าวว่า ต้องขอตรวจสอบสาเหตุที่แท้จริงก่อน ตอนนี้ยังไม่สามารถระบุต้นเหตุข้อเท็จจริงได้
เมื่อถามว่า โรงงานดังกล่าวเคยเกิดเหตุระเบิดเมื่อปี 2565 และมีผู้เสียชีวิต 1 คน ทำไมถึงได้รับการอนุญาตให้ตั้งโรงงาน อธิบดีกรมการปกครองกล่าวว่า การได้รับอนุญาตจะต้องขอพื้นที่และทำประชาคมรับฟังเสียงชาวบ้านในพื้นที่ โดยทั้งหมดผ่านกระบวนการแล้ว ฉะนั้นขอให้ทางเจ้าหน้าที่ EOD ตรวจสอบหาสาเหตุก่อน เพราะมีการตั้งข้อสังเกตว่าทำไมถึงมีคนไปรวมตัวภายในโรงงานดังกล่าวจำนวนถึง 23-25 คน ซึ่งไม่รู้ว่าก่อนที่จะเกิดเหตุมีงานเลี้ยงอะไรหรือไม่
ประกาศพื้นที่ภัยพิบัติ-ตั้งกองทุนช่วยเหลือ
อธิบดีกรมการปกครองกล่าวว่า หลังเกิดเหตุการณ์ดังกล่าว เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และ อนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ก็มีความห่วงใยและได้สั่งการจังหวัดให้ประกาศเป็นพื้นที่ภัยพิบัติ และมอบเงินช่วยเหลือเยียวยานอกเหนือจากหน่วยงานกระทรวงอื่นด้วย
ส่วนที่สังคมมีการตั้งคำถามว่า เงินช่วยเหลือเยียวยาผู้เสียชีวิตน้อยไปหรือไม่ อธิบดีกรมการปกครองกล่าวว่า จะมีการหาหน่วยงานอื่นเข้ามาช่วยเหลือเพิ่มเติม เพราะผู้เสียชีวิตส่วนใหญ่เป็นผู้ใหญ่และมีบุตรที่ต้องศึกษาเล่าเรียน ดังนั้น จึงต้องดูว่าจะมีการตั้งกองทุนเพื่อมาดูแลหรือไม่ โดยทางผู้ว่าราชการจังหวัดสุพรรณบุรีรับเรื่องดังกล่าวไปพิจารณาแล้ว
ทั้งนี้ สำหรับเงินช่วยเหลือเบื้องต้นประกอบด้วย
- กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) มีเงินอุดหนุนช่วยเหลือผู้ประสบปัญหาทางสังคม กรณีฉุกเฉิน ครอบครัวละ 3,000 บาท
- มูลนิธิราชประชานุเคราะห์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ มีค่าทำศพ 10,000 บาท
- กระทรวงแรงงาน โดยหน่วยงานจัดหางาน คุ้มครองแรงงาน ผู้ประกันตนและผู้ขึ้นทะเบียน จะช่วยเหลือด้วย
- กองทุนเงินช่วยเหลือผู้ประสบสาธารณภัย สำนักนายกรัฐมนตรี แบ่งเงินช่วยเหลือ ดังนี้
-
- ค่าจัดการศพ 50,000 บาท
- ทุนเลี้ยงชีพครอบครัว 30,000 บาท
- มีบุตรไม่เกิน 25 ปี ได้อีก 50,000 บาท
- ทุนเลี้ยงชีพ กรณีบาดเจ็บสาหัส 30,000+ บาท เลี้ยงชีพ 15,000 บาท
- กระทรวงยุติธรรม พ.ร.บ.ค่าตอบแทนผู้เสียหาย และค่าทดแทนและค่าใช้จ่ายแก่จำเลยในคดีอาญา พ.ศ. 2544 และที่แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่สอง) พ.ศ. 2559 โดยอยู่ที่คณะอนุกรรมการพิจารณาค่าตอบแทนผู้เสียหาย และค่าทดแทนและค่าใช้จ่ายแก่จำเลยในคดีอาญา (ผู้ว่าฯ เป็นประธาน) พิจารณาช่วยเหลือรายละไม่เกิน 200,000 บาท ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของคณะอนุกรรมการฯ
- ท้องถิ่น (ประกาศภัยพิบัติ) 29,700 บาท หากเป็นหัวหน้าครอบครัวจะได้เพิ่มอีกหนึ่งเท่า (59,400 บาท)
กรมสุขภาพจิตลงพื้นที่เยียวยาจิตใจ
นพ.พงศ์เกษม ไข่มุกด์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า นายกรัฐมนตรีได้มอบหมายกระทรวงสาธารณสุขลงพื้นที่เพื่อติดตามสถานการณ์ในจังหวัดสุพรรณบุรี และให้กรมสุขภาพจิตเตรียมความพร้อมเพื่อส่งทีม MCATT (Mental Health Crisis Assessment and Treatment Team) ประสานงานร่วมกับหน่วยงานพื้นที่เขตสุขภาพที่ 5 ดูแลประชาชนในพื้นที่ประสบภัยอย่างเต็มที่
อธิบดีกรมสุขภาพจิตกล่าวต่อว่า เพื่อประเมินสถานการณ์เบื้องต้น และทีม MCATT ได้มีการเตรียมความพร้อมของบุคลากรผู้เชี่ยวชาญและทรัพยากรด้านต่างๆ เพื่อการวางแผนดูแลจิตใจผู้ประสบภัยและผู้ได้รับผลกระทบในกลุ่มเสี่ยงต่างๆ ตามมาตรฐานการเยียวยาเพื่อเฝ้าระวังภาวะเครียดฉับพลัน ภาวะซึมเศร้า และติดตามต่อเนื่องผ่านระบบฐานข้อมูล CMS เพื่อให้มั่นใจว่าได้รับการดูแลเยียวยาจิตใจตามมาตรฐานอย่างต่อเนื่อง ภายใต้การสนับสนุนทรัพยากรด้านต่างๆ จากเครือข่ายสาธารณสุขอย่างใกล้ชิด
ด้าน นพ.ธิติ แสวงธรรม รองอธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า กรมสุขภาพจิตได้ประสานทีมงานเพื่อเตรียมการดูแลจิตใจผู้ได้รับผลกระทบทุกกลุ่ม ทั้งผู้บาดเจ็บจากเหตุการณ์ ญาติผู้เสียชีวิต ซึ่งเป็นกลุ่มที่ได้รับผลกระทบโดยตรง และผู้ที่เห็นเหตุการณ์ที่อาศัยในพื้นที่ เนื่องจากเหตุการณ์ดังกล่าวมีผู้เสียชีวิตจำนวนมาก โดยได้ประสานงานให้สถาบันกัลยาณ์ราชนครินทร์เป็นหน่วยงานหลักในการลงปฏิบัติหน้าที่ในพื้นที่ประสบเหตุ รายงานสถานการณ์และติดตามผลการเยียวยาจิตใจในระยะ 1 สัปดาห์แรกทุกวันอย่างใกล้ชิด
ทั้งนี้ หากพบว่าครอบครัวผู้ได้รับผลกระทบหรือผู้ใกล้ชิดกับเหตุการณ์มีความเครียด สามารถสำรวจสุขภาพใจด้วยแอปพลิเคชัน Mental Health Check In หรือปรึกษาสายด่วนสุขภาพจิต 1323 ตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อการดูแลที่เหมาะสมต่อไป